xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่ม 40 ส.ว.เข้าชื่อยื่น ปธ.รัฐสภา ส่งศาลฯ วินิจฉัยแก้ รธน.ขัด ม.154

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไพบูลย์ นิติตะวัน (แฟ้มภาพ)
กลุ่ม 40 ส.ว. ยื่น 68 รายชื่อผ่านประธานรัฐสภา ส่งศาลฯ วินิจฉัยแก้ รธน.ที่มา ส.ว. ขัด ม.154 (1) เพราะเนื้อหา และกระบวนการพิจารณาไม่ชอบด้วยกฎหมาย หลังที่ประชุมรัฐสภาโหวตผ่านวาระ 3


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (28 ก.ย.) กลุ่ม 40 ส.ว. นำโดย นายไพบูลย์ นิติตะวัน นายสมชาย แสวงการ นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ได้ยื่นรายชื่อสมาชิก 68 คน ต่อนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา และรองประธานรัฐสภา เพื่อให้นำความเห็นของสมาชิกรัฐสภาให้ดำเนินการส่งเรื่องไปศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มา ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154(1) เนื่องจากเนื้อหา และกระบวนการพิจารณาไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญ

นายไพบูลย์ กล่าวว่า การยื่นเสนอความเห็นดังกล่าว เพราะเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวมีความไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งในส่วนของสาระเนื้อหาใน 4 ประเด็น และกระบวนการดำเนินการอีก 5 ประเด็น รวมเป็น 9 ประเด็น ดังนั้น จึงขอให้ประธานรัฐสภาเสนอความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย และแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบโดยเร่งด่วน

นายไพบูลย์ กล่าวว่า มาตรา 154 ไม่ได้ให้ดุลพินิจแก่ประธานรัฐสภา การที่สมาชิกส่งให้แก่ประธานก็เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง ประธานฯ มีหน้าที่ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่ส่งก็อาจจะเข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตนเชื่อว่าสุดท้ายประธานฯ ก็คงต้องส่งไปยังศาลฯ ประเด็นอยู่ที่นายกฯ ที่ได้รับทราบแล้วว่ามีการยื่นในมาตราดังกล่าว นายกฯ จึงไม่มีเหตุที่จะต้องนำร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านสภาขึ้นทูลเกล้าฯ เพราะเป็นการไม่สมควร และอาจจะเป็นการระคายเคืองเบื้องยุคลบาท โดยตนเห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลฯ มีผลผูกพันแต่ละกรณี ไม่ใช่ผูกพันทุกกรณี

ทั้งนี้ จะมีการยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อแจ้งให้ทราบในวันจันทร์ที่ 30 กันยายนนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้ระงับการนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวขึ้นทูลเกล้า ตามมาตรา 154 วรรค 2 พร้อมทั้งจะมีการทำหนังสือไปยังสำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง เพื่อให้รับทราบต่อไป

ด้านนายสมชาย แสวงการ กล่าวว่า การที่ น.ส.ทัศนี บุญทอง ส.ว.สรรหา เสนอญัตติเลื่อนการลงมติวาระ 3 ในที่ประชุมออกไป เนื่องจากร่างดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฯ แต่ประธานรัฐสภากลับไม่ปฏิบัติตามให้ถูกข้อบังคับ แต่กลับเร่งลงมติทันที เราจึงเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ตน และเพื่อสมาชิก ส.ว.จำนวนหนึ่งจึงไม่อาจร่วมสังฆกรรมลงมติได้ นอกจากนี้ การที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งรับคำร้องของตน และมีการสั่งให้ส่งคำชี้แจงของผู้ร้องไปยังศาลฯ ถือว่ากระบวนการของศาลฯ เริ่มขึ้นแล้ว การลงมติวาระ 3 จึงเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย



กำลังโหลดความคิดเห็น