ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์- ถึงแม้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะลดกระแสต่อต้านจากคนทั้งประเทศด้วยการทำให้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่งถูกยับยั้งโดยวุฒิสภา แต่ก็ใช่ว่า เสถียรภาพของรัฐบาลหุ่นเชิดของ นช.ทักษิณ จะมั่นคงนัก
นั่นเพราะยังมีระเบิดอีกลูกหนึ่ง ที่รออยู่ข้างหน้า นั่นคือ การอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม กับพวก และนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นร้องว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว.ซึ่งได้ฟื้นสภาพ “สภาทาส” และ “สภาผัวเมีย”นั้น ขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ ในวันที่ 20 พ.ย.นี้
ซึ่งหากคำวินิจฉัยระบุว่า ขัดรัฐธรรมนูญ และมีโทษถึงยุบพรรค และตัดสิทธิทางการเมืองของ ส.ส.-ส.ว.จำนวน 312 คน ที่เข้าชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นนี้ ก็จะทำให้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์มีสภาพเป็นง่อยไปทันที
เท่ากับว่า รัฐบาลหุ่นเชิดของ นช.ทักษิณตกม้าตายก่อนครบวาระ 4 ปี โดยที่งานสำคัญตามใบสั่งยังทำไม่เรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็น การออกกฎหมายลบล้างความผิดให้ นช.ทักษิณหลุดพ้นจากสถานภาพนักโทษหนีคดีและกลับบ้านอย่างเท่ๆ (แถมโบนัสก้อนโตเป็นเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยอีกเกือบ 6 หมื่นล้านบาท) หรือการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เป็นแหล่งขุมทรัพย์มหึมาของเครือข่าย นช.ทักษิณและบริวาร หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกหลายมาตรา เพื่อเปิดทางให้ทุนสามานย์เข้าไปโกงกินประเทศได้อย่างสะดวกโยธินยิ่งขึ้น
การอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญวันที่ 20 พ.ย.นี้จึงไม่ใช่แค่เป็นการตัดสินอายุของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ เท่านั้น แต่เป็นการชี้ขาดความเป็นความตายและอนาคตความอยู่รอดของระบอบทุนสามานย์ทักษิณ ชินวัตรด้วย
วันที่ 20 พ.ย.2556 จึงเป็นวันที่สร้างความกังวลให้นักโทษหนีคดีผู้เป็นหัวขบวนทุนสามานย์อยู่ไม่น้อย
เป็นที่รู้กันว่า ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นหนึ่งในไม่กี่กลไกอำนาจที่ นช.ทักษิณไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายได้อย่างเบ็ดเสร็จ จึงไม่สามารถที่จะชี้นิ้วสั่ง วิ่งล็อบบี้ หรือเอาผลประโยชน์เข้าไปล่อได้เหมือนองค์กรอื่นๆ
ทางเลือกที่พอจะกดดันศาลรัฐธรรมนูญให้ตัดสินออกมาในทางที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองได้ ก็คือการใช้ “ขี้ข้าเสื้อแดง” ออกมาชุมนุมข่มขู่
วันที่ 8 พ.ย. หลังจากที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แถลงโยนภาระหน้าที่ไปให้วุฒิสภาทำการคว่ำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับเหมาเข่ง ปลดชนวนระเบิดจากกฎหมายล้างผิดให้พี่ชายแล้ว แต่บรรดาลิ่วล้อบริวารยังมีงานต้องทำต่อ นั่นคือการออกมากดดันศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนถึงวันอ่านคำวินิจฉัยในอีก 2 สัปดาห์ถัดไป
ในวันนั้น นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง แกนนำคนเสื้อแดง ที่มีภรรยาเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ได้ปราศรัยบนเวที “เราหยุด คุณหยุด ประเทศเดินต่อ” ของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่อิมพีเรียลเวิลด์ ลาดพร้าว ในเชิงข่มขู่ว่า “คุณฆ่าผมไม่ตายหรอก เพราะผมผ่านความตายมาหลายครั้ง แล้ววันนี้ผมก็ยังอยู่ และยังอยู่ได้ และจะเป็นแกนนำคนเสื้อแดงสู้กับมึงอีกครั้งหนึ่ง ท่านผู้พิพากษา ผมไม่ได้ยุยงปลุกปั่นประชาชน แต่ผมพูดกันด้วยเหตุและผล แม้ว่าน้ำเสียงจะดุดันไปหน่อยก็ต้องขออภัย”
นายอริสมันต์ปราศรัยตามสูตรของหัวโจกเสื้อแดงว่า พวกตนทำเพื่อปกป้องประชาธิปไตยและต่อสู้กับอำมาตย์ และอ้างว่า ตนรู้ดีว่าบรรดาผู้พิพากษาเหล่านั้น “ถูกพวกแม่งกดดันขนาดไหน” โดยอ้างว่า เล่นการเมืองมาตั้งแต่อายุ 20 จนอายุจะ 50 ต้องมีเพื่อนเป็นผู้พิพากษาบ้าง ความลับไม่มีในโลกหรอก
“ถ้าคุณไม่หยุด เมื่อเราหยุดแล้ว ถ้าคุณไม่หยุด เราจำเป็นที่จะต้องบังคับให้คุณหยุดให้ได้เพื่อประเทศไทยของเรา” นายอริสมันต์ข่มขู่
