xs
xsm
sm
md
lg

ตามคาด! “เพื่อไทย” โวย “ศาลรัฐธรรมนูญ” ฟันเลือกตั้งโมฆะสร้างปัญหา โยง กปปส.-ปชป.สมคบคิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (ภาพจากแฟ้ม)
แกนนำเพื่อไทยพล่าน แถลงการณ์ด่าศาลรัฐธรรมนูญตามเคย หลังวินิจฉัยเลือกตั้งโมฆะ ตะแบงผู้ตรวจฯ ไม่มีอำนาจ คำวินิจฉัยสร้างปัญหา ไม่หนำใจดูถูกม็อบ กปปส.คนส่วนน้อย ต้องการนายกฯ มาตรา 7 ป้ายสีใช้อาวุธสงครามแต่ศาลให้ท้าย ชักแม่น้ำทั้งห้าดิสเครดิตตุลาการมาจากรัฐประหาร ทีคดีเงินบริจาค ปชป.ยังหลุดง่าย ก่อนกล่าวหาเหมารวมใช้ทฤษฎีสมคบคิดทำลายทางการเมือง

วันนี้ (21 มี.ค.) แกนนำพรรคเพื่อไทย นำโดย นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และนายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ออกแถลงการณ์หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะ ระบุว่า ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยในวันนี้ว่า การเลือกตั้งตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญตามคำร้องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้เสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญ นั้น

พรรคเพื่อไทยเห็นว่า การกระทำของผู้ตรวจการแผ่นดิน และศาลรัฐธรรมนูญ มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อระบบการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พรรคจึงขอแถลงการณ์แสดงความไม่เห็นด้วยและจุดยืนทางการเมืองของพรรคต่อพี่น้องประชาชน ดังนี้

ข้อ 1.พรรคขอยืนยันในข้อกฎหมายว่า ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 245(1) ไม่ได้ให้อำนาจผู้ตรวจการแผ่นดินที่จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ และไม่มีรัฐธรรมนูญมาตราใดให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่จะรับคำร้องดังกล่าวไว้พิจารณาได้เช่นกัน การกระทำของศาลรัฐธรรมนูญ จึงไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ขัดต่อหลักนิติธรรมตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 197 และ มาตรา 3 วรรคสอง การกระทำของศาลรัฐธรรมนูญเสมือนเป็นการบัญญัติรัฐธรรมนูญขึ้นใช้เองตามใจชอบ เป็นการเวนคืนอำนาจอธิปไตยของประชาชนไปเป็นของศาลรัฐธรรมนูญโดยมิชอบ

ข้อ 2.คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นการสร้างปัญหา และมีผลกระทบต่อส่วนรวม เพราะการตัดสินว่าการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลต่างๆ ที่เกิดจากการขัดขวางการเลือกตั้งโดยคนส่วนน้อย จะเป็นบรรทัดฐานให้มีการดำเนินการในลักษณะนี้ต่อไป ตราบใดที่ผู้ขัดขวางยังไม่สมประโยชน์ของตน และสุดท้ายแม้จะออกพระราชกฤษฎีกาจัดการเลือกตั้งใหม่ ถ้ายังมีการขัดขวางการเลือกตั้ง ผลก็จะออกมาว่าการเลือกตั้งใหม่เป็นโมฆะอีก เมื่อเป็นเช่นนี้จะต้องใช้งบประมาณที่เป็นภาษีของประชาชนอีกเท่าไหร่ถึงจะจัดการเลือกตั้งได้ และบ้านเมืองจะเดินไปได้อย่างไร ศาลรัฐธรรมนูญจะรับผิดชอบอย่างไรต่อการตัดสินของตนศาลมีหน้าที่ยุติปัญหา ไม่ใช่สร้างปัญหาให้เกิดขึ้นใหม่พรรคจึงเห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กลับจะยิ่งสร้างปัญหาให้กับบ้านเมืองมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม และเป็นที่น่าเห็นใจประชาชนที่ต้องยอมฝ่าอันตรายเข้าไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

ข้อ 3.พรรคเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจนส่งผลกระทบต่อบ้านเมืองในขณะนี้ เกิดจากความต้องการการเมืองนอกระบบของกลุ่ม กปปส.และผู้ที่อยู่เบื้องหลัง ซึ่งเห็นอยู่ตำตาว่าม็อบนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และ กปปส.ชุมนุมผิดกฎหมาย และมีวัตถุประสงค์ต้องการสภาประชาชน และนายกฯ มาตรา 7 อันเป็นวิธีการนอกรัฐธรรมนูญ เมื่อมีผู้ยื่นคำร้องตาม มาตรา 68 ศาลรัฐธรรมนูญกลับไม่รับวินิจฉัย มิหนำซ้ำกลับไปบอกว่าเป็นการชุมนุมโดยชอบตามรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่ามีการใช้อาวุธสงครามในหลายสถานที่ของผู้ชุมนุม ซึ่งหากศาลรับวินิจฉัยและมีคำสั่งห้ามมิให้ม็อบ กปปส.กระทำการโดยผิดกฎหมาย รวมถึงการขัดขวางการเลือกตั้ง ปัญหาก็ไม่เกิดมาถึงทุกวันนี้ แต่พอผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นคำร้องเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะทั้งที่ไม่มีอำนาจ ศาลรัฐธรรมนูญกลับวินิจฉัย และตัดสินให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ จึงขอให้ประชาชนได้พิจารณาถึงมาตรฐานการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญว่าเป็นไปด้วยความสุจริต และยุติธรรมหรือไม่

