xs
xsm
sm
md
lg

ตะแบงทูลเกล้าฯ1ต.ค. อ้างร่างแก้ไขรธน.ไม่ใช่พ.ร.บ. ฝ่ายค้านขู่"ปู-สมศักดิ์"เจอคุก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"ยิ่งลักษณ์" เตรียมนำร่างแก้ไข รธน. เรื่องที่มา ส.ว.ขึ้นทูลเกล้าฯ 1 ต.ค.นี้ ไม่สนฝ่ายค้าน-กลุ่ม 40 ส.ว. ยื่นศาล รธน.ตีความ อ้างร่าง กม.ไม่ใช่ พ.ร.บ.-ศาล รธน.เคยไม่รับคำร้อง ม.154 "เติ้ง" หนุนเต็มที่ บอกไม่มีปัญหา ด้าน ปชป.เตือนทั้ง ปธ.สภา-นายกฯ ระวังเจอคุก หากมีปัญหาข้อกฎหมายในภายหลัง เพราะนอกจากกระบวนการพิจารณา เนื้อหา แล้วยังมีเรื่องกดบัตรโหวตแทนกันด้วย

หลังจากที่ประชุมร่วมรัฐสภา เมื่อวันเสาร์ที่ 28 ก.ย.56 ลงมติด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น เห็นชอบร่าง แก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ในวาระ 3 ด้วยคะแนนเห็นชอบ 358 เสียง ไม่เห็นชอบ 2 เสียง งดออกเสียง 30 เสียง ลำดับต่อไปคือ นายกรัฐมนตรีต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯภายใน 20 วัน หลังจากได้รับร่างจากประธานรัฐสภา ตามมาตรา 150 แต่ฝ่ายค้านก็ได้ยื่นเรื่องต่อประธานสภา เพื่อให้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาตามมาตรา 154 เพื่อยับยั้งการนำขึ้นทูลเกล้าฯ เนื่องจากฝ่ายค้านเห็นว่า กระบวนการพิจารณา และเนื้อหา ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา เปิดเผยว่า หลังจากที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่ม 40 ส.ว. ยื่นหนังสือแก่ตนเอง เพื่อให้ส่งเรื่องการลงมติ แก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. ให้กับศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า ขัดต่อ มาตรา154 นั้น ส่วนตัวยังไม่ได้อ่านรายละเอียดภายใน แต่ขอตรวจสอบรายชื่อก่อน หากพร้อม จะดำเนินการส่งต่อศาลทันที คาดว่าจะสามารถส่งได้ภายในสัปดาห์หน้า

ทั้งนี้ ส่วนตัวไม่ทราบว่า นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา จะส่งให้ศาลตีความ หรือส่งร่างแก้ที่มาของส.ว. ให้นายกรัฐมนตรี เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ก่อน เพราะไม่ได้พูดคุยกันถึงเรื่องนี้ ส่วนจะผิดตาม มาตรา 154 หรือไม่นั้น มองว่า มาตราดังกล่าวใช้สำหรับ พ.ร.บ. อีกทั้ง ศาลรัฐธรรมนูญ ยังเคยวินิจฉัยกรณีดังกล่าวไว้แล้ว แต่ครั้งนี้ศาลจะรับตีความหรือไม่ ส่วนตัวไม่ทราบ

นายนิคม ยังกล่าวถึงกรณีที่ตนเองถูกยื่นถอดถอนว่า ไม่รู้สึกกังวลแต่อย่างใด เพราะเป็นกระบวนการที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งส่วนตัวชินสนามแล้ว จึงไม่ตื่นเต้น และเรื่องนี้ก็มีการพูดคุยกับนายสมศักดิ์ แล้ว ก็รู้สึกเฉยด้วยกันทั้งคู่ เพราะดูข้อกล่าวหาแล้ว ไม่รุนแรง และทางปชป. และ 40 ส.ว. ก็เล่นเกมแบบนี้บ่อยแล้ว

** ทูลเกล้าฯ ร่างแก้ไขรธน. 1 ต.ค.นี้

ด้านนายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงข้อกังวลเกี่ยวกับการนำร่างแก้ไรัฐธรรมนูญ ขึ้นทูลเกล้าฯ โดยยืนยันว่า ไม่มีปัญหาเด็ดขาด ทุกอย่างเรียบร้อย ตามขั้นตอน นายกฯ จะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 20 วัน ส่วนที่ฝ่ายค้านยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้น ก็เป็นสิทธิ์ของฝ่ายค้าน ขึ้นอยู่ว่าศาลรัฐธรรมนูญ จะวินิจฉัยออกมาอย่างไร และจะทรงโปรดเกล้าฯ อย่างไร เรื่องนี้ถือว่าจบแล้ว ไม่ใช่ปัญหาเรื่องใหญ่ ส่วนตัวไม่คิดว่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 154

