ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์
รายงานพิเศษ
10 เมษายน 2556
คือวันครบรอบการเสียชีวิตของ “พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม” อดีตรองเสนาธิการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.2 รอ.) และทหารอีก 4 นายประกอบด้วย “พลทหารอนุพงศ์ หอมมาลี พลทหารอนุพงษ์ เมืองรำพัน พลทหารภูริวัฒน์ ประพันธ์และพลทหารสิงหา อ่อนทรง” ในเหตุการณ์จลาจลจากฝีมือ “กองกำลังติดอาวุธ” ของ “กลุ่มคนเสื้อแดง” บริเวณสี่แยกคอกวัว
นี่ไม่นับรวมถึงนายทหารที่ได้รับบาดเจ็บอีกจำนวนไม่น้อย เช่น พล.ต.วลิต โรจจนภักดี ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์(พล.ร.2 รอ.ซึ่งถูกปืนเอ็ม 79 ยิงเข้าใส่จนขาซ้ายหัก 3 ท่อน พ.ท.เกรียงศักดิ์ นันทโพธิ์เดช ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 12 ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดสมอง พ.ท.นพสิทธิ์ สิทธิพงศ์โสภณ ผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 3 รักษาพระองค์(ม.พัน 3 รอ.) ที่ถูกสะเก็ดระเบิดเอ็ม 79 ที่ขาทั้งสองข้าง เป็นต้น
เวลาผ่านไป 3 ปีเต็มๆ ไม่มีความคืบหน้าทางคดีปรากฏให้เห็นแต่ประการใด
เวลาผ่านไป 3 ปีเต็มๆ กฎหมายบ้านเมืองไม่สามารถลากตัว “ชายชุดดำ” ที่ใช้อาวุธสงครามสังหารทหารกล้าทั้ง 5 นายมาลงโทษให้สาสมกับความผิดที่ได้สร้างความพินาศฉิบหายให้แก่ชาติบ้านเมืองได้แม้แต่คนเดียว
จะมีก็แต่ทหารชั้นผู้น้อยที่ถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษของ “นายธาริต เพ็งดิษฐ์” ลากคอไปดำเนินคดี โดยที่นายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพบกไม่ได้แสดงปฏิกิริยาปกป้องผู้ใต้บังคับบัญชาที่ได้รับคำสั่งให้รักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
ต่างจากคดีการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงที่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีในศาลหลายคดี
จากพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา
ถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
2 ปีเกือบ 3 ปีก่อนหน้านี้จึงมีแต่ความว่างเปล่า
ดังนั้น จงอย่าแปลกใจที่ญาติพี่น้องและลูกเมียของทหารที่บาดเจ็บและเสียชีวิตจำเป็นต้องลุกขึ้นมาทวงถามความคืบหน้าของคดีหลายครั้งหลายครา
“เหตุการณ์ผ่านไป 3 ปี คดีของพล.อ.ร่มเกล้า ยังไม่คืบหน้า ซึ่งผลสรุปของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน วุฒิสภา เมื่อวันที่ 9 เม.ย. ระบุว่ามีพยาน และเอกสารจำนวนมากไม่ถูกนำมาประกอบคดีของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โดยปีแรก ดีเอสไอแถลงว่า พ.อ.ร่มเกล้า เสียชีวิตจาก นปช. จากนั้นมาเปลี่ยนเป็นฝีมือของชายชุดดำ ต่อมาเปลี่ยนมาสรุปว่า ไม่สามารถสืบหาพยานหลักฐานได้ ซึ่งดีเอสไอต้องทำความกระจ่างให้กับเรา และสังคมว่าเพราะอะไร การแถลงทิศทางคดีถึงเป็นไปในทางที่ถอยหลัง ผลสรุปของคณะกรรมาธิการฯ ประเด็นหนึ่ง คือ การคืนความชอบธรรมให้กับเจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งไม่ได้ตั้งใจที่จะใช้อาวุธ คือ กรณีที่ช่างภาพญี่ปุ่น และนายวสันต์ ภู่ทอง ไม่ได้เสียชีวิตจากเจ้าหน้าที่ทหาร
