xs
xsm
sm
md
lg

สุดท้ายคงต้องไปจบที่ศาล

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

เดือนกันยายนครึ่งหลังนี้ เป็นเหมือนช่วงเวลาสำคัญในการต่อสู้ทางการเมือง และวาระประเด็นสำคัญของประเทศชาติ

นับตั้งแต่เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของ ส.ว. ที่ให้ ส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ฟื้นฟูระบบสภาเครือญาติ และสภาที่ระบอบนักเลือกตั้งครอบครองครอบงำได้อย่างเบ็ดเสร็จ ซึ่งรัฐธรรมนูญผ่านการพิจารณาในวาระที่สองไปแล้ว ไปรอลงมติในวาระสาม ซึ่งไม่เหลือวาระพูดจาอันใดกันอีกแล้ว นอกจากว่า “เอา” หรือ “ไม่เอา”

และในช่วงท้ายสัปดาห์หน้า ก็จะมีการนำเอากฎหมายกู้เงินสองล้านล้านบาท เข้ามาพิจารณากันในสภาฯ อีกครั้ง

กฎหมายกู้เงินสองล้านล้านบาทนี้ เป็นกฎหมายที่รัฐบาลตั้งความหวังอย่างมากว่าจะต้องให้ผ่านสภาฯ ให้ได้ หลังจากนั้นไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น พ.ร.บ.ฉบับนี้ก็จะมีผลใช้บังคับ และผูกพันรัฐบาลในอนาคตข้างหน้าให้ต้องรับภาระเงินกู้ตามกฎหมายนี้ต่อไป

รัฐบาลพยายามทุกวิถีทาง ตั้งแต่การสร้างวาทกรรมในการเรียกกฎหมายฉบับนี้ว่า “กฎหมายสร้างอนาคตประเทศ” พยายามแสดงความสำคัญของการมีระบบการขนส่ง รถไฟความเร็วสูงให้เป็นวาระของชาติ

มีการปั้นนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จากรัฐมนตรีที่ไม่มีใครรู้จัก ไม่มีบาดแผลหรือภาพลักษณ์ในแง่ลบ ขึ้นมาเป็นตัวโปรโมตจากการทำงานที่พยายามแสดงออกให้เข้าตาประชาชน เช่น การพยายามแก้ไขปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ที่เป็นที่เดือดร้อนรำคาญของชาวบ้าน เช่นปัญหารถเมล์ รถไฟฟ้า ทางด่วน บัตรอีซี่พาส รถตู้ และแท็กซี่ ประกอบกับการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กที่ชาญฉลาด ทำให้ภาพของ รมว.ชัชชาติ ดูใกล้ชิดกับประชาชน และกลายเป็นเหมือนนักการเมืองความหวังของการเมืองไทย

เพื่อที่จะได้ “ขาย” ของใหญ่ คือโครงการรถไฟความเร็วสูง ผ่านพรีเซ็นเตอร์หน้าใหม่ขวัญใจประชาชนคนนี้ได้อย่างแนบเนียน

ครับ คงไม่มีใครบอกว่า รมว.ชัชชาตินั้นทำงานไม่ดี หรือประเทศไทยไม่ควรมีระบบบรถไฟความเร็วสูง

แต่ปัญหาที่คนคัดค้านหรือตั้งคำถามกฎหมายสร้างหนี้สองล้านล้านบาทนั้น ก็คือจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องกู้เงินก้อนใหญ่มหึมาอันเป็นภาระผูกพันอันยาวนานของคนไทยทั้งชาติขนาดนี้มาเพื่อการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง มีวิธีอื่นในการระดมทุนหรือไม่

ประกอบกับ ความไม่มั่นใจว่า คนกู้เงินจะนำเงินไปใช้อย่างโปร่งใส ไว้ใจได้ และเงินทุกบาทไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ยิ่งเป็นเงินที่มีความเสี่ยงสูงมากอยู่แล้ว

แน่นอนว่าในการต่อสู้ของทางพรรคเพื่อไทยเพื่อปกป้องกฎหมายกู้เงินนี้ คงจะต้องออกมาในแนวทางที่เอาการกู้เงินไปมัดรวมผูกไว้กับการสร้างรถไฟความเร็วสูง และยืนกระต่ายขาเดียวว่า ต้องกู้เงินสองล้านล้านบาท ถ้าอยากมีรถไฟความเร็วสูง

เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ประชาชนที่รู้เท่าทันจะต้องตั้งสติให้ดี เหมือนกับใครสักคนบอกว่า เราจำเป็นจะต้องมีรถยนต์ ดังนั้น จึงควรขายบ้านไปซื้อรถ

ความจำเป็นจะต้องมีรถ เป็นเรื่องหนึ่ง แต่การขายบ้านไปซื้อรถ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่แยกจากกันได้ เช่น จำเป็นต้องมีรถ เช่าเอาได้หรือไม่ เหมือนข้อเสนอของบางฝ่ายว่า ทำไมไม่ใช้วิธีเปิดให้เอกชนหรือต่างชาติเข้ามาลงทุน มาทำสัมปทาน การกู้เงินไม่ใช่วิธีเดียวที่จะสร้างรถไฟความเร็วสูงนั้นได้

มีนักกฎหมายหลายสำนักที่ท้วงติงว่า พ.ร.บ.กู้เงินสองล้านล้านบาทนี้จะขัดรัฐธรรมนูญหรือมีปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้เงินแผ่นดิน หรือการก่อหนี้ที่นอกเหนือวิธีงบประมาณ ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 169 ห้ามไว้ ซึ่งเรื่องนี้ แม้แต่ท่านวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ ยังถึงกับกล่าวว่า ถ้ากรณีการกู้นี้ผ่านไปได้ ต่อไปรัฐบาลจะไม่เลือกใช้การกู้ผ่านวิธีการงบประมาณแล้ว

ดังนั้น พ.ร.บ.เงินกู้สองล้านล้านบาทนี้ ได้พบกันในศาลรัฐธรรมนูญแน่นอน ตามกระบวนการตรวจสอบกฎหมายว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก่อนการประกาศใช้บังคับ พร้อมๆ กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของ ส.ว.ที่พูดถึงตอนต้นนั้นด้วย ที่จะมีผู้ร้องขอให้ตรวจสอบว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในลักษณะดังกล่าวถือเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่

หลายคนอาจจะรู้สึกว่า เอะอะอะไรก็ไปที่ศาล ราวกับจะให้ศาลปกครองประเทศ ใครจะทำอะไรก็ต้องวิ่งไปถามศาล แต่ก็นั่นแหละครับ ปัจจุบันนี้ท่ามกลางสภาพการเมืองที่ผูกขาดกันเบ็ดเสร็จ ถ้าระบบการตรวจสอบถ่วงดุลไม่ล้มเหลว ศาลก็ไม่จำเป็นต้องถูกถามเสียทุกเรื่องเช่นนี้เพราะอาจกล่าวได้ว่า ในบรรดาสามเสาหลักผู้ใช้อำนาจอธิปไตย ยังเหลือเพียงองค์กรเดียวที่น่าจะถูกครอบงำน้อยที่สุด

เหตุนี้เองทำให้ลิ่วล้อต้องออกมาเปรยๆ ว่า ศาลจะต้องมีที่มาจากประชาชน

นี่ถ้าต่อไปใครอยากเป็นผู้พิพากษาตุลาการต้องลงสมัครรับเลือกตั้งนี่ นึกภาพไม่ออกเลยว่าประเทศชาติจะเป็นอย่างไร

ศาลจึงควรมีที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ไม่มีส่วนได้เสีย และไม่ต้องกลัวการเมืองจะให้ร้ายให้คุณอะไร ไม่ต้องมีกรณีต่างตอบแทน ไม่มีเรื่องต้องเกรงใจ

ล่าสุดคดีทุจริตรถดับเพลิงของ กทม.ก็ไปจบลงด้วยศาล ที่ศาลตัดสินให้นักการเมืองอดีตนักธุรกิจใหญ่ ที่นักเล่าข่าวชื่อดังก็ไม่กล้าอ่านชื่อเต็มเสียง จำคุกไปเป็นสิบปี ถึงจะหนีรอดไปได้ แต่ความเป็นนักโทษหนีคุกก็ยังคาอยู่

ต้องถามคนที่ยังเล่นยังครองการเมืองไม่ยำเกรงอยู่ในทุกวันนี้ว่า อยากไปจบในศาลแบบนี้บ้างไหม!
กำลังโหลดความคิดเห็น