xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ลุยตั้ง “กระทรวงน้ำ” สนองตัณหา “พญาปลอด”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปลอดประสพ สุรัสวดี
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ไม่มีเรื่องไหนที่ชวนให้ “พญาปลอด” นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ดีใจจนเนื้อเต้นเท่ากับเรื่องที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 56 เห็นชอบให้คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ไปศึกษาตั้งกระทรวงน้ำ เพราะนี่เท่ากับเป็นการสานฝันของท่าน “พญาปลอด” ให้เป็นจริง หลังเทียวไล้เทียวขื่อสาธยายน้ำลายแตกฟุ้งถึงคุณความดีถ้ามีกระทรวงน้ำนับแต่คราว มหันตภัยน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 54 จนถึงน้ำท่วมปีนี้

นี่เป็นผลสำเร็จของนายปลอดประสพ ที่ฉวยวิกฤตเป็นโอกาส จากวิกฤตน้ำท่วม ที่ยังตามหลอนคนไทยไม่เลิก และวิกฤตผู้นำประเทศที่ไม่มีความเก่งกล้าสามารถ เหลียวซ้ายแลขวา ไม่ “รองฯ เหลิม” ก็ “รองฯปลอดฯ” มีอยู่เท่านั้น นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จึงได้ฟังแต่เรื่องที่ท่านรองฯ ทั้งสอง อยากให้ทำ อยากให้ได้ยิน อยากให้พูด จนไม่น่าแปลกใจที่เธอมักท่องคำว่าบูรณาการ ซิงเกิลคอมมานด์ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ซ้ำๆ ซากๆ ไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม จะเป็นไฟใต้ หรือน้ำท่วมก็เหมือนกัน

อย่างอุทกภัยน้ำท่วมปีนี้ ตามสภาพการณ์ฝนตก น้ำท่วม ถือเป็นเรื่องปกติของประเทศไทยที่อยู่ในเขตร้อนชื้น อยู่ในร่องมรสุม ชุมชนชาวไทยตามลุ่มน้ำจึงสร้างบ้าน ใต้ถุนสูงหนีน้ำท่วมและมีชีวิตอยู่กับน้ำตามวิถี แต่ที่ไม่ปกติและเป็นปัญหาก็เพราะการ บริหารจัดการน้ำไม่ดีต่างหาก กรณีปราจีนบุรี ที่ท่วมนองหลายวัน หรือปีที่น้ำท่วมใหญ่ ก็มีปัญหาการบริหารจัดการเช่นเดียวกัน แต่ก็อย่างว่า คนมันหาเหตุ ตอนน้ำท่วมใหญ่ก็ เป็นข้ออ้างได้กู้เงินมาผลาญถึง 3.5 แสนล้านบาท พอท่วมปีนี้ก็เปิดทางตั้งกระทรวงน้ำ เพื่อว่าพรรคเพื่อไทยจะได้จัดการเรื่องนี้ได้เต็มไม้เต็มมือไม่ต้องไปเกรงใจ “หลงจู๊” ขาใหญ่แห่งสุพรรณบุรี ที่ส่งลูกน้องมาคุมกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรฯ ให้เมื่อยตุ้ม

ดังนั้น หลังจากหนีเที่ยว ปล่อยให้ชาวบ้านลอยคอ จมน้ำจนหนำใจ นางสาวยิ่งลักษณ์ ก็เยื้องกรายลงตรวจพื้นที่จังหวัดที่ถูกน้ำท่วม เมื่อวันที่ 29 - 30 ก.ย. 56 เพื่อสร้างภาพ และหาข้ออ้างมาสนับสนุนการจัดตั้งกระทรวงน้ำที่นอนรอให้พิจารณาอยู่ใน วาระการประชุมครม.ในวันถัดมาเรียบร้อย

“.... ขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ที่สามารถบูรณาการทำงานส่วนหน้าและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ในส่วนของซิงเกิลคอมมานด์เซนเตอร์ปัจจุบันก็เริ่มเห็นการใช้ข้อมูลเป็นไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น…” นางสาวยิ่งลักษณ์ อารัมภบทก่อนจะลากเข้าประเด็นอยากเห็นการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในระยะยาวโดยมอบหมายให้กบอ.ไปพิจารณาหาแนวทาง ก่อนที่จะตบท้ายด้วยการมีมติครม.เห็นชอบให้ กบอ. ไปพิจารณาความจำเป็นในการจัดตั้งกระทรวงน้ำ โดย ให้ กบอ.เป็นหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการร่างกฎหมายที่กำหนดให้มีการจัดตั้งกระทรวงทรัพยากรน้ำ ตาม ร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุง ทบวง กรม (ฉบับที่..) พ.ศ... (จัดตั้งกระทรวงน้ำเพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเป็นระบบ) ต่อไป

นายปลอดประสพ ที่รอโอกาสนี้มานานก็เด้งรับมติครม.ทันทีว่า การจัดตั้งกระทรวงน้ำ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ และจะส่งผลดีต่อการแก้ปัญหาน้ำในระยะยาวตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี การจัดตั้งกระทรวงน้ำจะเป็นการรองรับโครงการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจาก พ.ร.ก.บริหารจัดการน้ำฯ 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการแก้ไขปัญหาน้ำมีความยั่งยืน และจะทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นว่า โครงการบริหารจัดการน้ำฯ 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาล จะเกิดขึ้นจริง

กระทรวงน้ำ ตามไอเดียของนายปลอดประสพ นั้น จะเป็นการบูรณาการการทำงานของ 20 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาน้ำเข้าด้วยกัน ใช้วิธีคิดคือ ซิงเกอร์คอมมานด์ หรือควบคุมและสั่งการจากหน่วยงานเดียว บอร์ดหรือคณะกรรมการมีหน้าที่ผลักดันให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้ โดยดึงงานมาจากแต่ละหน่วยงานมาบริหารเอง เมื่อบริหารเสร็จก็แจกคืนกลับไป ตอนแจกคืน สามารถแจกคืนให้ตัวเองก็ได้ คือภายใต้หมวกใหม่ หรือกระทรวงน้ำ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการจัดตั้งทันที หลังจากรับฟังความ คิดเห็นเกี่ยวกับโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ในช่วงสิ้นเดือน ธ.ค. 56 และน่าจะเริ่มเซ็นสัญญาและเริ่มโครงการก่อสร้างได้ ในเดือน ม.ค. 57 โดยจะเชิญกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งกระทรวงน้ำ เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาร่วมหารือเกี่ยวกับโครงสร้างของกระทรวงน้ำ

ฟังแล้วเคลิ้มว่าต่อไปนี้ประชาชนคนไทยจะไม่มีปัญหาเรื่องน้ำท่วมน้ำแล้งอีกแล้ว เพราะมีทั้งเม็ดเงินลงทุนมหาศาล ทั้งหน่วยงานระดับกระทรวงที่จะจัดตั้งใหม่มาดูแลเรื่องน้ำโดยตรง แต่ว่าก่อนที่จะหลงเชื่อลมปากนายปลอดประสพ มาฟัง “ดาริน คล่องอักขระ” ผู้ดำเนินรายการรู้สู้ภัยพิบัติ ออกอากาศทางสถานีทีวีไทย ที่ไปร่วมเสวนา “ผ่าแผน กบอ. เวทีการบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศ” ที่สมาคมนักข่าวฯ เมื่อวันที่ 25 ก.ย. ที่ผ่านมา ก็จะได้รู้ข้อเท็จจริงชนิดตีแสกหน้า กบอ.จนหน้าแหก สำหรับผลงานการบริหารจัดการน้ำพื้นที่ปราจีนบุรี

เธอเล่าว่า สาเหตุที่น้ำท่วม อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี หนักสุดในรอบ 24 ปี ทั้งที่ปริมาณน้ำฝนปีนี้น้อยกว่าปีที่แล้วถึงเท่าตัว ชาวบ้านในพื้นที่บอกว่าเป็นเพราะมีคำสั่งให้ ปิดประตูระบายน้ำ ทำให้น้ำอั้นอยู่ที่ อ.กบินทร์บุรี ทั้งที่พื้นที่หลังประตูน้ำต้องการให้น้ำ เข้าไปในนาข้าวฟางลอยที่ต้องการน้ำมากแท้ ๆ เมื่อเกิดปัญหาจนทำให้ชาวบ้านไม่พอใจ ออกมาชุมนุม ทาง กบอ. โดยนายปลอดประสพ ก็ลองเปิดประตูขึ้น 30 ซม. ทำเหมือนไม่มีข้อมูลปริมาณน้ำอยู่ในมือ

“มีข้อมูลในทางลับจากเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน อาจเป็นเพราะเกรงว่า เป็นการกระทำโดยพลการ ยังไม่ได้รับคำสั่ง ถูกฟ้องขึ้นมาเมื่อเปิดประตู แล้วน้ำไปท่วมบ้านใคร เขาฟ้องเจ้าหน้าที่ก็รับผิดชอบไม่ไหว ต้องรอผู้ว่าฯ รอ กบอ.สั่ง อ้าวอย่างแล้วนี้หมดนี่ต้องรอ กบอ.สั่งคนเดียวใช่ไหม ถ้าสร้างแล้วเกิดเหตุอย่างนี้แล้วใครรับผิดชอบทำอย่างไรกับชาวบ้าน” นี่คือคำบอกเล่าของเธอในวันนั้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ คำถามก็คือ กบอ.ภายใต้การนำของนายปลอดประสพ แทนที่จะเป็นหน่วยงานแก้ปัญหา กลับเป็นตัวสร้างปัญหา และจะมีความสามารถจัดการน้ำทั้งระบบได้หรือไม่เพราะลำพังแค่ปราจีนบุรีก็เห็นฝีมือแล้วว่าไม่เข้าท่า ระบบการรวมศูนย์บัญชาการจากส่วนกลาง หรือ “ซิงเกิลคอมมานด์” รวบอำนาจเบ็ดเสร็จมาไว้ในมือประธาน กบอ. แต่เพียงผู้เดียว ก็เห็นปัญหาแล้วว่าไม่ได้มีการบูรณาการ ฟังเสียงจากทุกภาคส่วนอย่างที่ปากว่า มีแต่ท่าทียโสโอหัง แสดงถึงการใช้อำนาจเผด็จการหลงยุค แต่ไม่มีความสามารถในการบริหารจัดการอย่างทันท่วงทีอย่างที่เห็นๆ กันอยู่ เพราะความเดือดร้อนของประชาชนมันฟ้องชัดๆ

ไม่ใช่แค่ประชาชนรอบนอก ต่างจังหวัด เท่านั้น เมื่อใดก็ตามที่ฝนฟ้าเทลงมายังพื้นที่กรุงเทพฯ มีหวังลอยคอไม่แตกต่างกัน ดีแต่ว่าฝนฟ้าพายุไม่ถล่มกรุงอย่างหนักหน่วงเหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นเหมือนกับปีที่ผ่านๆ มา ไม่เช่นนั้น ก็จะได้เห็นว่าประธาน กบอ.ขี้โม้ต่อหน้านายกรัฐมนตรีและครม.ว่า “ไม่มีปัญหา” บวกกับลีลาของม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.ที่ยังไม่แสดงฝีมือให้เห็นเป็นรูปธรรมในการเตรียมการป้องกันกรุงเทพฯ จากน้ำท่วมให้ชาวประชาอุ่นใจแต่อย่างใด

จากมหันตภัยน้ำท่วมใหญ่ มาถึงจัดตั้งซิงเกิลคอมมานต์เซ็นเตอร์อย่าง กบอ. และการผลักดันจัดตั้งกระทรวงน้ำ ในเวลานี้ บอกได้ล่วงหน้าเลยว่า นี่ไม่ใช่หลักประกันให้กับประชาชนในอนาคตว่าจะไม่ต้องพะวักพะวงถึงปัญหาน้ำท่วมฝนแล้งอย่างที่ “พญาปลอด” คุยโวโม้นักหนา สิ่งที่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ กำลังทำเป็นการสร้างหลักประกันให้ “พญาปลอด” ได้มีโอกาสบริหารเงินก้อนโต และเสวยสุขอยู่ในอำนาจในฐานะประธาน กบอ. และอาจจะได้รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการคนแรกของกระทรวงน้ำ เสียมากกว่า


กำลังโหลดความคิดเห็น