“เรามายืนอยู่ตรงนี้เป็นปีที่ 3 แล้ว ทุกคนรู้สึกเบื่อ เหนื่อย ท้อ หวังว่าปีหน้าไม่ต้องกลับมายืนอยู่ตรงนี้และคุยเรื่องนี้อีก ผู้เสียชีวิตทุกคนมีคุณค่าเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นทหารยศใด หรือพี่น้องสีใด แต่ที่จำเป็นต้องหยิบคดี พ.อ.ร่มเกล้า ขึ้นมา เพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานในการเรียกร้องความยุติธรรม และเรียกร้องให้สังคมไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา เป็นหลักประกันในอนาคตว่าสังคมไทยไม่เสพติดการใช้ความรุนแรง และหากรัฐบาลตั้งใจ จริงใจ ที่ทำให้เรื่องนี้ให้คลี่คลายไปได้ ก็เป็นสิ่งที่เรารอคอย ก็จะสร้างความเชื่อมั่นต่อคนในสังคมต่อระบบนิติรัฐ อยากขอร้องให้รัฐบาล และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญในเรื่องการติดตามคดี ส่วนที่มองว่าผู้นำกองทัพอาจจะมีท่าทีอ่อนลงในการช่วยเหลือผู้ใต้บังคับบัญชานั้น คิดว่าสังคมทหารมีความใกล้ชิด และเป็นครอบครัวเดียวกัน ในงานทำบุญวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ก็ร่วมเป็นเจ้าภาพให้กับพี่น้องที่เสียชีวิตในวันนี้ด้วย แม้ท่านจะไม่ได้มาเอง ส่วนตัวเชื่อมั่นต่อผู้บังคับบัญชาของพล.อ.ร่มเกล้า”
นั่นคือความรู้สึกของ “นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม” ผู้เป็นภรรยาที่สะท้อนความจริงที่เกิดขึ้นในวาระครบรอบ 3 ปีการเสียชีวิตของพล.อ.ร่มเกล้า
อย่างไรก็ตาม ในปีครบรอบ 3 ปีการเสียชีวิตของ พล.อ.ร่มเกล้า ได้ปรากฏสิ่งมหัศจรรย์เกิดขึ้นอย่างน้อย 2 ประการ จนหลายคนอดตั้งข้อสังเกตไม่ได้ว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ทั้งสองคน “เพิ่งมีความรู้สึก” หรือ “มีความรู้สึกช้า” เช่นนี้
ประการแรก ปีนี้หรือปี 2556 เป็นปีแรกที่ “บิ๊กป๊อก”-พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผู้บัญชาการทหารบก อดีตผู้บังคับบัญชาของ พล.อ.ร่มเกล้า และอดีตรุ่นพี่บูรพาพยัคฆ์ได้เดินทางไปร่วมพิธีทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ พล.อ.ร่มเกล้า ณ วัดบวรนิเวศวิหาร
ประการที่สอง ปีนี้หรือปี 2556 เป็นปีแรกที่ “บิ๊กตู่”-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกคนปัจจุบันแสดงปฏิกิริยาให้เร่งรัดควานหาตัว “ชายชุดดำ” มาลงโทษตามกฎหมายบ้านเมือง
“เสื้อแดงอยากรำลึกก็รำลึกไป เพราะมีคนสูญเสีย และผมก็รำลึกอยู่เหมือนกัน เพราะทหารเองก็สูญเสียและต้องไปหาว่าใครเป็นคนทำ อย่ามาพูดเพียงฝ่ายเดียว ไม่อยากทะเลาะขัดแย้งกับใคร แต่ต้องให้ความเป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่และลูกน้องของตน ที่มีทั้งตำรวจ พลเรือน และทหารที่สูญเสีย ถ้ายังไม่จบก็ไม่จบ”
“ส่วนความคืบหน้าคดีของกำลังพลที่บาดเจ็บและเสียชีวิตนั้น ขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่ เพราะได้รับหนังสือร้องเรียนจากผู้ที่ได้รับบาดเจ็บสูญเสียจากเหตุการณ์ 10 เม. ย.53 ขอให้ช่วยติดตาม จะให้คณะทำงานที่ปรึกษาทางกฎหมายของกองทัพบกทำหนังสือถึงกรมสอบสวนพิเศษ(ดีเอสไอ)ชี้แจงความก้าวหน้าของคดีดังกล่าวด้วย เราพยายามเร่งรัดติดตาม แต่รู้สึกว่าไม่ค่อยก้าวหน้า อย่างไรก็ตามต้องหาให้ได้ว่าใครทำ หากฝ่ายหนึ่งบอกไม่ได้ทำ ก็ต้องมีอีกฝ่ายทำ ทหารก็เป็นประชาชนเหมือนกัน”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ให้สัมภาษณ์กรณีกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ชุมนุมครบรอบ3ปีเพื่อรำลึกเหตุการณ์สลายการชุมนุม 10 เม. ย.53 ที่กรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.)
