xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองไทยวันนี้ : ยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก / จรูญ หยูทอง-แสงอุทัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
คอลัมน์ : คนคาบสมุทรมลายู
โดย...จรูญ  หยูทอง-แสงอุทัย
 
การเมืองการปกครองในระบอบรัฐสภาตามที่ประเทศไทยรับมาจากประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหราชอาณาจักร  เมื่อมีความขัดแย้งระหว่างรัฐบาล กับรัฐสภา หรือรัฐบาลถูกอภิปรายทั่วไปไม่ไว้วางใจจากฝ่ายค้าน  ทางออกมี  ๒  ทาง คือ ยุบสภา หรือรัฐบาลลาออกเพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนเลือกตั้งใหม่
 
แต่สำหรับการเมืองไทยในขณะนี้ ไม่อาจจะใช้ทางออกทั้งสองทางในการแก้ปัญหาการเมือง หรือความขัดแย้งที่เกิดขึ้น  ทั้งนี้ เพราะ ๑) ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากความขัดแย้งระหว่างสภาฯ กับรัฐบาล  ๒) นายกรัฐมนตรีไม่มีทางลาออก  ๓) การเลือกตั้งของประชาชนไม่สามารถนำสังคมออกจากวงจรแห่งความขัดแย้งได้ เพราะเลือกตั้งใหม่ผู้ได้เสียงข้างมากยังคงเป็นกลุ่มเดิม
 
ดังนั้น  สังคมการเมืองไทยในขณะนี้จึงอยู่ในสภาพที่เรียกว่า “ยักตื้นติดกึก  ยักลึกติดกัก” หาทางออกตามระบอบรัฐสภาที่ทั่วโลกเขาใช้ไม่ได้
 
ฝ่ายที่ต้องการจะล้มรัฐบาลก็มองว่ารัฐบาลนี้เป็นนอมินีของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ  ทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ของทักษิณ และตระกูลชิน สัมปทานประเทศ ยุยงส่งเสริมให้มวลชนคนเสื้อแดง หรือ นปช.ออกมาปกป้องตน โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่ชาติบ้านเมือง
 
ส่วนฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลก็ชูประเด็น รัฐบาลของประชาชนมาจากเสียงข้างมาก  ๑๕  ล้านคน  เป็นรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย  อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง ฯลฯ
 
สรุปว่าสังคมไทยวันนี้มีข้อมูลคนละชุด  เชื่อในพระเจ้าคนละองค์  ฝ่ายหนึ่งเชื่อในพระพุทธเจ้า หรือสิทธัตถะ  อีกฝ่ายหนึ่งเชื่อมั่นในเทวทัต  ต่างฝ่ายต่าง “กูรักคนที่มึงเกลียด  กูเกลียดคนที่มึงรัก” และคนในสังคมไทยในขณะนี้เขารักใคร เกลียดใคร ตามที่แกนนำคนที่เขาศรัทธาบอกเท่านั้น
 
มีเสียงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมืองจากหลายฝ่าย  ในขณะที่บางฝ่ายชัยชนะในการต่อสู้หวังแค่คว่ำ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเท่านั้น  โดยเฉพาะนักศึกษา และปัญญาชนในสถาบันอุดมศึกษา เช่น นักวิชาการ และผู้บริหารมหาวิทยาลัย  ขณะที่ประชาชนส่วนหนึ่งที่รู้เท่าทันปัญหาการเมืองต่างเรียกร้อง “ถีบให้สุดตีน” หรือ “รุกให้ทะลุซอยตัน” ออกไปถึงการปฏิรูปการเมือง
 
แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า  แนวทางในการปฏิรูปการเมืองที่ว่านั้นคืออย่างไร  เริ่มต้นตรงไหน  ยังไม่มีใครนำเสนอทางออกอย่างเป็นรูปธรรม  ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว  ทำให้การชุมนุมของกล่มต่างๆ ไม่มีความคืบหน้า  ไม่เห็นอนาคต และชัยชนะที่ชัดเจน  นอกจากหวังเพียงว่าในแต่ละวันจะมีคนมาชมนุมกันมากน้อยแค่ไหน  จำนวนที่ต้องการขณะนี้คือ “๑ ล้านคน” ขึ้นไป  ซึ่งก็ไม่ทราบว่าหากจำนวนคนมาชุมนุมถึง  ๑  ล้านคนแล้วจะส่งผลถึงชัยชนะที่ต้องการอย่างไร  และจะทำอะไร  อย่างไรต่อไป
 
ปัญหาการเมืองไทยในขณะนี้ก็คือ  การยุบสภา หรือลาออกของรัฐบาลไม่ใช่ทางเลือก หรือทางออก หากไม่มีการปฏิรูปการเมืองกันใหม่
 
