xs
xsm
sm
md
lg

หักคอม็อบสวนยางเมินประกันอิงราคาตลาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- "โต้ง" หักคอม็อบยาง ชงครม.หนุนปัจจัยการผลิต 2,520 บาทต่อไร่ รายละไม่เกิน 25 ไร่ ส่วนเรื่องราคาให้เกษตรกรไปรับกลไกตลาดเอง ขณะที่ผบ.ตร. ปัดข้อต่อรองปล่อยตัวแกนนำ ย้ำม็อบปิดถนนแกนนำต้องรับผิดชอบ เป็นความผิดอาญา ยอมความไม่ได้ ด้าน กวป.พร้อมทนายความผสมโรง แจ้งความกองปราบฯเอาผิด 3 ส.ส.ปชป.-แกนนำม็อบ ข้อหากบฏฯ-ก่อการร้าย หอการค้าสงขลาเตือนปิดด่านชายแดนจะเสียหายหนัก

วานนี้ (9ก.ย.) พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาราคายาง กล่าวถึงกรณีที่ กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จ.ภาคใต้ ออกมาเรียกร้อง 5 ข้อเสนอต่อรัฐบาล และขู่นัดชุมนุมในวันที่ 14 ก.ย.นี้ ว่า ตนดูแล้วเรื่องราคา เขาเสนอเป็น 2 ประการ คือ 1. ราคาที่ 95 บาท และ 2 ราคาที่ 90 บาท แต่จะขอพิเศษขึ้นมา คือขอเงินช่วย 1,260บาท/ไร่ พ่วงมาอีก ก็เป็นสิทธิที่จะเสนอได้ เอาเป็นว่าเรายุติกันก่อนที่ 90 บาทต่อ 1กก. ที่เราจะช่วยได้ ให้ถือตรงนี้เป็นข้อยุติก่อน ส่วนข้อเรียกร้องที่ให้ช่วยเพิ่มขึ้นมาอีก 1,260 บาทต่อไร่ ทางเราจะรับมา และให้ กนย. รับไปพิจารณา

เมื่อถามว่า การชุมนุมใหญ่วันที่ 14 ก.ย. มีการระบุว่า จะปิดเส้นทางลงภาคใต้ ปิดด่าน และท่าเรือ พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า เราคุยกันยังไม่จบ ถ้าจะมาพูดว่าปิดตรงนั้น ตรงนี้ ก็ไม่น่าจะถูกต้อง อย่าลืมว่าพี่น้องประชาชนคนไทย จะได้รับความเดือดร้อน

เมื่อถามว่า หากชุมนุมจริงจะใช้กฎหมายเข้มข้นหรือไม่ พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า อย่าเพิ่งไปพูด เดี๋ยวจะเหมือนยั่วยุกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่รักษากติกา เรามีหน้าที่กันคนละอย่าง ตนได้รับโทรศัพท์จากนายกสมาคมชาวสวนยางแห่งประเทศไทย แจ้งว่า ชาวสวนยางในภาคต่างๆ พอใจแล้วกับตรงนี้ คงมีแต่อีกกลุ่มหนึ่งเท่านั้นที่ยังไม่เข้าใจ เราจะได้อธิบายกันไป

ส่วนข้อเรียกร้องไม่ให้ดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมนั้น เป็นข้อเรียกร้องหนึ่ง เราก็รับพิจารณา ส่วนจะอลุ่มอล่วยได้แค่ไหน ก็เป็นเรื่องหนึ่ง

ทั้งนี้จะเชิญผู้ว่าฯ และเกษตรจังหวัดภาคใต้ มาหารือการแก้ปัญหาในวันที่ 10 ก.ย. ต้องยอมรับว่า การประชาสัมพันธ์ยังไม่เต็มร้อย เพราะสังเกตว่ามีหลายกลุ่มที่ยังสงสัยว่า 90 บาทต่อกก. ช่วยอย่างไร วิธีการช่วยเป็นอย่างไร จะต้องมีการทำความเข้าใจกับพี่น้องชาวสวนยางจึงต้องเชิญผู้ว่าฯมา ในฐานะผู้รับผิดชอบจังหวัดว่า จะทำความเข้าใจ และมีมาตรการประชาสัมพันธ์อย่างไร เพื่อให้เข้าใจตรงกัน

