ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-เหตุรถไฟตกรางซ้ำซากไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า รถไฟตกรางถี่ยิง แบบตกกันรายวัน วันละหลายครั้ง ทั้งนี้สาเหตุหลักๆ ที่นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ชี้แจงก็คือ เกิดจากปัญหาสภาพทางที่ทรุดโทรม ขาดการบูรณะซ่อมแซมอย่างจริงจัง ประกอบกับรางและไม้หมอนอยู่ในสภาพเก่า รางบางเส้นทางอายุใช้งานกว่า 40ปี และยังเป็นผลพวงจากสภาพอากาศ ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ที่ทำให้ทางรถไฟส่วนใหญ่ถูกน้ำท่วมขังจนทำให้ดินอ่อนตัว เส้นทางรถไฟชำรุด ในขณะที่ไม่ได้รับงบประมาณในการซ่อมแซม
นอกจากนี้ ยังเป็นเรื่องการบริหารจัดการภายในการรถไฟเอง ซึ่งแบ่งเป็นขั้วต่างๆ โดยเฉพาะในฝ่ายการเดินรถ ฝ่ายอาณัติสัญญาณ ฝ่ายซ่อมบำรุงและฝ่ายโยธา ซึ่งต้องยอมรับว่าทั้ง 4 ฝ่ายนี้ต้องมีการบูรณาการประสานกันตลอดเวลา เพื่อป้องกันปัญหารถไฟตกราง แต่ปัจจุบันทั้ง 4 ฝ่ายนี้ที่มีเป็นระดับรองผู้ว่าการที่รับผิดชอบแบ่งเป็น 3 ก๊วนใหญ่ ๆ ทำให้เกิดการขัดขากันขึ้นภายในการรถไฟ ซึ่งแม้ในอดีตที่ผ่านมาผู้ว่าการรถไฟไม่สามารถสั่งการอะไรในระดับรองผู้ว่าฯ นี้ได้เลย
โดยจากสถิติการเกิดเหตุรถไฟตกราง (ไม่นับรวมอุบัติเหตุรถไฟชนกับรถยนต์ในทางตัดผ่านกับถนน) ตั้งแต่ปี 2553 พบว่า มีเหตุรถไฟตกราง 102 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 107 ราย เสียชีวิต 10 ราย ปี 2554 มีเหตุรถไฟตกราง 113 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 54 ราย เสียชีวิต 4 ราย ปี 2555 มีเหตุรถไฟตกราง 89 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 5 คน ไม่มีผู้เสียชีวิต ปี 2556 เดือนมกราคมถึงเดือนกันยายน มีเหตุรถไฟตกรางแล้ว 117 ครั้งมีผู้บาดเจ็บ 42ราย เสียชีวิต 3 ราย
ทั้งนี้ ในแต่ละครั้ง ความเสียหายที่เกิดขึ้นนับเป็นเงินตั้งแต่หลักแสนไปจนถึงหลักล้านบาท ขึ้นอยู่กับว่าจะตกรางไปกี่ตู้ ตกแบบไหน คว่ำด้วยหรือไม่ ยิ่งหากเป็นการเกิดเหตุที่หัวรถจักรจนได้รับความเสียหายจนซ่อมแซมกลับมาใช้งานไมได้ แบบนี้ก็ต้องถึง 100 ล้านบาทกันเลย
แต่หากย้อนดูอุบัติเหตุรถไฟตกรางครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 5 ปี คือ เหตุการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2552 รถด่วนขบวนที่ 54 วิ่งจากสถานีตรังปลายทางสถานีกรุงเทพ เกิดตกรางที่สถานีเขาเต่า อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตู้โดยสารพลิกคว่ำ 6 ตู้จาก 15 ตู้ มีผู้เสียชีวิต 7 ราย บาดเจ็บ 88 ราย และทำให้รถไฟสายใต้เป็นอัมพาต ผลการสอบสวนสรุปว่าสาเหตุเกิดจากพนักงานขับรถไฟหลับใน
โดยประเมินค่าเสียหายกว่า 120 ล้านบาท เพราะขบวนตู้โดยสารได้รับความเสียหายถึง 9 ตู้ และรางเสียหายหนัก รวมถึงการสูญเสียรายได้จากการเดินรถสายใต้อีกด้วย
จากเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟฯ ได้ประกาศงดเดินรถเป็นการชั่วคราวเพื่อขอให้ฝ่ายบริหารเร่งทำการตรวจสอบความพร้อมของหัวรถจักร รถพ่วงและอุปกรณ์ต่างๆ โดยเฉพาะระบบป้องกันคนขับ หมดสติ หรือวิจิแลนซ์ (vigilance) ซึ่งเป็นเครื่องควบคุมความเร็วและระบบเตือนสติคนขับที่ชำรุด ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร เพราะหากฝืนเดินรถต่อไป อาจจะส่งผลไม่ปลอดภัยและอาจเกิดเหตุร้ายแรงเหมือนรถตกรางที่เขาเต่า เพราะอุปกรณ์ในห้องคนขับไม่สมบูรณ์ ซึ่งเป็นการปัดความรับผิดชอบไปให้พนักงานแทน
“สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหารถไฟนั้นหนักหนาสาหัส และไม่เคยได้รับการดูแลแก้ไขอย่างจริงจากรัฐบาลเลย”
รัฐบาล”อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เป็นนายกรัฐมนตรีได้ผลักดันแผนปรับปรุงครั้งใหญ่วงเงิน 1.76 แสนล้านบาท ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง และต่อเนื่องมาถึงรัฐบาล” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”ยังยกเอาการปรับปรุงรถไฟเป็นแผนหลักในการออกพ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท โดยเป็นการลงทุนเพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ กว่า 4 แสนล้านบาท ทั้งการปรับปรุงทาง ราง หมอน สะพาน และติดตั้งรั้ว เพิ่มเครื่องกั้น งานซ่อมบำรุงรางที่เสียหาย วงเงิน 2.3 หมื่นล้านบาท และโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ และรถไฟเส้นทางใหม่ อีก 3.83 แสนล้านบาท
“ดูอนาคตรถไฟจะสดใสขึ้นแต่นั่น ต้องรออีก 8 ปี โครงการจึงจะแล้วเสร็จ”
แต่ปัญหารถไฟตกรางถี่ยิบในระยะนี้ สายเหนือ ตกซ้ำซาก จุดเดิมๆจน ต้องตัดสินปิดเส้นทางสายเหนือตั้งแต่ศิลาอาสน์-เชียงใหม่ เพื่อซ่อมใหญ่เป็นเวลา 45 วัน (16 ก.ย.-31 ต.ค.56) และ ประภัสร์ จงสงวน ให้คำมั่นว่า หลังซ่อมทางช่วงนี้เสร็จยังมีการตกรางอีก จะเป็นคนแรกที่ต้องรับผิดชอบโดยพร้อมลาออก
ส่วนการตกรางในย่านสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) หลายครั้งนั้น เจ้าหน้าที่ร.ฟ.ท.ให้ข้อมูลว่า ระยะหลังในย่านสถานีหัวลำโพงเกิดตกรางบ่อย สาเหตุสำคัญมาจากดินใต้รางรถไฟทรุดตัวเนื่องจากถูกน้ำขังเพราะฝนตกหนัก แต่ระบายน้ำได้ช้าเพราะทางกรุงเทพมหานคร(กทม.) ห้ามไม่ให้ระบายน้ำเสียลง คลองผดุงกรุงเกษม จึงต้องปรับไประบายลงท่อน้ำทิ้งแทน อีกส่วนหนึ่ง เพราะในย่านสถานีหัวลำโพงมีถึง 14 ชานชลา ต้องใช้ประแจสับหลีกเป็น 100 ตัววันหนึ่งๆ มีรถไฟเข้าออกกว่า 180 ขบวน การควบคุมสั่งการเพื่อกลับประแจทำด้วยคน จึงอาจเกิดผิดพลาดบ้าง
ที่ฮือฮา เห็นจะเป็นกรณีภาพวาดสีน้ำมัน ภาพรถไฟที่ติดอยู่บริเวณโถงบันไดทางขึ้นชั้น 3 สำนักงานร.ฟ.ท. ที่ภาพเกิดรูโหว่ตรงรางรถไฟพอดี จนผู้พบเห็นต่างพากันตั้งข้อสังเกตว่าเป็นลางที่ทำให้รถไฟตกรางบ่อย ซึ่งต้องรอดูหลังจากนี้ที่ร.ฟ.ท.ได้ส่งภาพให้ อาจารย์ศิลปากร ซ่อมแซมแล้วว่า อาถรรพ์จะเป็นจริงดังร่ำลือกันหรือไม่
ต้องยอมรับว่า หลังจากนายประภัสร์ เข้ามาเป็นผู้ว่าฯร.ฟ.ท. ได้รับเสียงตอบรับไม่น้อย รวมถึงสหภาพฯร.ฟ.ท. ก็แสดงท่าทีสนับสนุนแนวทางปรับปรุงรถไฟครั้งใหญ่ โดยนายสาวิทย์ แก้วหวาน ที่ปรึกษาสหภาพฯร.ฟ.ท.ยืนยันว่า พนักงานรถไฟส่วนใหญ่ต้องการเห็นรถไฟพัฒนาซึ่งนโยบายของรัฐบาลที่จะกู้เงิน 2 ล้านล้านมาปรับปรุงนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นง่ายๆ หากรถไฟไม่ฉวยโอกาสก้าวข้ามปัญหาเดิมๆในตอนนี้ หลังจากนี้คงไม่มีโอกาสแล้ว ส่วนปัญหาตกรางซ้ำซากนั้น ต้องยอมรับว่า สาเหตุเพราะสภาพทางทรุดโทรม รางเก่า พื้นที่ถูกน้ำท่วมสะสมจนดินชุ่มน้ำเกินไป
ขณะที่หลักการเดินรถปลอดภัยคือต้องมีการตรวจสอบทางอย่างสม่ำเสมอทุกเช้าโดยพนักงานเดินเท้าและรถตรวจทางแต่ระยะหลังรพนักงานรถไฟไม่เพียงพอ เนื่องจากติดมติครม.เรื่องรักพนักงานเพิ่ม ทำให้การตรวจสภาพทางจึงไม่ครอบคลุม
แม้สหภาพฯรถไฟจะพร้อมสนับสนุนผู้ว่าฯ ประภัสร์ แต่ข่าววงในยืนยันว่า รถไฟยังมีขั้วอำนาจเก่าอดีตผู้บริหารที่พ้นวาระไปแล้ว ทำตัวเป็นเหลือบคอยเกาะกินผลประโยชน์รถไฟอยู่ และกลุ่มนี้แหละที่คอยขัดแข้งขัดขา วางยา ประภัสร์ ให้ทำงานไม่สะดวกและน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่รถไฟตกรางถี่ ซึ่งขั้วอำนาจนี้ได้แต่งตั้งพรรคพวกขึ้นมาอยู่ในระดับผู้บริหารเพื่อวางเครือข่ายกระจายกำลังไว้ทั่วทุกฝ่ายแล้ว ตั้งแต่ก่อนที่ประภัสร์จะเข้ามา
ผู้ว่าฯ ประภัสร์ เองก็ยอมรับว่าความแตกแยกในระดับบริหารของการรถไฟนั้นมีมานานแล้ว แต่จะทำอย่างไรให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และพยายามจะทำอย่างไรให้ทุกวันเดินไปด้วยกัน เพราะที่ผ่านมามีการเลือกปฏิบัติให้กับพรรคพวกตนเองในการรถไฟ และยืนยันว่าหากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งก็พร้อมที่จะโยกย้ายฝ่ายบริหารที่ทำให้เกิดปัญหา ไม่เช่นนั้นจะไปบอกรัฐบาลว่าการรถไฟนั้นไปไม่ไหวก็ต้องบอกข้อเท็จจริงกับรัฐบาล
แม้ล่าสุดผู้ว่าการรถไฟฯ ประภัสร์ มีการเซ็นต์คำสั่งให้ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สารวัตรทั้ง 4 ฝ่ายต้องมีการรายงานการทำงานอาทิตย์ละครั้ง แต่ถ้ามีปัญหาก็ให้รายงานทั้งทีโดยตรง โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย แต่ถ้ามีปัญหาอุปสรรคแล้วไม่บอกหรือแจ้งก็ต้องมีการสับเปลี่ยนคนดูแล ถึงแม้กระนั้นเพียงไม่กี่วันก็เกิดเหตุตกรางแบบซ้ำซากขึ้นอีก นี่จึงเป็นบทพิสูจน์การทำงานของนายประภัสร์ ว่าไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นภายในการรถไฟได้สำเร็จอย่างที่พูดไว้
ในขณะที่ประภัสร์เล่นบทสุภาพบุรุษ ไม่โยกไม่ย้าย ไม่แขวน คนกลุ่มเดิมเพราะไม่ต้องการถูกครหา ฝ่ายที่อยากหนุน ก็ออกตัวไม่เต็มที่เพราะเกรงจะมีปัญหา หากประภัสร์พ้นตำแหน่ง แล้วขั้วเก่ากลับมาครองอำนาจ สุดท้าย...ถอยดีกว่า เลยเปิดช่องให้เกิดการ“เพิกเฉย ไม่ใส่ใจต่องาน ไม่ทุ่มเท” ขาดกำลังที่จะช่วยขับเคลื่อนรถไฟให้ก้าวข้ามจุดเปลี่ยนสำคัญนี้ไปให้ได้ ช่วงเวลา 2 ปี 6 เดือนของประภัสร์ ถึงไม่มากแต่ก็ไม่น้อย ซึ่งคน...รถไฟกลายเป็นอุปสรรคสำคัญ ที่แก้อย่างไรก็คงไม่หมดไปง่ายๆ ถ้าตราบใดที่รถไฟยังมีผลประโยชน์ ล่อตาล่อใจ เหลือบ...