xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เชื่อผู้นำมาก ชาติ(ไม่)เจริญŽ ทุนนิยมพรรคพวก ทำพินาศ!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์- ต้นเดือนที่ผ่านมา สมาคมเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทยได้จัดการประชุมสามัญประจำปี 2556 ที่โรงแรม สวิสโฮเต็ล เลอ คองคอร์ด มีนักเศรษฐศาสตร์อาวุโสระดับประเทศมาร่วมงานมากมาย

ภายในงานมีการเสวนาจากนักเศรษฐศาสตร์ภายใต้หัวข้อ วิชาเศรษฐศาสตร์กับการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ

เห็นว่าน่าสนใจ ก็ขอยกตัวอย่างจากหนึ่งในนักวิชาการที่แสดงความคิดเห็นอย่าง อาจารย์นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการอาวุโส จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ

ตั้งคำถามว่า ทำไมวิชาเศรษฐศาสตร์จึงมีบทบาทลดลงในการกำหนดนโยบายสาธารณะ? และตอบคำถามว่า การที่วิชาเศรษฐศาสตร์มีบทบาทลดลงเกิดจากบริบทการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่เปลี่ยนไป รวมทั้งเกิดจากตัวนักเศรษฐศาสตร์ไทยเอง

นักวิชาการ ผู้นี้มองว่า ยุค เชื่อผู้นำ ชาติเจริญ มีบทบาทสำคัญของวิชาเศรษฐศาสตร์คือการนำเสนอนโยบายลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ นโยบายเสถียรภาพการเงิน-การคลัง นโยบายการพัฒนาการเกษตรที่จัดทำโครงสร้างพื้นฐานการเกษตรนโยบายสนับสนุนการลงทุนของต่างชาติและส่งเสริมการส่งออกทุน เทคโนโลยี การจัดการการขยายการศึกษา การเปิดเสรีการค้า (เอเอฟทีเอ) การปฏิรูปภาษีศุลกากร และนโยบายพลังงาน

มีการสร้างพื้นฐานและสร้างสถาบันให้ระบบตลาดทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้บทบาทของวิชาเศรษฐศาสตร์โดดเด่นมาก จนมีการมอบรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ตั้งแต่ปี ค.ศ.1969

อาจารย์ ให้เหตุผล 4 ประการที่บทบาทวิชาเศรษฐศาสตร์ในปัจจุบันลดน้อยถอยลง

1. พรรคการเมืองเป็นผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจ

รัฐบาลในยุคปัจจุบันเน้นผลงานระยะสั้นเพื่อคะแนนเสียง นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาวจึงไม่ได้รับความสนใจ ซึ่งเถ้าแก่เจ้าของพรรคการเมืองส่วนใหญ่ล้วนเป็นผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจด้วยตัวเอง ประกอบกับปัจจุบันทีมเศรษฐกิจของพรรคการเมืองมีบทบาทค่อนข้างน้อย ต่างจากในยุคเผด็จการหรือประชาธิปไตยครึ่งใบ ที่ทีมเศรษฐกิจมักประกอบด้วยนักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของประเทศ

อาจารย์มองว่า นักเศรษฐศาสตร์ในหน่วยราชการไม่กล้าแสดงความคิดเห็นหรือนโยบายที่แตกต่างจากรัฐบาล ส่วนการเมืองไทยแบบสุดขั้วก่อให้เกิดปัญหาการนำเสนอและการวิจารณ์นโยบายเศรษฐกิจ โดยแบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย คือ

1) ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลหรือที่ปรึกษา ที่ต้องปกป้องนโยบายของพรรคโดยละเลยข้อเท็จจริง

2) ฝ่ายนักเศรษฐศาสตร์เสียงส่วนน้อย เช่นกรณีของ ทีดีอาร์ไอ ที่ทำหน้าที่ ยิงนก

3) ฝ่ายนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ซึ่งเกรงว่าการให้ความเห็นจะถูกจับใส่เสื้อสี ทำให้การไม่แสดงความเห็นเป็นทางที่ปลอดภัยที่สุด บทบาทของนักเศรษฐศาสตร์จึงลดลงเมื่อเทียบกับนักวิชาการสาขาอื่น และ เอ็นจีโอ