**กนย.หักคอม็อบยางช่วย 2,520บาทต่อไร่

เมื่อเวลา14.00 น. วานนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เป็นประธานประชุม กนย. เพื่อพิจารณามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพาราระยะสั้น และเร่งด่วน โดยมีนายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.เกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมประชุม โดยใช้เวลาหารือประมาณ 2 ชั่วโมง

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า จากการพูดคุยกับตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยาง ที่ จ.นครศรีธรรมราช เกษตรกรพอใจราคายางพารา ที่ 90 บาทต่อกก. โดยไม่จำกัดวิธีการช่วยเหลือ ที่ประชุมกนย. จึงมีการหารือถึงมาตรการช่วยเหลือ และได้มติออกมาว่า จากเดิมที่จะช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนปัจจัยการผลิตให้กับเกษตรกร รายละ 1,260 บาทต่อไร่ เมื่อคำนวณออกมาแล้วจะคิดเป็นการช่วยเหลือที่กิโลกรัมละ 6 บาท และปัจจุบันราคาอยู่ที่ 78 บาท ต่อก.ก. หากจะช่วยเหลือให้ราคายางอยู่ที่ 90 บาท ต่อก.ก.นั้น จึงต้องช่วยเหลือ 12 บาท ต่อก.ก. จึงมีมติที่จะให้การช่วยเหลือปัจจัยการผลิตจาก 1,260 บาท เป็น 2,520 บาทต่อไร่ ไม่เกินรายละ 25 ไร่ ซึ่งเกษตรกรจะได้ราคายางที่ 90 บาทต่อก.ก. โดยใช้งบประมาณช่วยเหลือเป็นวงเงินทั้งสิ้น 21,248.95 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกร จำนวน 21,209.30 ล้านบาท ค่าบริหารจัดการของกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 29.95 ล้านบาท และค่าบริหารจัดการของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์จำนวน 9.90 ล้านบาท

ทั้งนี้ วงเงินช่วยเหลือจะครอบคลุมเฉพาะพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ ประมาณ 8.97 ล้านไร่

" มติราคา 2,520 บาทต่อไร่นั้น หากการรับซื้อยางพาราในตลาด มีการขึ้นลงตามกลไกตลาด ทางเกษตรกร ก็ต้องยอมรับด้วยเพราะเป็นข้อเสนอของเกษตรกรเอง "

ทั้งนี้ อยากฝากให้ตัวแทนเกษตรกรไปช่วยชี้แจงทำความเข้าใจกับเกษตรกรด้วยกัน และในส่วนของภาคธุรกิจ ก็ขอให้ดำเนินการด้วยความเชื่อมั่น ซึ่งอัตราการช่วยเหลือดังกล่าว จะช่วยเหลือในระยะเวลา 7 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. ถึง 31 มี.ค. 57 ซึ่งในการประชุมครม. ในวันที่ 10 ก.ย.นี้ จะมีการเสนอต่อครม. เพื่อรับทราบตามมติของ กนย. ต่อไป

****แกนนำม็อบสายรัฐบาลเด้งรับมติกนย.

นายสิทธิพร จริยพงษ์ ประธานสภาเกษตรกร จ.สุราษฎร์ธานี และ รองประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ นายบุญส่ง นับทอง นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยาง ,นายประทีป กลีบแก้ว ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดนครศรีธรรมราช และ นายชยันต์ สังขไพฑูรย์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดสงขลา ร่วมแถลงพอใจมติ กนย. และเห็นว่ามีความเหมาะสมกับภาวะตลาดในปัจจุบัน และไม่เห็นด้วยกับแนวทางการแทรกแซงราคายาง เพราะจะเป็นการซ้ำเติมการตลาด ควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกการตลาด

**"อดุลย์"ปัดต่อรองปล่อยตัวแกนนำ

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. กล่าวว่าการปิดถนนต่างๆนั้น มีความผิด ซึ่งทางแกนนำต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนที่แกนนำม็อบยางยื่นข้อต่อรอง ไม่ให้ดำเนินคดีกับแกนนำนั้น เป็นความผิดทางอาญา ยอมความไม่ได้ ส่วนของตำรวจจะต้องมีการรวบรวมพยานหลักฐาน โดยขณะนี้แกนนำที่ควบคุมตัวไว้ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ให้ประกันตัวหมดแล้ว

เมื่อถามถึงกลุ่มที่หวังผลประโยชน์ ที่เข้าไปอยู่ในกลุ่มเกษตรกรที่เดือดร้อน ยังมีการเคลื่อนไหวหรือไม่ พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า ขณะนี้พบว่ายังมีการเคลื่อนไหวอยู่ โดยทางตำรวจรู้ตัวว่าเป็นบุคคลใด ซึ่งจะต้องมีการเข้าไปพูดคุย แต่จากการเจรจาพูดคุยกับแกนนำ มีสัญญาณที่ดีขึ้นมาก

**กวป.รุกดำเนินคดี 3 ส.ส.ปชป.-แกนนำ

เวลา 13.30 น. วานนี้ นางรัชนี อักษรประดิษฐ์ กรรมการกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) และทนายความ เดินทางเข้าพบ พ.ต.อ.ประสพโชค พร้อมมูล รอง ผบก.ป. เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับ นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ นายวิทยา แก้วภราดัย นายอภิชาติ การิกาญจน์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ นายพีรพงศ์ วิชัยดิษฐ์ นายภิญโญ หมื่นจร นายบัญชา ณ พัทลุง นายกิตติวดี ขุนทอง นายสมโภชน์ กำเนิดรักษา นายสำราญ คงสวัสดิ์ นายสากล อินทระ นายสมสุข กำเนิดรักษา นายสมเกียรติ ทองเสน นายชญานิน คงลัง นายก้องเกียรติ ชูทอง นายสมภาษณ์ ขวัญทอง นายสัมมิตร จุ้ยปลอด นายประภาส ภักดีรัตน์ นางวนิดา แก้วมณี นายเทอดศักดิ์ เสริมศรี และนายไพรัช เจ้ยชุม รวม 20 คน ในความผิดร้ายแรงตามประมวลกฎหมายอาญาหลายมาตรา อาทิ ข้อหากบฎ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล หรือทำให้เกิดการปั่นป่วนไม่สงบ และข้อหาก่อการร้าย

ด้าน พ.ต.อ.ประสพโชค กล่าวว่า เบื้องต้นได้รับเรื่องไว้ โดยมอบหมายให้พนักงานสอบสวน กก.5 บก.ป.ได้สอบปากคำผู้ร้องและรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ก่อนพิจารณาว่ามีองค์ประกอบตามข้อกล่าวหาหรือไม่ โดยเฉพาะในข้อหาร้ายแรงอย่างข้อหาก่อการร้าย ซึ่งมีข้อยกเว้นในกรณีการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือซึ่งเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ

**ปิดด่านชายแดนจะเสียหายหนัก

นายสมพร สิริโปราณานนท์ ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา กล่าวว่า หากมีการปิดตลาดกลางยางพารา และการปิดด่านพรมแดนระหว่างประเทศด้วยนั้น น่าจะไม่สามารถกระทำได้ และคงไม่มีการเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ซึ่งขณะที่ ทุกภาคส่วน และหน่วยงานราชการ ได้มีการหารือเพื่อเตรียมความพร้อม อีกทั้งส่วนตัวเชื่อว่า กลุ่มเกษตรกรรู้ดีว่า ถ้าหากมีการปิดด่านการค้าชายแดนจริง ยางพาราจะไม่สามารถส่งออกได้ ซึ่งคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือ เกษตรกรเอง

อย่างไรก็ตาม ด่านสะเดา และด่านปาดังเบซาร์ ที่อยู่ในพื้นที่ จ.สงขลา นั้น มีมูลค่าการส่งออกปีละ 500,000 ล้านบาท และอยู่อันดับ 3 ของประเทศที่มีการทำการค้า
กำลังโหลดความคิดเห็น