ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ความฝันลมๆ แล้งๆ ของ “เสี่ยจ้อน” นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่คิดผลักดันการปฏิรูปพรรคต้นสังกัดที่เขาเรียกว่า "ความฝันของประชาธิปัตย์" หรือ “Democrat Dream” ด้วยการทำงานเชิงคุณภาพ สร้างสรรค์ เป็นความหวังของชาติ เป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปการเมืองและปฏิรูปประเทศ ในที่สุดก็พิสูจน์ชัดแล้วว่า การสู้ยกสองหรือยกสุดท้าย “เสี่ยจ้อน” เจ็บฟรี ตายฟรี เป็นการพลีชีพเซ่นปฏิรูปที่ไร้ค่าอย่างแท้จริง
ข้อเสนอของเขานอกจากผู้หลักผู้ใหญ่และพรรคพวกในพรรคจะไม่สนใจฟังอย่างแท้จริงแล้ว ยังแถมด้วยการตบปากไม่ให้เอาเรื่องในพรรคไปเที่ยวโพนทะนาให้สาธารณชนได้รับรู้ความไม่เข้าท่า ไม่เอาไหนของพรรค เหมือนเช่นยกแรกก่อนหน้านั้นที่มี “ไอ้แก่” ลอบกัด “เสี่ยจ้อน” จนเจ้าตัวโวยเรียกหาความเป็นลูกผู้ชายจากอีกฝ่าย
แผลเน่าในของพรรคสีฟ้าซึ่งในสายตาของโดดเดี่ยวผู้น่ารักอย่างเสี่ยจ้อนเรียกร้องให้ปฏิรูปยกเครื่องใหม่หมดทั้งกระบินั้น นายอลงกรณ์ ได้ทวิตข้อความผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว @alongkornpb เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 56 ก่อนที่จะมีการประชุมใหญ่กรรมการบริหารพรรคในวันรุ่งขึ้นแบบท้าทายอยู่ในที และสะท้อนตลกร้ายที่คนในพรรคบางกลุ่มมีการขัดขวางปฏิรูปพรรค
เนื้อหาหลักๆ ที่นายอลงกรณ์ ทวิต สรุปความว่า “ยก 2 ปฏิรูปพรุ่งนี้ (7 ต.ค.) บ่าย คณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์จะประชุมเรื่องการปฏิรูปพรรคเป็นการเฉพาะ เพื่อพิจารณาร่างข้อบังคับปรับโครงสร้างพรรคใหม่จะรู้ว่าคณะกรรมการบริหาร พรรค กล้าเปลี่ยนแปลงปฏิรูปหรือไม่ หรือยังติดหล่มแนวทางการเมืองแบบเก่า ๆ ที่ทำให้พรรค ปชป.แพ้มา 21 ปีติดต่อกัน แม้การประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค เดือนก่อนจะสรุปผลเห็นชอบในหลักการต่อการปฏิรูปพรรคที่คณะทำงานฯ เสนอ แต่ก็ทำเอาเลขาฯ พรรคเกือบลาออก ซึ่งการคัดค้านการปฏิรูปพรรคกลายเป็นเรื่องตลกของคนนอกเพราะมองไม่เห็น เหตุผลว่าทำไมคนในพรรคบางกลุ่มจึงขัดขวางการปฏิรูปข้อเสนอปฏิรูป”
“เมื่อ 13 เม.ย.ได้รับการขานรับ เพราะการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงพรรคให้ทันสมัยก้าวหน้ายึดมั่นประชาธิปไตยจะสร้างความเชื่อถือศรัทธาใหม่เพื่อลบล้างภาพทุจริต, ดีแต่พูดและอิงแอบเผด็จการ น่าจะคิดได้แล้วว่าทำไม 2-3 เดือนมานี้รัฐบาลบริหารผิดพลาดหลายเรื่องโดยเฉพาะ ด้านเศรษฐกิจปากท้องของแพงแต่ความนิยมของพรรคเองก็ไม่ดีขึ้น วันที่ 7 ต.ค. จะเป็นยก 2 ของการปฏิรูปพรรค แต่ก็อาจเป็นยกสุดท้ายของผม ของเลขาฯ พรรค ของกลุ่มปฏิรูปหรือของคนบางคนบางกลุ่มในพรรคเก่าแก่แห่งนี้” นายอลงกรณ์ ระบุ ผ่านทวิตเตอร์
สำหรับแผนสรุปการปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์ที่เสนอเข้าที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคในวันที่ 7 ต.ค. 56 นั้น มีสาระสำคัญคือ เหตุผลที่ปฏิรูป เพื่อตอบโจทย์ความคาดหวังของสังคมที่ต้องการให้พรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาล เพื่อให้พรรคเป็นสถาบันการเมืองที่เข้มแข็ง เป็นที่พึ่งได้ มีระบบการบริหารจัดการที่กระชับ รวดเร็ว ทันสมัย มีประสิทธิภาพ โดยมีเป้าหมายเพื่อ 1.เพิ่มจำนวน ส.ส.ให้ชนะการเลือกตั้งจัดตั้งรัฐบาล 2.เปิดโอกาสให้ผู้เหมาะสมได้เข้ ามาทำงาน 3. มีเอกภาพ ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ 4.ดูแลสมาชิกทั่วประเทศ 5.ให้เกิดการยอมรับในระดับสากล
ภายใต้แผนดังกล่าว จะมีการตั้งคณะกรรมการใหม่ขึ้น 3 ชุดที่เปลี่ยนโครงสร้างเดิมของพรรค จากเดิมที่ทุกเรื่องจะให้กรรมการบริหารพรรคเป็นผู้ชี้ขาดในขั้นตอนสุดท้าย โดยคณะกรรมการ 3 ชุด คือ
1.คณะกรรมการพรรค (บอร์ดพรรค) จะมีกรรมการทั้งชุดมากกว่า 27 คน โดยหัวหน้าพรรค จะเป็นเลขานุการบอร์ด ขณะที่เลขาธิการพรรคจะเป็นรองเลขานุการบอร์ดโดยตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 12 คน ที่ผ่านการสรรหาจากคณะกรรมการที่หัวหน้าและเลขาฯพรรคตั้งขึ้น คัดเลือกส.ส.จากที่ประชุมใหญ่อีก 10 คน และอาจมีการแต่งตั้งอดีตหัวหน้าหรืออดีตเลขาฯพรรคเข้าร่วมอีกจำนวนหนึ่งโดยทุกคนต้องเป็นสมาชิกพรรค ซึ่งถูกวิจารณ์ว่า เป็นอำนาจซ้อนอำนาจ ที่หัวหน้าและเลขาฯพรรค บริหารและตรวจสอบตัวเอง
2.คณะกรรมการบริหารพรรค ทั้งชุดรวม 15 คน คือ หัวหน้าพรรคตั้งกรรมการ 9 คน เลขาฯพรรคตั้งกรรมการ อีก 3 คน และอีก 2 คน เลือกจากที่ประชุมใหญ่พรรค และ 3.คณะกรรมการปฏิบัติการเขตพื้นที่ ซึ่งให้อำนาจหัวหน้าและเลขาฯพรรค แต่งตั้งประธานเขตพื้นที่ เพื่อกำหนดเขตพื้นที่จังหวัดและสรรหาบุคคลลงสมัครรับเลือกตั้งในพื้นที่นั้น
ทั้งนี้ โครงสร้างที่ปรับใหม่ให้มีคณะกรรมการทั้ง 3 ชุด ถูกสมาชิกพรรควิจารณ์ว่า รวบอำนาจรวมศูนย์มากกว่ากระจายอำนาจ คือกระจายอำนาจในระดับพื้นที่ภูมิภาคแต่รวบอำนาจไว้ที่ส่วนกลางที่หัวหน้าและเลขาฯพรรคทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม หลังจากกรรมการบริหารพรรคใช้เวลาประชุมอย่างเคร่งเครียดกว่า 5 ชั่วโมง นายอัศวิน วิภูศิริ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรค ในฐานะประธานคณะทำงานปฏิรูปพรรคฯ เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้รับรองการปรับโครงสร้างพรรค โดยประเด็นการตั้งคณะกรรมการพรรคหรือบอร์ดพรรค เห็นควรให้คงไว้ตามเดิม คือ สภาที่ปรึกษาพรรค ที่มีนายชวน หลีกภัย เป็นประธาน และมีผู้หลักผู้ใหญ่และผู้ทรงคุณวุฒิของพรรค ร่วมเป็นคณะกรรมการ
ส่วนคณะกรรมการบริหารพรรค เดิมมีการเสนอ 15 คน ก็เพิ่มเป็น 25 คน คือ ให้เพิ่มรองภาค 5 คน ทำงานในภาพรวมเพื่อดูแลพื้นที่ในแต่ละภาคที่ยังไม่มีประธานพื้นที่ในภาคนั้นๆ และเพิ่มรองหัวหน้าพรรคในโควตาหัวหน้าพรรค จากเดิม 3 คน เป็น 5 คน โดยให้รับผิดชอบงานในแต่ละด้าน เช่น เศรษฐกิจ สังคม ต่างประเทศ
สำหรับเรื่องนโยบายนั้น นายอัศวิน ชี้แจงว่า จะอยู่ในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ คณะกรรมการกฎหมาย และมีสำนักซึ่งจะทำงานสนับสนุนเบื้องหลัง โดยปัจจุบันมีอยู่แล้วเพียงแต่ยังไม่ชัดเจน ก็จะจัดใหม่ให้เป็นระบบและแบ่งความรับผิดชอบอย่างชัดเจน โดยให้รองฯ แต่ละฝ่ายมาดูแล
นายอัศวิน ไม่ได้ปฏิเสธว่า โครงสร้างใหม่เหมือนเป็นการรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่หัวหน้าและเลขาธิการพรรค ซึ่งการแต่งตั้งมีบางส่วนที่เป็นอำนาจของหัวหน้า เช่น การแต่งตั้งรองหัวหน้าพรรคเพิ่มจาก 3 เป็น 5 คน และตำแหน่งเลขาธิการพรรค หัวหน้าเป็นผู้เสนอต่อที่ประชุม ส่วนรองภาคให้ที่ประชุมเสนอและเลือกกันเองและรองเลขาธิการพรรค เลขาธิการพรรค จะเป็นผู้เสนอ
เมื่อรูปการณ์ออกมาเป็นเช่นนี้ เท่ากับเป็นการกระชับอำนาจให้กับหัวหน้าและเลขาธิการพรรคให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น กลบเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันว่า การปรับโครงสร้างครั้งนี้ เป็นเกมที่ต้องการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าพรรค แถมนายอัศวิน ยังยืนยันว่าไม่มีใครต้องการเปลี่ยนหัวหน้าพรรค ทุกอย่างเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย และทุกคนยังพอใจที่จะให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรคต่อไป
เจอไม้นี้เข้า ก็เท่ากับเป็นการดับฝันเสี่ยจ้อน ที่บางกระแสระบุว่า นายอลงกรณ์ ต้องการงัดนายอภิสิทธิ์ ออกจากเก้าอี้ โดยอาศัยข้ออ้างเรื่องการปฏิรูปพรรค ซึ่งเรื่องนี้ เสี่ยจ้อน ก็อ้ำอึ้งเมื่อถูกถามจี้ใจดำ
