โฆษก พท.โดดป้อง “นิคม” ทำหน้าที่ประธานเป็นกลาง โวย ปชป.ขี้แพ้ชวนตี ไล่ ส.ส.ลาออกไปร่วมม็อบ อ้างเครือญาติแกนนำฝ่ายค้านเอี่ยวการชุมุม เล็งรวบรวมหลักฐานเอาผิด
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่วิปฝ่ายค้านเตรียมยื่นถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานรัฐสภา ออกจากตำแหน่งและยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 68 ให้ระงับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้ว่า การที่ฝ่ายค้านกล่าวหานายนิคมปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นกลาง ขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้นไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เพราะนายนิคมปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลางมาตลอด เห็นได้จากการอนุญาตให้ผู้เสนอคำแปรญัตติที่ขัดต่อหลักการทั้ง 57 คนได้อภิปรายนั้น ถือเป็นการอะลุ้มอล่วยแก่สมาชิกรัฐสภาอย่างมาก ตนจึงเห็นว่าสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ต่างหากที่ทำหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญและข้อบังคับรัฐสภามากที่สุดจากพฤติกรรมต่างๆ ที่ผ่านมา
ส่วนกรณีที่ฝ่ายค้านกล่าวหาว่านายนิคมมีผลประโยชน์ทับซ้อนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ได้ลงสมัครเลือกตั้ง ส.ว.ในสมัยหน้านั้น ตนเห็นว่านายนิคมทำหน้าที่ตามปกติเพราะการแก้ไขที่มา ส.ว.ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้ใครคนหนึ่ง และเป็นไปตามมติที่ประชุม ซึ่งไม่ใช่การที่นายนิคมไปแก้ไขเพื่อขึ้นเงินเดือนให้ตนเอง หากทำแบบนั้นจะถือเป็นการเอื้อประโยชน์มากกว่า ตนจึงมองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเกมการเมือง
นายพร้อมพงศ์กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่มาของ ส.ว.ที่ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้ง 200 คนนั้น พรรคประชาธิปัตย์ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีสิทธิ์เลือกส.ว.ด้วยตนเอง ซึ่งการที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน อยากให้คง ส.ว.สรรหาไว้อยู่นั้น ตนเห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้ทำการดูถูกประชาชนและทำตัวไม่ต่างกับทายาทเผด็จการ
ส่วนการที่ประธานรัฐสภาสั่งปิดประชุมเมื่อวานนี้ ถือว่าเป็นการทำหน้าที่ตามปกติ และถือเป็นความผิดพลาดของพรรคประชาธิปัตย์เองที่ไม่เสนอญัตติให้อภิปรายต่อหลังจากที่ ส.ส.ฝั่งรัฐบาลเสนอญัตติให้ปิดประชุมแล้ว โดยฝ่ายค้านมัวแต่ประท้วงไม่สนใจว่าประธานได้สั่งให้ลงมติในมาตรา 5 แล้ว เมื่อพรรคประชาธิปัตย์แพ้เสียงโหวตก็ไม่ยอมรับเสียงส่วนใหญ่การกระทำการแบบนี้จึงเหมือนขี้แพ้ชวนตี
นายพร้อมพงศ์ยังกล่าวถึงกรณีม็อบชาวสวนยางที่ปักหลักชุมนุมประท้วงอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ว่า ขณะนี้ในบางพื้นที่ เช่น จังหวัดสตูล ได้มีการพูดคุยและพบว่าชาวบ้านมีความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินการของรัฐบาลที่จะผลักดันให้ราคายางพาราสูงขึ้น แต่ทั้งนี้ก็พบว่ามีบางส่วนที่ยังปักหลักชุมนุมกันอยู่ ซึ่งตนยืนยันว่าม็อบประกอบด้วยประชาชน 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่ 30% และคนนอกพื้นที่ถึง 70% ซึ่งตนขอยืนยันว่าทางรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้นและจะเร่งดำเนินการแก้ไข โดยขอให้พรรคฝ่ายค้านอย่าซ้ำเติมรัฐบาลด้วยการทำการเมืองแบบเดิน 2 ขา ทั้งในและนอกสภา ซึ่งแทนที่พรรคประชาธิปัตย์จะนำปัญหาชาวสวนยางมาคุยกับรัฐบาล กลับประกาศว่าจะเข้าร่วมม็อบด้วย
“ผมเห็นว่าเรื่องนี้มีเบื้องหน้าและเบื้องหลังอย่างแน่นอน ซึ่งผมเห็นว่า ส.ส.ที่ไปชุมนุมกับม็อบควรลาออกให้เป็นเรื่องเป็นราว และการที่ฝ่ายค้านบอกว่าเป็นฝ่ายค้านแล้วทำอะไรไม่ได้นั้นไม่จริง และสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์พยายามโจมตีว่ารัฐบาลมีสองมาตรฐานในการช่วยเหลือเกษตรกรนั้นก็ไม่เป็นความจริงอีก เพราะสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์พูดนั้นก็แค่ดีแต่พูด เพราะฉะนั้นอย่าเอาเรื่องนี้มาเป็นเกมการเมือง และจะรวบรวมหลักฐานว่ามีเครือญาติ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ได้ไปเกี่ยวข้องกับม็อบสวนยางอย่างไรเพื่อจะเอาผิดต่อไป และขอเตือนผู้ชุมนุมอย่าตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง”