xs
xsm
sm
md
lg

“เด็จพี่” กวักมือเรียก “มิ่งขวัญ-กนก” โดดลงมติวาระ 3 “หมวดเจี๊ยบ” วอนอย่ากดดันนายกฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย (ภาพจากแฟ้ม)
เพื่อไทยเฉ่ง 2 ส.ส.โดดร่มหนีโหวตวาระ 3 แก้ รธน. แจงที่ประชุมพรรค 1 ต.ค. ขู่ลงโทษจากเบาไปหาหนัก ขณะที่คลิปเสียบบัตรแทนจี้ คกก.จริยธรรมตรวจสอบ ซูฮก “บิ๊กบัง-ปู” หนุนแก้ รธน.ฉะ “มาร์ค-ชวน” เมินโหวต พร้อมยกคำสั่งศาล รธน .เคยไม่รับตีความ ม.154 อีกด้าน “หมวดเจี๊ยบ” ขอทุกฝ่ายหยุดกดดันนายกฯ เรื่องทูลเกล้าฯ เพราะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญกำหนด



วันนี้ (29 ก.ย.) ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงว่า ในการประชุม ส.ส.พรรควันที่ 1 ต.ค. นี้จะมีการประชุมถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่ผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของ ส.ว. มีการลงมติผ่านวาระที่ 3 แล้ว โดยขณะนี้พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และกลุ่ม 40 ส.ว.จะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ รวมถึงการประชุมในการพิจารณาของรัฐสภาในวันที่ 2 ต.ค.นี้เพื่อพิจารณาเรื่องกฎหมายสำคัญเกี่ยวกับมาตรา 190 การเจรจาระหว่างประเทศ อีกทั้งในการประชุมพรรคจะมีการเชิญ ส.ส.2 คน ที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมรัฐสภา คือนายนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายกนก ลิ้มตระกูล ส.ส.อุตรดิตถ์ ไม่ได้ประชุมร่วมรัฐสภาว่ามีเหตุผลและความจำเป็นอย่างไร เพราะการประชุมรัฐสภาเป็นหน้าที่จะต้องเข้าไปประชุม ส่วนจะลงคะแนนเสียงอย่างไรเป็นสิทธิ การไม่ไปร่วมประชุมต้องชี้แจงต่อแกนนำพรรคและกรรมการบริหารพรรคว่ามีเหตุผลอย่างไร

“หากเชิญมาแล้วชี้แจงไม่ได้ ทางพรรคก็ต้องมีมาตรการลงโทษเพื่อรักษากฎระเบียบของพรรค จากเบาตักเตือนจนไปถึงโทษหนักคือการไม่ลงสมัคร ส.ส. แต่ต้องฟังคำชี้แจงก่อนจาก ส.ส.ที่ไม่เข้าร่วมประชุมก่อน เพาะการประชุมสำคัญ การแก้ไขที่มาของ ส.ว. การแสดงออกของสมาชิกรัฐสภา พรรคเป็นแกนนำรัฐบาลต้องมาเป็นองค์ประชุม ส่วนลงมติเราไม่ได้บังคับจะลงมติอย่างไรก็ได้ ถ้าป่วย คนป่วย 10 กว่าคนยังมาได้ ถ้าเข้าไอซียูก็ต้องมาด้วยสายน้ำเกลือ” นายพร้อมพงศ์กล่าว

ส่วนกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นปราศรัยในเวทีผ่าความจริง เมื่อวันที่ 28 ก.ย.ที่ผ่านมา นายพร้อมพงศ์กล่าวว่า บิดเบือนข้อเท็จจริงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่มาของ ส.ว. นายอภิสิทธิ์มองว่าจะมีการผิดรัฐธรรมนูญหลายเรื่อง ล้มล้างการปกครอง เปลี่ยนดุลอำนาจ ตนขอปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง นายอภิสิทธิ์แทนเอาความจริงแต่บิดเบือนความจริง การที่พรรคประชาธิปัตย์ไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญขัดมาตรา 68 โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ล้มล้างการปกครอง ซึ่งสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา ฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ องค์กรอิสระยังมีอยู่ครบ การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว. ไม่ได้ล้มล้างการปกครองแต่อย่างใด ไม่เคารพเสียงประชาชน การกล่าวหาของพรรคประชาธิปัตย์มองสังคมว่าขี้แพ้ชวนตี แพ้โหวตในสภาออกมากล่าวหาด้านนอก ส่วนกรณีที่ปรากฎคลิปที่อ้างว่าเป็น ส.ส.พรรคเพื่อไทยมีการเสียบบัตรลงคะแนนให้กัน และเป็นการดำเนินการฉ้อฉลในการลงมติ ตนขอปฏิเสธ สิ่งที่นายอภิสิทธิ์กล่าวหา ตนท้านายอภิสิทธิ์ถ้าเสียบบัตรแทนกันให้ยื่นร้องต่อคณะกรรมการจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎร คลิปดังกล่าวไม่เห็น ส.ว.ออกมาพูด ซึ่งเสียงและภาพไม่สอดกัน ตนขอท้าให้ตรวจสอบ เพราะน่าจะมีการตัดต่อ

ส่วนกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ยังนำเรื่องคลิปไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ ตนมองว่าพรรคประชาธิปัตย์ขวางทุกเรื่อง ตั้งแต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ แก้ไขเพื่อให้ชนะการเลือกตั้ง เคยแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 93-98 กรณีนายอภิสิทธิ์ และนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ยังเทียบไม่ได้กับ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคมาตุภูมิ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และนายกรัฐมนตรี เมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของ ส.ว. พล.อ.สนธิอยู่พรรคร่วมฝ่ายค้านก็เห็นว่าด้วยกับการเลือกตั้ง ส.ว. อีกทั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์แสดงวุฒิความเป็นผู้นำ ยืนเคียงข้างระบอบประชาธิปไตยด้วยการโหวตเห็นชอบ ต่างกับนายอภิสิทธิ์และนายชวน ตนไม่ทราบหายไปไหนในสถานการณ์อย่างนี้ไม่แสดงจุดยืน

