ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
การยกระดับคุณภาพของประชาธิปไตยในสังคมไทยเป็นเรื่องที่ยากลำบากยิ่งนัก เพราะว่ากลุ่มนักการเมืองที่ครองอำนาจและนักวิชาการผู้รับใช้พยายามจะบั่นทอนลดระดับคุณภาพของประชาธิปไตยไทยลงอย่างต่อเนื่อง โดยผลิตยาบ้าทางความคิดและยังได้ชี้นำความคิดแบบยาบ้านี้แก่สังคมอย่างเป็นระบบ จนทำให้คนจำนวนมากเสพติด เข้าใจผิดและบิดเบือนจากหลักการที่สำคัญของประชาธิปไตยหลายประการ
ประเด็นที่กลุ่มอำนาจการเมืองและนักวิชาการผู้รับใช้ได้เผยแพร่ความคิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ประดุจการผลิตยาบ้าทางความคิดซึ่งใช้ปลูกฝังใส่ในจิตของประชาชนคือ การลดทอนประชาธิปไตยให้เหลือเพียงการเลือกตั้ง การทำให้ประชาธิปไตยกลายเป็นสินค้าในระบอบทุนนิยม การอ้างหลักเสียงส่วนใหญ่ การอ้างอำนาจนำของฝ่ายนิติบัญญัติ และการไม่ยอมรับอำนาจการตรวจสอบของศาลรัฐธรรมนูญ รวมทั้งยังพยายามสถาปนาอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดให้แก่ฝ่ายบริหาร และลิดรอนอำนาจประชาชนในนามของคำว่าประสิทธิภาพการบริหารอีกด้วย
อันที่จริงการลดทอนประชาธิปไตยให้เหลือเพียงการเลือกตั้งก็นับว่าเป็นเรื่องเลวร้ายระดับหนึ่งแล้ว แต่ทว่ากลุ่มอำนาจการเมืองและนักวิชาการผู้รับใช้ยังพยายามสร้างวาทกรรมวางยาบ้าทางความคิดแก่สังคมยอมรับว่าการเลือกตั้งที่สามานย์เป็นองค์ประกอบที่ขาดเสียไม่ได้ของประชาธิปไตยอีกด้วย
กระบวนการสร้างการยอมรับให้กับการเลือกตั้งที่สามานย์คือการพยายามชี้นำทางวิชาการให้ยอมรับว่าการซื้อสิทธิขายเสียงเป็นเรื่องปกติของสังคมไทย โดยพยายามหาและสร้างเหตุผลหลากหลายประการขึ้นมาชักจูงให้สังคมยอมรับความชอบธรรมของการซื้อสิทธิขายเสียง เช่น การอ้างความยากจน หรือ การอ้างว่าเป็นความฉลาดของชาวบ้าน เป็นต้น
สำหรับการทำให้ประชาธิปไตยกลายเป็นสินค้าในระบอบทุนนิยม คือการสร้างวาทกรรม “ประชาธิปไตยที่กินได้” ขึ้นมา วาทกรรมชุดนี้เป็นกระบวนการหาเหตุผลสร้างความชอบธรรมแก่นักการเมืองที่ใช้นโยบายประชานิยมเป็นเครื่องมือหลักในการหาเสียงเพื่อเอาชนะการเลือกตั้ง พวกนี้ทำให้นโยบายทางการเมืองซึ่งปกติจะต้องคำนึงถึงการผสมผสานอย่างเป็นบูรณาการระหว่างอุดมการณ์ทางการเมือง ความเป็นไปได้ในการปฏิบัติ และผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่สังคมคมทั้งในระยะสั้น กลางและยาว เหลือเพียง “ความเป็นไปได้ในการชนะการเลือกตั้ง” เท่านั้นเอง โดยนัยนี้ประชาธิปไตยจึงถูกทำให้ดูหยาบและสามานย์ลงเหลือเพียงการแข่งขันเพื่อขายสินค้าในตลาดทุนนิยม
แน่นอนว่าการเลือกตั้งนั้นเป็นหลักการสำคัญประการหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย แต่ย่อมมิใช่เป็นการเลือกตั้งที่สามานย์ซึ่งครอบงำโดยกลุ่มทุนสามานย์เป็นแน่ ลักษณะการเลือกตั้งที่เป็นหลักการของประชาธิปไตยคือ การเลือกตั้งที่ทุกกลุ่มในสังคมมีโอกาสแข่งขันอย่างเท่าเทียม เป็นการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรมโดยปราศจากการซื้อขายเสียง หรือตกอยู่ภายใต้แรงโฆษณาชวนเชื่อด้วยนโยบายประชานิยม
สำหรับเรื่องการอ้างหลักเสียงส่วนใหญ่ ในกรณีสังคมไทยย่อมเป็นที่ประจักษ์แก่วิญญูชนว่า การอ้างหลักการเสียงส่วนใหญ่ของกลุ่มนักการเมืองกลุ่มทุนสามานย์ที่ครองอำนาจอยู่ในเวลานี้ เป็นเพียงเรื่องของการสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำที่ลุแก่อำนาจ หรืออ้างเพื่อละเมิดหลักนิติธรรมของพวกเขาเท่านั้นเอง หาได้มีสิ่งใดที่นอกเหนือไปจากนี้แต่อย่างใด
