xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤต"ผู้นำ"ทำไทยป่วน เผด็จการจากเลือกตั้งเหิมหนัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (19 พ.ย.) ที่ห้องประชุมจุมภฏ–พันธุ์ทิพย์ ชั้น 4 อาคารประชาธิปก–รำไพพรรณี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ศ.ดร. ชัยอนันต์ สมุทวณิช ประธานสถาบันนโยบายศึกษา และ อดีตอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ‘ชัยอนันต์พูด :วิกฤติประเทศไทย’ โดยนายชัยอนันต์ กล่าวปาฐกถาว่า ในสภาวการณ์ที่มีรัฐธรรมนูญ และรัฐสภา ที่สามารถดำเนินการเป็นปากเสียงแทนประชาชนตามปกติแล้ว ไม่นึกว่าจะมีประชาชนจำนวนมาก ครอบคลุมทุกกลุ่มอาชีพอย่างกว้างขวางออกมาประท้วงรัฐบาล ซึ่งการประท้วงในคราวนี้ เป็นการประท้วงส.ส.ของตัวเอง ที่ไปลงมติออกกฎหมายในลักษณะที่ขัดกับความรู้สึกของประชาชน และหลักผลประโยชน์ของประเทศ ซึ่งวิกฤตทางการเมืองของประเทศไทย เป็นวิกฤตของระบอบประชาธิปไตยที่ขัดแย้งในตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ร้ายแรงมาก เพราะแทนที่ระบอบการเมืองจะไปแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และสังคม แต่กลับกลายเป็นว่าระบอบการเมืองกลับเป็นตัวปัญหาเสียเอง ดังนั้นจึงจำเป็นที่ประเทศไทยต้องกลับมาทบทวนว่า ระบอบการเมืองที่เป็นอยู่ในขณะนี้เหมาะสมหรือไม่
ศ.ดร.ชัยอนันต์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียดว่าจะปฏิรูปทางการเมืองไทยอย่างไร เพราะยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน แต่ในขณะนี้การเมืองไทย มีวิกฤตอย่างน้อย 5 ประการ คือ
1) วิกฤตภาวะผู้นำ ซึ่งจริงๆ แล้ว ไม่น่าที่จะเกิดขึ้นได้ เพราะรัฐบาลชุดนี้มาจาการเลือกตั้ง ไม่มียุคสมัยใดที่ผู้นำมีอำนาจมากกว่า แต่สติปัญญากลับมีน้อย เป็นเพราะว่าภาวะผู้นำของหัวหน้ารัฐบาล ถูกชี้นำจากบุคคลที่ยังมีอำนาจแฝงอยู่ นายกรัฐมนตรีไม่สามารถทำงานได้ด้วยตัวเอง ซึ่งสามารถเปรียบเทียบได้กับรถยนต์ที่ไม่มีเบรก หรือห้ามล้อ ในการทบทวนความผิดพลาดที่เกิดขึ้น
2) วิกฤตการณ์การทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งในยุคสมัยนี้ มีการทุจริตกันกว้างขวางกว่ายุคใดๆ โดยมีความเกี่ยวข้องกับโครงการขนาดใหญ่ๆ หรือแม้แต่การออกนโยบายเพื่อหาช่องทางในการทุจริต ถึงแม้ว่าจะมีความพยายามที่จะแก้ไข แต่กลายเป็นว่า วิกฤตการณ์ดังกล่าว กลายเป็นเรื่องธรรมดาที่คนไทยแก้ไม่ได้