2. ความล้มเหลวของวิชาเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ

วิชาเศรษฐศาสตร์และนักเศรษฐศาสตร์ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ว่า รูปแบบใหม่ของการพัฒนาเศรษฐกิจที่จะดึงระบบเศรษฐกิจให้พ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางเป็นอย่างไร เรารู้แค่ว่ายุทธศาสตร์การพัฒนาแบบเดิมใช้ไม่ได้แล้วเท่านั้น และไม่มีองค์ความรู้เพียงพอเรื่องฟองสบู่และวิกฤติเศรษฐกิจการเงิน

ในภาวะที่ประเทศพัฒนาแล้วใช้นโยบายการเงินนอกแบบแผน เช่น การทำ คิวอี ประเทศเล็กๆ อย่างประเทศไทยไม่สามารถดำเนินนโยบายการเงินแบบปกติได้ และการปล่อยให้เงินไหลเข้าออกโดยเสรี จะก่อเกิดปัญหาต่อการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยและค่าเงินบาท ซึ่งจำเป็นต้องมี macro-prudential measures มาเสริม แต่จะทำอย่างไรก็ยังไม่ชัดเจน ส่วนงานวิชาการเศรษฐศาสตร์สาขาพฤติกรรมมนุษย์ยังไม่ใช่ กระแสหลัก เพราะพฤติกรรมของมนุษย์ในหลายกรณีไม่มีเหตุไม่มีผล

3. ความซับซ้อนของปัญหาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกับงานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ โดยมีปัจจัย 3 ประการดังต่อไปนี้

หนึ่ง โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในปัจจุบันมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจสังคม สิ่งแวดล้อม ในขณะที่วิชาเศรษฐศาสตร์ไม่สามารถให้ข้อเสนอนโยบายที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อสังคมได้ หากนักเศรษฐศาสตร์ไม่ได้ทำงานร่วมกับวิศวกร นักการเงิน และนักกฎหมาย ส่วนหน่วยงานราชการและรัฐบาลสามารถว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาและนักวิชาการบางคนให้เสนอผลวิเคราะห์ตามที่ตนต้องการได้

สอง เศรษฐศาสตร์มักมีทฤษฎี 2 ขั้ว คือ Keynesian และ Monetarist การจะมีนโยบายที่แก้ปัญหาได้จึงต้องมีการวิจัยประเมินผลนโยบาย (impact evaluation) ที่อาศัยข้อเท็จจริงจำนวนมาก งานวิจัยประเมินผลต้องใช้เทคนิคซับซ้อน ต้องเก็บข้อมูลนาน และเสียค่าใช้จ่ายมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีการใช้ randomized controlled experiment เพื่อให้ได้ผลดีที่สุด แต่นักเศรษฐศาสตร์ไทยยังไม่ค่อยมีการทำวิจัยประเมินข้อเสนอนโยบายแบบ impact evaluation เพราะเป็นงานวิจัยที่ออกแบบยาก เสียเวลานาน และแพง

ฝ่ายกำหนดนโยบายมักนิยมว่าจ้างให้วิจัยประเมินนโยบายแทน ส่วนการกำหนดนโยบายพัฒนาจึงไม่พึ่งวิชาเศรษฐศาสตร์ หรืออย่างมากก็ว่าจ้างนักวิชาการบางคนหรือบางบริษัทที่ปรึกษาที่ยอมให้คำตอบที่ผู้กำหนดนโยบายต้องการ ฉะนั้น การใช้เศรษฐศาสตร์จัดทำนโยบายจึงถูกบิดเบือน

สาม นอกจากนั้น งานวิจัยนโยบายสาธารณะในระบบประชาธิปไตยจะต้องมีกระบวนการติดต่อสื่อสาร (communication) หรืออย่างน้อยเผยแพร่ผลวิจัย (disseminate) ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งค่อนข้างที่จะเสียเวลาของนักวิจัยและต้องใช้งบประมาณ นักวิชาการส่วนใหญ่มักไม่มีทักษะด้านนี้ ความพยายามของสถาบันนโยบายสาธารณะที่ผ่านมา คือ สถาบันต้องลงมือทำเอง เมื่อการใช้ความรู้เศรษฐศาสตร์จัดทำนโยบายมีข้อยุ่งยากมากมาย อาจารย์ส่วนใหญ่ก็จะเลือกไม่ทำงานวิจัยนโยบายสาธารณะ

