xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

TG ตกรันเวย์ สะท้อนรับมือเหตุฉุกเฉินห่วย ฐานล้อหัก “จำปี-แอร์บัส-ทอท.” ใครพลาด?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-“นับว่าเป็นเหตุการณ์ร้ายแรงที่สุดตั้งแต่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2549” น.ต.ศิธา ทิวารี ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.กล่าวถึงกรณีที่เครื่องบินของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) แบบแอร์บัส A 330-300 เที่ยวบิน TG 679 ทำการบินในเส้นทางกว่างโจว-กรุงเทพฯ (ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ)ได้ประสบอุบัติเหตุภายหลังจากที่เครื่องบินได้ทำการลงจอด (Landing) ที่ทางวิ่งฝั่งตะวันออก เมื่อเวลา 23.28น.วันที่ 8 กันยายน แต่ในระหว่างที่กำลังขับเคลื่อน เครื่องบินได้เกิดไถลออกนอกทางวิ่ง (รันเวย์) ไปทางด้านขวาและได้ครูดไปกับทางวิ่ง จนทำให้เกิดประกายไฟลุกไหม้ โดยฝ่ายดับเพลิงและกู้ภัย ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.)ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการดับเพลิงและกู้ภัยทันที โดยสามารถเข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุภายในเวลาไม่ถึง 1 นาที

ภายหลังเหตุการณ์สงบ การช่วยเหลือและดูแลผู้โดยสารถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงเป็นอันดับแรก เนื่องจากเที่ยวบินดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นคนจีนที่ตอนนี้เป็นตลาดหลักที่เดินทางมาเที่ยวเมืองไทย ที่เหลือเป็นคณะดาราและบุคคลที่มีชื่อเสียง คลิปภาพและเสียงจึงถูกเผยแพร่ นาทีหนีตาย ความวุ่นวายสับสนอลหม่านทั้งเจ้าหน้าที่การบินไทย เจ้าหน้าที่สนามบิน และทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ที่นอกจากจะขาดการทำงานประสานกันอย่างเป็นระบบแล้วยังแสดงให้เห็นว่า การรับมือกับสถานการณ์หรือเหตุฉุกเฉินของเจ้าหน้าที่อยู่ในระดับที่ติดลบ

ประเด็นนี้ การบินไทยเป็นเป้าใหญ่รับไปเต็มๆ แต่ถ้าจะให้ความเป็นธรรมกันแล้ว เหตุการณ์บนเครื่องบินนับตั้งแต่วินาทีแรกที่เครื่องบินเกิดผิดปกติ กัปตันสามารถควบคุมเครื่องไม่ให้เกิดเหตุร้ายแรงมากไปกว่านี้ได้ ต้องเรียกว่า มีทั้งสติและฝีมือ ส่วนลูกเรือได้อพยพผู้โดยสารตามขั้นตอนกฎการบินที่ได้รับการอบรมมาอย่างดีทำให้การช่วยเหลืออพยพผู้โดยสารจำนวน 288 คน และลูกเรือ จำนวน 14 คนออกจากเครื่องได้อย่างปลอดภัย โดยมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 13 คน

แต่พอหลุดจากเครื่องบินมาอยู่ในพื้นที่สนามบิน ซึ่งตั้งแต่จุดนี้จะมีหลายหน่วยงานเข้าปฏิบัติหน้าที่ร่วมกัน นอกจากพนักงานการบินไทยในส่วนภาคพื้นที่ต้องรับช่วงต่อจากพนักงานบนเครื่องแล้ว จะมีพนักงานสนามบินของ ทอท. พนักงานรักษาความปลอดภัย เจ้าหน้าที่ดับเพลิง เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ศุลกากร และตำรวจท้องที่ หมอ พยาบาล ฯลฯ และเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้รู้ว่า สนามบินสุวรรณภูมิมีจุดบกพร่องในเรื่องการรับมือเหตุฉุกเฉินอย่างแรง

เรื่องนี้ทั้งนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคมและ พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต รมช.คมนาคม ดูเหมือนจะรับรู้และเข้าใจดี ล่าสุดได้มีคำสั่งให้ 4 หน่วยงานหลักด้านการขนส่งทางอากาศ คือ กรมการบินพลเรือน (บพ.) บริษัทการบินไทย , ทอท. ,บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย หรือ บวท. และเจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งกรมศุลกากร ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง(ตม.) เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ ทำแผนฝึกซ้อมการอำนวยการและการประสานงานวมถึงการให้ความช่วยเหลือผู้โดยสารเป็นไปในทิศทางเดียวกันใหม่

