xs
xsm
sm
md
lg

ปีนี้น้ำท่วมแน่? ฝันร้ายที่ตามหลอนชาวกรุง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สืบเนื่องจากความเคลื่อนไหวคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ที่เป็นประเด็นร้อนในวงสังคม นำมาสู่วาทกรรม “ป่าสร้างได้สัตว์ป่าสร้างได้ แต่ถ้าน้ำท่วมไม่มีคนไทยประเทศก็อยู่ไม่ได้” กลายเป็นเงื่อนไขที่หลายคนหวั่นใจว่า ปีนี้กรุงเทพฯ น้ำจะท่วมหรือไม่?

จากข่าวภัยพิบัติน้ำท่วมในหลายจังหวัดไล่ตั้งแต่ภาคเหนือ ภาคอีสานจนถึงภาคกลาง โดยมีรายงานจาก กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เผยว่า มีพื้นที่ประสบอุทกภัยรวมทั้งสิ้นแล้วกว่า 23 จังหวัด 136 อำเภอ 709 ตำบล 5,470 หมู่บ้าน โดยมีประชาชนได้รับความเดือดร้อนกว่า 422,518 ครัวเรือนหรือ 1,526,152 คน

นอกจากนี้ ศูนย์ข้อมูลช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม(Thaiflood) ยังรายงานด้วยว่า ภาคเหนือเริ่มได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมแล้วโดยมีหลายจังหวัดอยู่ในสถานการณ์เตือนภัย แต่ยังไม่รุนแรงมากนัก

ล่าสุดทางกรุงเทพมหานครก็ได้มีการเตรียมกระสอบทราย 5 ล้านใบเพื่อป้องกัน 20 ชุมชนเสี่ยง จากระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่สูงขึ้นโดยมีสาเหตุมาจากปริมาณน้ำฝน และการระบายน้ำของกรมชลประทาน

นโยบายบริหารจัดการน้ำที่กินงบประมาณไป 3.5 แสนล้านบาทซึ่งผ่านฉลุยจากภัยพิบัติเมื่อครั้งก่อน มาถึงปีนี้น้ำท่วมจะกลับมาสร้างเงื่อนไขทางเมืองอีกครั้งหรือไม่?

ปีนี้น้ำจะท่วมหรือไม่?

หลังจากเหตุมหาอุทกภัยเมื่อปี 2554 สร้างความเสียหายให้แก่หลายชีวิต มาถึงปีนี้กับข่าวน้ำท่วมในหลายพื้นที่ส่งผลให้หลายคนเริ่มตั้งคำถามกันว่า ปีนี้น้ำจะท่วมอีกหรือไม่?

ศาตราจารย์ ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล หัวหน้าหน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อมูลสารสนเทศเชิงพื้นที่ ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยถึงสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดในหลายพื้นที่ตอนนี้ว่าเป็นผลมาจากพายุดีเปรสชันที่เข้าเวียดนามตอนกลางที่พึ่งสลายกลายเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำ

“มันก็ปกติ...ตอนนี้ที่ฝนตกมันได้รับอิทธิพลมาจากร่องมรสุมพาดผ่านหลายวันซึ่งยังไม่รู้มันจะพาดผ่านอีกนานขนาดไหน แต่เท่าที่ดู 2-3วันนี้มันพาดอยู่ภาคเหนือกับภาคอีสานแล้วระยะต่อไปมันคงลงมาต่ำหน่อย”

ดังนั้น เหตุน้ำท่วมที่เกิดขึ้นจึงมาจากฝนตกเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีบางพื้นที่ที่น้ำท่วมเพราะไม่ได้เปิดประตูน้ำ อย่างไรก็ตาม เขาเผยว่า ปริมาณน้ำปีนี้ถือว่าไม่เยอะมากนัก และคงไม่มีทางท่วมในลักษณะน้ำเหนือไหลมาเหมือนอย่างที่เกิดขึ้นในปี 2554 อย่างแน่นอน

แต่อาจมีการท่วมในลักษณะพายุฝน โดยอธิบายว่า จะมีลักษณะการท่วมแบบเป็นจุดๆ เฉพาะที่ฝนตกหนัก และท่วมไม่นานมากนัก

“ตอนนี้มีกรณีเดียวที่เรากำลังจับตาอยู่คือในช่วงเดือนตุลาคมถ้าเราไม่เจอพายุเต็มๆ เข้ามา เราจะท่วมแบบฝนตกระบายน้ำไม่ทันเท่านั้น แต่ถ้าพายุเข้าเราก็จะท่วมหนักหน่อย”

ทั้งนี้ เขาเผยว่าไม่สามารถระบุจุดที่จะท่วมได้เพราะจุดที่ท่วมจะอยู่ตรงที่ฝนตกหนักซึ่งอาจจะเกิดจากร่องมรสุมที่พาดผ่าน โดยตอนนี้มีร่องมรสุมอยู่ที่ภาคเหนือซึ่งมีแนวโน้มที่กำลังจะขยับลง หากมีพายุเฉียดเข้ามาในเดือนหน้าซึ่งมีโอกาสสูง กรุงเทพฯ ก็คงต้องลุ้นกันอีกทีเมื่อถึงช่วงเวลานั้น

