หน.ประชาธิปัตย์ จี้นายกฯ ชะลอทูลเกล้าฯ แก้ รธน.ที่มา ส.ว. รอฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ “ราเมศ” ชี้ไม่มีเหตุผลต้องรีบ อย่าทำตามใบสั่ง เตือนคนติดคุกคือ “ยิ่งลักษณ์” แฉแดงเริ่มป่วนหน้าศาลอีก “ชวนนท์” จวกรับใช้คนต่างแดนชัด ซัดทำเพื่อตัวเอง สับตกต่ำจริยธรรมเหมือนสอบเสียบบัตรแทนกัน “มัลลิกา” ฉะส่อท้าทายสถาบันชัด ผุดปมขัดแย้งรอบใหม่หวังฉลาดในเรื่องที่ควร
วันนี้ (29 ก.ย.) ที่ จ.สงขลา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้รัฐบาล และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ชะลอการนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ไว้ก่อนเพื่อรอฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยที่ไม่ต้องกังวลว่าจะเกินกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด เพราะหากศาลเห็นว่าจะไม่เสร็จตามกำหนด ศาลก็อาจจะออกคำสั่งในทางใดทางหนึ่งออกมารองรับ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ก็จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น แต่หากรัฐบาลเร่งรัดแล้วเกิดปัญหากับคำสั่ง หรือคำวินิจฉัยของศาลในภายหลังก็อาจจะเกิดปัญหาที่ไม่สมควรจะเกิด ดังนั้น จึงอยากเรียกร้องให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้รอคำสั่งของศาลก่อน นอกจากนี้ ยังมีการยื่นเรื่องตามกฎหมายมาตรา 154 ด้วย ดังนั้น การจะทำอะไรก็ตาม นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา และนายกรัฐมนตรีก็ต้องระมัดระวังให้มาก
ด้านนายราเมศ รัตนะเชวง ทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องเร่งรีบ หากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ช้าออกไปคงไม่ทำให้ใครตาย นายกรัฐมนตรีควรเอาเวลาไปแก้ปัญหาน้ำท่วม ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้ต่างหากที่เป็นเรื่องเร่งด่วน นายกรัฐมนตรี อย่าทำตามใบสั่ง หรือทำตามธงที่ใครวางไว้เพื่อให้รัฐธรรมนูญบังคับใช้ให้ทันภายในเดือน มี.ค.ปีหน้า เพราะเมื่อเกิดความเสียหายคนที่รับผิดชอบ คนที่ขึ้นศาล และคนที่ติดคุกก็คือ นายกรัฐมนตรี ที่เตือนเพราะหวังดี แต่ถ้านายกรัฐมนตรี ไม่สนใจผิดชอบชั่วดี ไม่ไยดีต่อหลักกฎหมายก็เชิญเดินหน้าให้เต็มที่แล้วมาดูจุดจบกันว่าท้ายที่สุดแล้วเรื่องนี้จะอวสานอย่างไร
นายราเมศ กล่าวอีกว่า ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังพิจารณาคำร้องต่างๆ ที่ยื่นไปเพื่อตรวจสอบความชอบของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ขณะนี้ทราบว่า สัปดาห์หน้าเป็นต้นไปคนของรัฐบาล และพรรคเพื่อไทย คือ กลุ่มคนเสื้อแดงต่างๆ จะเริ่มปฏิบัติหน้าที่หันหัวเรือกลับไปที่หน้าศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้ง เพื่อทำการข่มขู่ คุกคามกดดันดังเช่นที่เคยทำมา ซึ่งหากนายกรัฐมนตรีอยากจะปฏิรูปการเมืองจริงๆ ควรเตือนพวกพ้องของนายกรัฐมนตรีว่าอย่าไปปฏิบัติเช่นนั้นควรให้ความเคารพอำนาจตุลาการ
ขณะที่ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา และคุณสมบัติ ส.ว. ในวาระ 3 ว่า เป็นการรับใช้คนที่บงการจากต่างแดนอย่างชัดเจน แม้รัฐบาลจะมีสิทธิในการลงคะแนนเพื่อรับหลักการวาระ 3 แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในสภาฯ คือ นายสมศักดิ์ ได้พยายามตัดบทไม่ให้โอกาส นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน ให้เหตุผลที่ควรจะชะลอการลงมติไปก่อน และยังไม่เปิดโอกาสให้ ส.ว.ที่เสนอญัตติให้เลื่อนการลงมติไปก่อนด้วย ทำให้กระบวนการของสภาไม่มีความสง่างาม เป็นการทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของตัวเอง เปิดโอกาสให้สามี ภรรยา ครอบครัวนักการเมืองมีโอกาสเป็นสมาชิกวุฒิสภา และ ส.ว.ปัจจุบันมีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งได้ทันที สะท้อนวุฒิภาวะของนักการเมืองบางจำพวกที่แก้รัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง ไม่ใช่เพื่อประชาชน ซึ่งจะนำไปสู่การตีความของศาลรรัฐธรรมนูญว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะมีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ให้ ส.ว.ชุดปัจจุบันไปสมัครได้อีก
