ศาลปกครองพิพากษา กทม. มีความผิดละเลยดูแลรักษาทางเดินเท้าและทางจักรยานริมคลองแสนแสบจากปากซอยสุขุมวิท 39 ถึงบริเวณสะพานอโศก เป็นเหตุให้หญิงสาวตกคลองจมน้ำเสียชีวิต สั่งให้เร่งดำเนินซ่อมแซมด่วนภายใน 360 วัน และรายงานให้ศาลทราบทุก 6 เดือน อีกด้านหนึ่ง ศาลปกครองระยองพิพากษาไฟเขียวโรงไฟฟ้ากัลฟ์ คลองนครเนื่องเขต ฉะเชิงเทราดำเนินการต่อ แต่สั่งให้ดำเนินการขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานภายใน 30 วัน
วันนี้ (20 ก.พ.) ศาลปกครองกลาง โดย นายอุดมศักดิ์ อังศุพิศิษฐ์ ตุลาการเจ้าของสำนวนและคณะ มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 220/2556 ว่า กรุงเทพมหานครมีความผิด ละเลยต่อหน้าที่ในการบำรุงรักษาทางเดินเท้าและทางจักรยานริมคลองแสนแสบจากปากซอยสุขุมวิท 39 ถึงบริเวณสะพานอโศก ตามที่ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 กำหนดให้ต้องปฏิบัติ จนเป็นเหตุให้ทางเดินเท้าดังกล่าวชำรุดทรุดโทรม แตกหัก จนเป็นเหตุให้ น.ส.นพวรรณ คงวรวรรณ ผู้เป็นอาของนายอุดมศักดิ์ วาณิชวิวัฒน์ ประสบอุบัติเหตุพลัดตกลงไปในคลองแสนแสบ บริเวณทางเดินเท้าหลังโรงแรมอมารี เอเทรียม และจมน้ำเสียชีวิต เมื่อวันที่ 5 ม.ค.2553
นอกจากนี้ ศาลยังสั่งให้ กรุงเทพมหานครเร่งดำเนินการก่อสร้างทางเดินเท้าเลียบคลองแสนแสบ บริเวณหลังโรงแรมอมารี เอเทรียม ให้มีความมั่นคง แข็งแรง และปลอดภัย ตามแผนโครงการก่อสร้างทางเดินเท้าและทางจักรยานริมคลองแสนแสบจากซอยสุขุมวิท 39 ถึงบริเวณสะพานอโศก ที่ได้รับงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2554-2556 ให้เสร็จภายใน 360 วัน ตามที่กำหนดในแผน โดยในระหว่างที่กรุงเทพมหานคร ยังไม่ได้ก่อสร้างทางเดินเท้าและทางรถจักรยานเลียบคลองแสนแสบ หากกรุงเทพมหานครมีความจำเป็นจะต้องเปิดทางเดินเท้าให้ประชาชนสัญจร ให้กรุงเทพมหานครดำเนินการซ่อมแซมทางเดินเท้าดังกล่าวให้มีสภาพมั่นคง แข็งแรงและปลอดภัยในการสัญจร พร้อมทั้งจัดให้มีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและซ่อมแซมทางดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ และรายงานผลการดำเนินงานทั้งสองส่วนต่อศาลทุก 6 เดือน จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ทั้งนี้ นายอมร วาณิชวิวัฒน์ อยู่บ้านเลขที่ 162 ถ.สุขุมวิท 31 แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กทม. ที่ยื่นฟ้อง กรุงเทพมหานคร ต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 5 ม.ค.2554 ว่า กรุงเทพมหานครปล่อยปะละเลยให้ทางเดินเท้าคอนกรีตสาธารณะเลียบริมคลองแสนแสบระหว่างท่าเทียบเรือประสานมิตร จนถึงสะพานคลองแสนแสบ ซอยสุขุมวิท 39 ให้ชำรุดทรุดโทรม แตกหัก จนเป็นเหตุให้ น.ส.นพวรรณ คงวรวรรณ ผู้เป็นอาของนายอุดมศักดิ์ ประสบอุบัติเหตุพลัดตกลงไปในคลองแสนแสบ บริเวณทางเท้าคอนกรีต หลังโรงแรมอมารี เอเทรียม และจมน้ำเสียชีวิต เมื่อวันที่ 5 ม.ค.2553
อีกด้านหนึ่ง ศาลปกครองระยอง แผนกคดีสิ่งแวดล้อม ได้มีคำพิพากษาในคดีที่ นางมหาธยา ศรอากาศ กับพวกรวม 3 คน ได้ยื่นฟ้อง อบต.คลองนครเนื่องเขต อ.เมืองฯ จ.ฉะเชิงเทรา กรมโรงงานอุตสาหกรรม ผวจ.ฉะเชิงเทรา และนายก อบต.คลองนครเนื่องเขต ต่อศาลปกครองระยอง เพื่อขอให้ศาลสั่งเพิกถอนใบรับแจ้งการก่อสร้างอาคารโรงไฟฟ้าของบริษัท กัลฟ์ เจพีเอ็นเอ็นเค จำกัด และให้บริษัทฯ รื้อถอนอาคารดังกล่าว เพราะการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าของบริษัทดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและไม่มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
ทั้งนี้ ศาลปกครองระยอง พิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้บริษัท บริษัท กัลฟ์ เจพีเอ็นเอ็นเค จำกัด ได้ขออนุญาตก่อสร้างอาคารโดยใช้วิธีการแจ้งตามมาตรา 39 ทวิ แห่งพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด การที่นายก อบต.คลองนครเนื่องเขตในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่น ได้ออกใบรับแจ้งให้ก่อสร้างอาคารโรงไฟฟ้า จึงเป็นการออกใบรับแจ้งโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนคำขอให้ศาลสั่งให้รื้อถอนอาคารโรงไฟฟ้านั้น ศาลปกครองระยองพิจารณาเห็นว่าการก่อสร้างอาคารโรงไฟฟ้าดังกล่าวเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามขั้นตอนและวิธีการเกี่ยวกับการขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานตามที่พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 บัญญัติไว้เท่านั้น และเป็นกรณีที่แก้ไขได้โดยให้มีการขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานให้ถูกต้องก่อน ดังนั้น การที่จะสั่งให้นายก อบต.คลองนครเนื่องเขต ดำเนินการกับอาคารโรงไฟฟ้าตาม ม.40- ม.43 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 โดยทันทีทั้งๆ ที่ยังเป็นกรณีที่แก้ไขได้จึงไม่เป็นไปตามหลักในการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี
ศาลปกครองระยองจึงมีคำพิพากษาให้ นายก อบต.คลองนครเนื่องเขต แจ้งให้บริษัท กัลฟ์ เจพีเอ็นเอ็นเค จำกัด ไปดำเนินการขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานภายใน 30 วัน หลังจากนั้น หากบริษัท กัลฟ์ เจพีเอ็นเอ็นเค จำกัด ไม่ได้รับอนุญาตดังกล่าวก็ให้ นายก อบต.คลองนครเนื่องเขตดำเนินการตามกฎหมายควบคุมอาคารฯ ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด