xs
xsm
sm
md
lg

“วราเทพ” บอกเอง คอนหวัน-อุทัยฯ อยากได้ “เขื่อนแม่วงก์” เหน็บฝ่ายคัดค้านมีแต่พวกอนุรักษ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ รมช.เกษตรและสหกรณ์ (ภาพจากแฟ้ม)
รมช.เกษตรฯ บอกคนนครสวรรค์-อุทัยฯ อยากได้เขื่อนแม่วงก์ อ้างน้ำท่วม-น้ำแล้งทุกปี เหน็บเสียงคัดค้านแค่ต้องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม บอกสร้างในเขตอุทยานฯ มันก็ต้องท่วมกันบ้าง โอดอยากให้เข้ามาคุยมากกว่าต่างคนต่างพูด อีกด้านยันนายกฯ ต้องทูลเกล้าฯ ร่างแก้ไข รธน. ตามกรอบ 20 วัน โต้ฝ่ายค้าน-40 ส.ว. เข้าใจผิด

วันนี้ (26 ก.ย.) นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังลงตรวจสอบเขตพื้นที่ จ.นครสวรรค์ และ จ.อุทัยธานี ที่จะมีผลจากการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ว่าขณะนี้ทั้ง 2 จังหวัดมีปริมาณน้ำค่อนข้างสูง เนื่องจากเราไม่มีเขื่อนกักเก็บน้ำไว้ ที่ไหลจาก อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ทำให้น้ำล้นมาในพื้นที่ อ.โกรกพระ จ.นครสวรรค์ และ อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานีในขณะนี้ โดยได้มาร่วมแก้ปัญหากับทางจังหวัดใช้กระสอบทราย และทำทำนบกันไม่ให้น้ำไหลบ่าทะลักท่วมพื้นที่เกษตรราษฎรที่กำลังปลูกข้าวอยู่ คิดว่าเท่าที่ฟังปัญหาประชาชนต้องการให้มีการสร้างเขื่อนแม่วงก์ เพราะต้องเจอทั้งปัญหาน้ำท่วม และน้ำแล้งทุกปี บริเวณที่มาดูคือจุดรอยต่อ จ.นครสวรรค์ และอุทัยธานี มีเขื่อนขนาดเล็กวังร่มเกล้าต้องเปิดระบายน้ำอย่างเต็มที่ ส่งผลน้ำทะลักท่วมพื้นที่เกษตรคนนครสวรรค์และอุทัยธานี ประชาชนในพื้นที่จึงอยากเร่งให้สร้างเขื่อนแม่วงก์

นายวราเทพกล่าวว่า ที่ผ่านมาคนในพื้นที่ยอมรับอยากให้สร้าง ไม่มีเสียงคัดค้าน เสียงคัดค้านที่เกิดขึ้นอาจะเป็นเพราะไม่ได้รับข้อเท็จจริง เป็นเรื่องของผู้ที่ต้องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ในพื้นที่เขาอยากให้มีการพูดคุยและยินดีพูดคุยปัญหา อยากใหัได้ผลประโยชน์ส่วนรวม ไม่อยากให้ออกมาพูดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแล้วทำให้เกิดความเข้าใจผิด ความเห็นส่วนตัวในฐานะตัวแทนรัฐบาล เมื่อลงพื้นที่แล้วอยากเห็นการแก้ไขปัญหาแบบสร้างความเข้าใจ มากกว่าแสดงออกซึ่งมีการให้ข้อมูลทางด้านลบฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อยากให้หันหน้าเข้าหากัน รัฐบาลอยากเห็นการเปิดเวทีให้ทั้งสองฝ่ายมาพูดคุยกันเพื่อให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว ไม่อย่างนั้นจะเกิดความขัดแย้ง และการก่อสร้างก็ล่าช้าออกไป

