xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

3 ปีสมรภูมิคอกวัว 3 ปีแห่งการบิดเบือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เวียนมาครบรอบ 3 ปีแล้ว สำหรับเหตุการณ์ “ชายชุดดำ”ที่แฝงอยู่กับม็อบคนเสื้อแดง จับอาวุธขึ้นมาสังหารเจ้าหน้าที่และคนเสื้อแดงด้วยกันเอง ที่บริเวณสี่แยกคอกวัว-อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จนทำให้ทหารและประชาชนเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

ตลอดเวลา 3 ปีที่ผ่านมา กลุ่มคนเสื้อแดงภายใต้การชักใยของ นช.ทักษิณ ชินวัตร พยายามบิดเบือนมาตลอดว่า เหตุรุนแรงในวันนั้นมาจากการสั่งการของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ต้องการปราบปรามคนเสื้อแดงที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย เป็นความโหดเหี้ยมอำมหิตของอำมาตย์ที่อยู่เบื้องหลังรัฐบาลในขณะนั้นที่ใช้กำลังอาวุธมาปราบปรามพวกตน

ในการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา นช.ทักษิณ ชินวัตร ยังคงสไกป์เข้ามาเป่าหูคนเสื้อแดงด้วยถ้อยคำที่บิดเบือนว่า พี่น้องเสื้อแดงไม่ควรต้องมาบาดเจ็บล้มตาย ถ้าผู้มีอำนาจในขณะนั้นมีจิตใจเมตตา รักความเป็นธรรม ไม่อำมหิตและอ้างว่ารัฐบาลชุดที่แล้วมาจากครรลองที่ไม่ถูกต้อง กล่าวคือมาด้วยความร่วมมือของศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ และผู้สั่งการอยู่เบื้องหลัง

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ นช.ทักษิณและคนเสื้อแดงกล่าวหาว่า รัฐบาลนายอภิสิทธิ์และอำมาตย์ อยู่เบื้องหลังการตายของพวกเขา แต่ในโอกาสครบรอบ 3 ปี กลับไม่มีเรื่องการเคลื่อนไหวเพื่อให้เปิดเผยความจริงของเหตุการณ์เลย

ในทางตรงกันข้าม พวกเขากลับเคลื่อนไหวให้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม และปล่อยตัวคนเสื้อแดงที่ถูกคุมขังเพราะถูกดำเนินคดีอาญาจากการกระทำผิดระหว่างการชุมนุม

งานรำลึกเหตุการณ์ของคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา จึงมีแต่เรื่องการนิรโทษกรรมและการช่วยเหลือพรรคพวกที่ถูกจับกุมเป็นเรื่องหลัก รวมทั้งในการสไกป์ของ นช.ทักษิณด้วย

เริ่มตั้งแต่กลุ่มของ น.ส.สุดา รังกุพันธ์ ในนาม “แนวร่วม 29 มกราปลดปล่อยนักโทษการเมือง” ที่เดินทางไปยังคณะกรรมการกฤษฎีต่อด้วยลานปรีดี พนมยงค์ ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วงเช้า พร้อมได้ออกแถลงการณ์ติดตามทวงถามร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ตามที่ได้เสนอต่อรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก่อนวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2556 แล้ว โดยอ้างว่าร่างกฎหมายนี้จะให้ความยุติธรรมแก่ประชาชนผู้เป็นเหยื่อของความขัดแย้งทางการเมืองเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน รวมทั้งเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 19 กันยายน 2549

ส่วนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กิจกรรมและการปราศรัยก็มุ่งไปที่การออกกฎหมายนิรโทษกรรม การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการเรียกร้องให้ปล่อยตัวคนเสื้อแดงที่กระทำผิด และถือโอกาสพ่วงเอาผู้ที่ถูกดำเนินคดีดูหมิ่นเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เข้าไปด้วย

โดยนางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช.กล่าวปราศรัยว่า การจัดงานครั้งนี้เพื่อหาทางออกให้กับประเทศ และช่วยเหลือพี่น้องที่ถูกจองจําอยู่ในเรือนจำ การเดินหน้าของ นปช.หลังจากนี้มี 2 ทิศทาง คือ มองไปข้างหลังด้วยการแก้ปัญหาที่เกิดจากการปราบปรามประชาชนเมื่อวันที่ 10 เม.ย.เพื่อเรียกหาความยุติธรรม และการมองไปข้างหน้าด้วยการแก้ปัญหาประเทศอย่างยั่งยืน พร้อมยืนยันว่า นปช.ต้องการให้รัฐบาลเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ต่อไป