เป็นครั้งแรกที่ พล.อ.ประยุทธ์แสดงท่าทีอันแข็งกร้าวต่อดีเอสไอ โดยระบุชัดเจนว่า คดีของทหารไม่มีความคืบหน้า
ปรากฏการณ์ทั้งสองเหตุการณ์ถือว่าไม่ธรรมดา โดยเฉพาะท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ที่ผิดไปจากที่เคยเป็นมาในอดีต
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือคดีของนายพัน คำกอง คนขับแท็กซี่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ซึ่งเสียชีวิตหน้าคอนโดมิเนียมใกล้สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ สถานีราชปรารภเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 ซึ่งศาลอาญามีคำสั่งคดีโดยสรุปใจความได้ว่า นายพันเสียชีวิตจากการถูกกระสุนปืนกลเล็กขนาด .223 ซึ่งเป็นอาวุธปืนที่ใช้ในราชการสงครามขณะเจ้าพนักงานทหารกำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบปิดล้อมพื้นที่ควบคุมตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.)
“คำสั่งศาลนั้นทำให้ ศอฉ.หมดท่า ทำกองทัพพัง การที่ออกมารักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองกลับต้องตกเป็นคนผิด เพราะกองทัพไม่ปกป้องคนของตัวเอง ที่สำคัญต้องตั้งทนายเข้าไปถามค้านเพราะผลกระทบมันถึงกองทัพ ก่อนหน้านี้ผมเคยบอกแล้วว่าต้องตั้ง ฝ่ายเสื้อแดงเขามีทั้งอัยการ มีนายโชคชัย อ่างแก้ว เป็นทนายความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งมาเป็นทนายของผู้ร้องร่วมในครั้งนี้ แต่กองทัพไม่มีใครเลย คงอาจไปถามผู้พิพากษาว่าตั้งได้หรือไม่ ตั้งไม่ได้ก็ไม่ตั้ง แต่ในทางอาญานั้นอะไรที่กฎหมายไม่ได้ห้ามไว้เราทำได้ และผู้พิพากษาแต่ละคนก็เห็นไม่ตรงกัน ฉะนั้นฟังแค่คนใดคนหนึ่งไม่ได้ พล.อ.ประยุทธ์ก็ไปหลงคารม ร.ต.อ.เฉลิม ว่าจะไต่สวนเพียงแค่ตายเพราะเจ้าหน้าที่เท่านั้น แต่ไม่ลงลึกว่าใครทำ แต่ ร.ต.อ.เฉลิมไปคุมทนายและอัยการได้หรือ เรื่องนี้ทนายความของ พ.ต.ท.ทักษิณเรียกพยานมาสอบเยอะมาก ถือว่าเป็นกำลังหลักในการชนะครั้งนี้เลย”
“ถ้าทหารมีทนายเข้าไปซักค้าน ข้อมูลตรงนี้จะเปลี่ยนเป็นว่านายพัน คำกอง เข้าร่วมชุมนุม ไม่ใช่ผู้บริสุทธิ์ผุดผ่องแบบนี้ แต่นี่ทหารไม่มีสิทธิพูด ไม่มีใครทำลายน้ำหนักพยานเลย พวกพูดโกหกมันก็พูดตามสบาย สร้างเรื่อง เยอะแยะ ไปหมด แล้วทีนี้ทหารจะอ้างว่าทำตามหน้าที่ไม่ได้เลย เพราะเป็นการยิงผู้บริสุทธิ์ “พอถึงขั้นนี้ต้องมีการหาตัวผู้ต้องหา ซึ่งนายอภิสิทธิ์ และ นายสุเทพจะรอด เพราะจากคำสั่งให้ปฏิบัติจากเบาไปหาหนัก และไม่ได้สั่งให้ยิงพวกมุงดู แต่ที่ไม่รอดคือทหาร เพราะทำเกินกว่าเหตุ มันก็จะไล่ความผิดมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ผู้สั่งการตรงนั้นมาจนถึงคนปฏิบัติการ ครั้งนี้ทหารถูกหลอก กลายเป็นแพะ แล้วผลพิสูจน์อีก 35 ศพที่จะตามมาก็จะออกมาแนวเดียวกับคดีนี้”นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยตั้งคำถามถึงท่าทีของผู้บัญชาการทหารบกหลังจากที่ศาลอาญามีคำสั่งในคดีดังกล่าว
ถ้า พล.อ.อนุพงษ์และพล.อ.ประยุทธ์มีท่าทีเหมือนเช่นวันที่ 10 เมษายน 2556 สังคมไทยคงไม่เห็นภาพภรรยาและญาติพี่น้องทหารที่เสียชีวิตในวันดังกล่าวต้องเดินทางไปทวงถามความยุติธรรมถึงกองทัพบก
ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2555 “นางนิชา ธุวธรรม” ภรรยาของ พล.อ.ร่มเกล้าได้เดินทางไปที่กองบัญชาการกองทัพบกพร้อมกับญาติกำลังพลที่เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวน 20 คนเพื่อยื่นหนังสือต่อ “พล.อ.อรุณ สมตน” ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพบก ในฐานะประธานคณะทำงานติดตามคดีของกองทัพบก
“เราเกิดความไม่มั่นใจในการดำเนินการของหน่วยงานรัฐ เพราะจนถึงขณะนี้ทหารถูกเรียกไปสอบส่วนที่โดนกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำซึ่งมีความคืบหน้าไปมาก มีการส่งคดีเข้าสู่ศาลหลายคดีด้วยกัน แต่ในส่วนของทหารที่เป็นผู้ถูกกระทำยังไม่มีความคืบหน้า จึงขอให้ ทบ.ให้ความช่วยเหลือ นอกจากนี้ยังอยากเรียกร้องให้ทุกฝ่ายคิดถึงสิทธิมนุษยชนของทหารที่ออกไปปฏิบัติหน้าที่ดูแลความไม่สงบ เพราะที่ผ่านมาในรายงานต่างๆ พูดถึงแต่สิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ชุมนุม”
“ชีวิตสามีของเราและของคนอื่นๆ ก็ตายไปแล้ว แต่เราอยากใช้กรณีนี้รักษาชีวิตของทหารคนอื่น ทั้งพี่เพื่อนน้องที่เป็นทหารด้วยกันที่อยู่มาจนถึงทุกวันนี้และที่กำลังจะปฏิบัติหน้าที่ในวันข้างหน้าต่อไป นั่นคือเหตุผลที่ญาติของผู้เสียชีวิตจะต้องต่อสู้จุดนี้ เราไม่ต่อสู้เพื่อสามีของเราเพราะไม่มีวันฟื้นขึ้นมาอีกแล้ว แต่เพื่อเอากรณีของสามีเรา หรือคนอื่นๆ ในการรักษามาตรฐานบรรทัดฐานต่อไป”นางนิชาบอกเล่าความรู้สึกที่เกิดขึ้น
เช่นเดียวกับ “นางกาญจนา เมืองอำพัน” มารดาของ “สิบโทอนุพงษ์ เมืองอำพัน” ที่มีความรู้สึกในทำนองเดียวกันว่า “รู้สึกอึดอัดใจในการนำเสนอข่าวของสื่อที่โจมตีว่าฝ่ายทหารกระทำความผิดอยู่ฝ่ายเดียว ทุกวันนี้ช้ำใจและเรา อยากจะมีจุดที่พึ่งพิงเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับเราบ้าง และอยากให้ ทบ.ได้ช่วยเหลือเร่งรัด จากการที่มีโอกาสได้พบนายโคฟี่ อันนัน ท่านก็บอกว่าให้เรามั่นคงและเข้มแข็ง ทุกวันนี้เราจึงต้องเข้มแข็ง ส่วนจะให้ไปเรียกร้องความเป็นธรรมในส่วนอื่นๆ เราอยู่ในความดูแลของกองทัพบก คิดว่ากองทัพบกน่าจะช่วยเราได้….”
อย่างไรก็ตาม 3 ปีที่ผ่านมา ก็ใช่ว่าจะไม่มีความคืบหน้าในทางคดีเกี่ยวกับทหารเอาเสียเลย เพราะก่อนหน้าครบ 3 ปีเหตุการณ์ 10 เมษายน 2553 เพียงแค่หนึ่งวันได้มีบทสรุปที่สำคัญชิ้นหนึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวโดยคณะอนุ กมธ.ตรวจสอบข้อเท็จจริงและติดตามความคืบหน้าทางคดีของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ทางการเมือง ในคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา
ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงสรุปชัดว่า คนที่มีปฏิบัติการสังหารทหารในวันนั้นก็คือ “คนชุดดำ”
พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อนุ กมธ.ฯ เปิดเผยข้อมูลว่า จากการศึกษาคลิปวิดีโอเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งหลักฐาน และพยานบุคคลกว่า 100 ปาก ทำให้ได้ข้อสรุปใน 4 ประเด็นคือ 1.เหตุการณ์ในวันที่ 10 เม.ย. ไม่ได้เริ่มต้นโดยฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ 2. เจ้าหน้าที่ทหารได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด 3.ในเรื่องชายชุดดำนั้น จากหลักฐานคลิปวิดีโอ เจ้าหน้าที่และชาวบ้านได้ระบุว่ามีรถตู้ขับมาส่งชายชุดดำ จากนั้นกลุ่มชายชุดดำก็ได้เดินเข้าไปยังกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งนักข่าวอิสระจากต่างประเทศสามารถบันทึกภาพไว้ แต่ก็ถูกชายชุดดำกลุ่มดังกล่าวใช้ปืนจี้หัวและยึดกล้องไป ดังนั้นเมื่อมีบุคคลที่พบเห็นเหตุการณ์ดังกล่าว หลายคนจึงเชื่อได้ว่า กลุ่มชายชุดดำมีส่วนร่วมในการใช้อาวุธยิงใส่เจ้าหน้าที่โดยอยู่ในพื้นที่ของกลุ่ม นปช. และ 4.ความคืบหน้าการเสียชีวิตของ พล.อ.ร่มเกล้า อนุ กมธ.ฯ เห็นว่า ในวันเกิดเหตุมีผู้เก็บกระเดื่องระเบิดชนิดเอ็ม 67 จำนวน 2 ลูกซึ่งถูกขว้างมาจากบ้าน ซึ่งอยู่บริเวณด้านข้าง รร.สตรีวิทยา ซึ่งเป็นบริเวณที่กลุ่ม นปช.ชุมนุม แต่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กลับไม่ดำเนินการสอบสวน ดังนั้น อนุ กมธ.ฯ จึงเห็นว่าดีเอสไอมีการดำเนินการที่ล่าช้าทั้งที่มีพยานหลักฐานชัดเจน
ส่วนกรณีการเสียชีวิตของนายวสันต์ ภู่ทอง กลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงนั้น นพ.วิรัติ พาณิชย์พงษ์ ส.ว.สรรหา ในฐานะอนุ กมธ.ฯ ชี้แจงว่า เป็นไปไม่ได้ที่กระสุนจะถูกยิงมาจากฝ่ายทหาร เพราะบริเวณที่เกิดเหตุมีผู้ชุมนุมเป็นจำนวนมาก จึงเชื่อว่า นายวสันต์น่าจะเสียชีวิตด้วยฝีมือกลุ่มผู้ชุมนุมด้วยกันเอง
นี่คือผลการตรวจสอบที่ยืนยันการมีอยู่ของชายชุดดำอีกครั้ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ(คอป.) ซึ่งมี “นายคณิต ณ นคร” เป็นประธานได้สรุปยืนยันการดำรงอยู่ของชายชุดดำ ซึ่งใช้อาวุธสงครามโจมตีเจ้าหน้าที่ทั้งก่อนและหลังวันที่ 10 เมษายน 2553 โดยปรากฏหลักฐานมีผู้เสียชีวิตเพราะชายชุดดำ 9 คน แยกเป็นทหาร 6 คน ตำรวจ 2 คนและกลุ่มคนรักษ์สีลม 1 คน
ดังนั้น ถ้าจะว่าไปแล้ว ก็ใช่ว่าจะเป็น 3 ปีที่สูญเปล่าไปเสียทีเดียว เพียงแต่ว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษของนายธาริต เพ็งดิษฐ์จะเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ ทำคดีแบบ 2 มาตรฐานโดยเลือกข้างรัฐบาลและคนเสื้อแดงหรือไม่
ยิ่งเมื่อมีปฏิกิริยาอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดแจ้งจาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดาและพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาด้วยแล้ว คงไม่เกินเลยไปนักที่จะกล่าวว่า “มาช้ายังดีกว่าไม่มา” เพียงแต่ถ้ารู้สึกเร็วกว่านี้ คดีความต่างๆ คงไม่ยืดเยื้อเรื้อรังและคาราคาซังเหมือนเช่นที่เป็นอยู่ในขณะนี้