xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” แฉร่างแก้ รธน.ที่มา ส.ว.ฉบับจริงไม่ตรงสำเนา 3 จุด ถามมีข้อกังขาสมควรทูลเกล้าฯ หรือไม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ข้อความบางส่วนจากเว็บไซต์เฟซบุ๊ก คำนูณ สิทธิสมาน
“ส.ว.คำนูณ” กังขาแก้ รธน.ที่มาวุฒิสมาชิก แฉร่างฯ วิปรัฐไม่ตรงกับสำเนา ทั้งๆ ที่เลขรับตรงกัน พร้อมจับผิด 3 จุด แถมไม่มีรายงานสำนักเลขาฯ สภา ผู้ร่างยื่นขอแก้ไขหรือไม่ โอดเตรียมซักแล้วแต่โดนปิดประชุมเสีย ถามสมควรขึ้นทูลเกล้าฯ หรือ

วันนี้ (30 ก.ย.) นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ได้เขียนข้อความผ่านเว็บไซต์เฟซบุ๊กส่วนตัว คำนูณ สิทธิสมาน ระบุว่า ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่มา ส.ว.มีข้อน่ากังขามากกว่าที่คิด ประเด็นที่ยังไม่ค่อยได้พูดถึงกันคือตัวร่างฯที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานวิปรัฐบาลในขณะนั้น และคณะยื่นต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 20 มีนาคม 2556 เลขรับ 20/2556 เวลา 13.05 น. มีข้อความในสาระสำคัญไม่ตรงกับตัวร่างฯ ฉบับสำเนาที่สมาชิกรัฐสภาได้รับในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเมื่อ 1 เมษายน 2556 ระเบียบวาระที่ 5.1 ทั้งๆ ที่ระบุเลขรับตรงกัน คือ 20/2556 และวันที่รับก็ตรงกันคือ 20 มีนาคม 2556

นายคำนูณระบุต่อว่า ทั้งนี้ข้อความที่ไม่ตรงกันในสาระสำคัญระหว่างร่างฯ ที่น่าจะถ่ายจากเอกสารต้นฉบับ ณ วันยื่น (20 มีนาคม 2556 เวลา 13.05 น.) กับร่างฯ สำเนาที่จัดทำขึ้นใหม่โดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแจกแก่สมาชิก ณ วันพิจารณา (1 เมษายน 2556) ที่มีเลขรับตรงกัน มีถึง 3 จุด 1. ข้อความในส่วนของหลักการ ร่างฯสำเนามีการเพิ่มคำว่า “มาตรา 116 วรรคสอง” เข้าไป 2. ข้อความในมาตรา 5 แก้ไขมาตรา 115 ข้อความในมาตรา 115 (9) แตกต่างกัน โดยร่างฯสำเนามีการเติมประโยค “...ซึ่งมิใช่สมาชิกวุฒิสภา” เข้าไป 3. ในร่างฯ สำเนามีการเติมมาตรา 6 ใหม่แทรกเข้าไป เป็นการแก้ไขมาตรา 116 วรรคสอง เติมคำว่า “...ซึ่งมิใช่สมาชิกวุฒิสภา” เข้าไป ไม่ปรากฏในรายงานของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรว่าคณะผู้เสนอร่างฯ ได้มีการยื่นขอแก้ไขร่างฯ หรือไม่ อย่างไร

นายคำนูณระบุอีกว่า นี่คือข้อกังขาสำคัญที่ว่าเอกสารที่มีเลขรับเดียวกันไฉนมีข้อแตกต่างกันถึง 3 จุด และเป็น 3 จุดสำคัญที่เพิ่มเข้ามาในร่างฯ สำเนา (1 เมษายน 2556) ทำให้การแก้ไขให้ ส.ว.เลือกตั้งชุดปัจจุบันได้ลงสมัครได้ต่อเนื่องอย่างสมบูรณ์ ถ้ามีเพียงเท่าที่ปรากฏในร่างฯ แรก (20 มีนาคม 2556) การแก้ไขจะไม่มีผลสมบูรณ์ หรืออาจทำให้เกิดข้อถกเถียงทางกฎหมายได้

“อันที่จริงผมเตรียมอภิปรายซักถามเรื่องนี้ตั้งแต่ในการพิจารณาวาระ 2 ตรงมาตรา 5 ที่มีการแก้ไขมาก ได้เข้าชื่อไว้แล้ว แต่ไม่มีโอกาส เพราะมีการเสนอปิดประชุมก่อนแม้จะได้บรรจุไว้เป็นประเด็นหนึ่งในคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 แล้ว แต่ ณ นาทีนี้ก็จำเป็นต้องกล่าวบันทึกต่อสาธารณะไว้ ณ ที่นี้ว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่มีปัญหาข้อกังขาตั้งแต่ต้นอย่างนี้สมควรนำขึ้นทูลเกล้าฯแล้วหรือ” นายคำนูณระบุ

อย่างไรก็ตาม นายคำนูณยังได้ขยายความจากภาพด้วยว่า ลองดูตัวอย่างจากความแตกต่างจุดที่ 1 ที่กล่าวไว้ ภาพเอกสารที่น่าจะถ่ายจากร่างฯแรกที่ยื่นเมื่อ 20 มีนาคม สังเกตดูตรงหลักการจะไม่มีมาตรา 116 วรรคสอง ส่วนภาพเอกสารร่างฯฉบับสำเนาที่จัดทำโดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรที่แจกสมาชิกในวันพิจารณา 1 เมษายน สังเกตดูตรวหลักการจะมีมาตรา 116 วรรคสองโผล่ขึ้นมาแล้ว


ภาพร่างแก้รธน.ที่นายอุดมเดช ยื่นไม่มีมาตรา 116 วรรคสอง
ภาพสำเนาร่างแก้ รธน.ที่สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแจกสมาชิก มีมาตรา 116 วรรคสอง โผล่ขึ้นมา
กำลังโหลดความคิดเห็น