ข้อ 4.พรรคเห็นว่าที่มาและทัศนคติของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ มีปัญหาตั้งแต่แรกจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากมีกำเนิดมาจากการแต่งตั้งตามคำสั่งของคณะรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ตุลาการหลายท่านไปเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 หลังจากนั้นได้สร้างผลงานที่ส่งผลกระทบต่อพรรคการเมืองและนักการเมืองฝ่ายพรรคเพื่อไทยมาโดยตลอด ตั้งแต่การยุบพรรคไทยรักไทย เมื่อไปตั้งพรรคพลังประชาชนก็ถูกยุบพรรคอีกพร้อมเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด การตัดสินคดี นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี อย่างน่ากังขา มาถึงพรรคเพื่อไทยก็ตัดสินว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่อาจทำได้ไม่ว่าทั้งฉบับ หรือรายมาตราทั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญจนกระทั่งถึงคดีนี้ก็วินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะอีกแล้ว ต่างกับคดีที่มีการร้องพรรคประชาธิปัตย์และนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะเรื่องขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ คดีเงินบริจาค 258 ล้าน ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยกคำร้องเพียงเหตุผลง่ายๆ ว่า นายทะเบียนพรรคการเมืองยังไม่ทำความเห็น ทั้งที่ข้อเท็จจริงตามคำร้อง กกต.ระบุชัดเจนว่ามีการทำผิดจริง หรือคดีที่มีการร้องให้วินิจฉัยตาม มาตรา 68 กรณีม็อบ กปปส.ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่รับวินิจฉัยรวมถึงคดีที่ร้องให้สมาชิกภาพการเป็น ส.ส.ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาล่าช้าจนมีการยุบสภา แล้วจำหน่ายคดีในที่สุด จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคมถึงความไม่เป็นกลางทางการเมืองของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่

ข้อ 5.พรรคขอยืนหยัดในอุดมการณ์ทางการเมืองว่า พรรคยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายมาโดยตลอด การทำงานของพรรคยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง พร้อมรับฟังเสียงและการตัดสินใจทางการเมืองของประชาชน พรรคไม่เคยปฏิเสธการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าการใช้อำนาจนั้นอยู่ในกรอบแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ดังนั้น พรรคย่อมมีความชอบธรรมที่จะดำเนินการทุกวิธีทาง เพื่อรักษาไว้ซึ่งกติกาตามระบอบประชาธิปไตย

ข้อ 6.การเลือกตั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ เกิดจากการกระทำที่ไม่สุจริตของหลายฝ่าย ตั้งแต่การประกาศล้มรัฐบาลของ กปปส.และแนวร่วมโดยไม่ใช้วิธีทางตามรัฐธรรมนูญ การไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ การขัดขวางกระบวนการเลือกตั้งของ กปปส.และแนวร่วม ความไม่เต็มใจจัดการเลือกตั้งของ กกต.การไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องไปใช้สิทธิ ในขณะที่พรรคเพื่อไทยและพรรคการเมืองอื่นๆ 50 กว่าพรรค ตลอดจนประชาชน 20 ล้านคนเศษได้ใช้สิทธิและทำหน้าที่โดยสุจริต ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย แต่ศาลรัฐธรรมนูญกลับวินิจฉัยเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่คนไม่สุจริตและไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายต้องการ จึงเป็นการทำลายศรัทธาของประชาชนที่มีต่อสถาบันศาล นำความเสื่อมเสียต่อสถาบันอื่นที่เกี่ยวข้อง และเป็นการซ้ำเติมให้เกิดความเจ็บช้ำน้ำใจและรังแกจิตใจของผู้รักประชาธิปไตยและความเป็นธรรมอย่างไม่ไยดีและไม่รับผิดชอบ

