xs
xsm
sm
md
lg

“ชัยอนันต์” ชี้ 5 ปมวิกฤตประชาธิปไตยขัดแย้งในตัวเอง แนะ 3ข้อเสนอ เชื่อศาลไม่ยุบพรรค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปธ.สถาบันนโยบายศึกษา ปาฐกถาไม่คิดว่าคนจะประท้วงรัฐบาลเหตุ ส.ส.ออกกฎหมายขัดความรู้สึก ชี้วิกฤตประชาธิปไตยขัดแย้งในตัวเอง ชู 5 ปม ตัวผู้นำปัญญาน้อย-โกงกินกว้างขวาง-เผด็จการเลือกตั้ง-ความชอบธรรม รบ.ต่ำ และปฏิปักษ์ต่อองค์พระประมุข เสนอ 3 ข้อจำกัดอำนาจนิติบัญญัติ ชงยับยั้งประชานิยมโอเวอร์ และเพิ่มข้อมูลการเมืองให้ชาวบ้าน เชื่อพรุ่งนี้ศาล รธน.คงไม่ยุบพรรค รับต้องทำ กม.ให้เข้ม เชื่ออีกหน่อยซื้อสื่อกันรุนแรง หวังคนเลือกตั้งตื่นรู้ ระบอบทักษิณก็จะอยู่ไม่ได้


 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นายชัยอนันต์ สมุทวณิช แถลง  

วันนี้ (19 พ.ย.) ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายชัยอนันต์ สมุทวณิช ประธานสถาบันนโยบายศึกษา ได้ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ชัยอนันต์พูด : วิกฤตประเทศไทย” โดยปาฐกถาว่า ในสภาวการณ์ที่มีรัฐธรรมนูญและรัฐสภาที่สามารถดำเนินการเป็นปากเสียงแทนประชาชนตามปกติแล้ว ไม่คิดว่าจะมีประชาชนจำนวนมากครอบคลุมทุกกลุ่มอาชีพอย่างกว้างขวาง ออกมาประท้วงรัฐบาล ซึ่งการประท้วงในคราวนี้เป็นการประท้วง ส.ส.ของตัวเองที่ไปลงมติออกกฎหมายในลักษณะที่ขัดต่อความรู้สึกของประชาชนและหลักผลประโยชน์ของประเทศ ซึ่งวิกฤตทางการเมืองของประเทศไทยเป็นวิกฤตของระบอบประชาธิปไตยที่ขัดแย้งในตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ร้ายแรงมาก เพราะแทนที่ระบอบการเมืองจะไปแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม แต่กลับกลายเป็นว่าระบอบการเมืองกลับเป็นตัวปัญหาเสียเอง ดังนั้นจึงจำเป็นที่ประเทศไทยต้องกลับมาทบทวนว่าระบอบการเมืองที่เป็นอยู่ในขณะนี้เหมาะสมหรือไม่

ศ.ดร.ชัยอนันต์ระบุต่อว่า ขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียดว่าจะปฏิรูปทางการเมืองไทยอย่างไร เพราะยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน แต่ในขณะนี้การเมืองไทย มีวิกฤตอย่างน้อย 5 ประการ คือ 1) วิกฤตภาวะผู้นำ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่น่าที่จะเกิดขึ้นได้ เพราะรัฐบาลชุดนี้มาจาการเลือกตั้ง ไม่มียุคสมัยใดที่ผู้นำมีอำนาจมากกว่า แต่สติปัญญากลับมีน้อย เป็นเพราะว่าภาวะผู้นำของหัวหน้ารัฐบาล ถูกชี้นำจากบุคคลที่ยังมีอำนาจแฝงอยู่ นายกรัฐมนตรีไม่สามารถทำงานได้ด้วยตัวเอง ซึ่งสามารถเปรียบเทียบได้กับ รถยนต์ที่ไม่มีเบรกหรือห้ามล้อ ในการทบทวนความผิดพลาดที่เกิดขึ้น 2) วิกฤตการณ์การทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งในยุคสมัยนี้มีการทุจริตกันกว้างขวางกว่ายุคใดๆ โดยมีความเกี่ยวข้องกับโครงการขนาดใหญ่ๆ หรือแม้แต่การออกนโยบายเพื่อหาช่องทางในการทุจริต ถึงแม้ว่าจะมีความพยายามที่จะแก้ไข แต่กลายเป็นว่าวิกฤตการณ์ดังกล่าวกลายเป็นเรื่องธรรมดาที่คนไทยแก้ไม่ได้

