xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“เทพเทือก” เพิ่งสำนึก !!?? “พล.อ.ร่มเกล้า” ยังตายฟรี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุเทพ เทือกสุบรรณ
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์- 3 ปีที่รอคอย กว่า “เทพเทือก” นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) จะรู้สึกสำนึกบาป นำมวลชนยืนสงบนิ่งเพื่อคาราวะดวงวิญญาณของพล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม และทหาร ตำรวจ รวมถึงประชาชนที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองเมื่อเดือน เม.ย. 53 ระหว่างการเคลื่อนขบวนมวลชนจากสนามหลวงมายังอนุสาวรีย์ประชาธิปัตย์ ถ.ราชดำเนิน เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 56 เพื่อปักหลักชุมนุมต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรม

การคารวะดวงวิญญาณวีรบุรุษแห่งสมรภูมิสี่แยกคอกวัวของนายสุเทพ จะสง่างามกว่านี้มาก หากว่าที่ผ่านมารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งมีนายสุเทพ เป็นกุนซือใหญ่ จะสามารถนำคนสังหารพล.อ.ร่มเกล้า และผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว มารับโทษทัณฑ์ อย่างที่ตั้งท่าขึงขังเอาไว้แต่แรก

แต่เป็นเพราะพรรคประชาธิปัตย์และรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เป็นนักสร้างภาพ เปลี่ยนท่าทีไปมา โดยเฉพาะความกระสันอยากปรองดองกับกลุ่มคนเสื้อแดง ที่เพิ่งเผาบ้านเผาเมืองไปหมาดๆ กระทั่งทำให้เรื่องราวกลับตาลปัตร กลายเป็นกระแสตีกลับมาว่าทหารฆ่าประชาชน และคดีของพล.อ.ร่มเกล้า จากที่แจ่มชัดในตอนแรกว่าจะสามารถสาวถึงลงมือและผู้บงการก็ค่อยๆ ลบเลือนไปอย่างไม่น่าเชื่อ

ย้อนกลับไปถึงการสอบสวนกรณีการตายของ พล.อ.ร่มเกล้านั้น รายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ซึ่งมีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน ใช้เวลาศึกษาข้อมูลกว่า 2 ปี ได้สรุปยืนยันว่า พล.อ.ร่มเกล้า เสียชีวิตจากการกระทำของกลุ่มชายชุดดำที่แฝงตัวมากับผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง

ข้อสรุปนี้ ตรงกับรายงานของคณะอนุกรรมาธิการตรวจสอบข้อเท็จจริงและติดตามความคืบหน้าทางคดีของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ทางการเมือง ในคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ที่มีนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา เป็นประธาน ที่ได้รวบรวมหลักฐาน และพยานบุคคลกว่า 100 ปาก ยืนยันว่าเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย. 2553 นั้นไม่ได้เกิดจากการเริ่มต้นโดยฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เริ่มจากฝ่ายผู้ชุมนุมโดยมีการเตรียมการล่วงหน้า และมีหลักฐานคลิปวิดีโอ ปรากฏภาพชายชุดดำเข้ามาทำงานร่วมกับกลุ่ม นปช. และมีส่วนร่วมในการใช้อาวุธยิงใส่เจ้าหน้าที่ทหารโดยอยู่ในพื้นที่ของกลุ่ม นปช.

ส่วนการเสียชีวิตของ พล.อ.ร่มเกล้า ในวันเกิดเหตุนั้น มีผู้ที่เก็บกระเดื่องระเบิดชนิดเอ็ม 67 จำนวน 2 ลูกซึ่งถูกขว้างมามาจากบ้านซึ่งอยู่บริเวณด้านข้างโรงเรียนสตรีวิทยา ซึ่งเป็นบริเวณที่กลุ่ม นปช.มีการชุมนุม แต่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กลับไม่ดำเนินการสอบสวน

หากรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เดินหน้าบี้ดีเอสไอให้ดำเนินการสอบสวนและทำคดีนี้ให้ถึงที่สุด เชื่อว่า นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ คงไม่เพลามือเพราะเป็นคนมีพรสวรรค์ในการสนองนายเป็นเลิศอยู่แล้ว และเรื่องนี้คงจะกระจ่างแจ้งต่อสังคม เพราะในการแถลงข่าวครั้งแรกของดีเอสไอเมื่อปี 2553 นั้น นายธาริต พูดชัดเจนว่าได้จับกุมผู้ต้องหาซึ่งใช้อาวุธสงครามร้ายแรงก่อเหตุ ถึง 8 คดี รวมถึงการยิงระเบิดในวันที่ 10 เม.ย. 53 ซึ่งเป็นเหตุให้ พล.อ. ร่มเกล้าและ เจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต

คราวนั้น นายธาริต แถลงอย่างภาคภูมิใจด้วยว่าได้ร่วมกับหน่วยอรินทราชใช้เทคโนโลยีพิเศษ ดำเนินการจับกุมผู้ต้องหาในคดีนี้ ไม่จับแพะแน่นอน แต่ในเวลาต่อมาผู้ต้องสงสัยเหล่านั้นก็ได้รับการประกันตัวและปล่อยตัวชั่วคราวไปจากการประสานงานของพล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ และการสนับสนุนของรัฐบาลอภิสิทธิ์

นับเป็นเรื่องที่น่าสมเพชอย่างยิ่ง เพราะขณะที่นายธาริต ยื่นคัดค้านการประกันตัวของแกนนำเสื้อแดงในคดีเผาบ้านเผาเมืองอย่างแข็งขัน นายอภิสิทธิ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นกลับมีท่าทีจะปรองดองกับระบอบทักษิณ

หลายคนคงจำเหตุการณ์ที่นายกอรปศักดิ์ สภาวสุ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ไปเป็นพยานให้กับนายวีระ หรือ วีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปช.จนในที่สุดศาลก็อนุญาตให้มีการประกันตัว

หลายคนคงจำได้ดีกับภาพการพบกันระหว่างนายอภิสิทธิ์กับนางธิดา ถาวรเศรษฐ์ ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ ตามต่อด้วยท่าทีของนายสุเทพ ที่ชูรักแร้หนุนสุดหัวใจ กระทั่งเป็นที่มาซึ่งทำให้ นายธาริตในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีก่อการร้าย เปลี่ยนท่าที จากที่เคยแข็งกร้าวก็กลับมาเป็นปล่อยวาง ประกาศเลิกคัดค้านประกันตัวแกนนำเสื้อแดง โดยระบุว่าทุกอย่างขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลหากคณะรัฐมนตรีมีมติสมานฉันท์ดีเอสไอก็โอเค

หลังจากนั้น แกนนำแดงก็ถูกปล่อยตัวชั่วคราวมาเป็นละลอก ไล่เรื่อยตั้งแต่ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ,นายแพทย์เหวง โตจิราการ,นายก่อแก้ว พิกุลทอง,นายนิสิต สินธุไพร,นายขวัญชัย ไพรพนา,นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก ฯลฯ

การที่นายสุเทพ นำทัพมวลชนคาราวะดวงวิญญาณของพล.อ.ร่มเกล้า เมื่อวันที่ 4 พ.ย. ที่ผ่านมา ลึกๆ แล้ว คงทำให้ “นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม” ผู้เป็นภรรยาของพล.อ.ร่มเกล้า สะทกสะท้อนใจอย่างยิ่ง เพราะถึงวันนี้ 3 ปีกว่าแล้ว ที่คดีพล.อ.ร่มเกล้า ไม่มีความคืบหน้าใดๆ

คงไม่ผิดนัก หากจะบอกว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้เป็นเช่นนั้นก็เพราะนโยบายปรองดองสมานฉันท์ของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ที่ผลักให้นายธาริต เปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากที่เคยแถลงว่าพล.อ.ร่มเกล้า น่าจะเสียชีวิตจากฝีมือของกลุ่มนปช. ก็เปลี่ยนมาเป็นชายชุดดำ และเปลี่ยนมาสรุปว่าไม่สามารถสืบหาพยานหลักฐานได้ มิหนำซ้ำนายธาริต ยังรับใบสั่งมาเล่นงานนายอภิสิทธิ์ กับ นาย สุเทพ ในข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนาเสียอีก

“เรามายืนอยู่ตรงนี้เป็นปีที่ 3 แล้ว ทุกคนรู้สึกเบื่อ เหนื่อย ท้อ หวังว่าปีหน้าไม่ต้องกลับมายืนอยู่ตรงนี้และคุยเรื่องนี้อีก ผู้เสียชีวิตทุกคนมีคุณค่าเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นทหารยศใด หรือพี่น้องสีใด แต่ที่จำเป็นต้องหยิบคดี พ.อ.ร่มเกล้า ขึ้นมา เพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานในการเรียกร้องความยุติธรรม และเรียกร้องให้สังคมไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา เป็นหลักประกันในอนาคตว่าสังคมไทยไม่เสพติดการใช้ความรุนแรง และหากรัฐบาลตั้งใจ จริงใจ ที่ทำให้เรื่องนี้ให้คลี่คลายไปได้ ก็เป็นสิ่งที่เรารอคอย ก็จะสร้างความเชื่อมั่นต่อคนในสังคมต่อระบบนิติรัฐ....” ความรู้สึกของนางนิชา ที่สะท้อนในวาระครบรอบ 3 ปี การเสียชีวิตของพล.อ.ร่มเกล้า

ถึงเวลานี้ ความมุ่งหวังของภรรยาพล.อ.ร่มเกล้า เธอต้องการให้คดีของผู้เป็นสามี เป็นบรรทัดฐานเรื่องความยุติธรรม ความเชื่อมั่นต่อระบบนิติรัฐ ที่จะต้องมีการค้นหาข้อเท็จจริง เดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม พิสูจน์ถูกผิดตามครรลองของกฎหมาย และเกิดการสำนึกผิดก่อนที่จะเดินเข้าสู่การนิรโทษกรรม ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้เธอยินดีที่จะปรองดองเป็นคนแรกๆ

ดังนั้น หากนายสุเทพ ต้องการไถ่บาปและสำนึกผิด ไม่ปล่อยให้พล.อ.ร่มเกล้า ตายฟรี คงไม่ใช่แค่การไปคาราวะต่อดวงวิญญาณเท่านั้น แต่ต้องยืนหยัดล้มร่างกม.นิรโทษกรรมให้ตลอดรอดฝั่ง ไม่ใช่เพียงแค่เล่นละครการเมืองฉากหนึ่งเพื่อเรียกคะแนนนิยมของพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น



พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น