“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เมื่อประมวลภาพของการมุ่งทำลายล้างพรรคเพื่อไทย และกลุ่มการเมืองฝ่ายพรรคเพื่อไทย จะเห็นได้ว่าการใช้ทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy Theory) ของกลุ่มบุคคลและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เพื่อช่วงชิงอำนาจทางการเมือง และมุ่งทำลายฐานอำนาจทางการเมืองฝ่ายที่นิยมประชาธิปไตย โดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทำลายทางการเมืองได้ปรากฏภาพให้เห็นโดยประจักษ์ ทั้งกระทำโดยองค์กรเอง หรือรับลูกกันเป็นทอดๆ อย่างเป็นระบบ อันเดียวกันกับเมื่อปี 2549 พรรคจึงขอให้ประชาชนได้ร่วมกันต่อสู้กับการใช้อำนาจนอกระบบทุกรูปแบบ เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่แท้จริง โดยวิธีการสันติ” แถลงการณ์พรรคเพื่อไทย ระบุ

พ.อ.อภิวันท์ กล่าวว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.เป็นโมฆะ ต้องผู้รับผิดชอบ คือ 1.พรรคประชาธิปัตย์บอยคอตการเลือกตั้งแล้วยังแอบไปสนับสนุนร่วมมือกับ กปปส.ขัดขวางการเลือกตั้ง 2.นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.และกลุ่ม กปปส.ที่จงใจขัดขวางการเลือกตั้ง 3.กกต.ทั้ง 5 ท่านที่ทำตัวเหมือนเป็นการหน่วงเหนี่ยวให้การเลือกตั้งล่าช้า เสร็จไม่ทันตามเวลาที่กำหนด และการที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินออกมาเช่นนี้เหมือนเป็นการเวนคืนอำนาจอธิปไตยของคนไทยทั้ง 20 ล้านเสียงที่ออกไปเลือกตั้ง

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้ามีการจัดเลือกตั้งใหม่พรรคเพื่อไทยจะลงสมัครหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า เรื่องนี้ควรต้องไปถามพรรคประชาธิปัตย์ เราไม่เคยทำอะไรนอกกรอบประชาธิปไตย ถ้าพรรคประชาธิปัตย์เห็นแก่บ้านเมืองก็ควรลงสมัครรับเลือกตั้ง ขณะที่นายจารุพงศ์กล่าวเสริมว่า พรรคเพื่อไทยไม่เคยไม่ลงเลือกตั้ง เรื่องนี้ถามผิดพรรค ต้องไปถามพรรคเจ้าปัญหาดีกว่า

นายคณิน บุญสุวรรณ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญต้องรับผิดชอบเงินภาษีประชาชนในการจัดเลือกตั้ง 3,800 ล้านบาท คำตัดสินเท่ากับเป็นล้มล้างอำนาจของประชาชนที่ออกไปใช้สิทธิ์ทั้ง 20 ล้านเสียง รวมทั้งผู้สมัครของพรรคการเมืองอีกทั้ง 53 พรรค กว่า 1,200 คน การทำแบบนี้เป็นเหมือนการตบหน้าประชาชนฉาดใหญ่ เหมือนเป็นการทำรัฐประหารโดยศาลรัฐธรรมนูญ และยังเหมือนการให้รางวัลผู้กระทำผิดกฎหมายที่ขัดขวางการเลือกตั้งให้เป็นโมฆะ ทำให้ประชาชนเป็นทาสคนไม่กี่คน สมควรแล้วหรือยังที่จะให้ศาลรัฐธรรมนูญยุติการทำหน้าที่

นายอุดมเดช รัตนเสถียร แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ในฐานะพรรคการเมืองก็ต้องเดินหน้าตามระบบประชาธิปไตยต่อไป ก็ได้แต่สะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นให้ประชาชนเห็นว่ามีความไม่ถูกต้องชอบธรรมอย่างไร ต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของประชาชนในการลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง

นายชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า องค์กรใดก็ตามที่ทำนอกเหนือกฎหมาย เหนือรัฐธรรมนูญ โดยที่ไม่มีอำนาจ ก็เท่ากับว่ากระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย กรณีนี้มีองค์กรที่เกี่ยวข้องอยู่ 3 องค์กร คือ ศาลรัฐธรรมนูญ กกต.และผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีนี้มีผู้เสียหายคือผู้สมัคร ส.ส.ทั้งหลายคงต้องฟ้องดำเนินคดี

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ตัดสินให้การเลือกตั้ง วันที่ 2 ก.พ.เป็นโมฆะ ผู้รับผิดชอบที่ผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยจะดำเนินการฟ้องร้อง คือ นายสุเทพ เทือกสบรรณ เลขาธิการ กปปส.และกลุ่ม กปปส.พรรคประชาธิปัตย์ และ กกต.ทั้ง 5 ท่าน โดยจะให้ผู้สมัครของแต่ละเขตดำเนินการในเขตที่ลงสมัคร เพื่อให้รับผิดชอบค่าจ่ายที่ทั้งผู้สมัคร และพรรคเพื่อไทยใช้จ่ายในการเลือกตั้งที่เป็นโมฆะ นอกจากนี้จะฟ้องอาญาด้วย จะเริ่มฟ้องร้องตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไป


กำลังโหลดความคิดเห็น