กทพ.เตรียมเปิดโต๊ะเจรจา BECL ปรับค่าผ่านทางด่วนอนุฯประชุมนัดแรกกำหนดกรอบ ยอมรับตัวเลขสองฝ่ายไม่ตรงกัน เหตุหลักและจุดยืนของการคิดไม่ตรงกัน เผยดัชนีผู้บริโภคเข้าสูตรคำนวณออกมาที่ 50.20 บาท ต้องปัดเศษลงเป็น 50 บาท ตามความเห็นอัยการ ส่วนด่วนขั้น 2BECL ขอขึ้น 20 บาทเป็นสิทธิ์เอกชน แต่จะขึ้นหรือไม่ต้องรอผลเจรจา
เมื่อวันที่ 10 เม.ย. พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดโครงการอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2556 ระหว่างวันที่ 10-17 เมษายน 2556 ซึ่งการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้ยกเว้นค่าผ่านทางของทางพิเศษบูรพาวิถีตลอดเส้นทาง รวมถึงทางยกระดับด้านทิศใต้สนามบินสุวรรณภูมิ ทางเชื่อมทางพิเศษบูรพาวิถี และทางเชื่อมต่อทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) กับทางพิเศษบูรพาวิถี ตั้งแต่เวลา 00.01 น.ของวันที่ 10 เมษายน 2555 ถึงเวลา 24.00 น.ของวันที่ 16 เมษายน 2556
พล.อ.พฤณท์กล่าวถึงการปรับขึ้นค่าผ่านทางด่วนว่า จากการนำตัวเลขดัชนีผู้บริโภค (CPI) เดือนมีนาคม 2556 กับเดือนมีนาคม 2551 เข้าสูตรคำนวณออกมาอยู่ที่ 1.11565 ซึ่งเมื่อนำไปคูณกับอัตราค่าผ่านทางปัจจุบัน ที่ 45 บาท (สำหรับรถ 4 ล้อ) เป็น 50.20 บาท เท่ากับจะต้องปรับค่าผ่านทางขึ้นอีก 5 บาท จาก 45 บาทเป็น 50 บาท ซึ่งจะประกาศขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 กันยายน 2556 ตามสัญญา ทั้งนี้ กทพ.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการเจรจาการปรับค่าผ่านทางกับบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BECL แล้ว ซึ่งการเจรจา กทพ.จะยึดตามความเห็นของอัยการสูงสุด ซึ่งใช้ในการปรับค่าผ่านทางปี 2541, 2546 และ 2551
“ที่ BECL ผู้รับสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 (ศรีรัช) และทางพิเศษอุดรรัถยา (บางปะอิน-ปากเกร็ด) ทำหนังสือถึง กทพ.ขอขึ้นค่าผ่านทาง 20 บาท ตามที่กำหนดในสัญญาสัมปทานมีผลวันที่ 1 ก.ย. 2556 ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นข้อเสนอของ BECL ให้เหตุผลว่าไม่ได้ขึ้นค่าผ่านทางมาหลายส่วนและหลายช่วงเวลา จึงขอปรับขึ้นในครั้งนี้ 20 บาท ซึ่งคณะอนุกรรมการพิจารณาการปรับขึ้นค่าผ่านทางของ กทพ.ต้องพิจารณาและเจรจากับเอกชนก่อน ตามหลักการของ กทพ.ที่นำดัชนีราคาผู้บริโภคไปคำนวณ หากไม่ครบ 5 บาท จะปัดเศษทิ้ง ซึ่งเป็นไปตามความเห็นของอัยการสูงสุด และไม่ได้มีกำหนดในสัญญา หากคำขอของเอกชนเป็นเหตุเป็นผลก็ต้องเจรจากันก่อน ต้องเจรจากันทางกฎหมาย อาจใช้การปรองดองสัญญาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยนโยบายของรัฐบาลจะต้องไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ส่วนจะเป็นเหมือนกรณีทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ ที่เคยมีการเพิ่มค่าผ่านทางสูงเป็นเท่าตัวหรือไม่นั้น จริงๆ แล้วการขึ้นราคากรณีดังกล่าว เอกชนสามารถทำได้ตามกฎหมายและประชาชนก็สามารถจะเลือกใช้หรือไม่ใช้ได้” พล.อ.พฤณท์กล่าว
ด้านนายอัยยณัฐ ถินอภัย ผู้ว่าการ กทพ.กล่าวว่า วันที่ 10 เม.ย.คณะอนุกรรมการพิจารณาค่าผ่านทางจะประชุมเป็นครั้งแรก ซึ่งยอมรับว่าการปรับค่าผ่านทางในทุกครั้งที่ผ่านมา ตัวเลขของ กทพ.และ BECL ไม่เหมือนกัน เนื่องจากต่างฝ่ายมีจุดยืนของตัวเอง โดยในส่วนของ กทพ.ยึดตามที่อัยการสูงสุดตีความไว้ และจะประกาศอัตราค่าผ่านทางที่เหมาะสมตามอนุกรรมการพิจารณา ส่วน BECL เข้าใจว่าน่าจะค้านอัตราที่ กทพ.ประกาศ ถือเป็นการใช้สิทธิ์ที่มีกันอย่างเต็มที่
ส่วนข่าวการปรับขึ้นค่าผ่านทาง 20 บาท หรือจาก 45 เป็น 60 บาทนั้น เป็นข้อเสนอของทางเอกชน ซึ่งต้องเจรจากันก่อน รวมถึงทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) และทางพิเศษอุดรรัถยา (ทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด) การปรับค่าผ่านทางมีรายละเอียดในสัญญาที่เขียนไว้ชัดเจน ส่วนที่ BECL การเสนออัตราค่าผ่านมาที่ปรับใหม่เข้ามานั้นเป็นการเสนอในมุมของเอกชน ซึ่งต้องมีการเจรจากันก่อน และ กทพ.จะเป็นผู้ประกาศอัตราใหม่ที่ปรับขึ้นโดยยึดตามสัญญา