เขาย้ำอีกครั้งว่า น้ำเหนือที่อยู่ในเขื่อนตอนนี้มีปริมาณไม่เยอะมาก ยิ่งเมื่อเทียบกับปี 54 แล้วถือว่าน้อย ด้วยเพราะฝนที่ตกส่วนใหญ่แล้วตกใต้เขื่อน เขาเผยว่า เหตุที่น้ำไม่ท่วมนั้นก็เพราะปริมาณฝนที่ตกน้อยอยู่แล้ว ไม่ใช่ผลงานจากโครงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลแต่อย่างใด

“ตัวฝนเองมันน้อยอยู่แล้ว ปีนี้มันคล้ายๆ กับปีที่แล้ว น้อยกว่าปีที่แล้วอีก” เขาเสริมว่า บางพื้นที่อาจได้รับผลจากโครงการของรัฐบาลที่มีการสร้างคันกั้นน้ำโดยเฉพาะริมแม่น้ำ “แต่ในระยะยาวไม่รู้ว่าจะป้องกันได้หรือไม่ เพราะเท่าที่เราติดตามโมเดลของโครงการ ถ้าฝนตกเท่ากับหรือมากกว่าปี 54 โครงสร้างต่างๆ ที่รัฐบาลทำไว้อาจจะไม่ได้ผลและบางพื้นที่อาจมีน้ำท่วมหนักกว่าเดิม”

ในขณะที่มาตรการในการป้องกันน้ำท่วมในกรุงเทพฯ เขาเผยว่า คันกั้นน้ำยังคงระดับเท่าเดิม เมื่อคันกั้นน้ำที่ทางภาคเหนือมีการสร้างไว้สูงอาจส่งผลให้ต่อไปกรุงเทพฯ ต้องรับน้ำมากขึ้น แต่ต่อให้ไม่มีน้ำเหนือมา ลำพังเพียงฝนตกหรือพายุเข้ากรุงเทพฯ ก็ไม่สามารถระบายน้ำได้ทันอยู่แล้ว

“ตอนนี้กรุงเทพฯ มีศักยภาพในการระบายน้ำเพียงระดับน้ำ 60 มิลลิเมตรเท่านั้น ถ้าเกินก็ท่วม แต่จะท่วมไม่กี่ชั่วโมงก็สามารถระบายออกได้”

ในส่วนของกรุงเทพฯ เขาเห็นว่ามีความพยายามที่จะจัดการน้ำโดยการสร้างอุโมงค์ยักษ์เพิ่ม และทำให้ริมแม่น้ำเจ้าพระยามีความสูงเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังคงไม่ได้รับเงินจากรัฐบาลเท่าที่ควร

ขณะที่การสร้างเขื่อนที่เป็นประเด็นร้อนอยู่ในสังคม เขาเผยว่า มีหลายเขื่อนที่อยู่ในแผนสร้างเขื่อน 21 โซนที่ผลักดันกันมาตั้งแต่น้ำท่วมปีที่แล้ว

“เท่าที่ดูเป็นเขื่อนขนาดเล็กทั้งนั้น หลายเขื่อนก็เป็นโครงการเก่าของกรมชลประทาน ออกแบบไว้สำหรับการชลประทานไม่ได้มีส่วนไหนที่ออกแบบไว้สำหรับการป้องกันน้ำท่วม”

ทั้งนี้ โครงการสร้างเขื่อนทั้งหมดนั้นได้ผ่านการตัดสินใจมาแล้ว มีงบประมาณจากนโยบายบริหารจัดการน้ำรออยู่แล้ว

“เรื่องการทำก็คงตัดสินใจทำไปแล้ว ถ้าการประเมินด้านสิ่งแวดล้อม (EHIA) ผ่าน ประชาพิจารณ์ผ่าน เขาก็เดินหน้าทำเพราะกู้เงินมาพร้อมแล้วด้วย เว้นแต่ประชาชนจะออกมาคัดค้าน ไม่ยอมให้เวนคืนการส่งมอบที่ดิน รัฐก็ทำไม่ได้”

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่เกิดขึ้นแม้จะถือว่าเป็นปกติ แต่ก็ยังคงต้องลุ้นกันต่อไปว่าในเดือนหน้านี้สภาพอากาศจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด

“ถ้าหนักมันก็ไม่เหมือนปี 54 แน่นอน มันจะท่วมเป็นจุดๆ เฉพาะจุดที่ตกเยอะและจะท่วมไม่เกินอาทิตย์หนึ่งหรือ 4 - 5 วัน ยกเว้นที่ลุ่มต่ำอย่างอยุธยาซึ่งท่วมทุกปีอยู่แล้วเพราะเป็นพื้นที่แก้มลิง”

ข้อสงสัย...กลเกมสร้างเขื่อน?