ขณะที่กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย แนวร่วมคนเสื้อแดง ก็จัดกิจกรรมเรียกร้องให้ปล่อยตัวนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข จำเลยคดีหมิ่นเบื้องสูง ด้วยการใส่หน้ากากและโบกธงที่มีข้อความว่า ยกเลิก 112 และเดินไปรอบๆ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

เมื่อถึงการปราศรัยในช่วงเย็น นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และแกนนํา นปช.ขึ้นเวทีกล่าวว่า 3 ปีที่ผ่านมาชัดเจนว่า รัฐบาลที่แล้วสั่งปราบประชาชน แถมยังใส่ร้ายคนเสื้อแดงว่ามีกองกำลังติดอาวุธ ขณะที่การตายของ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ก็เป็นการโยนความผิดให้คนเสื้อแดงว่าเป็นคนทำ

นพ.เหวงอ้างว่า พ.อ.ร่มเกล้า ตายด้วยระเบิดเอ็ม 67 ที่มีระยะหวังผลเพียง 20 เมตร ต้องเป็นฝ่ายเดียวกันเท่านั้นที่รู้ว่า พ.อ.ร่มเกล้าอยู่ตำแหน่งไหน ถึงสามารถรู้เป้าหมายได้ อาจจะเป็นเจ้าหน้าที่ที่ขัดแย้งกับ พ.อ.ร่มเกล้าก็ได้

คำพูดของ นพ.เหวงสวนทางกับข้อเท็จจริงทั้งหมด เริ่มจากข้อกล่าวหาที่ว่ารัฐบาลที่แล้วสั่งปราบประชาชน ซึ่งหากไล่เรียงเหตุการณ์แล้ว จะเห็นว่าฝ่ายที่ต้องการให้เกิดความรุนแรงและต้องการให้มีการตายเกิดขึ้นก็คือฝ่ายคนเสื้อแดงนั่นเอง

อย่าลืมว่า การชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2553 เป็นการชุมนุมที่ต่อเนื่องจากปี 2552 ที่มีเป้าหมายคือการโค่นล้มรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ แต่ไม่สำเร็จ นั่นเพราะประเด็นเรียกร้องไม่แรงพอ แม้คนเสื้อแดงได้ก่อเหตุยั่วยุด้วยการบุกการประชุมผู้นำอาเซียนที่พัทยา ทุบรถนายกฯ ที่กระทรวงมหาดไทย เผารถเมล์กลางกรุงเทพฯ กว่า 50 คัน นำรถแก๊สไปข่มขู่ชาวแฝลตดินแดง ปิดการจราจรบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ รวมทั้งก่อเหตุปะทะกับทหารที่บริเวณแยกดินแดง

การชุมนุมในปี 2553 จึงถูกปรับยุทธวิธีใหม่ ด้วยการก่อความรุนแรงให้มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อกดดันรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ให้ทำตามข้อเรียกร้องของพวกตนให้ได้

เห็นได้ชัดว่า หลังจากคนเสื้อแดงเริ่มชุมนุมในวันที่ 14 มีนาคม 2553 ก็ได้ก่อเหตุยั่วยุเพื่อนำไปสู่ความรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ นับตั้งแต่การเทเลือดที่หน้าทำเนียบรัฐบาลและหน้าบ้านพักนายอภิสิทธิ์ ยกขบวนไปขับไล่ทหารที่มารักษาการใกล้ที่ชุมนุม จนรัฐบาลต้องขอเปิดเจรจา แต่ก็ไม่เป็นผล มีการขยายพื้นที่การชุมนุมไปสี่แยกราชประสงค์ ตามด้วยการเดินขบวนไปก่อกวนตามย่านธุรกิจ ยกขบวนบุกรัฐสภา บุกสถานีดาวเทียมไทยคม ยึดอาวุธปืนเจ้าหน้าที่ และยกพวกเข้าไปขับไล่ทหารในกองทัพภาคที่ 1 จนในที่สุดรัฐบาลต้องตัดสินใจใช้ปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ และนำไปสู่เหตุรุนแรงในวันที่ 10 เมษายน

