xs
xsm
sm
md
lg

รัฐอุ้ม PTTGC หนีความผิด แบไต๋ส่อไม่ฟ้อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครือปตท.ได้แสดงให้สังคมได้เห็นถึงอิทธิพลความยิ่งใหญ่เหนือรัฐอีกครั้ง เมื่อก่ออาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อมปล่อยน้ำมันรั่วลงทะเลสร้างความเสียหายอย่างใหญ่แล้วกลับได้รับการโอบอุ้มและได้รับความเห็นอกเห็นใจจากหน่วยงานรัฐ รัฐมนตรี อธิบดี ถึงขนาดแบไต๋กันชัดเจนว่า จะไม่มีการฟ้องร้องเอาผิดใดๆ ไม่ว่าทางแพ่งหรือทางอาญา หากเจรจาตกลงค่าชดเชยกันได้และเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นอุบัติเหตุ ส่วนการแจ้งความกันไว้ก่อนหน้าและการลงพื้นที่เก็บหลักฐานของดีเอสไอ ก็แค่ละครแหกตาประชาชน

เรื่องนี้ นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แสดงท่าทีชัดเจนตั้งแต่วันแรกๆ ที่มีเหตุการณ์น้ำมั่นรั่วลงทะเลของพีทีทีจีซีแล้วว่า ไม่อยากให้มีการฟ้องร้อง อยากให้ใช้วิธีเจรจากันมากกว่า เป็นท่าทีที่ออกมาอุ้มพีทีทีจีซี อย่างเห็นได้ชัดทั้งที่ยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรด้วยซ้ำ เป็นการตอกย้ำความเชื่อของประชาชนที่ว่ารัฐบาลไม่ว่าจะมาจากพรรคการเมืองไหนล้วนแต่ให้ความสำคัญและปกป้องผลประโยชน์ของเครือปตท.ก่อนประชาชนทั้งนั้น

ไม่ใช่แค่นายพงษ์ศักดิ์ เท่านั้น นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.กระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน (กปน.) ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการประเมินค่าเสียหายและเร่งรัดติดตามดำเนินคดีกับผู้ก่อมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน ก็ยังออกมาช่วยเครือปตท.เหมือนกับไม่รู้หน้าที่ของตัวเองว่าต้องรักษาผลประโยชน์ของใครกันแน่ ดังที่นายชัชชาติ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 56 ที่ว่า “กรมเจ้าท่า (สังกัดกระทรวงคมนาคม) ไม่ใช่หน่วยงานที่ต้องเป็นเจ้าภาพในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ซึ่งกรมเจ้าท่า เป็นเพียงหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการตรวจตราดูแลรักษาแหล่งน้ำสาธารณะ รวมไปถึงทะเลภายในน่านน้ำไทย ส่วนเรื่องค่าเสียหายที่เกิดขึ้น คาดว่า บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) คงจะเป็นผู้ดำเนินการรับผิดชอบจ่ายค่าชดเชย ด้านเรื่องการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ต้องเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงมากกว่า”

เมื่อรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องถึงสองคน คือ นายพงษ์ศักดิ์ และนายชัชชาติ ที่ต่างใกล้ชิดกับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แสดงท่าทีเช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่หน่วยงานรัฐ และคนระดับอธิบดีกรมจะออกมาว่าตามนั้น โดยนายศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่า ในฐานะเลขาธิการ กปน. บอกว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมตัวเลขความเสียหายโดยจะยังไม่ดำเนินการฟ้องร้องพีทีทีจีซี แต่จะใช้การเจรจาเพื่อชดเชยเยียวยาได้รับผลกระทบแทน ถ้าพีทีทีซีจีไม่จ่ายถึงจะฟ้องแพ่ง ส่วนคดีทางอาญานั้นหากผลสอบระบุว่าเป็นความประมาทเลินเล่อถึงจะฟ้อง

แปลไทยเป็นไทย ก็คือ ฟ้องแพ่งก็จะไม่ฟ้อง ถ้าเจรจาตกลงกันได้ ส่วนคดีอาญานั้น ถ้าสรุปว่าเป็นอุบัติเหตุ ก็ไม่ฟ้องเช่นกัน เว้นเสียแต่เป็นความประมาท เป็นการจำกัดวงให้แคบลงเพื่อให้เครือปตท.หลุดพ้นความผิดไปได้ง่ายๆ เพราะจะมีใครเชื่อถือคณะกรรมการที่รัฐตั้งขึ้นมาตรวจสอบเรื่องนี้ที่เป็นคนกันเองกับเครือปตท.ทั้งนั้น และไม่ใช่เรื่องลำบากยากเย็นอะไรที่จะทำให้ผลสอบมีข้อสรุปว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอุบัติเหตุ พีทีทีจีซี ไม่มีความผิดแม้แต่น้อย เชื่อขนมกินล่วงหน้าได้เลยว่า รูปการณ์ต้องออกมาเป็นเช่นนั้นแน่ๆ

แล้วประชาชนจะหวังพึ่งรัฐให้ดูแลประชาชน รักษาทรัพยากรธรรมชาติของประเทศชาติได้อย่างไร เพราะขนาด ประธาน กปน.ที่มีหน้าที่ในเรื่องนี้โดยตรง ยังไม่รู้หน้าที่ ไม่เคยทำหน้าที่ ทั้งๆ ที่ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน พ.ศ.2547 ระบุไว้ชัดเจนในข้อ 10 (5) ให้กำหนดหลักเกณฑ์ในการประเมินค่าใช้จ่ายในการขจัดคราบน้ำมันและค่าเสียหายที่เกิดจากมลพิษของน้ำมัน และ ข้อ 10 (7) เร่งรัดและติดตามผลการดำเนินคดีเกี่ยวกับมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน หมายถึงว่าเมื่อ กปน.ได้ประเมินค่าใช้จ่าย และความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วก็ต้องไปเร่งรัดดำเนินคดีกับผู้ที่ก่อมลพิษ

เมื่อกลับไปดูการดำเนินคดีกับบริษัทที่ก่อมลพิษของกรมเจ้าท่า ในฐานะเลขาธิการกปน. ก็จะเห็นชัดเจนว่า มีการดำเนินคดีทางกฎหมายน้อยมาก โดยในช่วงปี 2546 เกิดเหตุน้ำมันรั่วไหลลงแม่น้ำและทะเลรวม 9 ครั้ง โดยไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินคดีทางกฎหมายกับผู้ที่ก่อให้เกิดมลภาวะแต่อย่างใด

ปี 2547 เกิดเหตุการรั่วไหลของน้ำมันถึง 10 ครั้ง แต่มีการดำเนินคดีทางกฎหมายเพียง 2 ครั้ง คือ วันที่ 6 ก.พ. 47 น้ำมันเตารั่วไหล 9 ตัน หรือประมาณ 9 พันลิตร ไหลลงสู่คลองผดุงกรุงเกษมและแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณท่าเรือสี่พระยา กทม. จากความประมาทของเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลหัวเฉียว (ยศเส) ทำน้ำมันล้นถังเก็บและรั่วไหลลงสู่คลองและแม่น้ำเจ้าพระยา มีการแจ้งความดำเนินคดีและปรับตามกฎหมาย 7 พันบาท

ปี 2548 เกิดเหตุการรั่วไหลของน้ำมันถึง 10 ครั้ง มีการดำเนินการทางกฎหมายเพียงครั้งเดียว คือเหตุการณ์วันที่ 20 พ.ย.2548 น้ำมันดิบรั่วไหล 20 ตัน ที่บริเวณทุ่นผูกเรือ SBM ของบริษัทไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี มีสาเหตุมาจากขณะทำการสูบถ่ายมีคลื่นลมแรงมากจึงเกิดแรงดึงขึ้นที่ท่ออ่อนซึ่งเชื่อมระหว่างเรือและทุ่นผูกเรือเป็นเหตุให้อุปกรณ์นิรภัยทำงานแยกท่ออ่อนออกจากกัน เพื่อป้องกันไม่ให้ท่อขาดทำให้น้ำมันเตารั่วไหลลงสู่ทะเล ครั้งนั้นมีการแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรแหลมฉบัง มีการชดเชยค่าใช้จ่ายในส่วนการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่ระบุว่าเป็นจำนวนเงินเท่าใด

ปี 2549 เกิดเหตุการรั่วไหลของน้ำมันถึง 15 ครั้ง แต่มีการดำเนินคดีทางกฎหมายเพียง 4 ครั้ง และทุกครั้งก็เป็นเพียงแค่การแจ้งความเป็นหลักฐานต่อสถานีตำรวจในท้องที่ที่เกิดเหตุ แต่ไม่มีการระบุถึงการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมว่าได้ข้อยุติอย่างไร

ปี 2550 เกิดเหตุการรั่วไหลของน้ำมันถึง 12 ครั้ง แต่มีการดำเนินคดีทางกฎหมายเพียง 1 ครั้ง โดยสำนักงานการขนส่งทางน้ำที่ 6 (สมุทรปราการ) ได้ดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์และดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้กระทำผิด

ปี 2551 เกิดเหตุการรั่วไหลของน้ำมัน 7 ครั้ง แต่มีการดำเนินคดีเพียงแค่ 2 ครั้ง ซึ่งเป็นเพียงแค่การแจ้งความไว้เป็นหลักฐานเท่านั้น ปี 2552 เกิดเหตุรั่วไหลของน้ำมัน 7 ครั้ง ไม่มีการดำเนินคดีทางกฎหมาย

ปี 2553 เกิดเหตุรั่วไหลของน้ำมัน 8 ครั้ง ไม่มีการดำเนินคดีทางกฎหมาย ปี 2554 เกิดเหตุรั่วไหลของน้ำมัน 2 ครั้ง ไม่มีการดำเนินคดีทางกฎหมาย ปี 2555 เกิดเหตุรั่วไหลของน้ำมัน 6 ครั้ง ไม่มีการดำเนินคดีทางกฎหมาย

จากสถิติข้างต้น สะท้อนความจริงที่ว่า ความตื่นตัวของหน่วยงานรัฐในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมอยู่ในระดับต่ำถึงต่ำที่สุด ทำให้บริษัทเอกชนที่สร้างมลภาวะทางน้ำและทางทะเลไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ต่อความเสียหายทางทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของประชาชนทั้งประเทศ และคราวนี้ก็คาดว่าจะไม่แตกต่างไปจากที่เคยเป็นมา

การพึ่งไม่ได้ของหน่วยงานรัฐที่บังคับใช้กฎหมายโดยตรง ทำให้ภาคประชาชนต้องออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่งตั้ง “คณะกรรมการอิสระเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริง” ซึ่งเป็นแคมเปญรณรงค์ของกลุ่มติดตามน้ำมันปตท.รั่ว “PTT Oil Spill Watch” ที่กำลังมีการแชร์แพร่กระจายกันในโลกโซเชียลมีเดีย เพราะคณะกรรมการตรวจสอบที่แต่งตั้งเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 56 โดย พีทีทีซีจี ซึ่งเป็นทั้งผู้ก่อเหตุและผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง ไม่สามารถสร้างความกระจ่างในเรื่องนี้ได้ โดยการตั้งคณะกรรมการอิสระที่ดำเนินงานโดยเปิดเผยโปร่งใสตรวจสอบได้ ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเข้ามาสอบสวนข้อเท็จจริง องค์ประกอบของคณะกรรมการ จะต้องมีตัวแทนจากอย่างน้อยจาก 5 ฝ่าย ได้แก่ ภาครัฐ เอกชน ภาควิชาการ ภาคกฎหมาย และภาคประชาชน จึงจะทำให้ข้อกังขาทั้งหลายทั้งปวงที่มีต่อพีทีทีซีจี และหน่วยงานของรัฐเอง กระจ่างแจ้ง

กลุ่มติดตามน้ำมันปตท.รั่ว ให้ข้อมูลว่า เมื่อปี 2552 ปตท. สผ. ออสตราเลเซีย ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ปตท. เป็นต้นเหตุของการเกิดน้ำมันรั่วจากหลุมขุดเจาะที่แหล่งมอนทารา นานกว่า 74วัน เป็นการรั่วไหลของน้ำมันดิบจากแท่นขุดเจาะกลางทะเลครั้งใหญ่ที่สุดของออสเตรเลีย เป็นเหตุให้ศาลของออสเตรเลียสั่งปรับไปกว่า 8,946 ล้านบาท รวมทั้งเซ็นสัญญาให้เงินสนับสนุนการวิจัยเพื่อติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมหลังจากเกิดเหตุแก่คณะนักวิทยาศาตร์อิสระที่มอบหมายโดยรัฐบาลออสเตรเลียอย่างต่อเนื่องอีก 2 - 5 ปี ในครั้งนั้น ปตท. ประเมินว่ามีการรั่วไหลเพียง 4.5 ล้านลิตร แต่รัฐบาลออสเตรเลียได้ตั้งคณะกรรมอิสระขึ้นมาสืบสวนข้อเท็จจริง และประเมินว่าอาจมีน้ำมันรั่วถึง 34 ล้านลิตร คณะกรรมการอิสระชุดนี้มีส่วนทำให้ ปตท. ต้องเสียค่าปรับ และจ่ายค่าทำความสะอาดตามความเป็นจริง

เหตุการณ์น้ำมันรั่วครั้งนั้นได้ส่งผลกระทบต่อนิเวศน์ทางทะเลและชาวประมงลามมายังเขตน่านน้ำประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งทางรัฐบาลอินโดนีเซียเรียกร้องค่าชดเชยเป็นเงิน 75,000 ล้านบาท แต่เนื่องจากไม่มีกลไกอิสระในการสืบสวน ทำให้ ปตท. สผ. ออสเตรเลีย ออกมาปฏิเสธความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นในน่านน้ำอินโดนีเซีย และจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการจ่ายค่าชดเชยใดๆ ซึ่งถือเป็นบทเรียนที่ทำให้เห็นความสำคัญของการมีคณะกรรมการที่เป็นอิสระเพื่อสืบสวนข้อเท็จจริง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีหน่วยงานรัฐ รัฐมนตรี ออกมาอุ้มเครือปตท.หนีความผิด แต่หากถึงที่สุดแล้วหน่วยงานรัฐไม่ฟ้อง ไม่เอาผิดกับเครือปตท.อย่างที่กำลังแสดงท่าทีกันอยู่ในเวลานี้ ก็ใช่ว่าเรื่องนี้จะจบลงได้ง่ายๆ เพราะภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวพิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อมไม่ยอมให้เป็นเช่นนั้นแน่ นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ซึ่งออกมาจี้ให้หน่วยงานรัฐฟ้องแพ่งและอาญาต่อผู้ก่อมลพิษตั้งแต่เกิดเหตุได้เตือนล่วงหน้าไว้แล้ว และก่อนนี้หน่วยงานของรัฐเองก็ออกมาแถลงถึงความผิดตามกฎหมายที่มีอยู่มากมายหลายฉบับ เช่น DSI หรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ แถลงว่า อาจมีการกระทำความผิดที่เข้าข่ายการกระทำโดยประมาท ตาม พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2556 มาตรา 119 ทวิ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2505 มาตรา 16(4) พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 มาตรา 23 ประกอบมาตรา 73 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 360

นายศรีสุวรรณ ระบุว่า กฎหมายที่ระบุความรับผิดชอบทางแพ่งอีกฉบับคือ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 มาตรา 96 และมาตรา 97 ที่กำหนดให้ผู้กระทำหรือละเว้นการกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือผู้ก่อให้เกิดการแพร่กระจายของมลพิษ ทำให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย และสุขภาพอนามัย หรือทำให้ทรัพย์สินเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นบุคคล หรือทรัพยากรธรรมชาติ สาธารณสมบัติของแผ่นดิน มีหน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย และหรือให้แก่รัฐตามมูลค่าของความเสียหายที่เป็นจริงทั้งหมด ซึ่งผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีน้ำมันรั่วทั้งกลุ่มประมงพื้นบ้าน กลุ่มเลี้ยงกุ้ง หอย ปูปลาในกระชัง กลุ่มอาชีพต่อเนื่องจากการทำประมง กลุ่มพ่อค้าแม่ค้า กลุ่มเจ้าของโรงแรม รีสอร์ท บ้านพัก บังกะโล พนักงาน ลูกจ้างที่ขาดรายได้ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว รวมทั้งกลุ่มอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการบริการการท่องเที่ยวด้วย เช่น แม้ค้าขายข้าวเหนียว ส้มตำ ไก่ย่าง ตามชายหาด หรือาชีพนวดแผนโบราณตามชายหาด ฯลฯ สามารถเรียกร้องค่าเสียหาย ค่าชดเชย ได้ทั้งหมด

“ส่วนความเสียหายที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เช่น น้ำทะเล ชายหาด ปะการัง หญ้าทะเล สัตว์ทะเล กุ้ง หอย ปู ปลา ฯลฯ ซึ่งไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของเป็นการเฉพาะ หน่วยงานรัฐที่เป็นผู้มีอำนาจในการกำกับ ดูแล และเป็นเจ้าของพื้นที่ ต้องเป็นผู้มีหน้าที่ในการคิดคำนวณเรียกความเสียหายในทางแพ่ง ผนวกกับต้องร้องเรียนกล่าวโทษความผิดกังกล่าวในทางอาญาด้วย เนื่องจากเป็นกรณีความผิดของแผ่นดิน เช่น คณะกรรมการ กปน. กรมเจ้าท่า กรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมประมง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมส่งเสริมการท่องเที่ยว กรมการปกครอง และองค์กรปกครองท้องถิ่นในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำมันรั่วไหลดังกล่าวด้วย”

ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น ไม่สามารถคิดสรุปรวบยอดของมูลค่าความเสียหายได้ภายในระยะเวลาที่รวดเร็วได้ แต่จะต้องมีการแบ่งรอบของความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็น 3 ส่วน คือ 1) ความเสียหายระยะสั้นในช่วงเผชิญเหตุจนถึงเหตุการณ์คลี่คลายยุติ 2) ความเสียหายระยะปานกลาง ที่ทรัพยากรเริ่มมีผลกระทบในระยะเวลา 6 เดือนถึง 1 ปี และ 3) ระยะยาวคือตั้งแต่ 1 ปีถึง 5 ปี หรืออาจมากถึง 10 ปี ก็เป็นได้ ซึ่งจะต้องมีการทำข้อตกลงกับผู้ก่อเหตุให้ชัดแจ้ง รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการศึกษา วิจัย และการได้มาซึ่งข้อมูลความเสียหายทั้งหมด

“มูลค่าความเสียหายเหล่านี้ ผู้ที่ก่อเหตุต้องรับผิดชอบทั้งหมดทั้งในทางอาญา และทางแพ่ง และเป็นหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐในทางปกครอง ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น ที่มีหน้าที่จะต้องติดตามในทางการบังคับใช้กฎหมาย หรือในทางคดีแทนประชาชน และต้องรายงานให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่อง ไม่มีคำว่าเกี๊ยะเซียะกันเป็นอันขาด ไม่เช่นนั้นต้องเจอดีกับสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนเป็นแน่แท้” นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ที่มีผลงานด้านคดีสิ่งแวดล้อมสำคัญๆ มาแล้ว เช่น คดีมาบตาพุด คดีโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน คดีโรงถ่านหินสมุทรสาคร ฯลฯ บอกกล่าวเอาไว้ล่วงหน้า

งานนี้ ถ้าพีทีทีจีซี ซึ่งร่ำรวยมหาศาล ไม่มีความตรงไปตรงมา ดีแต่สร้างภาพ ปกปิดข้อมูล โกหกหลอกลวง โดยที่มีบรรดาเสนาบดีที่คุมกระทรวง ทบวง กรม ช่วยเหลือกลบเกลื่อนความผิด ภาพพจน์ของเครือปตท.ที่ลงทุนสร้างให้ดูดีนับวันมีแต่จะตกต่ำลงเรื่อยๆ จนประชาชนหมดสิ้นศรัทธา หมดความน่าเชื่อถือ ดังเช่นการแห่คืนรางวัลลูกโลกสีเขียว ที่ปตท.สนับสนุนมานมนามหลายสิบปี และเมื่อถึงวันนั้นเครือปตท.จะไม่ได้รับความร่วมมือหรือแรงสนับสนุนใดๆ จากสังคมอีกเลย

(8 ส.ค. 56)
กำลังโหลดความคิดเห็น