หลักการเกี่ยวกับเรื่องเสียงส่วนใหญ่ที่ถูกต้องนั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้ระบุอย่างชัดเจนเมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2556 ว่า “เสียงส่วนใหญ่จากการเลือกตั้งมีความหมายเพียงสะท้อนถึงความต้องการของประชาชน ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งในแต่ละครั้งเท่านั้น หาใช่เป็นเหตุให้ตัวแทนใช้อำนาจได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงความถูกต้องและชอบธรรมตามหลักนิติธรรมแต่อย่างใด”
การใช้เสียงส่วนใหญ่เพื่อปิดปาก ข่มเหง หรือลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของเสียงส่วนน้อยดังที่ปรากฏอยู่อย่างสม่ำเสมออย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของสมาชิกวุฒิสภาการลงมติผ่านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การลงมติผ่านร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาทของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา และการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ของสมาชิกรัฐสภา จึงย่อมเป็นกระบวนการที่บั่นทอนคุณภาพและลดทอนประชาธิปไตยให้กลายเป็นเครื่องมือของทรราชเสียงข้างมากในรัฐสภาเท่านั้นเอง
ยิ่งกว่านั้นกลุ่มนักการเมืองทุนสามานย์ยังได้อ้างว่าฝ่ายนิติบัญญัติเป็นฝ่ายที่มีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญและฝ่ายอื่นๆ โดยอ้างอำนาจในการสถาปนากฎหมายและอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การอ้างอำนาจเช่นนี้ย่อมขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับระบอบประชาธิปไตย เพราะว่าในระบอบนี้อำนาจสูงสุดที่แท้จริงคืออำนาจอธิปไตยของประชาชน ซึ่งเป็นอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ และองค์กรต่างๆภายในรัฐธรรมนูญ
สำหรับอำนาจขององค์กรต่างๆที่อยู่ภายในรัฐธรรมนูญย่อมมีความเท่าเทียมกันและตรวจสอบซึ่งกันและกัน หากองค์กรใดองค์กรหนึ่งใช้อำนาจในทางที่ไม่ถูกต้อง หรือใช้อำนาจไปในทางที่ไม่ชอบด้วยหลักนิติธรรมและขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ องค์กรอื่นๆย่อมมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบและระงับยับยั้งการใช้อำนาจนั้นตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญได้อย่างชอบธรรม
หลักการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจจึงเป็นหลักการที่สำคัญ และจะต้องได้รับการพัฒนาให้มีความเข้มแข็งเพื่อป้องกันมิให้สถาบันหรือองค์กรใดลุแก่อำนาจหรือใช้สิทธิอำนาจไปเพื่อบั่นทอนประชาธิปไตยดังที่ฝ่ายนิติบัญญัติเสียงส่วนใหญ่ของสังคมไทยในปัจจุบันกระทำอยู่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ฝ่ายนิติบัญญัติเสียงส่วนใหญ่ยังพยายามทำลายหลักนิติธรรม (rule of law) โดยการประกาศอย่างแข็งกร้าวว่าไม่ยอมรับอำนาจตุลาการของศาลรัฐธรรมนูญ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 19 พ.ย. 2556 นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา พร้อมด้วยนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาฯ คนที่ 1 และ นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาฯ คนที่ 2 แถลงไม่รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญต่อกรณีที่มีจะการวินิจฉัยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่
การกระทำของประธานรัฐสภาและรองสภาผู้แทนราษฎรทั้งสองคนนี้จะตีความเป็นอย่างไม่ได้นอกจากว่า เป็นการร่วมกันทำลายและล้มล้างหลักนิติธรรม ซึ่งอาจจะกลายเป็นตัวอย่างให้ผู้คนจำนวนมากในสังคมให้ปฏิบัติตาม และเมื่อผู้คนในสังคมไม่ยอมรับอำนาจศาล ไม่ยอมรับกฎหมาย ย่อมจะทำให้สังคมนั้นเกิดภาวะไร้ระเบียบ มีความโกลาหลวุ่นวายอย่างไม่สิ้นสุด ดังนั้นการไม่ยอมรับอำนาจศาลของบุคคลทั้งสามรวมทั้งบุคคลอื่นๆที่มีตำแหน่งหน้าที่ในฝ่ายบริหารและรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมเช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ย่อมเป็นการทำลายความสงบเรียบร้อยต่อสังคม เป็นภัยต่อระบอบประชาธิปไตย และความมั่นคงของชาติอย่างชัดเจน
กระบวนการการทำลายคุณภาพของประชาธิปไตยไม่ได้หยุดลงเพียงแค่นั้น หากแต่ยังมากไปด้วยวิธีการที่หลากหลายและเกิดขึ้นในทุกบริบท ดังเช่นกรณีของการรวบอำนาจไปสู่ฝ่ายบริหารโดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ซึ่งลดทอนอำนาจในการตรวจสอบของฝ่ายนิติบัญญัติและตัดสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนในเรื่องที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของชาติ หรือแม้กระทั่งกระบวนการนำนโยบายไปปฏิบัติของฝ่ายบริหารที่พยายามปิดหูปิดตาประชาชน หรือสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมแบบปลอมๆขึ้นมา ดังที่ปฏิบัติอยู่ในโครงการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท จนทำให้ประชาชนที่รู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมอันชั่วร้ายต้องลุกขึ้นมาคัดค้านในทุกเวทีทั่วประเทศ
การมีฝ่ายบริหารที่ด้อยปัญญา และกระทำโดยมุ่งผลประโยชน์แก่พวกพ้องมากกว่าผลประโยชน์ของประเทศชาติ จนทำให้เกิดปัญหาการทุจริตแพร่หลายและเกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างกว้างขวาง รวมทั้งการใช้นโยบายสองมาตรฐานในการปฏิบัติต่อประชาชนที่เลือกตนเองกับประชาชนที่ไม่เลือกตนเอง จนสร้างความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นทั่วทุกหนแห่ง ย่อมเป็นเงื่อนไขอีกประการหนึ่งที่ทำให้คุณภาพของประชาธิปไตยตกต่ำลงอย่างรุนแรงเช่นเดียวกัน
การจะยกระดับคุณภาพของประชาธิปไตยขึ้นมาจากเพียงแค่การเลือกตั้ง ไปสู่การมีองค์กรและสถาบันทางสังคมที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล และเกิดผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อทำให้ประชาชนได้รับการปกป้องสิทธิ มีเสรีภาพตามความชอบธรรม ได้รับความเป็นธรรม มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย การนำนโยบายไปปฏิบัติ และตรวจสอบการปฏิบัติงานของรัฐ ตลอดจนได้รับผลลัพธ์เชิงเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ โดยทำให้สังคมมีความเท่าเทียมมากขึ้น มีการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมมากขึ้น และมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นในทุกมิติทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ การศึกษา สาธารณสุข การมีงานทำ การมีสิ่งแวดล้อมที่ดี และมีสุขภาพที่ดี
แต่ทว่าการยกระดับคุณภาพประชาธิปไตยเพื่อคุณภาพสังคมที่ดีกว่าจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อประชาชนได้ตระหนักถึงพลังของตนเองและลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงความคิด ทำลายยาบ้าของประชาธิปไตยและเปลี่ยนแปลงสังคม
เมื่อประชาชนยืนหยัดต่อสู้อย่างอดทนและต่อเนื่อง ยาบ้าทางความคิดของประชาธิปไตย และการปฏิบัติที่ฉ้อฉลของกลุ่มนักการเมืองทุนสามานย์และนักวิชาการผู้รับใช้ก็ย่อมถูกทำลายลงไปในไม่ช้า