ขณะที่ นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบรายละเอียด โดยเลขาธิการ ครม. กำลังดำเนินการ คาดว่าจะใช้เวลาอีก 1-2 วัน ในการตรวจสอบข้อมูล และคาดว่า จะสามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ในวันอังคารที่ 1 ต.ค.นี้

นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรมช.เกษตรฯ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การทูลเกล้าฯ เป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ผู้ที่มีหน้าที่ปฏิบัติ จะต้องดำเนินการไป ถ้าหากยังไม่มีสิ่งใดมาบอกว่า รัฐธรรมนูญกำหนดให้ทำเป็นอย่างอื่น ก็ต้องทำตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน จะทำเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นายกฯจะต้องทำตามรัฐธรรมนูญ และตามภาระหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญกำหนด

ส่วนที่ฝ่ายค้านระบุว่าสามารถยืดระยะเวลาการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้มากกว่า 20 วันนั้น ตนไม่เห็นมีมาตราใด ในรัฐธรรมนูญที่จะให้นายกฯ ดำเนินการได้มากกว่า 20 วัน และในมุมมองของนักกฎหมาย เรื่องแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ออกไปในหลายแง่หลายมุม แต่อย่างที่เรียนรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ฉะนั้นการที่บอกว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญขัดต่อ มาตรา 154 ซึ่งเป็นบทบัญญัติว่าด้วยการควบคุมการตรา พ.ร.บ. มิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาบังคับใช้ ดังนั้น จะมาบอกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ รวมถึงอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญก็มีขอบเขตจำกัด ศาลสามารถพิจารณาได้แค่ว่า กฎหมายหรือ พ.ร.บ.ใดขัดต่อรัฐธรรมนูญ ได้แค่เท่านั้น

“การที่กลุ่ม 40 ส.ว. และฝ่ายค้านออกมาพูด จึงเป็นการสร้างให้เกิดความเข้าใจผิด เพราะเมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่อง แต่ไม่ได้สั่งให้มีการชะลอ นั่นหมายความว่า ศาลไม่ได้มีคำสั่งเป็นอย่างอื่น แต่เป็นการรับเรื่องไว้พิจารณา และเมื่อรัฐธรรมนูญผ่านสภาฯไปแล้ว จะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ จากนั้นมารอดูว่าผลจะเป็นอย่างไร”นายวราเทพ กล่าว

**เตือนปธ.สภา-นายกฯ ระวังเจอคุก

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้รัฐบาล และนายกรัฐมนตรี ชะลอการนำร่าง แก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยที่มาของส.ว. ขึ้นทูลเกล้าฯไว้ก่อน เพื่อรอฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยที่ไม่ต้องกังวลว่าจะเกินกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด เพราะหากศาลเห็นว่าจะไม่เสร็จตามกำหนด ศาลก็อาจจะออกคำสั่งในทางใดทางหนึ่งออกมารองรับ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ ก็จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น แต่หากรัฐบาลเร่งรัดแล้วเกิดปัญหากับคำสั่ง หรือคำวินิจฉัยของศาลในภายหลัง ก็อาจจะเกิดปัญหาที่ไม่สมควรจะเกิด

ดังนั้นจึงอยากเรียกร้องให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ รอคำสั่งของศาลก่อน นอกจากนี้ยังมีการยื่นเรื่องตามกฎหมาย มาตรา 154 ด้วย ดังนั้น การจะทำอะไรก็ตาม นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา และ นายกรัฐมนตรี ก็ต้องระมัดระวังให้มาก

นายราเมศ รัตนะเชวง ทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวยว่า ไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องเร่งรีบ หากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ช้าออกไป คงไม่ทำให้ใครตาย นายกรัฐมนตรี ควรเอาเวลาไปแก้ปัญหาน้ำท่วม ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้ต่างหากที่เป็นเรื่องเร่งด่วน นายกรัฐมนตรีอย่าทำตามใบสั่งหรือทำตามธงที่ใครวางไว้ เพื่อให้รัฐธรรมนูญบังคับใช้ให้ทันภายในเดือน มี.ค.ปีหน้า เพราะเมื่อเกิดความเสียหาย คนที่รับผิดชอบ คนที่ขึ้นศาล และคนที่ติดคุกก็คือนายกรัฐมนตรี ที่เตือนเพราะหวังดี แต่ถ้านายกฯไม่ใยดีต่อหลักกฎหมาย ก็เชิญเดินหน้าให้เต็มที่ แล้วมาดูกันว่าท้ายที่สุดแล้วเรื่องนี้จะมีจุดจบอย่างไร

