xs
xsm
sm
md
lg

ฆาตกรเงียบ! ทำไมต้องแทนโรงไฟฟ้าถ่านหินด้วยพลังงานหมุนเวียน / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 
คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท  มีแต้ม
 

 
ภาพข้างบนนี้มาจากรายงานขององค์กรที่มีชื่อเสียงระดับโลกคือ กลุ่มกรีนพีซ ซึ่งเพิ่งเผยแพร่เมื่อเดือนมิถุนายน 2556 ชื่อรายงานก็คือ “ฆาตกรเงียบ ทำไมยุโรปต้องแทนโรงไฟฟ้าถ่านหินด้วยพลังงานสีเขียว” ในช่วงเดือนเดียวกัน กระทรวงพลังงานของไทย ก็ได้นำเสนอข่าวการร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า 2013 (หรือแผนพีดีพี 2013 ซึ่งมีอายุ 20 ปี-แต่แก้ไขทุกปี ฮา) ว่าจะเพิ่มโรงไฟฟ้าถ่านหินจากแผนเดิม จำนวน 4,400 เมกะวัตต์ เป็น 1 หมื่นเมกะวัตต์
 
คำถามก็คือ ทำไมความคิดของคนสองกลุ่มนี้จึงสวนทางกัน หรือต่างกันราวฟ้ากับเหว

ผมเองก็ไม่ได้ยึดว่าอะไรที่องค์กรดังกล่าวพูดแล้วจะถูกต้องเสมอไป และอะไรที่กระทรวงพลังงานไทยคิดแล้วจะต้องผิดเสมอไป แต่ผมเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ต้องคิด วิเคราะห์ด้วยเหตุด้วยผล รู้จักใช้ข้อมูลทั้งที่เป็นจริงแล้ว จากประสบการณ์ รวมทั้งการตรวจสอบกับองค์กรอื่นๆ และจากแนวโน้มของกระแสโลกที่กำลังเผชิญหน้ากับ “สภาวะโลกร้อน” อันเป็นที่มาของภัยพิบัติทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นพายุ น้ำท่วม ภัยแล้ง การแพร่ของโรคระบาด เป็นต้น

และที่ผมมั่นใจ และภูมิใจในตัวเองเสมอมาก็คือ ผมไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัวแอบแฝง

กลับมาที่รายงานดังกล่าวซึ่งมีความหนา 56 หน้าครับ รายงานนี้ประกอบด้วย 5 ส่วน คือ หนึ่ง บทนำ (ถ่านหินเป็นสิ่งที่ไม่มีอนาคต) สอง ผลกระทบด้านสุขภาพในปัจจุบันของยุโรป สาม อนาคต การเลือกระหว่างพลังงานที่ก่อมลพิษกับพลังงานสีเขียว สี่ บทสรุป อะไรที่จำเป็นต้องทำ และห้า วิธีการศึกษารายงานและอ้างอิง (ด้านสุขภาพส่วนมากมาจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัย Stuttgart เยอรมนี)

รายงานระบุว่า ในทวีปยุโรปมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน 300 โรง โดยยังมีโครงการที่จะสร้างใหม่อีก 50 โรง

ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัย Stuttgart ประเมินว่า ในปี 2550 ทั่วทั้งทวีปยุโรปมีผู้เสียชีวิตเนื่องจากโรงไฟฟ้าถ่านหินประมาณ 22,000 คน และยังประเมินอีกว่าทำให้ชีวิตของคนกลุ่มนี้มีอายุสั้นลงกว่าที่ควรจะเป็นเฉลี่ยคนละ 11 ปี สารพิษดังกล่าวได้แก่ สารปรอท (ซึ่งมีผลต่อการทำงานของสมอง) ตะกั่ว แคดเมียม และสารประกอบของซัลเฟอร์ และไนเตรทที่มีขนาดเล็กมากที่สามารถผ่านการกรองของเยื่อหุ้มจมูกลงไปอยู่ในปอดได้

มลพิษจากถ่านหินจึงเป็นฆาตกรเงียบ อากาศที่หายใจเข้าไปจะเป็นอันตรายต่อทุกคน ไม่ว่าทารก เด็ก และผู้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนชรา

ในประเทศที่มีการใช้ถ่านหินอย่างมากๆ เช่น โปแลนด์ บัลแกเรีย จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรงไฟฟ้าถ่านหินมีมากกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากการจราจร

นอกจากการเผาถ่านหินจากโรงไฟฟ้าจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพแล้ว ยังเป็นแหล่งผลิตคาร์บอนไดออกไซด์ที่ใหญ่ที่สุดที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ หากยังมีการเผาถ่านหินต่อไปจะทำให้เกิดหายนภัยรุนแรงขึ้น ปัจจุบัน จำนวนผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติทั่วโลกปีละนับแสนคนจะเพิ่มขึ้นเป็นหลายล้านคนภายในไม่กี่ทศวรรษ

ผมได้ตัดภาพในรายงานมานำเสนอด้วย แม้ว่าภาพดังกล่าว (ที่ผมตัดมา) จะไม่ค่อยชัดเจนนัก แต่คาดว่าท่านผู้อ่านคงสามารถเข้าใจ และเกิดความรู้สึกได้

รายงานของกลุ่ม Clean Air Task Force ซึ่งออกในปี 2544 โดยกลุ่มชาวอเมริกัน ได้สรุปว่าผลกระทบของโรงไฟฟ้าถ่านหินมีผลกระทบตั้งแต่อยู่ในเปลจนถึงหลุมฝังศพ ภาพของกลุ่มกรีนพีซชุดนี้ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน

หรือให้ชัดเจนกว่านี้ก็คือ กระทบต่อสุขภาพตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอนเลยทีเดียว
 

