xs
xsm
sm
md
lg

มติ กมธ.รับเรื่อง “คำนูณ” ชงสอบปลอมแปลงญัตติแก้ที่มา ส.ว. เชื่อจงใจ-ส่อผิดอาญา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ส.ว.คำนูณ” ชง กมธ.ตรวจสอบเรื่องทุจริต วุฒิฯ สอบแก้ที่มา ส.ว. เหตุพบสำเนาร่างแก้ รธน.มีการเพิ่มเนื้อหา ม.115 (9)-ม.116 วรรคสอง เอื้อ ส.ว.ลงเลือกตั้งปีหน้า ถือว่าเป็นญัตติปลอม ไม่ได้โหวตในสภา ส่อผิด กม. กมธ.ชี้มีข้อบกพร่องจริง แต่มีแก้ไขโดยผ่านสำนักเลขาฯแล้ว แต่ยังพบอีก 3 จุด เชื่อจงใจมีผลต่อเนื้อหามาก ปลอมแปลงเอกสารผิดอาญา มีมติเอกฉันท์รับเรื่อง พร้อมเชิญผู้เกี่ยวข้องแจง



วันนี้ (3 ต.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ได้ยื่นเรื่องให้คณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ที่มีนายสาย กังกะเวคิน ส.ว.สรรหา เป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ เพื่อตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มาของ ส.ว. เนื่องจากพบว่าสำเนาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทำแจกให้แก่สมาชิกรัฐสภาเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2556 ซึ่งมีเลขรับ 20/2556 ตรงกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับจริงที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร และคณะยื่นต่อประธานรัฐสภา โดยสำเนาที่ทำแจกก็มีเลขรับเดียวกันนั้น หมายความว่า เอกสารทั้ง 2 ฉบับจะต้องมีเนื้อหาด้านในเหมือนกัน แต่เมื่อตนได้ตรวจสอบดูกลับพบว่า มีการเพิ่มเนื้อหา 2 จุด คือ มาตรา 115 (9) ที่ระบุไว้ว่า บุคคลที่มีคุณสมบัติลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ว.จะต้องไม่เป็นรัฐมนตรีหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น อันซึ่งไม่ใช่สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือเคยเป็นแต่พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวมาแล้ว แต่ฉบับสำเนากลับมีการเพิ่มเติมเนื้อหาให้ ส.ว.ได้รับข้อยกเว้นดังกล่าว

นายคำนูณกล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน มาตรา 116 วรรคสองก็ได้มีการแทรกเนื้อหาจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันให้ยกเว้น ส.ว.ที่สิ้นสุดยังไม่เกิน 2 ปี สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ เท่ากับว่าเป็นการปลดล็อกให้กับ ส.ว.ทั้งที่หลักการของการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญต้องการให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง แต่กลับมีการให้ดำรงตำแหน่งต่อเนื่อง โดยร่างดังกล่าวเป็นร่างปลอมหรือญัตติปลอมหรือไม่ ซึ่งในรัฐธรรมนูญไม่ได้มีข้อบัญญัติไว้ว่าให้รัฐสภาโหวตรับญัตติปลอม ซึ่งถือว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้อาจผิดต่อต่อข้อกฎหมาย จึงขอให้คณะกรรมาธิการฯ เร่งดำเนินการตรวจสอบ

ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน กรรมาธิการ กล่าวว่า จากที่ได้พิจารณาเอกสารเบื้องต้นก็ได้พบข้อบกพร่องในเอกสารดังกล่าวเล็กๆ น้อยๆ จริง แต่บางจุดก็ได้มีการแก้ไขไปแล้ว แสดงว่าเอกสารฉบับนี้ได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบจากสำนักเลขาฯ แล้ว ซึ่งยังมีการพบจุดผิดปกติอีก 3 จุด แสดงว่าจุดดังกล่าวคงไม่ใช่ความบกพร่อง แต่น่าจะเป็นเป้าหมายที่ชัดเจนว่าต้องการอะไร เพราะข้อความเหล่านั้นถือว่ามีผลต่อเนื้อหามากๆ หากจะมีการเปลี่ยนแปลงก็ต้องมีการส่งหนังสือราชการแจ้งให้สมาชิกเพื่อขอเปลี่ยนแปลง เอกสารเหล่านี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายอาญา ในฐานะปลอมแปลงเอกสาร เพราะถือว่ามีผู้เสียหาย คือ สมาชิกรัฐสภา

โดยคณะกรรมาธิการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาตามอำนาจหน้าที่ โดยกรรมาธิการได้เสนอให้เชิญเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร วิปรัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง






กำลังโหลดความคิดเห็น