ทั้งนี้ขอให้จับตาตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป คนของรัฐบาล และพรรคเพื่อไทย คือกลุ่มคนเสื้อแดงต่างๆ จะเริ่มปฏิบัติการ ข่มขู่ คุกคาม กดดัน ศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้ง ดังเช่นที่เคยทำมา ซึ่งหากนายกรัฐมนตรี อยากจะปฏิรูปการเมืองจริงๆ ควรเตือนบรรดาลิ่วล้อว่า อย่าไปปฏิบัติเช่นนั้น ควรให้ความเคารพอำนาจตุลาการ

** ชี้ชัด ปธ.สภารับใบสั่งจากต่างแดน

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง การลงมติ ร่าง แก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาและคุณสมบัติส.ว. ในวาระ 3 ว่า เป็นการรับใช้คนที่บงการจากต่างแดนอย่างชัดเจน แม้รัฐบาลจะมีสิทธิในการลงคะแนน เพื่อรับหลักการ วาระ 3 แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในสภาฯ คือ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ได้พยายามตัดบท ไม่ให้โอกาส นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน อภิปรายแสดงเหตุผลที่ควรจะชะลอการลงมติไปก่อน และยังไม่เปิดโอกาสให้ ส.ว. ที่เสนอญัตติให้เลื่อนการลงมติไปก่อนด้วย ทำให้กระบวนการของสภา ไม่มีความสง่างาม เป็นการทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของตัวเอง เปิดโอกาสให้ สามี ภรรยา ครอบครัวนักการเมือง มีโอกาสเป็นสมาชิกวุฒิสภา และ ส.ว.ปัจจุบัน มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งได้ทันที สะท้อนวุฒิภาวะของนักการเมืองบางจำพวก ที่แก้รัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง ไม่ใช่เพื่อประชาชน ซึ่งจะนำไปสู่การตีความของศาลรรัฐธรรมนูญว่า ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะมีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ให้ ส.ว.ชุดปัจจุบันไปลงสมัครได้อีก

นอกจากนี้ สิ่งที่นายสมศักดิ์ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ให้ความสำคัญคือ การเสียบบัตรแทนกัน แสดงถึงความตกต่ำด้านจริยธรรมอย่างชัดเจน ทั้งที่มีคลิป ส.ส.เสียบบัตร 4 ใบ ในระหว่างการลงมติ ร่าง แก้ไขดังกล่าวใน มาตรา 9 แต่ นายพร้อมพงศ์ ยังอ้างว่าเป็นคลิปตัดต่อ และอ้างว่า แม้จะเป็นคลิปจริง ก็ไม่ทำให้กระบวนการตรากฎหมายผิด เพราะเสียงส่วนใหญ่ มากกว่าเสียงส่วนน้อยเกิน 4 บัตรที่มีปัญหา จึงไม่มีผลต่อการลงคะแนน

อย่างไรก็ตาม การทุจริต คือการทุจริต เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หวังศาลรัฐธรรมนูญ จะนำไปประกอบการพิจารณาในเรื่องนี้ และปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา โดยไม่หวั่นไหวต่อแรงกดดัน เพราะมีแต่การทำหน้าที่อย่างเที่ยงธรรมเท่านั้น ที่จะปกป้องบ้านเมืองได้

“นายกฯ ต้องมีส่วนร่วมรัฐผิดชอบ เพราะเผือกร้อนอยู่ในมือตัวเองแล้วมีเวลา 20 วัน ตัดสินใจว่า จะดำเนินการอย่างไร หากทูลเกล้าฯ ก็ต้องรับผิดชอบ ถ้ามีการวินิจฉัยว่า การแก้ไข ร่าง รธน. ดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หากนายกฯ เสี่ยงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ก็ต้องพร้อมรับความเสี่ยงด้วยตัวเอง” นายชวนนท์ กล่าว

