xs
xsm
sm
md
lg

ฆาตกรเงียบ! ทำไมต้องแทนโรงไฟฟ้าถ่านหินด้วยพลังงานหมุนเวียน

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม


ภาพข้างบนนี้มาจากรายงานขององค์กรที่มีชื่อเสียงระดับโลกคือ กลุ่มกรีนพีซ ซึ่งเพิ่งเผยแพร่เมื่อเดือนมิถุนายน 2556 ชื่อรายงานก็คือ “ฆาตกรเงียบ ทำไมยุโรปต้องแทนโรงไฟฟ้าถ่านหินด้วยพลังงานสีเขียว” ในช่วงเดือนเดียวกัน กระทรวงพลังงานของไทยก็ได้นำเสนอข่าวการร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า 2013 (หรือแผนพีดีพี 2013 ซึ่งมีอายุ 20 ปี-แต่แก้ไขทุกปี ฮา) ว่าจะเพิ่มโรงไฟฟ้าถ่านหินจากแผนเดิมจำนวน 4,400 เมกะวัตต์เป็น 1 หมื่นเมกะวัตต์

คำถามก็คือทำไมความคิดของคนสองกลุ่มนี้จึงสวนทางกันหรือต่างกันราวฟ้ากับเหว

ผมเองก็ไม่ได้ยึดว่าอะไรที่องค์กรดังกล่าวพูดแล้วจะถูกต้องเสมอไป และอะไรที่กระทรวงพลังงานไทยคิดแล้วจะต้องผิดเสมอไป แต่ผมเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ต้องคิด วิเคราะห์ด้วยเหตุด้วยผล รู้จักใช้ข้อมูลทั้งที่เป็นจริงแล้ว จากประสบการณ์ รวมทั้งการตรวจสอบกับองค์กรอื่นๆ และจากแนวโน้มของกระแสโลกที่กำลังเผชิญหน้ากับ “สภาวะโลกร้อน” อันเป็นที่มาของภัยพิบัติทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นพายุ น้ำท่วม ภัยแล้ง การแพร่ของโรคระบาด เป็นต้น

และที่ผมมั่นใจและภูมิใจในตัวเองเสมอมาก็คือ ผมไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัวแอบแฝง

กลับมาที่รายงานดังกล่าวซึ่งมีความหนา 56 หน้าครับ รายงานนี้ประกอบด้วย 5 ส่วน คือ หนึ่ง บทนำ (ถ่านหินเป็นสิ่งที่ไม่มีอนาคต) สอง ผลกระทบด้านสุขภาพในปัจจุบันของยุโรป สาม อนาคต การเลือกระหว่างพลังงานที่ก่อมลพิษกับพลังงานสีเขียว สี่ บทสรุป อะไรที่จำเป็นต้องทำ และห้า วิธีการศึกษารายงานและอ้างอิง (ด้านสุขภาพส่วนมากมาจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัย Stuttgart เยอรมนี)

รายงานระบุว่าในทวีปยุโรปมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน 300 โรง โดยยังมีโครงการที่จะสร้างใหม่อีก 50 โรง

ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัย Stuttgart ประเมินว่า ในปี 2550 ทั่วทั้งทวีปยุโรปมีผู้เสียชีวิตเนื่องจากโรงไฟฟ้าถ่านหินประมาณ 22,000 คน และยังประเมินอีกว่าทำให้ชีวิตของคนกลุ่มนี้มีอายุสั้นลงกว่าที่ควรจะเป็นเฉลี่ยคนละ 11 ปี สารพิษดังกล่าวได้แก่ สารปรอท (ซึ่งมีผลต่อการทำงานของสมอง) ตะกั่ว แคดเมียมและสารประกอบของซัลเฟอร์และไนเตรทที่มีขนาดเล็กมากที่สามารถผ่านการกรองของเยื่อหุ้มจมูกลงไปอยู่ในปอดได้