3) มีแนวโน้มว่ารัฐบาลชุดนี้จะกลายเป็นเผด็จการจากการเลือกตั้ง เนื่องจากเมื่อมีเสียงข้างมากมากเท่าใด ประชาชนจะคัดค้านอย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็สามารถออกกฎหมายที่ขัดแย้งต่อหลักนิติธรรม และ ผลประโยชน์ของประชาชนได้ เช่น กฎหมายนิรโทษกรรมฯ ที่กำลังคัดค้านอยู่ในขณะนี้ และการรัฐบาลพยายามควบคุมกลไกระบบราชการ โดยแต่งตั้งคนสำคัญของตัวเองและพยายามกระทำหรือให้ข้าราชการที่มีแนวคิดต่อต้านรัฐบาลของตนเองนั้น ไม่ก้าวหน้าในทางราชการ โดยเฉพาะขณะนี้กลไกตำรวจและทหารกลับยอมสยบต่อนักการเมือง ก็ถือเป็นเผด็จการเหมือนกัน นอกจากนี้ นักธุรกิจที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามยังถูกกลั่นแกล้งโดยการตรวจสอบภาษีย้อนหลัง ซึ่งเรื่องดังกล่าว ไม่ควรเกิดขึ้นในสังคมประชาธิปไตยที่มีความก้าวหน้าแล้ว

4) วิกฤตความชอบธรรมของรัฐบาล ในขณะนี้ความชอบธรรมของรัฐบาล ลดต่ำลงมาก ประชาชนไม่เชื่อใจในตัวรัฐบาลสูง เมื่อรัฐบาลจะทำอะไรก็ตาม ประชาชนมีความสงสัยไปเสียทั้งหมด เช่น กรณีที่รัฐบาลทำท่าว่าจะถอยเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม แต่ปรากฏว่าประชาชนไม่เชื่อใจและยังมีการชุมนุมต่อไป และ 5) วิกฤตของคนส่วนหนึ่งที่ถูกทำให้เป็นปฏิปักษ์ต่อองค์พระประมุขของชาติ ซึ่งมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ถือเป็นเรื่องที่อันตรายมาก เพราะว่าที่ผ่านมาองค์พระประมุขของชาติเป็นศูนย์กลางของความสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติ แต่วันนี้สิ่งดังกล่าวกำลังจะถูกทำลาย ถือเป็นวิกฤตทางจิตวิญญาณ โดยคนไทยบางส่วนเริ่มตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับวัฒนธรรมและราชประเพณีที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ประชาชนนับถือเป็นระยะเวลายาวนาน เป็นการสั่นคลอนจิตใจของประชาชนที่จงรักภักดีเป็นอย่างมาก

นายชัยอนันต์กล่าวอีกว่า ดังนั้น วิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้นเพราะระบบการเมืองที่เป็นทางการ เช่น พรรคการเมือง รัฐสภา เป็นไปเพื่อประโยชน์ของตัวเองและกระทำการขัดหลักประชาธิปไตย กลายเป็นว่าระบอบประชาธิปไตยมีบทบาทหรือเป็นเพียงกลไกหนึ่งของระบอบเผด็จการเท่านั้น และการเมืองไทยมีการดำเนินการนอกสภามากขึ้น ซึ่งไม่มีใครอยากให้เป็น ดังนั้น การที่มี ส.ส. บางส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ออกมาเคลื่อนไหวนอกสภานั้น เป็นเพราะว่าคงจะรู้เหลืออดต่อการทำงานในสภาถึงขั้นลาออกจาก ส.ส.มาเคลื่อนไหวร่วมกับประชาชน

โดยในขณะนี้ประชาชนสิ้นหวังในการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพราะบรรดา ส.ส.ไม่แสดงตัวว่าสามารถเป็นที่พึ่งให้แก่ประชาชนได้ และ ส.ส.ในสภาเองกลับออกกฎหมายที่ไม่เป็นผลดีกับประชาชน เนื่องจากเป็นการให้ผลดีกับคนบางกลุ่มเท่านั้น โดยออกกฎหมายเพื่อยกเว้นความผิดให้ไม่มีความผิด สำหรับคนที่กระทำการเผาบ้านเผาเมืองและทุจริตคอร์รัปชัน ดังนั้น ฝ่ายตุลาการกลายมาเป็นองค์กรที่ประชาชนให้ความหวังว่าเป็นผู้แก้ไขความขัดแย้งได้ก่อนที่ทหารจะออกมาแก้ไขปัญหาโดยการรัฐประหาร แต่วันนี้การเมืองในยุคนี้ ความขัดแย้งสู่จุดที่เป็นการแตกแยกทางความคิด เพราะประชาชนเองถูกปลุกระดมว่าให้เกลียดชังต่อกัน โดยระบบการเมืองแบบจัดตั้ง