** "ปู" ทำระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท

น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า รัฐบาลกำลังท้าทายอำนาจฝ่ายต่างๆ ไม่ให้เกียรติองค์กรอิสระ ซึ่งจะนำไปสู่เด๊ดล็อกทางการเมือง จึงขอฝากถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่า แม้ไม่ถนัดในข้อกฎหมาย และการบริหารประเทศ แต่ควรจะใช้ภาวะผู้นำ ตัดสินใจยับยั้งไม่ให้เกิดปัญหา เพราะหากนำขึ้นทูลเกล้าฯโดยที่ยัง ไม่มีคำวินิจฉัยที่แน่นอน เป็นเรื่องมิบังควร เป็นการระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท และหากไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย ก็จะถูกผู้สนับสนุนรัฐบาลไม่พอใจ นอกจากนี้ยังมีกระบวนการที่รัฐสภา จะวีโต้พระมหากษัตริย์อย่างที่ไม่เคยมีการทำมาก่อน และเมื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯอีกครั้ง หากไม่พระราชทานลงมา นายกรัฐมนตรี สามารถประกาศบังคับใช้ได้ เป็นการกดดัน และท้าทายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งจะทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่พอใจ กลายเป็นชนวนขัดแย้งครั้งใหม่ และชี้ชัดว่านายกฯ ทำผิดรัฐธรรมนูญ เนื่องจากยังอยู่ในกระบวนการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการโยนเผือกร้อนให้สถาบันพระมหากษัตริย์ นำเอาระบอบทักษิณ แทรกแซงประเทศทั้งที่เคยเป็นชนวนให้เกิดการรัฐประหารในปี 2549 ไปแล้วครั้งหนึ่ง ทั้งการแทรกแซงองค์กรอิสระ สื่อมวลชน สร้างความแตกแยกในสื่อมวลชน ล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ ทุจริตคอร์รัปชัน เท่ากับนายกรัฐมนตรี กำลังนำประเทศไทยเข้าสู่แดนประหาร

“ทำให้สภาเป็นแค่ตรายาง จนเกิดการวางพวงหรีดสภาทาสในสภา นอกจากนี้ยังแทรกแซงแบงก์ชาติ สถาบันการเงิน ปิดกั้นสื่อมวลชน มุ่งโฆษณาชวนเชื่อ แม้แต่วงการบันเทิงก็ถูกแทรกแซง ครอบงำ อีกทั้งการโยกย้ายข้าราชการ ก็ไม่เป็นธรรมมากกว่ายุคทักษิณ นำคนไม่มีความรู้ความสามารถไปเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจแบบต่างตอบแทน ที่ทำให้การบริหารไม่มีประสิทธิภาพ สุดท้ายขอเตือนว่า ควรหยุดด้วยสองมือ และตัดสินด้วยมันสมองของตัวเอง หวังว่านายกหญิงคนแรกจะฉลาดในเรื่องที่ควรฉลาด” น.ส.มัลลิกากล่าว.

** อ้างศาล รธน.เคยไม่รับคำร้อง ม.154

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี ปชป.นำเรื่องคลิปไปร้องศาลรัฐธรรมนูญนั้น ตนมองว่า ปชป.ขวางทุกเรื่อง ตั้งแต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญสมัยรัฐบาลปชป. แก้ไขเพื่อให้ชนะการเลือกตั้ง เคยแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 93-98 กรณี นายอภิสิทธิ์ และนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษา ปชป. ยังเทียบไม่ได้กับ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคมาตุภูมิ และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พท. และนายกรัฐมนตรี เมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของ ส.ว. พล.อ.สนธิ อยู่พรรคร่วมฝ่ายค้าน ก็ยังเห็นด้วยกับการเลือกตั้งส.ว. อีกทั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ แสดงวุฒิภาวะความเป็นผู้นำ ยืนเคียงข้างระบอบประชาธิปไตย ด้วยการโหวตเห็นชอบ ต่างกับนายอภิสิทธิ์ และนายชวน ตนไม่ทราบหายไปไหน ในสถานการณ์อย่างนี้ กลับไม่แสดงจุดยืน

ส่วนที่ ปชป.และกลุ่ม 40 ส.ว. ยื่นเรื่องต่อประธานวุฒิสภา ให้ส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญ ตาม มาตรา 154 ซึ่งเรื่องนี้ศาลรัฐธรรมนูญ เคยมีคำสั่งไม่รับคำร้องมาแล้ว จากกรณีการยื่นร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ร่าง รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่ม เติมสมัยรัฐบาล ปชป. ตามมาตรา 154 อีกทั้ง นายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ขณะนั้น ก็ให้เหตุผล รวมทั้งตุลาการทั้งหมดด้วยเสียงเอกฉันท์ ไม่รับคำร้อง แต่วันนี้ปชป. และ กลุ่ม 40 ส.ว. ยังตะแบงที่จะยื่นอีก.
กำลังโหลดความคิดเห็น