ประชุมแก้ รธน.ที่มา ส.ว. 2 วันได้ 2 มาตรา จาก 13 มาตรา ประธานวิปรัฐบาล รับยังไม่รู้จะจบเมื่อไหร่ แต่ถ้ายังพิจารณาไม่เสร็จสามารถขยายเวลาไปประชุมสัปดาห์หน้าได้ ด้าน ป.ป.ช.ขอดูประเด็น ปชป.ยื่นถอดถอน ส.ส.และ ส.ว.ที่โหวตผ่านร่างแก้ไข รธน.เข้าข่ายความผิดที่จะรับไว้พิจารณาหรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... เกี่ยวกับที่มาของ ส.ว.วาระ 2 ในวันนี้ (22 ส.ค.) เป็นวันที่ 3 ในเวลา 09.30 น. หลังจากนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ได้สั่งพักการประชุม เมื่อเวลา 22.10 น.วานนี้ ระหว่างการพิจารณาอยู่ในมาตรา 3 ซึ่ง ส.ส.และ ส.ว.ส่วนใหญ่ไม่ติดใจที่ ส.ว.จะมาจากการเลือกตั้ง แต่จะให้เหมือนการได้มาของ ส.ส.ไม่ได้
ทั้งนี้ ที่ประชุมใช้เวลาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 วัน ลงมติผ่านความเห็นชอบเพียง 2 มาตรา จาก 13 มาตรา ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีมติผ่านความเห็นชอบตามมาตรา 2 ด้วยคะแนน 349 ต่อ 157 เสียง ที่ให้มีผลบังคับใช้นับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
นายอำนวย คลังผา ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า การประชุมเมื่อวานนี้เป็นไปอย่างราบรื่น ทั้งวิปฝ่ายค้าน วิปวุฒิสภา ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี หลังจากให้สิทธิสมาชิกรัฐสภาทั้ง 57 คน ได้แปรญัตติอย่างเต็มที่ ส่วนการทำหน้าที่ของประธานรัฐสภาทั้ง 2 คนก็ถือว่าเหมาะสมและเป็นไปตามข้อบังคับ เชื่อการประชุมในวันนี้จะไม่มีการตีรวนเกิดขึ้น และบรรยากาศจะเป็นไปอย่างราบรื่น อย่างไรก็ตาม ยังคาดไม่ได้ว่าการประชุมจะจบวันนี้หรือไม่ แต่หากไม่จบก็สามารถขยายเวลาเป็นวันจันทร์ ที่ 26 ส.ค. หรือวันอังคาร ที่ 27 ส.ค. ได้ โดยในวันนี้จะหารือกับวิปทั้ง 3 ฝ่ายก่อน ส่วนจะพิจารณาให้จบภายในกี่วันนั้น ไม่สามารถคาดการณ์ได้
ด้านนายสามารถ แก้วมีชัย ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า วันนี้การอภิปรายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 ซึ่งเป็นมาตราสำคัญ ถ้าไม่มีปัญหาอะไรน่าจะผ่านมาตรา 3 ได้ แต่ก็มีผู้สงวนคำแปรญัติไว้เป็นจำนวนมาก ส่วนมาตรา 4 คงจะผ่านได้เร็ว เพราะไม่มีอะไรมาก ไม่น่าจะมีปัญหา ส่วนมาตรา 5 อาจจะมีปัญหาขึ้นมาอีกได้ เพราะเป็นมาตราที่สำคัญอีกมาตราหนึ่ง ซึ่งอาจจะมีการโจมตีว่าเป็นสภาผัวสภาเมีย แล้วทำไมจึงให้ ส.ว.ลงสมัครต่อได้
อย่างไรก็ตาม การที่ฝ่ายค้านพยายามประท้วงอาจจะเป็นการแสดงออกอย่างหนึ่ง เพื่อให้สาธารณชนเห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยและได้ทำทุกวิถีทางที่จะยับยั้งแล้ว แต่ไม่ได้ผล
นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า การที่พรรคประชาธิปัตย์ จะยื่นเรื่องถอดถอน ส.ส.และ ส.ว.ที่โหวตหนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มา ส.ว. เนื่องจากขัดรัฐธรรมนูญนั้น ปชป.ต้องพิจารณาว่าประเด็นที่ยื่นมาเป็นอย่างไร เข้าข่าย ป.ป.ช.มีอำนาจหน้าที่สามารถรับเรื่องดังกล่าวไว้วินิจฉัยได้หรือไม่ จึงต้องรอให้ทาง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นคำร้องมาก่อน ยืนยัน ป.ป.ช.ยึดหลักความถูกต้องตรงไปตรงมาในการวินิจฉัย ซึ่งการตรวสอบ เป็นไปตามข้อมูลและข้อเท็จจริง
ทั้งนี้ การวินิจฉัยลักษณะความผิดถึงขั้นถอดถอนนั้น ต้องพิจารณาว่าการปฏิบัติหน้าที่ส่อขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ และจะส่อว่าทุจริตหรือร่ำรวยผิดปกติหรือไม่