นายพร้อมพงศ์กล่าวว่า ล่าสุดพรรคประชาธิปัตย์และกลุ่ม 40 ส.ว. ยื่นต่อประธานวุฒิสภาให้ส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 154 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำสั่งที่ 4/2554 โดยศาลมีคำสั่งให้ไม่รับคำร้องกรณีมีการยื่นร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ตามมาตรา 154 อีกทั้งนายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญขณะนั้นก็ให้เหตุผล รวมทั้งตุลาการทั้งหมดด้วยเสียงเอกฉันท์ไม่รับคำร้อง แต่วันนี้พรรคประชาธิปแตย์ และกลุ่ม 40 ส.ว.ยังตะแบง ทั้งที่เคยมีคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2554 มาตรา 154 บัญญัติ อาศัยเหตุผลดังกล่าวศาลจึงไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย คำสั่งนี้เป็นการตบหน้านายอภิสิทธิ์และกลุ่ม 40 ส.ว. คำสั่งนี้ผูกพันทุกองค์กรและตัวศาลรัฐธรรมนูญเอง

นอกจากนี้ ในการประชุม ส.ส. พรรควันที่ 1 ต.ค.นี้ ทั้ง ส.ส.เขต และบัญชีรายชื่อ จะสะท้อนข้อมูลสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ โดยสมาชิกได้ลงพื้นที่มีความเดือดร้อนและวิธีการแก้ปัญหาอย่างไร และจะนำเสนอนายกรัฐมนตรี โดยพรรคเพื่อไทยเป็นห่วงประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม ได้มีการสั่งการ ส.ส. ให้ตั้งศูนย์แต่ละพื้นที่ และศูนย์สมาชิกพรรคประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อช่วยเหลือประชาชน ส่วนกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ว่ารัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แก้ปัญหาน้ำท่วมล้มเหลว ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ นายอภิสิทธิ์กล่าวหารัฐบาลล้มเหลวเรื่องนี้ ตนมองว่านายอภิสิทธิ์ใช้สถานการณ์น้ำท่วมเป็นเครื่องมือทางการเมืองกล่าวหารัฐบาล

“สิ่งที่นายอภิสิทธิ์เคยเป็นรัฐบาลไม่เคยมีการแก้ปัญหาแบบบูรณาการป้องกันน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเสีย รัฐบาลออก พ.ร.ก.กู้เงิน 3.5 แสนล้านบาท แต่ขณะนี้มีปัญหาต้องทำตามคำสั่งของศาลปกครองให้ศึกษาเรื่องนี้ ตนเชื่อว่ารัฐบาลมีการศึกษารับฟังความคิดเห็นประชาชน น้ำท่วมปีนี้ไม่เท่ากับปี 2554 แต่พื้นที่ประเทศไทยเป็นพื้นที่รองรับน้ำ ก็ต้องมีเครื่องมือ โดยเฉพาะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ออก พ.ร.ก.กู้เงิน เป็นเครื่องมือในการป้องกันน้ำท่วม จึงขอวิงวอนคนเห็นต่าง พ.ร.ก.กู้เงินอย่าค้านไม่ให้เกิดโครงการ แม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ ขอเรียกร้องอย่าขัดขวางและค้านเรื่องนี้ โดยคิดว่าทำโครงการแล้วรัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะได้คะแนนนิยม” นายพร้อมพงศ์กล่าว

อีกด้านหนึ่ง ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอให้ทุกฝ่ายหยุดกดดัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ เรื่องการนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ เนื่องจากรัฐธรรมนูญได้กำหนดขั้นตอนไว้อย่างชัดเจนอยู่แล้ว ว่าการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญต้องมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง ทั้งยังได้กำหนดหน้าที่และกรอบเวลาเอาไว้ชัดเจนว่า หลังจากลงมติครบ 3 วาระแล้ว ใครมีหน้าที่ต้องทำอย่างไร ภายในเวลากี่วัน ในเมื่อขณะนี้ รัฐสภาตัดสินใจลงมติออกมาแบบนี้ นายกฯ ก็ต้องทำตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ไม่เช่นนั้น ก็จะกลายเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

ทั้งนี้ ขอให้ทุกฝ่ายเชื่อมั่นว่า นายกฯ จะรับฟังความเห็นของทุกฝ่ายอย่างรอบด้าน และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลได้แสดงจุดยืนมาตลอด ว่าระมัดระวังในการปฏิบัติตามกฎหมายในทุกเรื่อง ดังนั้น จึงขอให้ผู้ที่กำลังเคลื่อนไหวเพื่อกดดันนายกฯ โปรดกลับไปอ่านรัฐธรรมนูญให้ถี่ถ้วน ไม่ใช่ว่าดื้อดึงคัดค้านอย่างไร้เหตุผล อันที่จริงบุคคลเหล่านี้ก็เป็นสมาชิกรัฐสภา ย่อมต้องรู้อยู่แก่ใจดีว่าเรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องที่จะมากดดันให้นายกฯ ใช้ดุลพินิจ อย่างโน้นอย่างนี้ ตามความต้องการของใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ เพราะเป็นเรื่องที่กฎหมายกำหนดขั้นตอนในการปฏิบัติไว้ชัดเจนอยู่แล้ว แต่เหตุที่หันมาใช้วิธีกดดัน นายกฯ คงเป็นเพราะต้องการเบี่ยงเบนประเด็น เนื่องจากไม่เคารพเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น