xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปค.ยกคำร้องค้านขึ้นค่าทางด่วน “บางปะอิน-ปากเกร็ด”จ่อ1 พ.ย.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ ( 21 ต.ค.) ศาลปกครองกลางมีคำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับใช้ประกาศกระทรวงคมนาคม 3 ฉบับ ที่กำหนดให้มีการปรับขึ้นอัตราค่าผ่านทางพิเศษเฉลิมมหานคร ศรีรัช อุดรรัถยา บูรพาวิถี ทางยกระดับด้านทิศใต้สนามบินสุวรรณภูมิเชื่อมทางพิเศษบูรพาวิถี และทางเชื่อมต่อพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี - สุขสวัสดิ์) กับทางพิเศษบูรพาวิถี ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้กรณีดังกล่าวเป็นคดีที่นายสุทธิ ผลสวัสดิ์ นายธรรมนูญ จุลมณีโชติ ยื่นฟ้อง รมว.คมนาคม รมช.คมนาคม คณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-3 ต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลปกครองเพิกถอนประกาศกระทรวงคมนาคมดังกล่าวทั้ง 3 ฉบับ และระหว่างการพิจารณาคดีขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับใช้ประกาศปรับขึ้นอัตราค่าผ่านทางพิเศษทั้งหมดไว้ก่อน
ส่วนเหตุที่ศาลยกคำขอระบุว่า จากข้อเท็จจริงพบว่าการปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษ ของกทพ.ดังกล่าว เป็นการดำเนินการตามมาตรา 5 มาตรา 19 และมาตรา 38 แห่งพ.ร.บ.การทางพิเศษแห่งประเทศไทย 2550 และเงื่อนไขในสัญญา แม้เส้นทางพิเศษบูรพาวิถีจะไม่ได้มีการทำสัญญากับเอกชน แต่ก็ใช้หลักเกณฑ์การปรับอัตราค่าผ่านทางในแนวทางเดียวกับการปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษเฉลิมมหานคร และทางพิเศษศรีรัช ประกอบกับผู้ถูกฟ้องให้ถ้อยคำและส่งเอกสารต่อศาลว่า ในการขออนุญาตดำเนินการโครงการเส้นทางสายนี้มีสมมุติฐานสำคัญในการวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการคือจะต้องมีการปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษตามอัตราเพิ่มของดัชนีราคาค่าผ่านทางพิเศษทุก 5 ปี ซึ่งปัจจุบัน กทพ.ยังต้องรับภาระในการชำระหนี้เงินกู้อีกจำนวน 21,500 ล้านบาท จึงต้องปรับอัตราค่าผ่านทางเพื่อให้มีรายได้เพียงพอสำหรับคืนเงินกู้และค่าใช้จ่ายต่างๆ นอกจากนั้นวิธีการคำนวณหาอัตราเพิ่มโดยใช้ดัชนีราคาผู้บริโภคของกรุงเทพมหานครเป็นไปตามข้อกำหนดของสัญญา ยกเว้นทางพิเศษบูรพาวิถี
ซึ่งไม่มีการทำสัญญา แต่ผู้ถูกฟ้องคดีก็ได้ให้ถ้อยคำว่า อัตราเพิ่มของดัชนีราคาผู้บริโภคสำหรับกรุงเทพฯต่ำกว่าอัตราเพิ่มของดัชนีราคาผู้บริโภคของ จ.สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี หากมีการนำดัชนีราคาผู้บริโภคสำหรับ 3 จังหวัดดังกล่าวมาพิจารณาเปรียบเทียบประกอบด้วยจะทำให้อัตราค่าผ่านทางที่คำนวณได้มีราคาสูงกว่าการคำนวณโดยใช้ดัชนีราคาผู้บริโภคของกทม.เพียงจังหวัดเดียว ดังนั้นในชั้นนี้จึงยังไม่เพียงพอรับฟังได้ว่าประกาศดังกล่าวทั้ง 3 ฉบับของกระทรวงคมนาคมไม่ชอบด้วยกฎหมาย และหากกทพ.ไม่ดำเนินการปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษตามข้อตกลงในสัญญาก็อาจตกเป็นผู้ผิดสัญญาและจะเป็นอุปสรรคต่อการบริหารกิจการทางพิเศษซึ่งเป็นบริการสาธารณะ จึงไม่สมควรมีคำสั่งทุเลาการบังคับใช้ประกาศกระทรวงคมนาคมทั้ง 3 ฉบับ ตามที่ร้องขอ
อีกด้าน นายอัยยณัฐ ถินอภัย ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย หรือ กทพ. กล่าวว่า กทพ.และบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (NECL) จะจัดเก็บค่าผ่านทางพิเศษของทางพิเศษอุดรรัถยา (ทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด) ในอัตราค่าผ่านทางพิเศษใหม่ ตั้งแต่เวลา 00.01 น.ของวันที่ 1 พ.ย.56 เป็นต้นไป โดยอัตราค่าผ่านทางของทางพิเศษอุดรรัถยา ด่านเมืองทองธานี จัดเก็บในราคา 35/90/140 บาทต่อคัน และมีการให้ส่วนลดพิเศษสำหรับรถบรรทุกทุกประเภทแล้ว จนถึง 31 ธ.ค.57
ส่วนด่านศรีสมาน ด่านบางพูน ด่านเชียงราก ราคา 45/100/150 บาทต่อคัน ด่านบางปะอิน 55/120/180 บาทต่อคัน ด่านฯ เมืองทองธานี รถยนต์ 4 ล้อ เก็บค่าผ่านทาง 35 บาท รถยนต์ 6-10 ล้อ เก็บค่าผ่านทาง 90 บาทรถยนต์ 10 ล้อขึ้นไป เก็บค่าผ่านทาง 140 บาท โดยให้ส่วนลดพิเศษสำหรับรถทุกประเภทแล้ว จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2557
ด่านฯ ศรีสมาน บางพูน เชียงราก รถยนต์ 4 ล้อ เก็บค่าผ่านทาง 45 บาท รถยนต์ 6-10 ล้อ เก็บค่าผ่านทาง 100 บาท รถยนต์ 10 ล้อขึ้นไป เก็บค่าผ่านทาง 150 บาท ด่านฯ บางปะอิน รถยนต์ 4 ล้อ เก็บค่าผ่านทาง 55 บาท รถยนต์ 6-10 ล้อ เก็บค่าผ่านทาง 120 บาท รถยนต์ 10 ล้อขึ้นไป เก็บค่าผ่านทาง 180 บาท
ทั้งนี้ ผู้ใช้รถสามารถสอบถามอัตราค่าผ่านทางใหม่ได้ที่ ศูนย์บริการข้อมูลผู้ใช้บริการทางพิเศษ (EXAT Call Center) โทร. 1543 หรือ 0-2567-5700 ตลอด 24 ชั่วโมง
กำลังโหลดความคิดเห็น