วันที่ 10 พ.ย. บนเวทีปราศรัยใหญ่ของ นปช. ที่ลานอเนกประสงค์ เมืองทองธานี นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช.ที่กลืนน้ำลายกลับมาสนับสนุนพรรคเพื่อไทย หลังจากเคยประกาศจะเลิกปกป้องรัฐบาล เพราะไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนิรโทษกรรม ได้ขึ้นเวทีปราศรัยบอกให้คนเสื้อแดงเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการชุมนุมครั้งใหญ่ที่จะมีขึ้นอีกในวันข้างหน้า เช่นเดียวกับนายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ แกนนำ นปช.รุ่นเก๋า ที่บอกว่าตอนนี้เสื้อแดงเข็มแข็งแล้ว รัฐบาลจะต้องอยู่ต่อไป และเสื้อแดงจะเป็นกำลังหลัก ค้ำจุนรัฐบาล
แขนขาของขบวนการเสื้อแดงที่จะใช้กดดันศาลรัฐธรรม ก็คือเสื้อแดงฮาร์ดคอร์เจ้าเก่าอย่างกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) นำโดยศรรักษ์ มาลัยทอง ที่เคยไปชุมนุมกดดันศาลรัฐธรรมนูญมาแล้วหลายรอบ โดยในครั้งนี้ กลุ่ม กวป.จะเริ่มปักหลักชุมนุมที่หน้าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ตั้งแต่วันที่ 18 พ.ย.เป็นต้นไป
ด้านนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการมหาดไทยและหัวหน้าพรรคเพื่อไทยได้ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเมื่อวันที่ 13 พ.ย.ว่า มีการใช้ทฤษฎีสมคบคิดระหว่างฝ่ายต่อต้านรัฐบาลกับองค์กรอิสระ มาล้มรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เหมือนที่เคยทำกับรัฐบาล นช.ทักษิณ ชินวัตร นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และนายสมัคร สุนทรเวช
ซึ่งในวันต่อมา ขี้ข้าระดับรองลงมา อย่างนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย แกนนำคนเสื้อแดง นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี และนายพหล วรปัญญา ส.ส.ลพบุรี ก็ร่วมกันแถลงข่าว อ้างว่า การชุมนุมของกลุ่มต่างๆ ขณะนี้ คล้ายกับการขับไล่รัฐบาลนายสมชาย ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อปี 2551 และจากนั้นศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน พวกตนจึงยอมรับศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นการล้มล้างการปกครองโดยศาลรัฐธรรมนูญ ประชาชนจะไม่ยอมรับเด็ดขาด
นายวรชัยยังอ้างอีกว่า มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 คน หนึ่งในนั้นมีอักษรย่อ “ช.” ซึ่งเป็นชุดเดียวกับที่ล้มรัฐบาลสมัยนายสมชาย ได้นัดพบกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่พรรคประชาธิปัตย์ จังหวะเดียวกับการที่กลุ่ม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ทั้ง 9 คนลาออก จึงเห็นว่าเรื่องดังกล่าวอาจมีการวางแผนที่จะล้มรัฐบาลหรือไม่ โดยใช้ประเด็นการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความการแก้ไขประเด็นที่มาของ ส.ว.มาเป็นเงื่อนไข พร้อมกับย้ำว่า วันที่ 18-20 พ.ย. คนเสื้อแดงจะนัดชุมนุมเพื่อฟังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่เมืองทองธานี คาดว่าอาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงสถานที่ เพราะจะมีผู้มาร่วมชุมนุมมากกว่า 1 แสนคน
คำแถลงของนายวรชัย ทำให้นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา ในฐานะฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ออกมาตอบโต้ว่า เป็นแผนของนายวรชัยที่อยากให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ถูกกล่าวอ้างถึงทั้ง 2 ท่าน ออกมาพูดหรือให้สัมภาษณ์จะได้กลายเป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดีทันที เพื่อจะได้นำเป็นข้ออ้างในการขอให้ตุลาการทั้งสองถอนตัว ไม่สามารถตัดสินคดีในวันที่ 20 พ.ย.ได้ กรณีนี้จึงเป็นความต้องการยั่วให้ตุลาการออกมาพูดเพื่อให้เข้าทางฝ่ายเขา
ขณะที่แหล่งข่าวในศาลรัฐธรรมนูญระบุว่ากระบวนการดังกล่าวต้องการดิสเครดิตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรศาลรัฐธรรมนูญ โดยจะสังเกตได้ว่าทุกครั้งที่ศาลฯ จะมีการวินิจฉัยคดีสำคัญก็จะมีข่าวในลักษณะนี้ออกมาเพื่อลดความน่าเชื่อถือของศาลฯในการวินิจฉัยคดีนั้นๆ
นอกจากนี้ในการพูดคุยของตุลาการฯ ยังมองจุดประสงค์ของนายวรชัย ว่า ต้องการที่ให้ตุลาการฯ เกิดความรู้สึกว่าเสียหายที่ถูกกล่าวหา แล้วไปแจ้งความดำเนินคดี เมื่อถึงเวลาพิจารณาคดีสำคัญ ตุลาการฯ คนนั้นก็จะถูกร้องคัดค้านไม่ให้เป็นองค์คณะพิจารณา เพราะถือว่าเป็นคู่ความกันในดคีอาญา ทำให้ตุลาการฯ คนนั้นต้องถอนตัว เหมือนกรณีศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยคดียุบพรรคประชาธิปัตย์จากกรณีเงินบริจาค 258 ล้าน ซึ่งทำให้นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อดีตตุลาการฯ ต้องถอนตัว
นี่จึงเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่เครือข่ายบริวารของ นช.ทักษิณ นำออกมาใช้ เพื่อกดดันศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนการอ่านคำวินิจฉัยในวันที่ 20 พ.ย. นอกเหนือจากการใช้ขี้ข้าเสื้อแดงระดมคนออกมาชุมนุมกดดัน