3) มีแนวโน้มว่ารัฐบาลชุดนี้จะกลายเป็น‘เผด็จการจากการเลือกตั้ง’เนื่องจากเมื่อมีเสียงข้างมากมากเท่าใด ประชาชนจะคัดค้านอย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็สามารถออกกฎหมายที่ขัดแย้งต่อหลักนิติธรรม และผลประโยชน์ของประชาชนได้ เช่น กฎหมายนิรโทษกรรมฯ ที่กำลังคัดค้านอยู่ในขณะนี้ และการรัฐบาลพยายามควบคุมกลไกระบบราชการ โดยแต่งตั้งคนสำคัญของตัวเอง และพยายามกระทำหรือให้ข้าราชการที่มีแนวคิดต่อต้านรัฐบาลของตนเองนั้น ไม่ก้าวหน้าในทางราชการ โดยเฉพาะขณะนี้ กลไกตำรวจ และทหาร กลับยอมสยบต่อนักการเมือง ก็ถือเป็นเผด็จการเหมือนกัน นอกจากนี้ นักธุรกิจที่อยู่ฝ่ายตรงข้าม ยังถูกกลั่นแกล้ง โดยการตรวจสอบภาษีย้อนหลัง ซึ่งเรื่องดังกล่าวไม่ควรเกิดขึ้นในสังคมประชาธิปไตย ที่มีความก้าวหน้าแล้ว
4) วิกฤติความชอบธรรมของรัฐบาล ในขณะนี้ความชอบธรรมของรัฐบาล ลดต่ำลงมาก ประชาชนไม่เชื่อใจในตัวรัฐบาลสูง เมื่อรัฐบาลจะทำอะไรก็ตาม ประชาชนมีความสงสัยไปเสียทั้งหมด เช่น กรณีที่รัฐบาลทำท่าว่าจะถอยเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม แต่ปรากฏว่า ประชาชนไม่เชื่อใจ และยังมีการชุมนุมต่อไป และ
5) วิกฤติของคนส่วนหนึ่งที่ถูกทำให้เป็นปฏิปักษ์ต่อองค์พระประมุขของชาติ ซึ่งมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ถือเป็นเรื่องที่อันตรายมาก เพราะว่า ที่ผ่านมาองค์พระประมุขของชาติเป็นศูนย์กลางของความสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติ แต่วันนี้สิ่งดังกล่าวกำลังจะถูกทำลาย ถือเป็นวิกฤติทางจิตวิญญาณ โดยคนไทยบางส่วนเริ่มตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับวัฒนธรรม และราชประเพณีที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ประชาชนนับถือเป็นระยะเวลายาวนาน เป็นการสั่นคลอนจิตใจของประชาชนที่จงรักภักดีเป็นอย่างมาก
ดังนั้น วิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้น เพราะระบบการเมืองที่เป็นทางการ เช่น พรรคการเมือง รัฐสภา เป็นไปเพื่อประโยชน์ของตัวเอง และกระทำการขัดหลักประชาธิปไตย กลายเป็นว่าระบอบประชาธิปไตยมีบทบาท หรือเป็นเพียงกลไกหนึ่งของระบอบเผด็จการเท่านั้น และการเมืองไทยมีการดำเนินการนอกสภามากขึ้น ซึ่งไม่มีใครอยากให้เป็น
ดังนั้น การที่มีส.ส. บางส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาเคลื่อนไหวนอกสภานั้น เป็นเพราะว่า คงจะรู้สึกเหลืออดต่อการทำงานในสภา ถึงขั้นลาออกจากส.ส.มาเคลื่อนไหวร่วมกับประชาชน โดยในขณะนี้ประชาชนสิ้นหวังในการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพราะบรรดาส.ส. ไม่แสดงตัวว่า สามารถเป็นที่พึ่งให้กับประชาชนได้ และส.ส.ในสภาเอง กลับออกกฎหมายที่ไม่เป็นผลดีกับประชาชน เนื่องจากเป็นการให้ผลดีกับคนบางกลุ่มเท่านั้น โดยออกกฎหมายเพื่อยกเว้นความผิดให้ไม่มีความผิด สำหรับคนที่กระทำการเผาบ้านเผาเมือง และทุจริตคอร์รัปชัน
ดังนั้น ฝ่ายตุลาการ กลายมาเป็นองค์กรที่ประชาชนให้ความหวังว่าเป็นผู้แก้ไขความขัดแย้งได้ก่อนที่ทหารจะออกมาแก้ไขปัญหาโดยการรัฐประหาร แต่วันนี้การเมืองในยุคนี้ ความขัดแย้งสู่จุดที่เป็นการแตกแยกทางความคิด เพราะประชาชนเองถูกปลุกระดมว่า ให้เกลียดชังต่อกัน โดยระบบการเมืองแบบจัดตั้ง ดังนั้น ทั้งหมดที่เกิดขึ้น ควรจะมีการทบทวนตัวแบบในระบอบประชาธิปไตย หรือวิกฤตการณ์การเมืองของไทยในปัจจุบัน โดยตนมีข้อเสนอว่า
1) เนื่องจากในปัจจุบันขอบเขตอำนาจนิติบัญญัติมีอยู่กว้างขวางมาก จนสามารถออกกฎหมายที่ขัดนิติธรรมได้ ต่อไปตนคิดว่า น่าจะมีกฎหมายที่ไปจำกัดอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ ที่ไม่สามารถกระทำการดังกล่าวได้
2) จะป้องกันนโยบายประชานิยมแบบสุดขั้วอย่างไร เพราะเป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินการขอคะแนนเสียงจากประชาชน และนโยบายแบบนี้นักการเมืองต่างก็มีผลประโยชน์อย่างมาก ดังนั้น ในต่างประเทศมีวิธีการแก้ไขคือ มีกลไก หรือสถาบันต่างๆ เพื่อยับยั้งหรือให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ในการดำเนินนโยบายต่างๆ และ
3 ) ที่มักพูดกันว่า การเมืองไม่ดีเพราะประชาชนไม่มีการศึกษานั้น แต่ทำไมประเทศไทยทั้งๆ ที่มีมหาวิทยาลัยอยู่มากมาย และมีผู้ที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเป็นจำนวนมาก แต่สภาพการเมืองกลับแย่ลง หรือแท้จริงแล้ว คนไทยมีการศึกษาทางด้านการเมืองอยู่ในระดับต่ำ เพราะฉะนั้นการที่คนไทยมีการศึกษาสูง แต่กลับมีการศึกษาด้านการเมืองที่ต่ำนั้น เป็นเพราะจิตสำนึกที่รับผิดต่อสังคมต่ำ หรือเป็นเพราะคนไทยยังไม่ได้รับข้อมูลทางการเมืองจากสื่อมวลชนที่ไม่สมบูรณ์
นอกจากนี้ ศ.ดร.ชัยอนันต์ ระบุว่า วิกฤตทางการเมืองไทยมีหลายด้าน แต่ละด้านก็พัวพันกันทั้งหมด โดยเฉพาะวิกฤตภาวะผู้นำของการเมืองไทย ถือว่ามีความสำคัญ เพราะว่าขณะนี้ประเทศไทยมีผู้นำ เหมือนกับไม่มีผู้นำ นอกจากไปทัวร์ต่างประเทศแล้ว ก็ยังไม่เคยออกมาแสดงวิสัยทัศน์ว่า จะทำอะไรเพื่อประเทศได้ แต่ที่สังคมการเมืองไทยยังอยู่ได้เพราะภาคประชาชน และนักธุรกิจที่มีจิตสำนึกต่อชาติ ส่วนในเรื่องวิกฤตของคนนั้น ตนคิดว่าน่าจะเป็นไปได้ เพราะระบอบการปกครองของไทยดีแล้ว แต่การคิดอย่างนั้น เสมือนเป็นการยอมจำนนต่อสภาวะที่มีอยู่ ดังนั้น คนจะมีมากน้อย ก็ต้องช่วยกันแก้ไขกันต่อไป โดยการอยู่ด้วยความหวังไปเรื่อยๆ จนกว่าจะตายกันไปข้างหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น