รายงานการเมือง
เมื่อครั้งชูธงแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ก็เจอศาลเบรกหัวทิ่มมารอบหนึ่งแล้ว เหมือนไปถนนใหญ่แล้วเจอทางตัน “พลพรรคเพื่อแม้ว” ก็แก้เกมเลือกเข้าตรอกแก้แบบเป็นรายประเด็น ตอนแรกก็นึกว่าหนทางจะราบรื่นเหมือนโรยกลีบกุหลาบ แต่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ก็แสดงอิทธิฤทธิ์อีกครั้ง ทำเอาสะดุ้งกันยกแผง
ภายหลังจากที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” มีมติ “เสียงข้างมาก” รับคำร้องของ “พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม” ส.ว.สรรหา และ “วิรัตน์ กัลยาศิริ” ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ยื่นขอให้วินิจฉัยว่าการยื่นขอให้แก้รัฐธรรมนูญในประเด็ฯที่มา ส.ว.ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 68
กลายเป็นทางสองแพร่งให้ “ลิ่วล้อนายใหญ่” ตัดสินใจ ว่าจะยังดันทุรังลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่มา ส.ว.วาระ 3 ในวันที่ 28 กันยายนนี้อยู่หรือไม่ หลังจากก่อนหน้านี้ทำออกมาปากกล้าขาสั่น ทั้งนายทั้งลูกน้อง แบบไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม หรือหน้าไหน
ตะแบงจะยกมือโหวตลูกเดียวแบบไม่มีถอยหลัง
โดยตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา บรรดาลิ่วล้อในพรรคเพื่อไทยต่างออกมาแสดงความมั่นอกมั่นใจในการตัดสินใจเหลือเกิน โดยเฉพาะ “อำนวย คลังผา” ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ที่ลั่นวาจาเลยว่า อย่างไรเสียการลงมติในวาระ 3 จะต้องเกิดขึ้น เพราะถือเป็นหน้าที่ของรัฐสภาตามมาตรา 90 ที่ต้องลงมติภายใน 15 วันหลังจากผ่านวาระ 2 ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญก็ทำหน้าที่ของตัวเองไป
ประกาศประลองกำลัง 2 ขาอำนาจระหว่าง “นิติบัญญัติ” กับ “ตุลาการ”
ถอดตามมติศาลรัฐธรรมนูญ มองเผินๆ ดูเหมือนไม่มีอะไรให้น่าหวาดเสียว เพราะศาลไม่ได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเป็นกรณีฉุกเฉิน หมายความว่า บรรดาองคาพยพของ “นายใหญ่” สามารถลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ได้ในวันที่ 28 กันยายนนี้ตามกำหนดการเดิมที่ฮึ่มๆ กันเอาไว้
แต่หากถอดมติกันแบบลึกๆ มันก็ดูทะแม่งๆ ชอบกล เพราะแม้ศาลจะไม่มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ต้องระงับการลงมติ แต่การที่ศาลรัฐธรรมนูญดันรับคำร้องเอาไว้ ซึ่งไม่รู้จะมีการวินิจฉัยกันเมื่อไรย่อมสร้างความลังเลใจให้พวกลิ่วล้อ รวมถึงตัว “นายใหญ่” ได้เหมือนกัน
เพราะตราบใดที่ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่วินิจฉัยโอกาสที่จะออกเป็น “หัว-ก้อย” ย่อมมีพอๆ กัน!!
พลิกดูกระบวนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.ก่อนหน้านี้ ต่างพิลึกพิลั่นอยู่หลายจุดอยู่แล้วเป็นทุนเดิม ตั้งแต่ไม่ยอมให้สมาชิกรัฐสภาจำนวน 57 คนแปรญัตติ โดยอ้างว่า มีการขอสงวนคำแปรญัตติขัดหลักการ แต่ภายหลังกลับอนุญาตให้แปรญัตติได้ เพราะเห็นว่า เหตุการณ์วุ่นวาย ถ้าไม่ยอมการพิจารณาก็เดินต่อไม่ได้
จึงโดนข้อหากลับไปกลับมาเพื่อให้ขบวนการชำเรารัฐธรรมนูญครั้งนั้นไปต่อได้ โดยไม่มั่นคงในกฎในระเบียบที่ต้องยึดมั่นปฏิบัติ ชนิดหลักไม่แน่น
ขณะที่การปฏิบัติหน้าที่ของประธานในที่ประชุมทั้ง “ต้นฉบับค้อนปลอม-สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์” ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา และ “ค้อนปลอมดาวรุ่ง-นิคม ไวรัชยพานิช” ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ก็ปฏิบัติหน้าที่แบบเอียงกะเท่เร่ รวบรัด ไม่เป็นกลาง บางจังหวะยังขัดกันเองอีกด้วย
โดยเฉพาะ “นิคม” ที่ช่วงนี้โดนยื่นถอดถอนราวกับได้ใบสั่ง เพราะตัวเองเป็น ส.ว.เลือกตั้งที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง หากแก้ไขเสร็จสิ้นจะทำให้สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งอีกสมัยได้ทันที อาจโดนเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ที่ดันทะลึ่งไปเซ็นหนุนร่างแก้ไขที่มา ส.ว.
ดังนั้น หากดึงดันลงมติในวาระ 3 ไปแล้ว แต่ภายหลังดวงซวยศาลรัฐธรรมนูญดันวินิจฉัยว่า กระบวนการชำเรากติกาของประเทศ ว่าด้วยที่มา ส.ว.ขัดต่อรัฐธรรมนูญ บรรดาท่านผู้ทรงเกียรติทั้งหลายที่หลับหูหลับตาตาม “ใบสั่ง” ได้มีอันเป็นไปทางการเมืองตามบรรพบุรุษอย่าง “เพื่อไทย-พลังประชาชน” เอาง่ายๆ
เรียกว่า หากจะมองในแง่ลบตามแบบฉบับพรรคเพื่อไทย มติรับคำร้องเที่ยวนี้ของศาลรัฐธรรมนูญไม่ต่างอะไรจาก “หลุมพราง” ของฝั่งตรงข้ามที่อาจเล่น “ลับ ลวง พราง” ภาคสองก็เป็นได้
เพียงแต่ครั้งนี้มีเรื่อง “เงื่อนเวลา” เข้ามาเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะ ส.ว.เลือกตั้งชุดปัจจุบันใกล้หมดวาระในช่วงเดือนมีนาคม 2557 หากชักช้าไม่รีบผ่านร่างแก้ไขให้ประกาศใช้ออกมาโดยเร็ว อาจกระเทือนไปถึงแผนการณ์ที่วางไว้ ทำให้มองว่า ท้ายที่สุด 28 กันยายนนี้ “พลพรรคเพื่อแม้ว” จะกัดฟันวัดใจด้วยการเดินหน้าโหวตวาระ 3 ให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย
ส่วนอนาคตจะเป็นอย่างไร ก็เสี่ยงเดิมพันวัดใจศาลรัฐธรรมนูญกันอีกที
แต่จำนวนมือที่ยกหนุนอาจจะไม่เหมือนเดิม เพราะ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และ ส.ว.เลือกตั้งบางส่วน ประเภท “ขี้ขลาดตาขาว” อาจจะจงใจ “ตื่นสาย-หลงทาง-ลืมนัด” มาลงคะแนนไม่ทันเอาตัวรอดกันบางส่วน
เรื่องราวกลับไม่จบแค่นั้น เพราะล่าสุดมีอีกปัจจัยหนึ่งมาเขย่า อาจทำให้ความเชื่อมั่นในเสียงข้างมากลากไปลดน้อยถอยลงไปได้อีก กับเรื่อง “สุดอัปยศ” ของท่านผู้ทรงเกียรติเมืองไทย หลังพรรคประชาธิปัตย์งัด “คลิปลับ” การกดบัตรแทนกันของ ส.ส.ระหว่างการลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาของ ส.ว.ในมาตรา 9 เมื่อวันที่ 10 กันยายน เวลา 17.33 น. และมาตรา 10 วันที่ 11 กันยายน เวลา 11.43 น.ออกมาประจาน
แล้วก็ตามสูตรถนัด “ค่ายสีฟ้า” ประจานกันเสร็จ ต้องจบด้วยการหอบหิ้วหลักฐานไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อสร้างน้ำหนักให้คำร้องๆก่อนหน้านี้ดูมิชอบให้มากที่สุด
เบื้องต้นมันผิดแน่ในเรื่องจริยธรรมการทำหน้าที่ “ผู้แทนราษฎร” มีอย่างที่ไหน ส.ส.คนเดียวงัดบัตร 4-5 ใบมากดๆเสียบๆ ซึ่งเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 122 ว่าด้วยความสุจริตในการทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย
ที่สำคัญในมาตรา 126 วรรค 2 ที่ระบุว่า “สมาชิกคนหนึ่งย่อมมีเสียงหนึ่งในการออกเสียงลงคะแนน”
จับอารมณ์ “ค้อนปลอมสมศักดิ์” ประธานรัฐสภา ที่บอกเลยว่าเรื่องนี้คงไม่ตั้งกรรมการสอบ และให้รอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทีเดียว เหมือนออกอาการเซ็งที่ ส.ส.ขี้เกียจตัวเป็นขน ฝากบัตร-ลงมติแทนกันจนเคยตัว จนทำท่าจะตกม้าตายง่ายๆ
อารมณ์เหมือนทำใจ เพราะหลักฐานมันคาตา
ด้วยกระบวนการทั้งหลายทั้งปวงที่ดูทุลักทุเล ไม่สมประกอบ และมิชอบในหลายขั้นตอน มาบวกเพิ่มกับการเสียบบัตรแทนกันที่มีน้ำหนักสูงมาก เนื่องจากมีภาพเคลื่อนไหวเป็นหลักฐานมัดให้ดิ้นไม่หลุด งานนี้ถ้ารอดไปได้ก็เลี้ยงไม่โต
ที่ถูลู่ถูกังว่าเป็น “คลิปตัดต่อ” คนละเหตุการณ์ ต่างกรรมต่างวาระ อาจแถเอาตัวรอดไปได้ แต่ในชั้นศาลจะรับฟังหรือไม่ก็น่าหนักใจแทน
โอกาสที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยออกมาแบบเหนือความคาดหมายที่เกร็งๆกันไว้ งานนี้มิวายขัดหูขัดตาชาวบ้าน เพราะหลักฐานมันทนโท่ จะได้โดนเสียงโห่เสียงไล่จน “เสียรังวัด” เป็นแน่
ตามหลักฐานต้องเรียกว่า “รอดยาก” ในเรื่องการเสียบบัตรแทนกัน เพราะมันทุจริตชัดเจน ส่วนจะมีความผิดสถานใดก็ต้องลุ้นกันอีกเฮือก บ้างก็ว่าอาจจะสั่งโมฆะทั้งกระบวนการ บ้างก็ว่าอาจสั่งให้มีการลงมติใหม่ อย่างไรก็ตามสำหรับข้อหาล้มล้างการปกครองตาม มาตรา 68 ก็อาจจะรอดไปได้แบบฉิวเฉียด เพราะต้องยอมรับว่าเป็นข้อกล่าวหาที่จินตนาการสูงเกินไป
มองต่อไปอีกว่า หากเสาร์นี้ 28 กันยายน ที่ประชุมร่วมรัฐสภาโหวตผ่านวาระ 3 ของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว “เผือกร้อน” ต้องกลับไปอยู่ในมือ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี อย่าหลีกเลี่ยงไม่ได้ตามที่กฎหมายกำหนด เพราะหัวหน้าฝ่ายบริหารมีหน้าที่ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้ต่อไป
แต่เมื่อยังมีปมข้อสงสัยค้างคาอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ กระบวนการยังไม่สะเด็ดน้ำ ก็มีคำถามตามมาว่า “ยิ่งลักษณ์” จะนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ หรือไม่
จนกลายเป็นว่าเรื่องร้อนๆ ต้องมาตกอยู่ในมือคนที่ลอยตัวหนีปัญหามาโดยตลอด