เมื่อถามว่า กลุ่มที่คัดค้านระบุไม่ได้คัดค้านการก่อสร้าง แต่คัดค้านการก่อสร้างในเขตป่าอุทยานแห่งชาติ นายวราเทพกล่าวว่า ไม่ว่าจะเขตก่อสร้างใด มันก็มีทางออกลดผลกระทบได้ เราคงจะบอกว่าผลกระทบไม่มีเลยคงไม่ได้ เพราะเราจะได้ประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง จะต้องเสียไปบ้าง แต่เราก็ต้องมาดูผลกระทบจากการก่อสร้าง ผลที่ได้ประโยชน์สาธารณะอะไรได้มากกว่ากัน และหากผลกระทบเยียวยาบรรเทาได้ก็ควรรับฟังด้วย ไม่ใช่มองว่ามีผลกระทบแล้วล้มเลิกทุกอย่างลงไปหมด ขณะนี้การศึกษาการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์สามารถที่จะอธิบายได้ ก็อยากจะเห็นการเข้ามาพูดคุยมากกว่าแสดงออกแบบต่างคนต่างพูด ทำให้เกิดความขัดแย้ง

เมื่อถามว่ารัฐบาลจะเป็นผู้เปิดเวทีพูดคุยเองหรือไม่ นายวราเทพกล่าวว่า ทางนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) กำลังพิจารณาแนวทางอยู่ว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่ส่วนตัวในฐานะกำกับดูแลพื้นที่ จ.นครสวรรค์ อุทัยธานี ได้เห็นปัญหามานานมันต้องมีการตัดสินใจ และลงมาดูปัญหาในพื้นที่เองพบยังมีปัญหาอยู่ ควรตัดสินใจไม่ใช่ปล่อยให้มีความขัดแย้งและไม่เกิดการตัดสินใจ

นายวราเทพยังกล่าวถึงกรณีกลุ่ม 40 ส.ว.เตรียมยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีให้ชะลอการนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มา ส.ว.ขึ้นทูลเกล้าฯ ว่า การทูลเกล้าฯ เป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ผู้ที่มีหน้าที่ปฏิบัติจะต้องดำเนินการไป ถ้าหากยังไม่มีสิ่งใดมาบอกว่ารัฐธรรมนูญกำหนดให้ทำเป็นอย่างอื่นก็ต้องทำตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน จะทำเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นายกฯ จะต้องทำตามรัฐธรรมนูญและตามภาระหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญกำหนด

ส่วนที่ฝ่ายค้านระบุว่าสามารถยืดระยะเวลาการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้มากกว่า 20 วันนั้น ตนไม่เห็นมีมาตราใดในรัฐธรรมนูญที่จะให้นายกฯดำเนินการได้มากกว่า 20 วัน และในมุมมองของนักกฎหมาย เรื่องแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ออกไปในหลายแง่หลายมุม แต่อย่างที่เรียนรัฐธรรมนูญไม่ใช่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ฉะนั้นการที่บอกว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญขัดต่อมาตรา 154 ซึ่งเป็นบทบัญญัติว่าด้วยการควบคุมการตรา พ.ร.บ.มิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาบังคับใช้ ดังนั้น จะมาบอกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญขัดต่อรัฐธรรมนูญ รวมถึงอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญก็มีขอบเขตจำกัด ศาลสามารถพิจารณาได้แค่ว่า กฎหมายหรือ พ.ร.บ.ใดขัดต่อรัฐธรรมนูญ ได้แค่เท่านั้น

“การที่กลุ่ม 40 ส.ว. และฝ่ายค้านออกมาพูดจึงเป็นการสร้างให้เกิดความเข้าใจผิด เพราะเมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่อง แต่ไม่ได้สั่งให้มีการชะลอ นั่นหมายความศาลไม่ได้มีคำสั่งเป็นอย่างอื่น แต่เป็นการรับเรื่องไว้พิจารณา และเมื่อรัฐธรรมนูญผ่านสภาฯ ไปแล้วจะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ จากนั้นมารอดูว่าผลจะเป็นอย่างไร” นายวราเทพกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น