xs
xsm
sm
md
lg

เลขาฯ นายกฯ ยัน “ปู” ต้องนำร่างแก้ไข รธน.ทูลเกล้าฯ หลังผ่านรัฐสภา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุรนันทน์ เวชชาชีวะ (แฟ้มภาพ)
“สุรนันทน์” เผยทีมกฎหมายและที่ปรึกษารัฐบาลเสนอให้ “นายกฯ ยิ่งลักษณ์” ต้องนำร่างแก้ไข รธน.ขึ้นทูลเกล้าฯ หลังรัฐสภาลงมติวาระ 3 ภายใน 20 วัน ตามบทบัญญัติ รธน. เหตุไม่มีส่วนใดให้รอตีความ แต่ถ้าไม่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถือว่าทำผิด ท้าร้องศาลฯ หากมีใครสงสัย เชื่อนายกฯไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ

นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม สั่งทีมกฎหมายรัฐบาลและทีมที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี หารือประเด็นปัญหาการลงนามทูลเกล้าฯ แก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยเรื่องที่มา ส.ว.ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องตีความ แต่ไม่ออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวว่า ยอมรับว่าเรื่องนี้ต้องดูให้รอบคอบจริงๆ เพราะรัฐธรรมนูญบางมาตราบางคนเห็นไม่เหมือนกัน แล้วแต่ใครจะตีความ แต่โดยรวมวันนี้เชื่อว่ารัฐสภามีอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ต้องเดินหน้าต่อไปให้เสร็จ ซึ่งที่ผ่านมามีหลากหลายความเห็น ขณะเดียวกันหากเรายึดหลักประชาธิปไตยที่มี 3 เสาหลัก คือ บริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ ซึ่งในฝ่ายของนิติบัญญัติถือว่าชัดเจนว่า มีอำนาจตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ดังนั้นเมื่อรัฐสภามีการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญพิจารณา 3 วาระ รัฐธรรมนูญกำหนดให้นายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 20 วัน เพราะฉะนั้นนายกรัฐมนตรีก็ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ

นายสุรนันทน์กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีไม่สามารถที่จะถ่วงเวลาไปได้มากกว่า 20 วันตามที่กำหนด เพราะทุกอย่างถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว อย่างไรก็ต้องมีการทูลเกล้าฯ เพราะฉะนั้นถ้าทุกอย่างผ่านตามกระบวนการในวันที่ 28 ก.ย.นายกรัฐมนตรี ก็พร้อมที่จะทำตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีเองก็ขัดรัฐธรรมนูญไม่ได้ ดังนั้น เมื่อปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแล้วมีคนเห็นแย้งอย่างไร หรือศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสิน อย่างไรก็เป็นเรื่องของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะนายกรัฐมนตรีต้องทำตามบทบัญญัติที่มีในรัฐธรรมนูญ

ส่วนหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ในขณะที่นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ไปแล้วจะเป็นอย่างไร เลขาธิการนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ก็เป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องตีความ เพราะเราก็ปฏิบัติตามศาลรัฐธรรมนูญทุกอย่าง ซึ่งการตีความของศาลรัฐธรรมนูญ ก็เป็นการตีความว่าอันไหนทำได้ อันไหนทำไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความสิ่งที่ทำนั้นผิด เราอย่าเพิ่งไปตีความว่าเกิดเรื่อง และเรื่องเช่นนี้เกิดในระบอบประชาธิปไตยเสมอ ในการมีความเห็นไม่ลงรอยกันของอำนาจฝ่ายต่างๆ

