xs
xsm
sm
md
lg

“หัสวุฒิ” แนะรัฐปฏิบัติตามคำวินิจฉัยพิพาทจะน้อย ติงไม่ควรอุทธรณ์คดี สวล. ชูชดใช้เลยจะแมนมาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด (แฟ้มภาพ)
ประธานศาลปกครองสูงสุดยันศาลเป็นกลางไม่ใช่คู่กรณี งงถูกโยงเป็นจำเลยโดนขู่ต้องรับผิดหลังพิพากษา ยันมีอำนาจตัดสินตามกฎหมาย ชี้ไม่เคยเกิดในชาติที่มีอารยะ ชูชาวบ้านชนะคดีเพิ่ม แนะรัฐเอาแนวทางคำวินิจฉัยไปปฏิบัติจะเกิดข้อพิพาทน้อยลง ระบุราชการอุทธรณ์ต่อไม่เป็นผลดี ติงคดีสิ่งแวดล้อมไม่ควรยื้อ บอกถ้าชดใช้ชาวบ้านเลยจะสมาร์ตมาก

วันนี้ (16 ส.ค.) ที่สำนักงานศาลปกครอง นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด กล่าวตอนหนึ่งระหว่างบรรยายพิเศษหัวข้อ “ศาลปกครองของประชาชน” ในกิจกรรมสื่อมวลชนพบศาลปกครอง ว่าระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย มีหลักการปกครองที่สำคัญ ประกอบด้วย 1. การปกครองโดยถือฝ่ายเสียงข้างมากที่รับฟังเสียงข้างน้อย 2. การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน และ 3. การปกครองโดยกฎหมาย หลักนิติรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเอาอำนาจของประชาชนไปไว้ที่ฝ่ายบริหาร แต่การใช้อำนาจของฝ่ายบริหารจะชอบหรือไม่ชอบนั้น จำเป็นต้องมีองค์กรตุลาการคอยตรวจสอบ

นายหัสวุฒิกล่าวว่า แต่ปัจจุบันมีประเด็นปัญหาที่สำคัญ ซึ่งต้องทำความเข้าใจว่าศาลต้องเป็นกลาง ไม่ใช่คู่กรณีของคู่ความที่ฟ้องร้องกัน แต่ในปัจจุบันจะเห็นว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น เมื่อมีการฟ้องคดีกันศาลถูกกดดันข่มขู่ถูกบังคับว่าเมื่อมีคำพิพากษาคำวินิจฉัยออกไปแล้วต้องรับผิดชอบ ทั้งที่เรื่องที่พิพาทดำเนินคดีต่อกัน เป็นเรื่องของคู่ความไม่ใช่เรื่องของศาล เมื่อคู่ความฟ้องกันในคดีปกครองเป็นเรื่องชาวบ้านฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจไม่ชอบ ศาลจึงมีอำนาจตัดสิทธิตามหน้าที่ตามอำนาจบนพื้นฐานของกฎหมาย เมื่อชี้ผลออกมาแล้วเหตุไฉนศาลจึงกลายเป็นจำเลยของฝ่ายที่ไม่พอใจคำพิพากษา ปรากฎการณ์เช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศที่มีอารยะ ดังนั้นการดูคำตัดสินของศาลต้องดูว่าศาลตัดสินออกมามีเหตุผลตามกฎหมายอย่างไร

ประธานศาลปกครองสูงสุดกล่าวด้วยว่า ตลอด 12 ปีเต็มของการก่อตั้งศาลปกครอง เห็นชัดเจนว่าคดีพิพาททางปกครอง ที่เป็นเรื่องฟ้องระหว่างเอกชนกับรัฐ หรือชาวบ้าน กับรัฐ ปัจจุบันชาวบ้านชนะคดีมากขึ้น แม้ไม่มากหากเทียบสถิติคดีที่มีการฟ้องร้องกัน การมีศาลปกครองมาจนถึงปัจจุบันไม่เพียงแต่คุ้มครองเสรีภาพของประชาชน ผลงานของศาลมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้หน่วยงานของรัฐปฏิบัติราชการในทางปกครองได้ หากเอาแนวทางที่ศาลปกครองมีคำสั่งหรือคำพิพากษาไปปฏิบัติโอกาสที่จะเกิดข้อพิพาทกับชาวบ้านก็จะลดน้อยลง

นายหัสวุฒิกล่าวว่า แต่สิ่งหนึ่งที่มองว่าควรแก้ไข คือ เมื่อการฟ้องคดีในศาลปกครองชั้นต้น และตัดสินให้เอกชนหรือชาวบ้านเป็นผู้ชนะ หน่วยงานของรัฐควรยอมรับ พร้อมที่จะชดใช้เยียวยาแก้ไขปัญหา แต่หน่วยงานของรัฐกลับยึดแนวทางต้องยื่นอุทธรณ์สู้คดีให้ถึงที่สุด ซึ่งตนมองว่าไม่เป็นผลดี เพราะการยื่นอุทธรณ์หรื่อยื่นฎีกาเป็นการยืดเวลา อย่างคดีที่เป็นเรื่องโครงการที่สร้างผลกระทบต่อชาวบ้านจำนวนมากไม่ควรมีการอุทธรณ์คดีหากศาลปกครองชั้นต้นตัดสิน เช่น คดีสิ่งแวดล้อม ผู้เสียหายบางรายเสียชีวิตก่อนที่จะได้รับการชดเชย ฉะนั้น ถ้าคดีที่เป็นความเสียหายกับประชาชน เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วรัฐไม่อุทธรณ์อีก แต่มีการเยียวยาเลย หน่วยงานของรัฐจะสมาร์ตมาก ถือเป็นอารยประเทศที่สมบูรณ์ ซึ่งถ้าแก้ไขตรงจุดนี้ได้จะช่วยให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นมิติใหม่มากๆ

“อย่างไรก็ตาม ถึงจุดนี้ยืนยันว่าศาลปกครองเป็นหลักประกันในเรื่องสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชนได้ ศาลปกครองมีประโยชน์ต่อสังคมและประเทศ ดังนั้นจึงอยากเห็นและต้องการให้ศาลปกครองเป็นเสาหลักของประเทศบ้านเมืองนี้ต่อไป” นายหัสวุฒิกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น