น้ำท่วมช่วงนี้ของปีอาจถือเป็นเรื่องปกติในหลายพื้นที่ ทว่าหลังจากเหตุอุทกภัยเมื่อปี 2554 ที่ยังคงเป็นภาพฝันร้ายที่ติดตาและตามหลอกหลอนหลายๆ คน ซึ่งส่งผลให้นโยบายต่างๆ ของภาครัฐสามารถผลัดดันได้จากการเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส น้ำท่วมจึงกลายเป็นทฤษฎีสมคบคิดที่หลายคนมองว่า เกิดจากความจงใจของรัฐบาลเพื่อสร้างเงื่อนไขนำไปสู่การผลักดันนโยบายต่างๆ

ผศ.ดร.ทวี สุรฤทธิกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มองว่า การปล่อยให้น้ำท่วมนั้นจะส่งผลเสียอย่างใหญ่หลวงให้แก่รัฐบาลมากกว่า อาจถึงขั้นล้มจนไม่สามารถบริหารงานต่อไปได้ ดังนั้นเกมการเมืองในลักษณะที่ปล่อยให้เกิดน้ำท่วมเพื่อหวังผลให้โครงการเขื่อนสามารถเดินหน้าต่อไปนั้น คงจะไม่เป็นความจริง

“ผมไม่ได้มองว่าเกมการเมืองไทยมีอะไรที่สลับซับซ้อนนัก” เขาเผยถึงกรณีที่หลายคนนำกรณีน้ำท่วม และการเคลื่อนไหวต่อต้านเขื่อนแม่วงก์มาเชื่อมโยงเป็นแผนการ “การเมืองไทยเขาออกจะเล่นกันตรงๆ มากกว่า ดังนั้นผมว่าเรื่องนี้เป็นไปได้ยาก”

ทั้งนี้ เมื่อประกอบกับความจริงอันที่เป็นที่รับรู้กันว่า เขื่อนไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้ก็ยิ่งทำให้กลเกมดังกล่าวเป็นเรื่องไร้สาระเข้าไปทุกที ความหวาดหวั่นของภัยพิบัติจึงมาจากการรายงานข่าวของสื่อ พร้อมทั้งภาพจำในหัวของประชาชนที่ลึกๆ แล้วก็ยังคงมีความหวาดกลัวแอบซ่อนอยู่

“สื่อออนไลน์ก็เล่นกันแรงนะ แล้วจริงๆสื่อเก่าก็ยังเล่นหนักเลย คือทำให้ดูน่ากลัวมาโดยตลอด”

หากมองในมุมของนักรัฐศาสตร์ผลเสียจากข่าวหรือภัยน้ำท่วมที่จะเกิดนั้นตกอยู่กับฝั่งรัฐบาลมากกว่า เพราะหากเกิดจริง เขาเห็นว่ารัฐบาลมีสิทธิ์พังลงได้ง่ายๆ

“เพราะว่านอกจากคุณมีบทเรียนแล้ว คุณก็มีเงินด้วย 3 แสนล้านบาท ผมว่าเขามีกลไกเครื่องมือมากมาย กระทรวงทบวงกรมท้องถิ่นด้วย ถ้าป้องกันไม่ได้รับรองรัฐบาลอยู่ไม่ได้แน่นอน”

ที่ผ่านมากับกระแสข่าวต่างๆ รัฐบาลยังมีท่าทีเป็นฝ่ายรับ ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามอย่างฝ่ายค้านดูจะมีท่าทีที่ดูแข็งกร้าวและเล่นการเมืองทั้งในและนอกสภา

“ตอนนี้ทุกคนก็ประกวดแข่งขันกันเรื่องต่อสู้กับน้ำ แต่ถ้าฟังโทน คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะก็จะออกมาในโทนน่ากลัว แต่มันเป็นเรื่องของการสร้างกระแส ดังนั้นที่น่ากลัวจะมาจากฝ่ายต่อต้านรัฐบาลมากกว่า ขณะที่รัฐบาลเองก็กลัวจนตัวสั่น แต่ก็ต้องใช้ความสงบสยบเคลื่อนไหว ต้องเบาลง ทำงานให้หนัก ผมก็ไม่ชอบรัฐบาล แต่ก็ไม่ชอบอาการกลัวเกินเหตุของฝ่ายค้านเหมือนกัน”

ในส่วนของกระแสข่าวที่ถูกนำไปเชื่อมโยงกับเรื่องเขื่อนนั้น เขาเห็นว่าต้องแยกจากกัน

“นายกฯ ก็บอกต้านมากก็ไม่สร้างแล้ว ตอนนี้ท่าทีรัฐบาลคือตั้งรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเดียว ขณะที่ข่าวน้ำท่วมก็ต้องแยกจากกัน มันเป็นเรื่องของสภาวะภูมิอากาศในแต่ละปีมากกว่า”

…..

เรื่องโดย ASTVผู้จัดการ LIVE



กำลังโหลดความคิดเห็น