xs
xsm
sm
md
lg

“อภิสิทธิ์” แนะรอศาลตัดสินที่มา ส.ว.ก่อนทูลเกล้าฯ ติง รบ.ไม่ใช้บทเรียนน้ำท่วม 54

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(แฟ้มภาพ)
หน.ปชป.แนะรอศาลวินิจฉัยแก้ที่มา ส.ว.ก่อนทูลเกล้าฯ กันขัดแย้ง หวังตัดสินโดยเร็ว เชื่อคำร้องมีน้ำหนักขัด ม.68 เปลี่ยนรูปรัฐ-ได้อำนาจโดยมิชอบ-ขัด รธน.-ข้อบังคับประชุม ลั่น เปิดซักฟอกสมัยประชุมนี้เปิดแผลบริหารเหลว-โกง จี้ “ปู” ให้ความสำคัญต่อการตรวจสอบ งง “นช.แม้ว” กุข่าวล้มรัฐ ลงพื้นที่อุบลฯ เยี่ยม ปชช.น้ำท่วม บี้ ครม.กำหนดเงินเยียวยาเกษตรกร ติงไม่ยึดบทเรียนปี 54 ปรับแก้ปัญหา ชี้สถานการณ์ไม่หนักเท่า ดักตีกินเป็นผลงานไม่ได้

วันนี้ (27 ก.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา เรียกประชุมรัฐสภาในวันเสาร์ที่ 28 ก.ย.นี้ เพื่อลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาและคุณสมบัติ ส.ว.ในวาระ 3 ในขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญยังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าร่างดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ว่า เมื่อศาลไม่ได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ระงับการลงมติ การประชุมก็ต้องดำเนินการไป ส่วนของพรรคประชาธิปัตย์จะเข้าร่วมประชุมแต่จะต้องปรึกษากันก่อนว่าจะร่วมลงมติด้วยหรือไม่ ทั้งนี้เห็นว่าเมื่อร่างนี้ผ่านสภานายกฯ มีเวลา 20 วันก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ จึงควรรอฟังแนวคำวินิจฉัยของศาลก่อนว่าจะเป็นอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งตามมา แต่ถ้าใกล้ครบ 20 วันแล้วศาลก็อาจจะต้องพิจารณาออกคำสั่งให้นายกรัฐมนตรีชะลอการนำร่างรัฐธรรมนูญฯขึ้นทูลเกล้าฯ จะเป็นวิธีที่ดีที่สุด และหวังว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยโดยเร็ว แต่ก็เป็นดุลพินิจของศาล อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีคงไม่มีการยื่นคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีคำสั่งชะลอการทูลเกล้าฯ ออกไปก่อนจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย

ส่วนกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยที่ 4/2554 โดยยกคำร้องกรณีที่ประธานรัฐสภาส่งความเห็นของสมาชิกรัฐสภาให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 154 วรรค 1 ว่าไม่สามารถนำเรื่องมาตรา 154 มาบังคับใช้เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติให้นำมาตรา 154 ซึ่งเป็นบทบัญญัติว่าด้วยการควบคุมการตราพระราชบัญญัติมิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ โดยให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรวินิจฉัยมาใช้บังคับนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า จะต้องดูประเด็นที่ยื่นร้องก่อน เพราะกระบวนการยื่นตีความมีเนื้อหาสาระแตกต่างกัน เพราะเป็นประเด็นกระบวนการที่อาจไม่ชอบ และคดีที่ร้องไปแล้วมีข้อเท็จจริงที่เสียบบัตรแทนกัน หากจะอ้างว่าเป็นเรื่องเฉพาะตัวก็ต้องพิสูจน์ว่ามีการเสียบบัตรแทนกันมากกว่าที่ปรากฏในหลักฐานหรือไม่ เพราะมีพฤติกรรมหลายอย่างที่น่าสงสัยอยู่ และในขณะนี้ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้รับคำร้องไว้วินิจฉัยตามมาตรา 68 แล้ว

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ในขณะนี้มีทั้งหมดถึง 5 คำร้อง โดยมีประเด็นพิจารณามาก เช่น ในแง่เนื้อหาของตัวร่างมีคำถามว่ากระทบกระเทือนรูปแบบของรัฐ คือ ดุลอำนาจ ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ และการพยายามเปลี่ยนดุลอำนาจเพื่อให้อำนาจตัวเอง หรือหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ ถือเป็นการล้มล้างการปกครอง หรือพยายามได้มาซึ่งอำนาจโดยไม่ชอบหรือไม่ อีกทั้งยังมีปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการตรากฎหมายว่ามีการขัดรัฐธรรมนูญและผิดข้อบังคับ เช่น การตัดสิทธิผู้แแปรญัตติ จึงเห็นว่ามีความไม่ชอบอยู่หลายกรณี อย่างไรก็ตาม หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าอาจต้องใช้เวลาวินิจฉัยนานเกิน 20 วัน และเห็นว่าการนำขึ้นทูลเกล้าฯ จะเป็นอุปสรรคปัญหา ศาลฯ ก็น่าจะพิจารณาคำร้องที่ขอให้นายกรัฐมนตรีระงับการทูลเกล้าฯ และขอแนะนำว่านายกฯ อย่านำร่างรัฐธรรมนูญที่ยังมีปัญหาขึ้นทูลเกล้าฯ ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะถ้าตัดสินใจไปก็ต้องรับผิดชอบหากเกิดปัญหาตามมาหลังจากนั้น ส่วนจะใช้วิธีเดินทางไปต่างประเทศแล้วให้รองนายกรัฐมนตรีลงนามแทนหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ

นายอภิสิทธิ์ยืนยันว่าจะมีการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจในสมัยประชุมนี้อย่างแน่นอน แต่ยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับประเด็นที่จะอภิปราย โดยจะมุ่งที่การบริหารล้มเหลวและการทุจริตเป็นหลัก โดยอยากให้นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับกระบวนการของรัฐสภาด้วย เพราะในการแถลงผลงานครบรอบ 1 ปี นายกฯ ไม่ได้มารับฟัง โดยยังไปเปิดงาน 2 ล้านล้านอ้างว่าเป็นกฎหมายลงทุน แต่ความจริงเป็นกฎหมายกู้เงินแสดงให้เห็นว่านายกรัฐมนตรีไม่ได้รับฟังการเสนอความเห็นในสภาเลยว่าสามารถที่จะลงทุนได้ตามระบบงบประมาณปกติ ทั้งนี้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจก็คาดหวังให้ประชาชนรับทราบพฤติกรรมของรัฐบาล และเป็นการทำหน้าที่ตรวจสอบ ซึ่งจะมีกรณียื่นถอดถอนต่อเนื่องด้วย และเป็นการฟ้องกับสังคมว่าการดำเนินการของรัฐบาลมีปัญหาอย่างไร

ส่วนกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคดี ระบุว่ามีขบวนการล้มรัฐบาลวันที่ 8 ตุลาคมนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนนึกไม่ออกว่ามาจากไหน ต้องถามคนพูด และไม่รู้ว่าทำไมต้องเป็นวันที่ 8 ตุลาคม

ทั้งนี้ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้ลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีเพื่อเยี่ยมผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่อำเภอพิมูลมังสาหาร โดยแสดงความเป็นห่วงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลว่ายังมีขลุกขลัก มีปัญหากับมวลชนอยู่ เช่น กรณีที่ปราจีนบุรีก็เกิดปัญหาเรื่องการปิด-เปิดประตูระบายน้ำ และอยากให้ครม.มีมติที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องการเยียวยาว่าจะชดเชยเกษตรกรอย่างไรจะมีความชัดเจนมากขึ้นที่จะระบายน้ำลงทุ่ง โดยผู้ปฏิบัติหน้าที่คือท้องถิ่นต้องตัดสินใจหน้างานได้ แต่รัฐบาลต้องกำหนดทิศทางให้ชัด ทั้งนี้ตนไม่เห็นว่ารัฐบาลได้นำบทเรียนจากปี 2554 มาปรับปรุงแนวปฏิบัติในการแก้ปัญหา จึงทำให้เห็นว่าภาพต่างๆ ที่เกิดขึ้นจึงไม่ต่างจากปี 54 เพียงแต่สถานการณ์ไม่หนักเท่าปี 2554 เท่านั้น การที่รัฐบาลอ้างว่าน้ำท่วมทุกปีอยู่แล้วและปีนี้ดูแลให้ไม่เกิดปัญหาเท่ากับปี 2554 นั้นไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหา เพราะรัฐบาลมีหน้าที่บริหารจัดการให้ดีจะเอากรณีน้ำท่วมปีนี้ไปเทียบว่าไม่ท่วมหนักเหมือนปี 2554 ถือเป็นผลงานของรัฐบาลแล้วไม่ได้ เพราะปัจจัยต่างกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น