 
สิ่งที่รายงานของกลุ่มกรีนพีซนำเสนอ (ซึ่งได้เริ่มต้นมาแล้วตั้งแต่ปี 2009) ก็คือ ลดการพึ่งพิงพลังงานฟอสซิล โดยเฉพาะถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และนิวเคลียร์ลงมา โดยเฉพาะถ่านหินให้ค่อยๆ หมดไปในปี 2050 (พ.ศ. 2593) ดังแผนภาพในอนาคตข้างล่างนี้
 

 
ในขณะเดียวกัน ก็เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนซึ่งได้แก่ ลม แสงแดด ชีวมวล และพลังงานใต้พิภพ

สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ และควบคู่ไปกับการใช้พลังงานหมุนเวียนก็คือ การใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ (Energy Efficiency) ซึ่งมีปริมาณใกล้เคียงกับพลังงานจากชีวมวล

ท่านผู้อ่านหลายท่านอาจจะคิดว่า ประเทศไทยไม่มีพลังงานหมุนเวียนมากพอ แต่ทราบไหมครับว่าในแผนพีดีพี 2013 ที่กระทรวงพลังงานกำลังปิดห้องร่าง (แทนที่จะร่วมกับองค์กรภาคประชาชน และภาคธุรกิจที่สร้างสรรค์) อยู่นั้น เขาได้กำหนดจะใช้พลังงานชีวมวลถึง 1 หมื่นเมกะวัตต์ (ปัจจุบันประเทศไทยใช้ไฟฟ้าสูงสุดประมาณ 2.4 หมื่นเมกะวัตต์) โดยใช้หญ้าเนเปียร์ไปหมักเป็นก๊าซชีวภาพ แต่ต้องใช้พื้นที่ปลูกหญ้าจำนวน 10 ล้านไร่ (แล้วจะเอาที่ดินที่ไหน)

ผมเรียนตรงๆ ว่า วิธีคิดดังกล่าวเป็นวิธีคิดที่ผิด ทางที่ถูกต้องคือ การผลิตไฟฟ้าจากของเสียภาคการเกษตร คือ นำหญ้าไปเลี้ยงวัว แล้วเอาขี้วัวไปหมักเป็นก๊าซ แล้วเอาก๊าซไปผลิตไฟฟ้า

ในเรื่องของแสงแดด ปัจจุบันนี้ (2555) ประเทศเยอรมนี ได้ผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์อย่างเดียวได้ปีละ 28,500 ล้านหน่วย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเมื่อ 5 ปีก่อนถึงเกือบ 7 เท่าตัว (ที่มา http://www.volker-quaschning.de/datserv/ren-Strom-D/index_e.php)

ถ้าเราสามารถยกการผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดและชีวมวล (ซึ่งประเทศไทยเรามีมากกว่าประเทศเยอรมนีอย่างแน่นอน) แล้วนำมาใช้ในประเทศไทย พบว่า ในปี 2555 พลังงานดังกล่าวสามารถตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศไทยได้ถึงร้อยละ 43%

นั่นแปลว่าแหล่งพลังงานหมุนเวียนเพียง 2 อย่างก็สามารถตอบสนองความต้องการได้เกือบครึ่งหนึ่งแล้ว ดังตาราง
 

 
ประเด็นที่ผมยังไม่ได้กล่าวถึงก็คือ ต้นทุนการผลิตไฟฟ้า สาเหตุที่มีการอ้างกันว่าต้นทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินมีราคาถูกกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่นก็เพราะว่า เป็นการคิดเฉพาะต้นทุนภายใน (Internal Cost) ของผู้ผลิตไฟฟ้าที่เป็นผู้จ่ายเท่านั้น แต่ไม่ได้คิดต้นทุนภายนอก (External Cost) ที่ทำให้สิ่งแวดล้อม เช่น การสูบน้ำมาหล่อเย็นแล้วติดลูกปลา การปล่อยน้ำเสียที่ร้อนกว่าปกติ และสุขภาพของชุมชนเสียหาย เป็นการผลักภาระให้สังคม

นี่ไง ฆาตกรเงียบ! 

งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง (ของสำนักงานงบประมาณสภาสหรัฐอเมริกา) ระบุว่า ถ้าโรงไฟฟ้าถ่านหินจะติดตั้งเครื่องดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 99% ก็จะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นถึง 76% ของต้นทุนปกติ และปัจจุบันเทคโนโลยีดังกล่าวก็ยังไม่อยู่จริง ต้องรอจนกว่าจะถึงปี 2573

งานวิจัยของมหาวิทยาลัย Duke แห่งสหรัฐอเมริกาพบว่า นับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา ต้นทุนไฟฟ้าที่ผลิตจากแสงอาทิตย์ในรัฐนอร์ทแคโลไรนาต่ำกว่าการผลิตจากนิวเคลียร์แล้ว และนับวันพลังงานแสงอาทิตย์จะยิ่งถูกลง ในขณะที่พลังงานนิวเคลียร์จะยิ่งแพงขึ้น

เรื่องที่ผมเล่ามานี้จะถูกปิดบังจากพ่อค้าพลังงาน ทั้งด้านที่ก้าวหน้าของเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน ทั้งด้านที่เป็นฆาตกรเงียบของถ่านหิน

ภาพข้างล่างนี้กลุ่มเครือข่ายผู้ป่วยแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ส่งมาครับ เป็นภาพแม่กำลังพ่นยาแก้หอบให้ลูก เป็นภาพที่เพิ่งถ่ายภายหลังจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะโฆษณาอย่างอึกทึกครึกโครมว่าอากาศที่นั่นบริสุทธิ์ผุดผ่อง
 

 
สำหรับวันนี้ ขอจบแค่นี้ก่อนนะครับ
 

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น