xs
xsm
sm
md
lg

สบอช.ตั้งธงเขื่อนแม่วงก์ผ่าน EHIA แน่!! อ้างทางเลือกที่มีประสิทธิภาพที่สุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เลขาฯ สบอช.ยันถ้ารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพไม่ผ่าน ก็ไม่สร้างเขื่อนแม่วงก์ โบ้ย สผ.พิจารณา บอกรัฐไม่ต้องการผุดเขื่อนแต่อยากแก้ปัญหาน้ำ รับแค่ทางเลือกที่มีประสิทธิภาพสุด ระบุไม่ใช้เขาชนกันเหตุต้องย้ายคน โวแก้แล้งได้ แถมปลูกป่าเพิ่มให้ 3 หมื่นไร่ เล็งเชิญ “ศศิน” มาคุย แต่เชื่อผ่านแน่

วันนี้ (4 ต.ค.) นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เลขาธิการสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) กล่าวถึงการศึกษาการมีส่วนร่วมของประชาชนและกระบวนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจให้ก่อผลกระทบต่อชุมชุนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ (อีเอชไอเอ) โครงการเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ และมอบหมายให้คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับไปดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป โดยขณะนี้ขั้นตอนของการสร้างเขื่อนแม่วงก์ยังอยู่ระหว่างการจัดทำอีเอชไอเอ จากสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งหากรายงานดังกล่าวไม่ผ่านก็ไม่ต้องสร้างเขื่อนแม่วงก์ และไม่ได้หมายความว่า รายงานดังกล่าวไม่สมบูรณ์ แต่กระบวนการขณะนี้ยังไม่แล้วเสร็จ รายงานดังกล่าวอาจจะต้องได้รับการแก้ไขอีกครั้ง

“หาก สผ.พิจารณาแล้วรายงานดังกล่าวไม่ผ่าน และเห็นว่าโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ไม่มีความเหมาะสมก็อาจจะไม่มีการสร้างเขื่อนแม่วงก์ได้ และใช้เครื่องมืออื่นแทน และยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีความต้องการสร้างเขื่อน แต่อยากแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้ง โดยเขื่อนก็เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ว่าการสร้างเขื่อนจะแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด แต่เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ส่วนการเลือกพื้นที่เขาสบกกในการก่อสร้างมากกว่าการเลือกพื้นที่เขาชนกันทั้งที่พื้นที่เขาชนกันสามารถรองรับปริมาณน้ำได้มากกว่านั้น เพราะการสร้างเขื่อนที่เขาชนกันจะกระทบต่อประชาชนถึง 2,000 ครัวเรือน แต่ในพื้นที่เขาสบกกมีประชาชนที่ต้องย้ายออกจากพื้นที่เพียง 30 ครัวเรือนเท่านั้น” นายสุพจน์กล่าว

นายสุพจน์กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ทางวิชาการ การสร้างเขื่อนแม่วงก์จะสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้โดยจะสามารถตัดยอดน้ำจาก 1,042 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เหลือ 490 ต่อลูกบาศก์เมตร และจะสามารถแก้ไขปัญหาน้ำแล้งได้อีกด้วย ขณะที่ผลกระทบต่างๆ จากการสร้างเขื่อนแม่วงก์ได้มีการศึกษาไว้แล้ว เช่น พื้นที่ป่า 12,300 ไร่ คิดเป็น 2.2 เปอร์เซ็นต์ของลุ่มน้ำทั้งหมด ก็จะมีการปลูกป่าชดเชย เป็น 3 เท่าของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ คิดเป็น 36,000 ไร่ ส่วนอาคารต่างๆ ในพื้นที่ เช่น ที่ทำการหน่วยพิทักษ์อุทยานจะมีการเปลี่ยนพื้นที่และจะมีการแก้ไขชดเชยที่ดินและทรัพย์สินจำนวน 15,742 ไร่ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่ามีการศึกษาก่อนการก่อสร้างในทุกมิติ ด้วยหลักการและเหตุผลอย่างชัดเจน โดยส่วนตัวเชื่อว่ารายงานดังกล่าวจะสามารถผ่านการพิจารณาของ สผ.

นอกจากนี้ ในสัปดาห์หน้าจะมีการเชิญนายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และคณะมาพูดคุย เพื่อรับฟังข้อห่วงใยต่างๆ ในการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ทางรัฐบาลยินดีจะรับพิจารณา และจะอธิบายในส่วนข้อกังวลที่ได้มีการศึกษามาแล้วและจะนำข้อเสนอที่ทางรัฐบาลไม่เคยศึกษามาก่อนไปพิจารณาต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น