กรณีการตายของ พล.อ.ร่มเกล้านั้น รายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ(คอป.) ซึ่งมีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน ใช้เวลาศึกษาข้อมูลกว่า 2 ปี ได้สรุปยืนยันว่า พล.อ.ร่มเกล้าเสียชีวิตจากการกระทำของกลุ่มชายชุดดำที่แฝงตัวมากับผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงนั่นเอง

ซึ่งก็ตรงกับรายงานของคณะอนุกรรมาธิการตรวจสอบข้อเท็จจริงและติดตามความคืบหน้าทางคดีของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ทางการเมือง ในคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ที่มีนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา เป็นประธาน ที่ได้มีการรวบรวมหลักฐาน และพยานบุคคลกว่า 100 ปาก ยืนยันว่าเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย. 2553 นั้นไม่ได้เกิดจากการเริ่มต้นโดยฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เริ่มจากฝ่ายผู้ชุมนุมโดยมีการเตรียมการล่วงหน้า และมีหลักฐานคลิปวิดีโอ ปรากฏภาพชายชุดดำเข้ามาทำงานร่วมกับกลุ่ม นปช. และมีส่วนร่วมในการใช้อาวุธยิงใส่เจ้าหน้าที่ทหารโดยอยู่ในพื้นที่ของกลุ่ม นปช.

ส่วนการเสียชีวิตของ พล.อ.ร่มเกล้า ในวันเกิดเหตุนั้นมีผู้ที่เก็บกระเดื่องระเบิดชนิดเอ็ม 67 จำนวน 2 ลูกซึ่งถูกขว้างมามาจากบ้านซึ่งอยู่บริเวณด้านข้างโรงเรียนสตรีวิทยา ซึ่งเป็นบริเวณที่กลุ่ม นปช.มีการชุมนุม แต่กรมสอบสวนคดีพิเศษ กลับไม่ดำเนินการสอบสวน

อนุกรรมาธิการฯ ยังมีหลักฐานกรณีนายวสันต์ ภู่ทอง ผู้ชุมนุมคนแรกๆ ที่เสียชีวิตในวันนั้น ซึ่งพบว่าบริเวณที่นายวสันต์ยืนอยู่ก่อนถูกยิงนั้นมีผู้ชุมนุมเป็นจำนวนมาก และถูกยิงที่บริเวณขาด้วย จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเป็นการยิงจากฝ่ายทหาร เชื่อว่านายวสันต์น่าจะเสียชีวิตด้วยฝีมือกลุ่มผู้ชุมนุมด้วยกันเอง และยังมีข้อสังเกตว่า เดิมนั้นดีเอสไอจะนำคดีการตายของนายวสันต์ขึ้นสู่การไต่สวนของศาลก่อนด้วย แต่เมื่อพยานหลักฐานชี้ว่า กรณีนี้ไม่ได้เกิดจากการกระทำของทหาร จึงชะลอไว้ก่อน และนำขึ้นศาลเฉพาะคดีที่เชื่อว่าน่าจะมาจากการกระทำของทหาร

เรื่องการดำเนินคดี ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษเคยแบ่งไว้เป็น 4 กลุ่มนั้น อนุกรรมาธิการฯ เห็นว่า คดีที่เกิดจากการกระทำของฝ่าย นปช.แทบจะไม่มีความคืบหน้า โดยเฉพาะการดำเนินคดีกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จำเลยที่ 1 ในคดีก่อการร้ายนั้น ยังไม่มีความคืบหน้าว่าทางอัยการได้มีความเห็นสั่งฟ้องไปหรือยัง

ในเมื่อความเป็นจริงนั้น เหตุนองเลือดในวันที่ 10 เมษายน 2553 ผู้อยู่เบื้องหลังตัวจริงคือ นช.ทักษิณ ชินวัตร ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ฝ่าย นช.ทักษิณจึงพยายามบิดเบือนความจริงมาตลอด
ยิ่งในขณะนี้ นช.ทักษิณสามารถกุมอำนาจรัฐโดยมีน้องสาวเป็นหุ่นเชิด ข้อเท็จจริงของเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน จะยังคงถูกบิดเบือนจาก นช.ทักษิณและคนเสื้อแดงอยู่ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น