“ไม่เคยพูดถึงการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าพรรค แต่ว่าไม่อยากให้ยึดติดกับบุคคล แต่ต้องปฏิรูปพรรคเพื่อให้ได้รับชัยชนะ และไม่ขอตอบว่านายอภิสิทธิ์ ยังมีความเหมาะสมที่จะเป็นหัวหน้าพรรคหรือไม่ เพราะไปไกลเกินไป เราไม่เคยพูดถึงตัวบุคคล หากสร้างองค์กรให้เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพก้าวหน้า ได้ใครไปใครมาไม่สำคัญ อย่าติดยึดเรื่องตัวบุคคล โดยทั้งหมดอยู่ที่ที่ประชุมใหญ่ของพรรคจะตัดสินใจ ที่ผ่านมาการปฏิรูปไม่พูดถึงตัวบุคคลไม่ว่าจะเป็นหัวหน้า หรือเลขาฯให้เป็นการตัดสินของสมาชิกพรรคทั้งหมด” นายอลงกรณ์ รีบชิงปฎิเสธ
เมื่อผลที่ออกมาไม่เป็นไปดังใจประสงค์ตามที่วางแผนไว้ นายอลงกรณ์ ไม่ได้บอกว่ายกสุดท้ายของเขานั้นคืออะไร โดยไม่ยอมพูดให้ชัดเจนว่าจะลาออกจากกรรมการบริหารพรรคหรือ ส.ส.พรรคพร้อมกับนายเฉลิมชัย ตามที่มีการทวิตขู่หรือไม่ โดยอ้างว่าไม่เคยพูดถึงเรื่องลาออกสื่อตีความกันไปเอง
“ไม่อยากให้นำเรื่องนี้ไปเทียบกับกรณี 10 มกรา เพราะเรามีบทเรียนมาแล้ว พรรคจะต้องเข้มแข็งไปสู่ความเป็นเอกภาพบริหารความแตกต่างให้ได้อย่าเอามาเปรียบเทียบกัน และการทวิตเตอร์ของผมอย่าใช้คำว่าขู่ เพราะเราเป็นระบบปิดมานานแล้วจึงต้องเปิดให้กว้างเพื่อให้ประชาชนรับทราบ มีแค่คนบางกลุ่มไม่เห็นด้วยเท่านั้น ส่วนถ้าการปฏิรูปไม่ได้เป็นไปตามที่ต้องการจะลาออกหรือไม่นั้นยังไม่ขอตอบอย่าเพิ่งตีตนไปก่อนไข้” นายอลงกรณ์ ยกธงขาวสงบศึกในยกสอง
ความพยายามปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์สู่เส้นทาง “คิดเก่ง ทำเก่ง” เพื่อลบภาพดีแต่พูด เอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่คนอื่น ยึดกุมความพ่ายแพ้มาตลอดเวลากว่า 21 ปี ที่นายอลงกรณ์ พลีชีพผลักดันให้ “Democrat Dream” เป็นจริง ดูแล้วคงประสบความสำเร็จได้ยาก เพราะกลุ่มที่กุมอำนาจในพรรคยังทำตัวเป็นไดโนเสาร์เต่าล้านปี ไม่เคยคิดจะเปลี่ยนแปลงอะไร ดีแต่สร้างภาพ ดีแต่พูด และเอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่คนอื่น ไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้านก็ตาม
ความตกต่ำของพรรคประชาธิปัตย์ ยังเป็นโอกาสให้พรรคเพื่อไทย ส่งนักศึกษาลอกข้อสอบจากรามคำแหงมาเยาะเย้ยถากถางนักเรียนนอกจากอ๊อกฟอร์ดว่า เวลานี้พรรคประชาธิปัตย์ เปลี่ยนจากยุคมีดโกนอาบน้ำผึ้ง ที่เชือดเฉือน ลุ่มลึก แหลมคม มาเป็นยุคมีดโกนเคลือบอาจม ที่กักขฬะหยาบคาย โกหกพกลมหลอกต้มสลิ่ม
ดูท่าตราบใดที่ประชาธิปัตย์ไม่ยอมเปลี่ยนจะมีแต่วันที่แพ้แล้วแพ้อีก ส่วนพวกพลีชีพอย่างนายอลงกรณ์ พลบุตร ก็มีแต่ เจ็บฟรี ตายฟรี เท่านั้น