นายชวนนท์ กล่าวว่า สิ่งที่นายสมศักดิ์ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่ให้ความสำคัญคือ การเสียบบัตรแทนกัน แสดงถึงความตกต่ำด้านจริยธรรมกันอย่างชัดเจน ทั้งที่มีคลิป ส.ส.เสียบบัตร 4 ใบในระหว่างการลงมติร่างแก้ไขดังกล่าวในมาตรา 9 แต่นายพร้อมพงศ์ ยังอ้างว่าเป็นคลิปตัดต่อ และอ้างว่าแม้จะเป็นคลิปจริงก็ไม่ทำให้กระบวนการตรากฎหมายผิดเพราะเสียงส่วนใหญ่มากกว่าเสียงส่วนน้อย 4 บัตรที่มีปัญหาจึงไม่มีผลต่อการลงคะแนน แต่การทุจริตคือการทุจริต เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หวังศาลรัฐธรรมนูญจะนำไปประกอบการพิจารณาในเรื่องนี้ และปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาโดยไม่หวั่นไหวต่อแรงกดดัน เพราะมีแต่การทำหน้าที่อย่างเที่ยงธรรมเท่านั้นที่จะปกป้องบ้านเมืองด้วย
“นายกฯ ต้องมีส่วนร่วมรัฐผิดชอบเพราะเผือกร้อนอยู่ในมือตัวเองแล้วมีเวลา 20 วันตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไร หากทูลเกล้าฯ ก็ต้องรับผิดชอบถ้ามีการวินิจฉัยว่าการแก้ไขร่าง รธน.ดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หากนายกฯ เสี่ยงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ก็ต้องพร้อมรับความเสี่ยงด้วยตัวเอง” นายชวนนท์ กล่าว
ทางด้าน น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล กล่าวถึงการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา และคุณสมบัติ ส.ว.ในวาระ 3 ท้าทายอำนาจฝ่ายต่างๆ ไม่ให้เกียรติองค์กรอิสระ ซึ่งจะนำไปสู่เดดล็อกทางการเมือง จึงขอฝากถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่า แม้ไม่ถนัดในข้อกฎหมาย และการบริหารประเทศ แต่ควรจะใช้ภาวะผู้นำตัดสินใจยับยั้งไม่ให้เกิดปัญหา เพราะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 20 วัน โดยยังไม่มีคำวินิจฉัยที่แน่นอน มิบังควรที่นำขึ้นทูลเกล้าฯ เพราะเป็นการระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท และหากไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย ก็จะถูกผู้สนับสนุนรัฐบาลไม่พอใจ นอกจากนี้ ยังมีกระบวนการที่รัฐสภาจะวีโต้พระมหากษัตริย์อย่างที่ไม่เคยมีการทำมาก่อน และเมื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ อีกครั้ง หากไม่พระราชทานลงมา นายกรัฐมนตรีสามารถประกาศบังคับใช้ได้ เป็นการกดดัน และท้าทายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งจะทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่พอใจกลายเป็นชนวนขัดแย้งครั้งใหม่ และชี้ชัดว่า นายกฯ ทำผิดรัฐธรรมนูญ เนื่องจากยังอยู่ในกระบวนการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการโยนเผือกร้อนให้สถาบันพระมหากษัตริย์ นำเอาระบอบทักษิณแทรกแซงประเทศทั้งที่เคยเป็นชนวนให้เกิดการรัฐประหารในปี 2549 ไปแล้วครั้งหนึ่ง ทั้งการแทรกแซงองค์กรอิสระ สื่อมวลชน สร้างความแตกแยกในสื่อมวลชน ล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ ทุจริตคอร์รัปชัน เท่ากับนายกรัฐมนตรี กำลังนำประเทศไทยเข้าสู่แดนประหาร
“ทำให้สภาเป็นแค่ตรายางจนเกิดการวางพวงหรีดสภาทาสในสภา นอกจากนี้ ยังแทรกแซงแบงก์ชาติ สถาบันการเงิน ปิดกั้นสื่อมวลชนมุ่งโฆษณาชวนเชื่อ แม้แต่วงการบันเทิงก็ถูกแทรกแซงครอบงำ อีกทั้งการโยกย้ายข้าราชการก็ไม่เป็นธรรมมากกว่ายุคทักษิณ นำคนไม่มีความรู้ความสามารถไปเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจแบบต่างตอบแทน ที่ทำให้การบริหารไม่มีประสิทธิภาพ สุดท้ายขอเตือนว่า ยังหยุดด้วยสองมือ และตัดสินด้วยมันสมองของตัวเอง หวังว่านายกฯ หญิงคนแรกจะฉลาดในเรื่องที่ควรฉลาด” น.ส.มัลลิกากล่าว