xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ยุทธศาสตร์แก้ไขของประชาธิปัตย์??

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-“การบริหารที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จ แม้รัฐบาลผิดพลาดเราก็ไม่กระเตื้องขึ้น” อลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อธิบายเหตุผลสำคัญที่จะต้องมีการปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์

นั่นทำให้เกิดแรงกระเพื่อมสำคัญในพรรคประชาธิปัตย์

พรรคการเมืองเก่าแก่ที่ยังมีต้องมีการปรับปรุงครั้งสำคัญ เพื่อให้กลายเป็นสถาบันการเมือง

จุดอ่อนที่สำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ก็คือ ระบบอาวุโส ทำให้การตัดสินใจรวมศูนย์อยู่ที่ผู้อาวุโสไม่กี่คน และการบริหารบุคคลากรทางการเมืองของพรรค

ทั้งๆที่ในสถานการณ์ปัจจุบันพรรคประชาธิปัตย์มีโอกาสจาก “ความไม่เอาไหนของรัฐบาลยิ่งลักษณ์” แต่พรรคยังไม่สามารถใช้โอกาสนี้เพื่อขจัดจุดอ่อนเหล่านี้ออกไปได้

แม้ว่า อลงกรณ์จะเสนอพิมพ์เขียวปฏิรูปประชาธิปัตย์ แต่เสียงคัดค้านค่อนข้างสูง จนมีสัญญานการแตกแยกภายในประชาธิปัตย์ จนนำไปสู่การตั้งพรรคใหม่

ทำให้ อลงกรณ์ กับ อัศวิน วิภูศิริ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปโครงสร้างพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมกันแถลงถึงปฏิเสธการย้ายไปตั้งพรรคการเมืองใหม่

“ขอปฏิเสธข่าวเรื่องการย้ายพรรคไปตั้งพรรคทางเลือกที่ 3 รวมถึงข่าวที่ผม นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค และกลุ่มส.ส.ปฏิรูปจะลาออกจากพรรค เนื่องจากเกิดปัญหาความขัดแย้งเรื่องการปฏิรูปพรรค” อลงกรณ์บอกไว้

เขาบอกว่า "ยืนยันได้ว่าประชาธิปัตย์ไม่มีความขัดแย้งในเรื่องนี้ ไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ ยอมรับว่ามีกลุ่มอื่นๆที่อยู่นอกพรรคได้มาพูดคุยกับตนเรื่องพรรคทางเลือกที่ 3 จริง แต่ก็ถือเป็นเรื่องปกติ ยังยืนยันว่าผมจะอยู่กับพรรค ผลักดันให้มีการปฏิรูปพรรค จะไม่ทิ้งบ้านตนเองในยามที่มีปัญหา ในการประชุมกรรมการบริหารพรรค และเมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ในการปฏิรูปพรรคแบบองค์รวม"

เขาอธิบายว่า “ที่ผ่านมาในพื้นที่เลือกตั้งภาคอีสาน เรามี ส.ส.เพียง 4 ที่นั่ง มีเพียง 30 สาขาพรรค ส่วนภาคเหนือ เรามีพื้นที่ส.ส.ที่จะช่วงชิงเพิ่มเติมได้อีก 73 ที่นั่ง แสดงให้เห็นว่าเรายังมีพื้นที่ที่จะขยายสาขาพรรคเข้าไปเผยแพร่อุดมการณ์ นโยบาย และส่งเสริมกิจกรรมในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อให้มีความสามารถในการแข่งขันในการเอาชนะการเลือกตั้งได้”

"แต่จะไม่เน้นให้พรรคประชาธิปัตย์เกทับนโยบายประชานิยมของพรรคเพื่อไทย เพราะจะนำสู่ความวิบัติของประเทศ แต่จะเน้นนโยบายที่มีคุณภาพเป็นทางเลือกให้ประชาชน และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้มีลักษณะจิ๋วแต่แจ๋ว" รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์บอกอนาคตของประชาธิปัตย์

ทั้งนี้ หากดูจากพิมพ์เขียวปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์จำนวน 36 หน้า