ต่อข้อถามว่า นักกฎหมายบางคนบอกว่านายกรัฐมนตรีอาจจะต้องรับผิดชอบ หากศาลฯ วินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ นายสุรนันทน์กล่าวว่า ถ้านายกรัฐมนตรีไม่ทูลเกล้าฯ ก็ผิด แล้วจะให้ทำอย่างไร แต่สิ่งที่ทำนี้ยืนยันว่าทำตามกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ฝ่ายกฎหมายรัฐบาลหารือกันทิศทางเป็นอย่างไร นายสุรนันทน์กล่าวว่า ทิศทางก็คือให้นายกรัฐมนตรีปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ ส่วนการตีความรัฐธรรมนูญไม่ใช่อำนาจของฝ่ายบริหารที่จะไปตีความเป็นหน้าที่ของศาลที่จะวินิจฉัย

เมื่อถามว่าแสดงว่าไม่จำเป็นต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยก่อนใช่หรือไม่ นายสุรนันทน์กล่าวว่า ในส่วนของฝ่ายบริหาร เมื่อรัฐสภาลงมติเรียบร้อยนายกรัฐมนตรีก็ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯภายใน 20 วัน ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญอาจมีความคิดเห็นต่างได้ เมื่อมีความคิดเห็นอย่างไรเราก็มีหน้าที่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัย

ผู้สื่อข่าวถามว่า ภายในระยะเวลา 20 วัน จำเป็นต้องรอคำวินิจฉัยก่อนหรือไม่ นายสุรนันทน์ กล่าวว่า ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่าต้องให้รอใคร ตนอยากให้ทุกคนเข้าใจอำนาจของแต่ละฝ่าย อำนาจนิติบัญญัติ เป็นของรัฐสภา เมื่อรัฐสภาผ่านรัฐธรรมนูญก็มาถึงอำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหาร โดยนายกรัฐมนตรีจะต้องทูลเกล้าฯ ภายใน 20 วัน แต่ถ้ามีคนสงสัยก็ไปร้องศาล ก็เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ

ส่วนถ้าผ่านวาระ 3 แล้วจำเป็นต้องทูลเกล้าฯ ทันทีเลยหรือไม่นั้น นายสุรนันทน์กล่าวว่า ก็แล้วแต่ทุกอย่างเป็นไปได้ทั้งนั้น หากจะเป็นไปได้ว่าทูลเกล้าฯภายในวันที่ 19 ก่อนครบกำหนด 20 วัน หรือระหว่าง ซึ่งการที่ครบกำหนด 20 วันก็เพื่อไม่ต้องการให้นายกรัฐมนตรีมาใช้อำนาจบริหารเหนือนิติบัญญัติ เมื่อฝ่ายนิติบัญญัติทำเรียบร้อยมาแล้ว ฝ่ายบริหารก็ต้องมารับหน้าที่ต่อไป จะมาถ่วงเวลาไม่ได้

ต่อข้อถามว่า กลัวหรือไม่ว่าหากเกิดปัญหาขึ้นภายหลังนายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบหรือไม่ นายสุรนันทน์กล่าวว่าไม่ต้องรับผิดชอบอะไร เพราะนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่รับผิดชอบในฐานะที่นายกรัฐมนตีต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่ไม่ใช่รับผิดชอบว่าผิดหรือไม่ผิด

ผู้สื่อข่าวถามว่า กระบวนการแก้ที่มาของ ส.ว.จะทันการเลือกตั้ง ส.ว.ที่จะมีขึ้นในเดือน มี.ค.หรือไม่ นายสุรนันทน์กล่าวว่า กระบวนการทันหรือไม่เป็นเรื่องที่การเมืองจะต้องไปคิดกัน แต่วันนี้ขั้นตอนของกฎหมายมีแค่นี้ นายกรัฐมนตรีไม่สามารถกำหนดได้ เมื่อถามว่านายกรัฐมนตรีจะไปร่วมประชุมสภาฯ เพื่อโหวตแก้รัฐธรรมนูญวาระ 3 หรือไม่ นายสุรนันทน์กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีในฐานะเป็น ส.ส.ก็ต้องไป แต่ช่วงเช้าจะไปตรวจน้ำท่วมก่อน


กำลังโหลดความคิดเห็น