หากยังนึกไม่ออกว่าเราจะออกจากกับดักแห่งความล้มเหลวของระบอบรัฐสภาไทยอย่างไร  ลองทบทวนถึงเหตุการณ์บ้านเมืองหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ  ๒๕๓๕  ดูว่า ในเวลานั้นเราต่างสิ้นหวังกับนักการเมือง  พรรคการเมือง  ทั้งพรรคเทพ และพรรคมาร  จึงคิดหาทางปฏิรูปการเมืองโดยการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ  ทั้งๆ ที่เรามีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา  อันเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน  สร้างนวัตกรรมทางการเมืองมากมาย
 
เพียงแต่ว่าสาระบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนนำไปสู่เผด็จการเสียงข้างมาก และรัฐบาลเข้มแข็งจนนำไปสู่ความขัดแย้งครั้งใหญ่ และกวักมือเรียกทหารมายึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และมีเสียงข้างมากเบ็ดเสร็จ แต่ใช้อำนาจส่วนใหญ่ไปในการแสวงหาประโยชน์แก่ตนเอง และพรรคพวก
 
ครั้งนี้เราก็น่าจะกลับไปสู่การมีคณะทำงานเพื่อการปฏิรูปการเมือง ในส่วนของการคิดค้นกระบวนการเลือกตั้งที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน  ระบบพรรคการเมืองที่ตอบสนองผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ในลักษณะของพรรคเพื่อปวงชน  ไม่ใช่พรรคการเมืองของนายทุนพรรคอย่างที่เป็นอยู่  การถ่วงดุลอำนาจระหว่างอำนาจบริหาร กับอำนาจนิติบัญญัติ  ให้ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นฝ่ายตรวจสอบฝ่ายบริหาร  ไม่ใช่ลิ่วล้อของฝ่ายบริหาร หรือผู้มีบารมีในพรรคเท่านั้น
 
ทางออกจึงน่าจะเป็นดังนี้  ๑) รัฐบาลยุบสภา หรือลาออก  ๒) ยติบทบาทของพรรคการเมืองไปสักระยะหรือ ๑ สมัยเลือกตั้ง  ๓) มีคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองที่คล้าย ส.ส.ร..มาออกแบบการเลือกตั้ง  ระบบพรรคการเมือง และการสร้างจิตสำนึกนักการเมือง ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว  ๔) มีรัฐบาลและรัฐสภาเฉพาะกิจมาจากการลงประชามติของคนทั่วประเทศ  มีภารกิจสำคัญคือ การเตรียมประเทศสู่การเมืองใหม่ที่มีการปฏิรูปในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะการปฏิรูปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้  สร้างสังคมมนุษยนิเวศ แทนสังคมเดรัจฉานนิเวศที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้
 
กับดักทางสังคมที่จะต้องฝ่าข้ามให้ได้ในเร็ววันคือ ตรรกะแบบตื้นๆ ที่แต่ละฝ่ายใช้ในการขับเคลื่อนเพื่อต่อสู้ทำลายล้างกัน คือ ฝ่ายที่ชอบกับไม่ชอบทักษิณ หรือประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้ง  โดยเฉพาะฝ่ายที่ชอบทักษิณที่สถาปนาตัวเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องยอมรับความจริงว่า ประเทศนี้ไม่เคยมีมวลชน หรือกลุ่มพลังฝ่ายไหนที่เป็นฝ่ายที่เหมาะสมต่อการสถาปนาเป็นฝ่ายประชาธิปไตย  ถ้าจะพอใกล้เคียงก็น่าจะเป็นขบวนการนิสิตนักศึกษาและประชาชนก่อน และหลังเหตุการณ์  ๑๔  ตุลาคม  ๒๕๑๖  เท่านั้น
 
ดังนั้น  ถ้าจะเรียกหาความปรองดอง  ความสามัคคีของคนในชาติ  เราต้องไม่มีรัฐบาลเสียงข้างมากที่ใช้อำนาจไปเพื่อผลประโยชน์ของตน  วงศ์ตระกูล และสาวกลิ่วล้อ  ไม่มีรัฐสภาทาส  ไม่มีข้าราชการประจบสอพลอเพื่อความก้าวหน้าของตนเอง และละเลยหน้าที่ที่พึงมีต่อประชาชน  ฯลฯ
 
สังคมไทย และคนไทยพร้อมหรือยัง  ถ้าพร้อมแล้วก็ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง  แต่ถ้ายังไม่พร้อมก็คงนำสังคมเข้าสู่มิคสัญญีอีกวาระหนึ่งอย่างแน่นอน.
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น