"เป้าหมายการปฏิรูปพรรคคือ 1.เพิ่มจำนวนส.ส.และเพิ่มความศรัทธาที่มีต่อพรรค 2.เพิ่มโครงสร้างและระบบการดูแลประชาชรครอบคลุมทั่วประเทศ 3.สร้างพรรคเป็นสถาบันทางการเมืองและองค์กรทันสมัยทรงประสิทธิภาพเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน 4.สร้างสรรค์พรรคสู่ทางเลือกที่ดีของปชช.และสู่ความหวังของชาติด้วยอุดมการณ์คุณธรรมนำการเมือง 5.Democrat Effectsส่งผลต่อการปฏิรูปพรรคเพื่อไทยและพรรคอื่นๆสู่ความเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชน 6.Democrat Effectsส่งผลต่อการปฏิรูปประเทศไทยสู่อนาคตที่ดีกว่า 7.เพื่อเป็นพรรคที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล"

เป้าหมายเหล่านั้น จะสำเร็จลงได้จะต้องปฏิรูปพรรค 3ด้าน ได้แก่ 1. ปฏิรูปโครงสร้างและระบบ 2. ปฏิรูปการบริหารจัดการ 3. ปฏิรูปวัฒนธรรมองค์กรและบุคคลากร

การปฏิรูปโครงสร้างและระบบ มี 5 แนวทาง 2 โครงสร้างใหม่ ในส่วนของแนวทางประกอบด้วย 1.แนวทางขับเคลื่อนแบบบนลงล่างล่างขึ้นบน 2.มีโครงสร้างในการสื่อสารภายในและภายนอกที่มีประสิทธิภาพ 3.มีหน่วยงานด้านวิจัยและพัฒนา 4.มีโครงสร้างระดับพรรค-ภาค-โซน-จังหวัด-เขตเลือกตั้ง-อำเภอ-ตำบล-หมู่บ้านที่มีประสิทธิภาพ 5.มีโครงสร้างและพื้นที่ทำงานให้แก่ผู้มีความสามารถไม่ว่าจะเป็นคนใหม่หรือคนเก่าได้ทำงาน

โครงสร้างพรรคจะแบ่งเป็น โครงสร้างใหม่สำนักงานใหญ่ และ โครงสร้างใหม่ส่วนภูมิภาค

โครงสร้างใหม่สำนักงานใหญ่ประกอบด้วย 1.สำนักวิจัยและพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์ 2. สำนักวิจัยและพัฒนางบประมาณแผ่นดิน3.สำนักวิจัยและพัฒนากฎหมาย 4.ศูนย์ปราบปรามคอร์รัปชั่น 5.ศูนย์ช่วยเหลือประชาชน .6.ศูนย์เทคโนโลยี่สารสนเทศ 7.สำนักกิจการสาขาและสมาชิก8.สำนักกิจการสตรีและยุวประชาธิปัตย์9.สถาบันประชาธิปัตย์ ทำหน้าที่พัฒนาบุคคลากรและคิดค้นนวัตกรรมการบริหารจัดการรวมทั้งงานe-Library 10.สำนักกิจการรายได้ 11.สำนักงานอำนวยการ โดยมีผู้อำนวยการพรรคเป็นนักบริหารมืออาชีพทำงานเต็มเวลา โครงสร้างใหม่สนง.ใหญ่เน้นภารกิจหลักของพรรคการเมือง(funtional designed organisation)รองรับงานไม่ว่าเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน การวิจัยและพัฒนานโยบาย-ยุทธศาสตร์ประเทศ-กฎหมายและงบประมาณแผ่นดินสำคัญสำหรับอนาคตประเทศเช่นเดียวกับการดูแลประชาชนและปราบทุจริต"

โครงสร้างใหม่ส่วนภูมิภาคประกอบด้วย 1.สำนักงานภาค 5 ภาค 2.สำนักงานโซน (กลุ่มจังหวัด.) 3.คณะกรรมการจังหวัด 4.สำนักงานสาขาพรรค 5.คณะกรรมการอำเภอ. 6.ศูนย์ตำบล โครงสร้างส่วนภูมิภาคในทุกระดับต้องบริหารโดยนักบริหารมืออาชีพหรือผู้มีทักษะด้านบริหารภายใต้การกำกับของคณะกรรมการฝ่ายการเมือง

