xs
xsm
sm
md
lg

“กิตติรัตน์” อัดฉีดค่าปุ๋ยชาวสวนยางสองพันห้าต่อไร่-สูงสุด 6.3 หมื่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง
รองนายกฯ-รมว.คลัง เผยที่ประชุม กนย.มีมติช่วยเหลือปัจจัยการผลิตจาก 1,260 เป็น 2,520 บาทต่อไร่ สูงสุดไม่เกิน 25 ไร่ หรือหกหมื่นสาม อ้างชาวสวนยางนครศรีธรรมราชพอใจกิโลกรัมละ 90 บาท ทำเป็นเตือนถ้าราคาขึ้นลงเกษตรกรก็รับกลไกตลาดเอาเอง เตรียมชงที่ประชุม ครม.พรุ่งนี้ ด้านตัวแทนเกษตรกรพอใจ


วันนี้ (9 ก.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 14.00 น.นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เป็นประธานประชุม กนย.เพื่อพิจารณามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพาราระยะสั้นและเร่งด่วน โดยมี นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมประชุม โดยใช้เวลาหารือประมาณ 2 ชั่วโมง

จากนั้นเวลา 16.00 น.นายกิตติรัตน์ กล่าวต่อที่ประชุมว่า จากการพูดคุยกับตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางพาราที่ จ.นครศรีธรรมราช เกษตรกรพอใจราคายางพาราที่ 90 บาทต่อกิโลกรัม โดยไม่จำกัดวิธีการช่วยเหลือ ที่ประชุม กนย.จึงมีการหารือถึงมาตรการช่วยเหลือ และได้มีมติออกมาว่า จากเดิมที่จะช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนปัจจัยการผลิตให้กับเกษตรกรรายละ 1,260 บาทต่อไร่ เมื่อคำนวณออกมาแล้วจะคิดเป็นการช่วยเหลือที่กิโลกรัมละ 6 บาท และปัจจุบันราคาอยู่ที่ 78 บาทต่อกิโลกรัม

ทั้งนี้ หากจะช่วยเหลือให้ราคายางอยู่ที่ 90 บาทต่อกิโลกรัมนั้น จึงต้องช่วยเหลือ 12 บาทต่อกิโลกรัม จึงมีมติที่จะให้การช่วยเหลือปัจจัยการผลิตจาก 1,260 บาท เป็น 2,520 บาทต่อไร่ ไม่เกินรายละ 25 ไร่ (สูงสุดรายละ 63,000 บาท) ซึ่งเกษตรกรจะได้ราคายางที่ 90 บาทต่อกิโลกรัม โดยใช้งบประมาณช่วยเหลือเป็นวงเงินทั้งสิ้น 21,248.95 ล้านบาท ที่แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกรจำนวน 21,209.30 ล้านบาท ค่าบริหารจัดการของกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 29.95 ล้านบาท และค่าบริหารจัดการของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จำนวน 9.90 ล้านบาท ทั้งนี้วงเงินช่วยเหลือจะครอบคลุมเฉพาะพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิประมาณ 8.97 ล้านไร่

“อย่างไรก็ตาม มติราคา 2,520 บาทต่อไร่นั้น หากการรับซื้อยางพาราในตลาดมีการขึ้นลงตามกลไกตลาด ทางเกษตรกรก็ต้องยอมรับด้วย เพราะเป็นข้อเสนอของเกษตรกรเอง อยากฝากให้ตัวแทนเกษตรกรไปช่วยชี้แจงทำความเข้าใจกับเกษตรกรด้วยกัน และในส่วนของภาคธุรกิจก็ขอให้ดำเนินการด้วยความเชื่อมั่น ทั้งนี้ อัตราการช่วยเหลือดังกล่าวจะช่วยเหลือในระยะเวลา 7 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.ถึง 31 มี.ค.2557 ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 10 ก.ย.จะมีการเสนอต่อ ครม.เพื่อรับทราบตามมติของ กนย.ต่อไป” นายกิตติรัตน์ กล่าว

นายกิตติรัตน์ กล่าวด้วยว่า ในวันที่ 10 ก.ย.จะเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีการปลูกยางพารา มาประชุมรับทราบถึงการดำเนินการในการจดทะเบียนเกษตรกร

ด้าน กลุ่มเกษตรกรสวนยาง นำโดยสิทธิพร จริยพงษ์ ประธานสภาเกษตรกร จ.สุราษฎร์ธานี และรองประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ พร้อมด้วยนายบุญส่ง นับทอง นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยาง ,นายประทีป กลีบแก้ว ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดนครศรีธรรมราช และนายชยันต์ สังขไพฑูรย์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดสงขลา ร่วมแถลงพอใจผลการประชุม กนย. ว่าเป็นราคาที่เกษตรกรพอใจและเห็นว่ามีความเหมาะสมกับภาวะตลาดในปัจจุบัน ทั้งนี้ตนไม่เห็นด้วยกับแนวทางการแทรกแซงการราคายางเพราะจะเป็นการซ้ำเติมการตลาด ควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกการตลาด เบื้องต้นได้ชี้แจงให้กับตัวแทนเกษตรกรหลายกลุ่มแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่พอใจกับแนวทางของรัฐบาล

พร้อมกันนี้ทางสภาเกษตรกรแห่งชาติ จะเร่งทำความเข้าใจกับกลุ่มที่ยังไม่พอใจ เช่นกลุ่มของอำนวย ยุติธรรม จ. นครศรีธรรมราช รวมถึงกลุ่มของนายกาจบัณฑิต รามมาก เครือข่ายเกษตรกรเพื่อเกษตรกรรมยางพารา จ.สงขลา ที่ประกาศชุมนุมปิดด่านชายแดนสะเดาและกลุ่มอื่นด้วย โดยคาดว่ากลุ่มดังกล่าวจะพอใจแนวทางการช่วยเหลือ เนื่องจากเป็นการช่วยเหลือด้านราคาและจ่ายตรงให้กับเกษตรกรผ่านบัญชีที่ลงทะเบียนไว้กับสำนักงานเกษตรจังหวัด อย่างไรก็ตาม นายสิทธิพรยังกล่าวว่า ข้อกังวลว่าการช่วยเหลือจะไม่ตกถึงคนกรีดยาง เจ้าของไร่กับลูกจ้างจะต้องทำข้อตกลงกันเอง โดยย้ำว่าแนวทางดังกล่าวมีความเหมาะสมแล้ว







กำลังโหลดความคิดเห็น