สุดท้าย 4. ความล้มเหลวของการเรียนการสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ให้นักศึกษาเข้าใจบทบาทและข้อจำกัดของกลไกตลาด โดยเฉพาะการวิเคราะห์เปรียบเทียบผลกระทบ (cost-benefit) ของวิธีการจัดสรรทรัพยากรทั้งที่ใช้กลไกราคา กลไกการเมือง และกลไกอื่นๆ ว่าเมื่อไรควรใช้กลไกตลาด เมื่อไรจะแทรกแซง และถ้าแทรกแซงแล้วเกิดปัญหาจะทำอย่างไร

ขณะที่ ข้าราชการและภาคเอกชนที่จบเศรษฐศาสตร์ยังไม่เข้าใจเรื่องอันตรายของการแทรกแซงของรัฐ ตัวอย่างเช่น เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ (ชินวัตร) อ้างว่า พ่อค้าส่งออกข้าวมีชีวิตสุขสบายสามารถซื้อข้าวราคาถูกจากรัฐบาล ไปส่งออกในราคาถูกถ้าจะให้ชาวนาอยู่รอด เราต้องช่วยให้เขามีกินมีใช้ และบรรดาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ก็สนับสนุนว่า ตลาดข้าวในโลกมีปัญหาตลาดไม่สมบูรณ์ รัฐจึงต้องแทรกแซง แต่รัฐบาลก็ยังคงอาศัย พ่อค้าเอกชน บางคนในการขายข้าว

แม้นักเศรษฐศาสตร์จะพูดเรื่องความเสียหายจาก ทุนนิยมพรรคพวก (crony capitalism) แต่จะมีนักเศรษฐศาสตร์ข้าราชการและประชาชนสักกี่คนที่เข้าใจว่าการแทรกแซงของรัฐกำลังทำลาย กลไกตลาด ที่เป็นพลังผลักดันให้อุตสาหกรรมข้าวไทยผลิตและขาย ข้าวคุณภาพ เมื่อวิชาเศรษฐศาสตร์ไม่สามารถให้ความกระจ่างในเรื่องข้อดี-ข้อเสียของกลไกตลาดกับกลไกรัฐ ก็อย่าหวังว่าเราจะใช้เศรษฐศาสตร์กำหนดนโยบายเศรษฐกิจได้

ตรงนี้ เหมือนกับอาจารย์จะตั้งข้อสังเกตว่า นโยบายสาธารณะ ที่วิชาเศรษฐศาสตร์ สอนเด็กในสถาบันการศึกษาพังไปหมดแล้ว จากทุนนิยมพรรคพวก

อีกเรื่องวันก่อน คณะรัฐมนตรี ( ครม.)อนุมัติ ให้จัดประชุมปราบโกงโลก ที่จะจัดขึ้นในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 9-11ธ.ค.56 ชื่อเต็ม ของงานคือการประชุมสมัชชาแห่งภาคีสถาบันป้องกันและปราบปรามการทุจริตระหว่างประเทศ (International Anti Corruption Commission : IACA) ครั้งที่ 2 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.)

กิจกรรมนี้ ต่อเนื่องจากการประชุมสมัชชาแห่งภาคี IACA ครั้งที่ 1 (1st Session of IACs Assembly of Parties) เมื่อวันที่ 29 -30 พฤศจิกายน 2555 โดยเห็นชอบให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการประชุมสมัชชาแห่งภาคี IACA ครั้งที่ 2 ตามที่ประเทศไทยเสนอ

ตามกำหนดการไม่รู้ว่า จะจัดให้ นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โชว์วิสัยทัศน์เรื่องการปราบโกง ให้สอดคล้องกับ เชื่อผู้นำ ชาติเจริญ ด้วยหรือป่าวหนอ!!!



กำลังโหลดความคิดเห็น