การปฏิรูปการบริหารจัดการพรรค 1.การบริหารจัดการเน้นความเด็ดขาดฉับไวในการตัดสินใจและปฏิบัติโดยกระจายอำนาจและมอบอำนาจชัดเจน 2.ต้องปฏิรูประบบงบประมาณพรรคเน้นเป้าหมายและภารกิจโดยมีตัวชี้วัดผลลัพธ์ชัดเจน

การบริหารงานการเมืองแบ่งงานเป็น 2 ส่วน 1.งานตรวจสอบนโยบายโดยรัฐบาลเงา(shadow government),อดีตรัฐมนตรีและส.ส.อาวุโส 2.งานการเมืองเป็นหน้าที่ของคณะกก.ยุทธศาสตร์,วิปฝ่ายค้านและส.ส. สรุปการปฏิรูปการบริหารพรรคเน้นการบริหารโดยนักบริหารมืออาชีพเน้นความฉับไวเด็ดขาดและแยกงานตรวจสอบนโยบายจากงานการเมือง

นั่นหมายความว่า ประชาธิปัตย์ตามแนวทางปฏิรูปของ อลงกรณ์นี้ จะมุ่งแก้ไขจุดอ่อนในเรื่องการบริหารบุคคล และการจัดการภายในของประชาธิปัตย์ เพื่ออำนาจการตัดสินใจถูกเกลี่ยไปยังส่วนต่างๆมากขึ้น

อลงกรณ์บอกว่า “การปฏิรูปพรรคยังมีข้อคัดค้านมากกว่าการเห็นด้วย ผมได้รับการส่งสัญญาณมา ผมก็ส่งสัญญาณกลับไป วันนี้ต้องพูดให้เด็ดขาด ไม่ต้องเสียเวลาและซื้อเวลา บอกกันตรงๆว่าเห็นด้วยหรือไม่ ไม่ใช่พูดแค่เห็นด้วยในหลักการแล้ววิจารณ์เสมือนไม่เอาการปฏิรูปพรรค นายเฉลิมชัยอยากลาออกแต่ผมยับยั้งไว้ก่อน เพราะยังมีความหวังในการปฏิรูปพรรค และจากนี้ต้องเคลื่อนไหวและขอเสียงสนับสนุน เพราะคุยกันมา 6 เดือนแล้วในเรื่องนี้”

“ผมขอย้ำว่าเวลามีค่าสำหรับประเทศและพรรค เพราะหากพรรคมีการปฏิรูปพรรค การเมืองไทยจะเข้าสู่อีกมิติหนึ่ง หากไม่ปฏิรูปพรรคอาจแพ้เลือกตั้งอีก”

การปฏิรูปประชาธิปัตย์ ตามข้อเสนอของอลงกรณ์ ได้รับการสนับสนุนจากส.ส.ภาคกลาง และกทม.เสียส่วนใหญ๋

แม้กระทั่ง นคร มาฉิม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะคณะกรรมการเสนอแนวทางปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์ ยังบอกว่า “รู้สึกผิดหวังที่โมเดลการปฏิรูปพรรคของเราได้รับความเห็นชอบเพียงบางส่วน สิ่งที่เป็นจุดอ่อนยังไม่ถูกแก้ไข จุดแข็งก็ยังไม่ถูกสร้าง ทำให้พรรคยังไม่ได้รับการปฏิรูปอย่างแท้จริง ทั้งที่การปฏิรูปไม่ใช่การปฏิวัติ แต่เป็นการเสริมจุดแข็งให้แก่พรรคในทุกมิติ ให้นำไปสู่การเป็นสถาบันทางการเมือง ไม่ยึดติดกับบุคคลและเพื่อเป็นพรรคทางเลือก ตอบโจทย์ให้แก่ประชาชนและประเทศชาติ”

เขาบอกว่า “สมาชิกพรรคกว่าครึ่งหนึ่งเห็นด้วยกับแนวทางการปฏิรูป แต่สมาชิกพรรคและผู้ใหญ่บางคนยังไม่แสดงออก สงวนท่าที ทำเหมือนบัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น เนื่องจากเกรงว่าหากโมเดลนี้ไม่ผ่านจะส่งผลกระทบต่อลำดับในบัญชีรายชื่อ กลัวว่าจะไม่มีตำแหน่ง ส่วนกลุ่มคนที่มีอำนาจอยู่ในพรรคก็ย่อยสลายทำลายแผนปฏิรูป กลัวเสียตำแหน่งที่มีอยู่สำหรับเอาไว้พิมพ์ในนามบัตร”

"ถ้าบริหารพรรคแล้วชนะก็จะไม่มีใครว่าอะไร แต่ถามกลับว่าหากบริหารแล้วแพ้การเลือกตั้งแบบนี้จะเข้าไปมีอำนาจหรือตำแหน่งได้อย่างไร และใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ทั้งที่ผ่านมาหัวหน้าพรรคก็ได้ไฟเขียวให้มีการเสนอไปยังคณะกรรมการบริหารพรรคแล้ว " นายนครบอกอุปสรรคในการปฏิรูปพรรค

นั่นหมายความว่า กรรมการบริหารพรรคชุดปัจจุบัน ยังไม่ค่อยเห็นด้วยมากนัก

แม้กระทั่ง “กรณ์ จาติกวนิช” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ยังเขียนข้อความสนับสนุนผ่านเฟสบุ๊กว่า “ความจริงจากที่ผมเคยทำงานภาคเอกชนและเป็นเจ้าของบริษัทตัวเองมาสิบกว่าปี ผมยืนยันได้ว่าการปฏิรูปไม่ใช่เรื่องแปลก ทุกองค์กรต้องมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ใครคิดว่าตัวเองใหญ่แล้ว แข็งแรงแล้ว ทำทุกอย่างดีหมดแล้ว นั่นแหละครับคือจุดเริ่มต้นแห่งความถดถอย”

“เหมือนที่ Sony เคยพลาดมาแล้วสมัยดื้อดึงผลักดันระบบ Betamax ชนกับ VHS (ต้องวัยผมจะจำเรื่องนี้ได้!)หรือเหมือนที่ Kodak ก็พลาดไปแล้วเพราะปรับตัวสู่ยุคดิจิตัลไม่ทัน”

“สำหรับประชาธิปัตย์ นั้น จะปฏิรูปหรือไม่อย่างไร เป้าหมายต้องชัดเจนก่อน และนั่นคือการเป็น 'ทางเลือก' ให้กับประชาชนที่แท้จริง ซึ่งหมายถึงว่า ต้องเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง และที่สำคัญ ต้องเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้จริง คือต้อง 'ชนะ' ได้

“ผมไม่อยากจะให้รู้สึกว่าเราสำคัญตนมากถึงขนาดเอาอนาคตประเทศไปผูกกับอนาคตของพรรค แต่ในความเป็นจริง เราก็เป็นความหวังที่ดีที่สุดวันนี้ สำหรับผู้ที่คิดว่าการเมืองน่าจะมีทางเลือกที่ดีกว่านี้ เราจึงมีหน้าที่ที่จะพัฒนาตนเองให้คึกคักเข้มแข็งขึ้น”

“และหัวใจของการเปลี่ยนแปลงคือการรักษาอุดมการณ์ของพรรค แต่ปรับปรุงให้มีการเข้าถึงพรรคโดยบุคคลภายนอกและแนวความคิดของบุคคลภายนอกมากยิ่งขึ้น และรวมไปถึงการบริหารจัดการที่มีความเป็นมืออาชีพเพิ่มยิ่งขึ้นด้วย”

“งานใหญ่ครับ แต่เป็นงานที่ทุกคนเห็นตรงกันว่าต้องทำ"

แต่ปัญหาใหญ่กว่านั้นื ที่กรณ์ ไม่ได้เขียนไว้คือ ใครจะทำ และเริ่มต้นจากจุดไหน....

สิ่งที่สำคัญมากคือ Action Plan ครับ



กำลังโหลดความคิดเห็น