ประธานศาลปกครองสูงสุดแถลงพอใจผลการดำเนินงานในรอบปี 2555 ชี้มีคดีเข้าสู่การพิจารณา 8.1 หมื่นคดี แล้วเสร็จ 6.4 หมื่นคดี ประกาศพัฒนาคุณภาพ ลดขั้นตอนการทำงาน เคลียร์คดีค้าง พร้อมก้าวสู่ประชาคมอาเซียน ชี้คนมีอำนาจบางกลุ่มเสียผลประโยชน์ ต้องการยุบศาล ถามกลับถ้ายุบแล้วข้อพิพาทปกครองหมดไปหรือไม่ ยุบรวมเพื่ออะไร อยากให้เป็นเรื่องของประชาชน
วันนี้ (8 มี.ค.) นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด แถลงพอใจผลการดำเนินการงานของศาลปกครองในรอบปี 2555 แม้จะมีจำนวนคดีที่เข้าสู่ศาลปกครองมากที่สุดนับแต่เปิดทำการมา 12 ปี คือมีคดีเข้ารับ 11,635 คดี แต่ก็เป็นปีที่สามารถสะสางคดีคงค้างได้สูงสุดเช่นเดียวกัน โดยมีคดีแล้วเสร็จ 9,208 คดี ซึ่งคดีที่เข้าสู่ศาลปกครองมากที่สุด 3 ลำดับแรก คือคดีที่เกี่ยวกับการควบคุมอาคาร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 2,753 คดี คดีที่เกี่ยวกับการบริหารบุคคลวินัยจำนวน 1,689 คดี และคดีที่เกี่ยวกับการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์จำนวน 1,662 คดี ส่วนแผนกคดีสิ่งแวดล้อมมีคดีเข้าสู่การพิจารณา 2,173 คดี ส่วนมากเป็นคดีในแผนกคดีสิ่งแวดล้อมของศาลปกครองสงขลา จำนวน 1,450 คดี ซึ่งหน่วยงานทางปกครองระดับกระทรวงที่ถูกฟ้องคดีมากที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการคลัง อย่างไรก็ตาม ตลอด 12 ปีที่ศาลปกครองเปิดทำการมามีคดีเข้าสู่การพิจารณาทั้งสิ้น 81,904 คดี พิจารณาแล้วเสร็จ 64,553 คดี
ทั้งนี้ ในปี 2556 ได้ประกาศให้เป็นปีแห่งการพัฒนาคุณภาพการให้บริการประชาชนและการสื่อสารสาธารณะ มีเป้าหมายยกระดับมาตรฐานและลดขั้นตอนการปฏิบัติงานด้านการให้การบริหารประชาชน โดยมีการพัฒนาระบบการตรวจติดตามคดีให้ประชาชนสามารถตรวจสอบความเคลื่อนไหวของคดีได้ง่ายขึ้น กำหนดกรอบเวลาในการพิจารณาคดีเพื่อเร่งรัดให้ตุลาการพิจารณาคดีที่คั่งค้างให้เสร็จเร็วขึ้น โดยเฉพาะคดีคงค้างในปี 2552 จะต้องแล้วเสร็จ มีการสร้างระบบติดตามคดีสำคัญคดีพิเศษ เพื่อให้ผู้บริหารสำนักงานฯสามารถเร่งรัดการทำคดีของตุลาการได้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่ได้เป็นการแทรกแซงการใช้ดุลยพินิจพิจารณาคดีขององค์คณะตุลาการ หรือทำให้คุณภาพของคำวินิจฉัยลดทอนลง รวมถึงในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีจะมีการจัดศาลปกครองพบหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อพูดคุยถึงแนวทางการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐที่แม้ศาลปกครองจะมีคำพิพากษาไปแล้ว แต่ปัญหาดังกล่าวก็ยังเกิดขึ้นซ้ำซาก เพื่อทำความเข้าใจในการปฏิบัติที่ถูกต้องเพื่อไม่ให้เกิดการฟ้องร้องคดีอีก
นอกจากนี้ ศาลปกครองยังได้มีการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ศึกษากฎหมายของประเทศเพื่อนบ้าน และมีแผนที่จะทบทวน ปรับปรุงวิธีพิจารณาคดี เพื่อรองรับกรณีหน่วยงานของรัฐอาจมีข้อพิพาทกับกลุ่มทุนระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียน รวมถึงมีความคิดริเริ่มจะให้มีการตั้งสมาคมศาลปกครองอาเซียน ที่น่าจะเป็นผลดีกับทุกประเทศหากทำสำเร็จ
“ศาลปกครองแม้เพิ่งจะตั้งมาครบ 12 ปี แต่คิดว่าผลงานเป็นที่ยอมรับของประชาชนอย่างมาก โดยจากการผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนที่มาใช้บริการศาลปกครองในปี 55 พบว่า ร้อยละ 92.6 ประชาชนมีความเชื่อมั่น และศรัทธาศาลปกครองมากขึ้นกว่าปี 54 ที่อยู่ที่ร้อยละ 91 แต่ก็ยังมีบุคคลบางคนบางกลุ่มไม่ต้องการให้ศาลปกครองดำรงอยู่ จะด้วยเหตุผลใดเป็นเรื่องที่ไม่ควรพูด บอกได้เพียงกว้างๆ ว่าเป็นความต้องการของคนที่มีอำนาจในทางการเมือง และต้องการใช้อำนาจนั้นอย่างไม่ตรงไปตรงมา และกลุ่มที่เสียอำนาจ ซึ่งความคิดนี้เกิดขึ้นทุกครั้งที่มีการพูดเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ผมคิดว่าการมีศาลปกครอง กับการไม่มี หรือแปลงสภาพไปเป็นเพียงหน่วยงานหนึ่งในศาลยุติธรรม ไม่น่าจะเป็นผลดีต่อความเชื่อมั่นของประชาชนและต่างชาติ โดยเฉพาะในช่วงที่เรากำลังจะก้าวไปเป็นประชาคมอาเซียน เพราะศาลปกครองเป็นหลักประกันความมั่นคงต่างๆ และการมีศาลปกครองก็เป็นกันชนให้กับฝ่ายบริหาร ฝ่ายปกครอง มากกว่าจะไปขัดขวางการบริหารงานภาครัฐอย่างที่เข้าใจกัน”
นายหัสวุฒิกล่าวต่อว่า ขอฝากสื่อถามคนที่จะคิดจะยุบหรือแปลงสภาพศาลปกครองว่ามีเหตุผลอะไรถึงอยากทำเช่นนั้น และถ้ายุบหรือแปลงสภาพแล้วปัญหาข้อพิพาททางปกครองหมดไปหรือไม่ หากไม่หมดไปแล้วไปรวมแต่บอกว่ายังให้อิสระในการพิจารณาเหมือนเดิม จะยุบไปรวมเพื่ออะไร หลายคนคิดว่าศาลปกครองมีอำนาจมาก แต่จริงๆ แล้วถ้าไม่มีการฟ้องคดี ศาลฯ ทำอะไรไม่ได้เลย ซึ่งการจะยุบหรือแปลงสภาพ อยากให้เป็นเรื่องของประชาชน ถ้าประชาชนและสื่อมองว่าไม่มีประโยชน์ควรยุบ ก็เป็นไปตามนั้น มันไม่ได้อยู่ที่ศาลฯ เราไม่ได้มีความอยากอะไรทั้งสิ้น