ดังนั้น ทั้งหมดที่เกิดขึ้นควรจะมีการทบทวนตัวแบบในระบอบประชาธิปไตยหรือวิกฤตการณ์การเมืองของไทยในปัจจุบัน โดยตนมีข้อเสนอว่า 1) เนื่องจากในปัจจุบันขอบเขตอำนาจนิติบัญญัติมีอยู่กว้างขวางมาก จนสามารถออกกฎหมายที่ขัดนิติธรรมได้ ต่อไปตนคิดว่า น่าจะมีกฎหมายที่ไปจำกัดอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติที่ไม่สามารถกระทำการดังกล่าวได้ 2) จะป้องกันนโยบายประชานิยมแบบสุดขั้วอย่างไร เพราะเป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินการขอคะแนนเสียงจากประชาชน และนโยบายแบบนี้นักการเมืองต่างก็มีผลประโยชน์อย่างมาก ดังนั้น ในต่างประเทศมีวิธีการแก้ไขคือ มีกลไกหรือสถาบันต่างๆ เพื่อยับยั้งหรือให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในการดำเนินนโยบายต่างๆ และ

3 ) ที่มักพูดกันว่า การเมืองไม่ดีเพราะประชาชนไม่มีการศึกษานั้น แต่ทำไมประเทศไทยทั้งๆ ที่มีมหาวิทยาลัยอยู่มากมายและมีผู้ที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเป็นจำนวนมาก แต่สภาพการเมืองกลับแย่ลง หรือแท้จริงแล้ว คนไทยมีการศึกษาทางด้านการเมืองอยู่ในระดับต่ำ เพราะฉะนั้น การที่คนไทยมีการศึกษาสูงแต่กลับมีการศึกษาด้านการเมืองที่ต่ำนั้น เป็นเพราะจิตสำนึกที่รับผิดต่อสังคมต่ำ หรือเป็นเพราะคนไทยยังไม่ได้รับข้อมูลทางการเมืองจากสื่อมวลชนที่ไม่สมบูรณ์

นอกจากนี้ นายชัยอนันต์ระบุว่า วิกฤตทางการเมืองไทยมีหลายด้าน แต่ละด้านก็พัวพันกันทั้งหมด โดยเฉพาะวิกฤตภาวะผู้นำของการเมืองไทย ถือว่ามีความสำคัญ เพราะว่าขณะนี้ประเทศไทยมีผู้นำเหมือนกับไม่มีผู้นำ นอกจากไปทัวร์ต่างประเทศแล้วก็ยังไม่เคยออกมาแสดงวิสัยทัศน์ว่าจะทำอะไรเพื่อประเทศได้ แต่ที่สังคมการเมืองไทยยังอยู่ได้เพราะภาคประชาชนและนักธุรกิจที่มีจิตสำนึกต่อชาติ ส่วนในเรื่องวิกฤตของคนนั้น ตนคิดว่าน่าจะเป็นไปได้ เพราะระบอบการปกครองของไทยดีแล้ว แต่การคิดอย่างนั้นเสมือนเป็นการยอมจำนนต่อสภาวะที่มีอยู่ ดังนั้น คนจะมีมากน้อยก็ต้องช่วยกันแก้ไขกันต่อไป โดยการอยู่ด้วยความหวังไปเรื่อยๆ จนกว่าจะตายกันไปข้างหนึ่ง

จากนั้นนายชัยอนันต์ได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมเสวนาได้ซักถามโดยคำถามที่น่าสนใจมาจากนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีต ส.ว.กทม. ถามถึงกรณีล่าสุดที่ ส.ส.312 คน ที่สนับสนุนการแก้ไขรธน.ประเด็นที่มา ส.ว.ออกมาแสดงจุดยืนในการไม่รับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันพรุ่งนี้ว่าจะมีผลอย่างไรตามมาต่อสังคม และกล่าวว่าปัญหาทุกวันนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะคนเห็นแก่ตัวเพียงคนเดียวแต่เพราะคนเห็นแก่ตัวคนนั้นได้ใช้คนเห็นแก่ตัวในสังคมในระบบอุปถัมภ์มาทำลายระบบทั้งหมดมาเป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์อีกทอดหนึ่ง เพราะฉะนั้นวิกฤตของประเทศคงไม่จบลงหาก พ.ต.ท.ทักษิณหายไป หากคนยังเห็นแก่ตัวอยู่

นายชัยอนันต์กล่าวว่า ถ้าเป็นต่างประเทศเขาจะแก้ระบบให้ดีและก็แก้ที่ตัวคน วิธีการก็คือทำกฎหมายให้รุนแรงทำให้คนผิดมีโอกาสได้รับโทษสูงสุด แต่กฎหมายบ้านเรายังไม่เด็ดขาดมากพอ ตอนเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตนก็เป็นเสียงข้างน้อย แต่ถ้ายังเป็นอยู่ก็คงตัดสินให้เกิดการยุบพรรค เพราะว่าจริงๆ ตนคิดว่าสถานการณ์ปัจจุบันศาลรัฐธรรมนูญคงตอบอะไรกลางๆ มากกว่าตัดสินให้ยุบพรรค

“คำว่าประชาธิปไตยอยู่ในมือของเรา ในท้ายที่สุดประชาชนก็เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด และวิธีการปกป้องประชาธิปไตยที่สำคัญที่สุดก็คือ การออกมาเคลื่อนไหวของประชาชนอย่างที่ทำกันอยู่ในขณะนี้” นายชัยอนันต์กล่าว

ขณะเดียวกัน นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า สื่อมีผลต่อปัญหา ในปัจจุบันที่มีสื่อเคเบิลทีวีเลือกข้างเป็นจำนวนมาก ไม่เว้นกระทั่งสื่อหลักที่โดนแทรกแซงจากกลุ่มนายทุน รวมถึงในปัจจุบันมีการแชร์ข้อมูลทางโซเชียลมีเดีย ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม ซึ่งมีทั้งข้อมูลที่ถูกต้องและข้อมูลที่ไม่ได้รับการตรวจสอบ ศ.ดร.ชัยอนันต์กล่าวยอมรับว่า สื่อมีอิทธิพลมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะในอนาคตที่มีแนวโน้มว่าจะมีการซื้อสื่อ และต่อสู้กันรุนแรงมากขึ้น

เมื่อถามถึงการดำเนินการอย่างไรจึงจะให้รัฐบาลรับฟังความเห็นของประชาชน นายชัยอนันต์กล่าวว่า จนปัญญา เพราะผู้นำรัฐบาลยังไม่มีความเข้าใจอย่างแท้จริง ตนไม่ได้พูดเพื่อเสียดสี แต่เป็นเรื่องจริงที่ทุกคนต้องให้อภัย เพราะผู้นำไม่สามารถมองเห็นปัญหาได้

นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมเสวนายังตั้งข้อสังเกตถึงระบอบทักษิณ ว่าเหตุใดปัจจุบันระบอบนี้ยังคงอยู่ นายชัยอนันต์กล่าวว่า เงินเป็นแค่จุดเริ่มต้น นอกเหนือจากเรื่องเงินแล้วสิ่งที่ทำให้ระบอบทักษิณแข็งแรงได้ก็คือ เรื่องการสร้างมวลชนโดยการสร้างอุดมการณ์ทางการเมือง แม้ พ.ต.ท.ทักษิณจะไม่ได้รู้สึกจริงจังกับอุดมการณ์นั้น แต่ก็เป็นกระบวนการทางจิตวิทยาที่ทำให้ระบอบทักษิณแข็งแรง วันนี้ต้องไม่โยนความผิดให้คนคนเดียว แต่ต้องมองที่ตัวเองด้วยว่าเป็นคนเลือกเขาเข้ามาทำหน้าที่ ถ้าไม่อยากให้เกิดปัญหา การเลือกตั้งครั้งหน้าต้องคิดให้ดีๆ ก่อนจะเลือกใครมาทำหน้าที่แทนเรา ต้องไม่เห็นแก่ตัว กับนโยบายประชานิยมยั่วยวนคนเห็นประโยชน์ส่วนตัวเพราะเมื่อไหร่ที่ประชาชนตื่นรู้เพียงพอระบอบทักษิณก็อยู่ไม่ได้ประเทศชาติก็พ้นวิกฤต










กำลังโหลดความคิดเห็น