xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ถอดถอน"นิคม"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นิคม ไวยรัชพานิช
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-การประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณรณา ร่าง แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 เรื่องที่มาของส.ว. เมื่อวันที่ 4 ก.ย. ที่ผ่านมา ก็มีเรื่องปั่นป่วนวุ่นวาย ไม่แพ้การประชุมก่อนหน้านั้น

เริ่มการประชุมก็เดือดแล้ว เมื่อฝ่ายค้านจะขอหารือเรื่องปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะชาวสวนยางที่กำลังปิดถนนประท้วงอยู่ในหลายจังหวัดภาคใต้ แต่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ไม่ยินยอม เพราะถือว่าเป็นประประชุมเพื่อพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อเกิดการประท้วง ประธาน ก็สั่งให้ตำรวจสภา มาพาผู้ประท้วงออกนอกห้องประชุม

มีการฉุดกระชากลากถู กันเป็นที่น่าอนาถใจ

จากนั้นก็มีการโต้เถียงกันอยู่นาน ต้องพักการประชุมหลายรอบ กว่าจะเข้าสู่การอภิปรายใน มาตรา 5 ได้ ซึ่งในมาตรา5 นี้ มีผู้สงวนความเห็นและขอแปรญัตติ 53 คน แต่เพิ่งอภิปรายไปได้เพียง 7 คน ก็มี ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเสนอญัตติปิดอภิปราย เพื่อลงมติ นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุมขณะนั้น ก็ถือโอกาสรวบรัด ไม่เปิดโอกาสให้เสนอญัตติเปิดอภิปรายต่อ หรือการใช้สิทธิประท้วง รีบให้สมาชิกลงมติปิดอภิปราย และลงมติในมาตรา 5 ทันที และก็ผ่านความเห็นชอบไปเรียบร้อย

จากกรณีดังกล่าว ฝ่ายค้านจึงยื่นเรื่องถอดถอน นายนิคม ออกจากตำแหน่ง ประธานวุฒิสภา วุฒิสภา และรองประธานรัฐสภา เนื่องจากปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นกลาง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 89 เพราะมีมูลเหตุจูงใจจากการมีผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากนายนิคม เป็นสมาชิกวุฒิสภา หากแก้รัฐธรรมนูญเสร็จ ก็สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ทันที ซึ่งรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ห้ามไว้ ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 ว่าด้วยเรื่องขัดกันแห่งผลประโยชน์ จึงทำให้มีการเร่งรีบ ผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนมีการจำกัดสิทธิสมาชิกรัฐสภา ที่สงวนคำแปรญัตติไม่ให้อภิปราย

สำหรับขั้นตอนการยื่นถอดถอนนั้น ฝ่ายค้านต้องยื่นเรื่องต่อประธานวุฒิสภา คือยื่นต่อนายนิคม ขั้นตอนต่อจากนั้นคือ ประธานวุฒิสภาส่งเรื่องไปยัง ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการสอบสวน และหากป.ป.ช.มีความเห็นว่า สมควรถอดถอน ก็จะส่งเรื่องกลับมาที่ ส.ว.ให้ลงมติ หากมีการทำผิดอาญา ก็จะต้องส่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป

กระบวนการยื่นถอดถอนแม้จะมีขั้นตอนและต้องใช้เวลามากพอสมควร ซึ่งนายนิคม กำลังจะหมดวาระในเดือนมี.ค. 57นี้แล้ว ซึ่งกระบวนการพิจารณาถอดถอนอาจไม่แล้วเสร็จ แต่จะมีผลในเรื่องการดำรงตำแหน่งทางการเมืองในอนาคต

เพราะหาก ส.ว.มีมติถอดถอน นายนิคม ก็จะถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ไม่มีโอกาสกลับมาเป็นสมาชิกวุฒิสภา ตามที่ตั้งหวังเอาไว้


กำลังโหลดความคิดเห็น