“นิคม” ยันทำหน้าที่ประธานการประชุมร่วมรัฐสภาตามข้อบังคับ พร้อมพิจารณาคำร้องถอดถอนตัวเองตามกฎหมาย ไม่ล้วงลูกคณะทำงาน คาดส่ง ป.ป.ช.พิจารณาสอยได้ภายใน 30 วัน รับประเมินไม่ได้จบแก้ไข รธน.วันไหน
นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงการทำหน้าที่รองประธานรัฐสภาในการควบคุมการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่มาของ ส.ว.ในช่วงที่ผ่านมาว่า ยืนยันว่าการทำหน้าที่ของตัวเองได้ยึดข้อบังคับอย่างเคร่งครัด เช่นในการประชุมเมื่อวันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมาก็ไม่ได้ดำเนินการที่ขัดข้อบังคับการประชุมรัฐสภาแต่อย่างใด เพราะในเมื่อประธานในที่ประชุมได้สอบถามสมาชิกรัฐสภาว่าจะเสนอเปิดอภิปรายในมาตรา 5 ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ส.ว.ต่อหรือไม่ ภายหลังนายพายัพ ปั้นเกตุ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย เสนอปิดอภิปราย แต่ปรากฏว่าไม่มีใครเสนอเปิดอภิปราย ทำให้ประธานที่ประชุมต้องสั่งให้ลงมติ ซึ่งก็ถือเป็นการทำตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา
นายนิคมกล่าวว่า ส่วนการที่ฝ่ายค้านยื่นถอดถอนออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นสิทธิที่จะดำเนินการได้ภายใต้รัฐธรรมนูญ มาตรา 270 โดยเมื่อได้รับคำร้องแล้ววุฒิสภาจะทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อภายใน 30 วันและส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการไต่สวนต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่เพราะคำร้องของฝ่ายค้านเป็นการถอดถอนประธานวุฒิสภา แต่ประธานวุฒิสภา ต้องมาวินิจฉัยว่าจะส่งให้ ป.ป.ช.เอง นายนิคมกล่าวว่า ในเรื่องนี้รัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นอำนาจของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภา เป็นผู้ดำเนินการ แต่ในทางปฏิบัติจะมีคณะทำงานด้านกฎหมายพิจารณาอยู่แล้วว่าคำร้องดังกล่าวเข้าข่ายจะส่งให้ ป.ป.ช.ได้หรือไม่ โดยการจะส่งให้ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนได้นั้นจะต้องเข้าข่ายผิดตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ 6 ประการ ได้แก่ 1. ทุจริตต่อหน้าที่ 2. ร่ำรวยผิดปกติ 3. กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในราชการ 4. การทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม 5. ใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย และ 6. ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
“ผมได้บอกกับคณะทำงานแล้วว่าให้ทำงานตรงไปตรงมาไม่ต้องเกรงใจผม และยินดีที่ให้ทุกฝ่ายเพื่อให้เกิดความสบายใจและพร้อมจะชี้แจงแก้ข้อกล่าวทั้งหมด ขอให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ”
นายนิคมกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่มาของ ส.ว.จะแล้วเสร็จทั้ง 13 มาตราเมื่อไหร แค่ผ่านให้ได้วันละหนึ่งมาตราก็ถือว่าดีแล้ว และไม่รู้สึกใจที่ต้องทำหน้าที่ควบคุมการประชุมรัฐสภาแม้ว่าจะถูกฝ่ายค้านยื่นถอดถอนเพราะเชื่อว่าถ้าทุกฝ่ายยึดข้อบังคับการประชุมรัฐสภาก็จะทำให้ทุกอย่างเดินหน้าไปได้