“ลองคิดดูกันแบบง่ายๆ ถ้าเครื่องบินที่เกิดเหตุไม่ใช่การบินไทย แต่เป็นสายการบินอื่น และยิ่งเป็นสายการบินที่มีเที่ยวบินมาไทยน้อย เอาแค่วันละไฟลท์ สายการบินจะซื้อบริการต่างๆ ผ่าน General Sales Agent (GSA) เพราะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการตั้งสำนักงานสาขาในประเทศไทย งานนี้ใครจะหน่วยกลางที่จะรับผิดชอบ...” มีหวังถูกฟ้องกันระนาว

ขณะที่สาเหตุที่ทำให้เครื่องแอร์บัส A 330 -300 ไถลออกนอกรันเวย์เพราะฐานล้อหลักด้านขวา (Bogie Beam) มีปัญหาขัดข้องนั้น อาจกลายเป็นหนังชีวิต เนื่องจากประเด็นที่ต้องสอบสวนหาสาเหตุหลักๆ คือ ระบบการซ่อมบำรุงมีปัญหา หรือตัวชิ้นส่วนมีปัญหา โดยเครื่องแอร์บัส A 330 -300 (HSTEF) หรือ”ส่องดาว” ลำนี้ มีอายุใช้งาน 18 ปี การบินไทยรับมอบเข้ามาประจำฝูงบินเมื่อเดือนมีนาคม 2538 อีกราว 2ปีจะปลดประจำการ และเพิ่งผ่านการซ่อมใหญ่ระดับ C-Check เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี่เอง

ทั้งนี้ อาการผิดปกติของฐานล้อหลักเกิดขึ้นหลังจากล้อเครื่องบินลงแตะพื้นรันเวย์แล้วและได้วิ่งไปได้ระยะหนึ่ง ล้อหน้าแตะพื้น แล้วจึงเกิดขัดข้องขึ้น ซึ่งน้ำหนักเครื่องบินเกือบ 300 ตัน ความเร็ว 200 กม./ชม. โดย ทอท.รายงานสภาพของพื้นผิวทางวิ่งพบว่า พื้นที่เสียหายอยู่บริเวณช่วงระยะ 1,200-1,600 เมตรจากด้านเหนือ (19L) ของทางวิ่งฝั่งตะวันออก ใกล้ทางขับ (Taxiway B3 - B5) โดยพื้นผิวมีรอยครูดกว้างประมาณ 50 เซนติเมตร ลึกประมาณ 10 เซนติเมตร เป็นระยะทางประมาณ 350 เมตร ซึ่งส่งเจ้าหน้าที่เข้าซ่อมแซมโดยการรื้อส่วนที่เสียหายออก และทำการปูพื้นผิวใหม่ แล้วเสร็จในเวลา 5 ชั่วโมง

กรณีฐานล้อมีอาการผิดปกติ และหักนั้น ประเด็นนี้อาจจะกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างการบินไทยกับทางบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินก็ได้ หากการบินไทยสรุปสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุครั้งนี้ออกมาว่า เป็น Maintainance Failure หรือชิ้นส่วนวัสดุชำรุด เพราะแม้การบินไทยจะดำเนินการซ่อมบำรุงเอง แต่จะต้องทำตามขั้นตอนในคู่มือที่ทางแอร์บัสกำหนด นั่นทำให้ความผิดถูกโยนพ้นจากการบินไทยแน่นอน ในขณะที่บันทึกในกล่องดำคงอธิบายหรือไขความกระจ่างในเรื่องนี้ไม่ได้มากนัก งานนี้ คงต้องไล่เช็คย้อนหลังว่าระบบการซ่อมบำรุงเป็นอย่างไร การเปลี่ยนวัสดุอุปกรณ์มีข้อบกพร่องตรงจุดไหนหรือไม่

สุดท้าย และเป็นประเด็นที่สำคัญที่ไม่ควรมองข้าม คือ พื้นรันเวย์สนามบินสุวรรณภูมิ เป็นตัวแปรที่ทำให้เกิดเหตุด้วยหรือไม่ เพราะอย่าลืมว่า ขณะเครื่องบินลงแตะพื้นผู้โดยสารบอกว่าไม่รู้สึกว่ามีอะไรผิดปกติ จนวิ่งไปได้ระยะหนึ่งแล้วนั่นแหละจึงรู้สึกว่าเครื่องสั่นและไถลออกนอกรันเวย์

ขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่ลืมว่า ช่วงเวลาดังกล่าว สภาพอากาศมีฝนตกหนัก รันเวย์สุวรรณภูมิถูกตั้งข้อสังเกตมาตั้งแต่ต้นว่า มีปัญหาเพียบ อาจเกิดการชำรุดขึ้นเพราะพื้นรันเวย์อุ้มน้ำมากเกินไปแล้วหลุดลอดสายตา ตรวจสอบไม่พบได้ หรือไม่ ...

หลังจากนี้จับตาอย่ากระพริบ...






กำลังโหลดความคิดเห็น