“จุรินทร์” ซัด ปธ.วุฒิฯ รวบรัดปิดอภิปรายที่มา ส.ว. ปิดปากห้ามจ้อ ขัด รธน.-ข้อบังคับรัฐสภาชัด วินิจฉัยต่างจาก ปธ.สภา-สองมาตรฐาน ลิดรอนสิทธิสมาชิก จึงยื่นถอดจาก ปธ.ขัด ม.68-122 มีเหตุจูงใจประโยชน์ทับซ้อน เร่งแก้เพื่อลงสมัครรอบหน้า แจงต้องยื่นเจ้าตัวและต้องชงต่อ ป.ป.ช. ยันไม่สูญเปล่า ผิดจริงถูกแบน 5 ปี พร้อมยื่นศาล รธน. ชี้แก้ที่มา ส.ว.เข้าข่ายผิด รธน. เสียดุลยภาพเปิดช่องการเมืองครอบงำ
วันนี้ (5 ก.ย.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงการทำหน้าที่ของนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภา ในระหว่างทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว. และบทบาทของ ส.ส.รัฐบาล ที่มีการเสนอขอปิดการอภิปรายทั้งๆ ที่สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะผู้สงวนความเห็นและแปรญัตติมีจำนวน 53 คนที่แจ้งต่อประธานในที่ประชุมยังไม่สามารถอภิปรายได้ครบถ้วน แต่อภิปรายได้เพียง 7 คนก็มีการเสนอปิดอภิปรายโดย ส.ส.รัฐบาล โดยประธานในที่ประชุมรวบรัด ไม่เปิดโอกาสให้เสนอญัตติเปิดอภิปราย รวมถึงการใช้สิทธิในการประท้วงด้วย
ดังนั้น การทำหน้าที่ของนายนิคมดังกล่าว วิปฝ่ายค้านเห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับประชุมร่วมรัฐสภา อีกทั้งนายนิคมยังวินิจฉัยแตกต่างไปจากที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา เคยวินิจฉัยไว้ในเรื่องเดียวกัน ทำให้มีการวินิจฉัยสองมาตรฐานในการทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม วิปฝ่ายค้านจึงมีมติยื่นถอดถอนนายนิคมออกจากตำแหน่ง ประธานวุฒิสภา และรองประธานรัฐสภา เพราะปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นกลางตามรัฐธรรมนูญมาตรา 89 เพราะมีมูลเหตุจูงใจจากการมีผลประโยชน์ทับซ้อนเนื่องจากเป็นสมาชิกวุฒิสภาหากแก้รัฐธรรมนูญเสร็จก็สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ทันที ซึ่งรัฐธรรมนูญปัจจุบันห้ามไว้ ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 122 ว่าด้วยเรื่องขัดกันแห่งผลประโยชน์ จึงทำให้มีการเร่งรีบผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนมีการจำกัดสิทธิสมาชิกรัฐสภาที่สงวนคำแปรญัตติไม่ให้อภิปราย
นายจุรินทร์เท้าความว่า นายสมศักดิ์ได้เคยวินิจฉัยระหว่างที่มีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 4 ที่มีผู้เสนอให้ปิดอภิปราย แต่นายสมศักดิ์ใช้ดุลพินิจว่า “จากที่ท่าน ส.ว.เสนอญัตติลงมติมาตรา 4 วินิจฉัยว่าเป็นเรื่องที่ดำเนินการไม่ได้เพราะเป็นญัตติที่ไปลิดรอนสิทธิของสมาชิกตามข้อบังคับ 99 จึงไม่อนุญาตให้มีการลงมติในญัตติดังกล่าว แต่นายนิคมกลับวินิจฉัยตรงกันข้ามให้มีการลงมติปิดอภิปรายและลงมติในมาตรา 5 ทันที จึงต้องถอดถอนนายนิคมออกจากตำแหน่ง โดยยื่นในวันพรุ่งนี้เช้า (6 ก.ย. 56) เพราะต้องใช้เวลารวบรวมรายชื่อและยกร่างคำยื่นถอดถอน เนื่องจากเป็นเรื่องเร่งด่วน
ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญก็จะต้องยื่นจต่อนายนิคม ซึ่งเป็นประธานวุฒิสภา ส่วนนายนิคมจะมารับด้วยตัวเองหรือมอบหมายใครมารับก็แล้วแต่นายนิคมจะตัดสินใจ ซึ่งผู้ที่เป็นประธานวุฒิสภาต้องดำเนินการตามขั้นตอน คือ ส่งเรื่องไปยัง ป.ป.ช.เพื่อดำเนินการสอบสวนต่อไป แม้ว่าตัวเองจะเป็นผู้ถูกยื่นถอดถอนก็ตาม และหาก ป.ป.ช.มีความเห็นว่าสมควรถอดถอนก็จะส่งเรื่องกลับมาที่ ส.ว.ให้ลงมติ หากมีการทำผิดอาญาก็จะต้องส่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป โดยเห็นว่าการยื่นถอดถอนจะไม่สูญเปล่า แม้ว่านายนิคมกำลังจะหมดวาระในเดือนมีนาคม 2557 ซึ่งกระบวนการพิจารณาถอดถอนอาจไม่แล้วเสร็จ แต่จะมีผลในเรื่องการดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพราะหาก ส.ว.มีมติถอดถอน นายนิคมก็จะถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี
นายจุรินทร์กล่าวด้วยว่า วิปฝ่ายค้านยังมีมติให้สมาชิกยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ในกรณีที่มีความเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องที่มา ส.ว.และคุณสมบัติของ ส.ว.ที่แก้ไขเข้าข่ายทำผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 คือ เพื่อให้ได้มาซึ่งการปกครองประเทศโดยวิธีที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะการแก้ไขที่มา ส.ว.จากสรรหาและเลือกตั้งมาเป็นการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียวอีกทั้งแก้ไขคุณสมบัติของผู้เป็นสมาชิกวุฒิสภา จนกลายเป็นสภาผัวเมีย และสภาผลัดกันเกาหลัง เป็นการขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ สูญเสียดุลยภาพตามวิถีทางปกครองตามระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาเปิดโอกาสให้ฝ่ายการเมืองเข้าครอบงำฝ่ายนิติบัญญัติในอนาคต
ทั้งนี้ ตนเห็นว่าเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญระบุชัดเจนว่า ต้องการให้การกำหนดกลไกสถาบันทางการเมืองทั้งนิติบัญญัติ บริหารมีดุลยภาพ และให้ศาล องค์กรอื่นได้ปฏิบัติหน้าที่โดยเที่ยงธรรม แต่ถ้าแก้รัฐธรรมนูญดังกล่าวจะทำให้ดุลยภาพเสียไป กระทบต่อสถาบันศาล และองค์กรอิสระด้วย เพราะวุฒิสภามีอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้ง ถอดถอนตุลาการ และองค์กรอิสระได้ พร้อมกับขอให้คุ้มครองชั่วคราวเพื่อไม่ให้มีการพิจารณาต่อไป
ส่วนการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.ต่อในวันศุกร์นั้น ยิ่งเป็นการตอกย้ำความเร่งรีบ โดยมีการนำวันประชุมสภาผู้แทนราษฎรมาใช้แก้รัฐธรรมนูญที่ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เป็นการเบียดบังเวลารัฐสภาของประชาชนมาสนองตอบคนไม่กี่คน ฝ่ายค้านจึงไม่เห็นด้วยเพราะแทนที่จะได้พูดเรื่องความเดือดร้อนของประชาชนกลับมาแก้รัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของคนไม่กี่คน ส่อเจตนาชัดเจนต่างกรรมต่างวาระ และทำอย่างเป็นกระบวนการเพราะประธานรัฐสภาก็รับลูกอย่างเกินความจำเป็น แต่ที่ต้องรีบเพื่อให้ ส.ว.ชุดนี้ลงเลือกตั้งได้ทันหลังหมดวาระในช่วงเดือนมีนาคม 2557