มลพิษจากถ่านหินจึงเป็นฆาตกรเงียบ อากาศที่หายใจเข้าไปจะเป็นอันตรายกับทุกคน ไม่ว่าทารก เด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนชรา

ในประเทศที่มีการใช้ถ่านหินอย่างมากๆ เช่น โปแลนด์ บัลแกเรีย จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรงไฟฟ้าถ่านหินมีมากกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากการจราจร

นอกจากการเผาถ่านหินจากโรงไฟฟ้าจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพแล้วยังเป็นแหล่งผลิตคาร์บอนไดออกไซด์ที่ใหญ่ที่สุดที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ หากยังมีการเผาถ่านหินต่อไปจะทำให้เกิดหายนะภัยรุนแรงขึ้น ปัจจุบันจำนวนผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติทั่วโลกปีละนับแสนคนจะเพิ่มขึ้นเป็นหลายล้านคนภายในไม่กี่ทศวรรษ

ผมได้ตัดภาพในรายงานมานำเสนอด้วย แม้ว่าภาพดังกล่าว (ที่ผมตัดมา) จะไม่ค่อยชัดเจนนัก แต่คาดว่าท่านผู้อ่านคงสามารถเข้าใจและเกิดความรู้สึกได้

รายงานของกลุ่ม Clean Air Task Force ซึ่งออกในปี 2544 โดยกลุ่มชาวอเมริกัน ได้สรุปว่าผลกระทบของโรงไฟฟ้าถ่านหินมีผลกระทบตั้งแต่อยู่ในเปลจนถึงหลุมฝังศพ ภาพของกลุ่มกรีนพีซชุดนี้ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน

หรือให้ชัดเจนกว่านี้ก็คือกระทบต่อสุขภาพตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอนเลยทีเดียว

สิ่งที่รายงานของกลุ่มกรีนพีซนำเสนอ (ซึ่งได้เริ่มต้นมาแล้วตั้งแต่ปี 2009) ก็คือลดการพึ่งพิงพลังงานฟอสซิล โดยเฉพาะถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และนิวเคลียร์ลงมา โดยเฉพาะถ่านหินให้ค่อยๆ หมดไปในปี 2050 (พ.ศ. 2593) ดังแผนภาพในอนาคตข้างล่างนี้

ในขณะเดียวกันก็เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนซึ่งได้แก่ ลม แสงแดด ชีวมวล และพลังงานใต้พิภพ

สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้และควบคู่ไปกับการใช้พลังงานหมุนเวียนก็คือ การใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ (Energy Efficiency) ซึ่งมีปริมาณใกล้เคียงกับพลังงานจากชีวมวล

ท่านผู้อ่านหลายท่านอาจจะคิดว่า ประเทศไทยไม่มีพลังงานหมุนเวียนมากพอ แต่ทราบไหมครับว่าในแผนพีดีพี 2013 ที่กระทรวงพลังงานกำลังปิดห้องร่าง (แทนที่จะร่วมกับองค์กรภาคประชาชนและภาคธุรกิจที่สร้างสรรค์) อยู่นั้น เขาได้กำหนดจะใช้พลังงานชีวมวลถึง 1 หมื่นเมกะวัตต์ (ปัจจุบันประเทศไทยใช้ไฟฟ้าสูงสุดประมาณ 2.4 หมื่นเมกะวัตต์) โดยใช้หญ้าเนเปียร์ไปหมักเป็นก๊าซชีวภาพ แต่ต้องใช้พื้นที่ปลูกหญ้าจำนวน 10 ล้านไร่ (แล้วจะเอาที่ดินที่ไหน)

ผมเรียนตรงๆ ว่าวิธีคิดดังกล่าวเป็นวิธีคิดที่ผิด ทางที่ถูกต้องคือการผลิตไฟฟ้าจากของเสียภาคการเกษตร คือนำหญ้าไปเลี้ยงวัว แล้วเอาขี้วัวไปหมักเป็นก๊าซ แล้วเอาก๊าซไปผลิตไฟฟ้า

ในเรื่องของแสงแดด ปัจจุบันนี้ (2555) ประเทศเยอรมนีได้ผลิตไฟฟ้าจากแผงโซล่าร์เซลล์อย่างเดียวได้ปีละ 28,500 ล้านหน่วย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเมื่อ 5 ปีก่อนถึงเกือบ 7 เท่าตัว (ที่มา http://www.volker-quaschning.de/datserv/ren-Strom-D/index_e.php)

ถ้าเราสามารถยกการผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดและชีวมวล (ซึ่งประเทศไทยเรามีมากกว่าประเทศเยอรมนีอย่างแน่นอน) แล้วนำมาใช้ในประเทศไทย พบว่าในปี 2555 พลังงานดังกล่าวสามารถตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศไทยได้ถึงร้อยละ 43%

นั่นแปลว่าแหล่งพลังงานหมุนเวียนเพียง 2 อย่างก็สามารถตอบสนองความต้องการได้เกือบครึ่งหนึ่งแล้ว ดังตาราง
ปี (1) การใช้ไฟฟ้าของไทย (ล้านหน่วย kwh) (2)การผลิตจากแสงแดดในเยอรมนี(3)การผลิตจากชีวมวลในเยอรมนี
2551135,5204 ,30028 ,700
2552135,1816 ,60030 ,400
2553149,30111 ,70033 ,900
2554148,85519, 00036, 900
2555161,77928 ,50041 ,000

ประเด็นที่ผมยังไม่ได้กล่าวถึงก็คือ ต้นทุนการผลิตไฟฟ้า สาเหตุที่มีการอ้างกันว่าต้นทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินมีราคาถูกกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่นก็เพราะว่า เป็นการคิดเฉพาะต้นทุนภายใน (Internal Cost) ของผู้ผลิตไฟฟ้าที่เป็นผู้จ่ายเท่านั้น แต่ไม่ได้คิดต้นทุนภายนอก (External Cost) ที่ทำให้สิ่งแวดล้อม เช่น การสูบน้ำมาหล่อเย็นแล้วติดลูกปลา การปล่อยน้ำเสียที่ร้อนกว่าปกติ และสุขภาพของชุมชนเสียหาย เป็นการผลักภาระให้สังคม

นี่ไง ฆาตกรเงียบ!

งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง (ของสำนักงานงบประมาณสภาสหรัฐอเมริกา) ระบุว่า ถ้าโรงไฟฟ้าถ่านหินจะติดตั้งเครื่องดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 99% ก็จะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นถึง 76% ของต้นทุนปกติ และปัจจุบันเทคโนโลยีดังกล่าวก็ยังไม่อยู่จริง ต้องรอจนกว่าจะถึงปี 2573

งานวิจัยของมหาวิทยาลัย Duke แห่งสหรัฐอเมริกาพบว่า นับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา ต้นทุนไฟฟ้าที่ผลิตจากแสงอาทิตย์ในรัฐนอร์ทแคโลไรน่าต่ำกว่าการผลิตจากนิวเคลียร์แล้ว และนับวันพลังงานแสงอาทิตย์จะยิ่งถูกลง ในขณะที่พลังงานนิวเคลียร์จะยิ่งแพงขึ้น

เรื่องที่ผมเล่ามานี้จะถูกปิดบังจากพ่อค้าพลังงาน ทั้งด้านที่ก้าวหน้าของเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน ทั้งด้านที่เป็นฆาตกรเงียบของท่านหิน

ภาพข้างล่างนี้กลุ่มเครือข่ายผู้ป่วยแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ส่งมาครับ เป็นภาพแม่กำลังพ่นยาแก้หอบให้ลูก เป็นภาพที่เพิ่งถ่ายภายหลังจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะโฆษณาอย่างอึกทึกครึกโครมว่าอากาศที่นั่นบริสุทธิ์ผุดผ่อง

สำหรับวันนี้ ขอจบแค่นี้ก่อนนะครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น