ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ส่อเจตนาชัดเจนว่า ไม่ได้ใส่ใจต่อการแก้ไขปัญหาราคายางพาราที่กำลังตกต่ำอย่างหนัก นั่นเพราะเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้ซึ่งไม่ใช่พื้นที่ฐานเสียงของตนเอง
วันอังคารที่ 3 ก.ย.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ(กขช.)เสนอให้มีการรับจำนำข้าวในปีการผลิต 2556/2557 ในวงเงิน 2.7 แสนล้านบาท ขณะเดียวกันก็เมินข้อเสนอของชาวสวนยางที่เรียกร้องให้รัฐบาลแทรกแซงราคายางพาราที่กิโลกรัมละ 120 บาท โดยจะช่วยเพียงค่าปัจจัยการผลิตไร่ละ 1,260 บาท รายละไม่เกิน 10 ไร่ ตามข้อเสนอคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ซึ่งคิดเป็นเม็ดเงินราวๆ 1 หมื่นล้านบาทเท่านั้น
นี่เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าเชื้อร้ายจาก นช.ทักษิณ ชินวัตร สมัยเป็นนายกฯ ที่เคยลั่นวาจาว่า จังหวัดไหนเลือกพรรคการเมืองของเขาก็จะช่วยจังหวัดนั้นก่อน ยังคงตกทอดมาถึงรัฐบาลน้องสาว
ความจริงแล้ว นช.ทักษิณ เมื่อครั้งที่เป็นนายกรัฐมนตรีก็เคยหยิบเอาประเด็นเรื่องราคายางพารามาหาเสียงกับคนภาคใต้ ทั้งที่การเพิ่มขึ้นของราคายางพาราในช่วงนั้น ไม่ได้เกิดจากฝีมือของรัฐบาลของเขาแม้แต่น้อย แต่เป็นเพราะความต้องการใช้ยางพาราของตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วต่างหาก
นอกจากนี้นโยบายเกี่ยวกับยางพาราที่เกิดขึ้นในช่วงรัฐบาล นช.ทักษิณ ชินวัตร ยังได้สร้างปัญหาให้กับวงการยางพาราไทยต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้
รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะอดีตประธานกรรมการบริหารและกลั่นกรอง องค์การสวนยาง ช่วงปี 2544-2545 และเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ได้ชำแหละให้เห็นถึงมรดกบาปที่รัฐบาล นช.ทักษิณ ได้ทำไว้กับวงการยางพาราไทย ผ่านรายการ “คนเคาะข่าว” ทางเอเอสทีวี เมื่อวันที่ 3 ก.ย.ที่ผ่านมา
ดร.ณรงค์บอกว่า ปัญหาเฉพาะหน้าที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือชาวสวนยางได้ก็เพราะเม็ดเงินงบประมาณไปจมอยู่กับโครงการจำนำข้าวหมด โดยขณะนี้ยังมีข้าวจากโครงการรับจำนำของรัฐบาลที่ยังระบายออกไม่ได้อยู่ประมาณ 15 ล้านตัน รัฐบาลจึงไม่มีงบประมาณที่จะใช้กับสินค้าตัวอื่น
นอกจากนี้ ยังเป็นเพราะยางพารายังต้องพึ่งการส่งออกเป็นหลัก มีการใช้ในประเทศน้อยมาก ทั้งที่เคยมีการทำแผนการพัฒนายางพาราครบวงจรไว้แล้ว โดยตนเคยเสนอแผนในช่วงรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อที่จะให้มีการแปรรูปยางพาราใช้ภายในประเทศร้อยละ 50 และส่งออกเพียงร้อยละ 50 จากเดิมที่ส่งออกถึง 90 เปอร์เซ็นต์
ดร.ณรงค์กล่าวว่า จากที่มีการทำวิจัยหากมีการแปรรูปภายในประเทศเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ก็สามารถสร้างมูลค่าได้เท่ากับการส่งออกถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหากมีการแปรรูปภายในประเทศถึงร้อยละ 50 จะสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากมายมหาศาล จึงมีการเสนอให้ใช้นิคมอุตสาหกรรมร้างที่ ต.ฉลุง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ทำเป็น “เมืองยางพารา” เพื่อเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมที่ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบแบบครบวงจร ซึ่งโครงการดังกล่าวก็เป็นที่เห็นด้วยของทุกฝ่าย
ดร.ณรงค์กล่าวว่า ผู้ส่งออกกลัวว่าจะเสียประโยชน์หากมีการแปรรูปใช้ในประเทศถึงร้อยละ 50 เพราะจะมียางสำหรับการส่งออกน้อย จึงมีพ่อค้าชาวสิงคโปร์พยายามเข้ามาล็อบบี้ตนเพื่อไม่ให้เสนอโครงการ แต่ตนไม่ยอม อย่างไรก็ตาม พ่อค้ายางคนดังกล่าวได้ไปล็อบบี้รัฐมนตรีคนหนึ่งในพรรคไทยรักไทย ก็สามารถหยุดโครงการได้สำเร็จ
นอกจากนี้ ยังเป็นช่วงที่มีการปรับคณะรัฐมนตรี แม้ทุกฝ่ายจะเห็นด้วยกับโครงการเมืองยางพาราแล้ว แต่เมื่อมีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีที่รับผิดชอบ คือนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ที่ถูกปรับจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และให้รัฐมนตรีอีกคนหนึ่งมารับตำแหน่งแทน โครงการเมืองยางพาราก็ไม่ได้รับการสานต่อ โดยรัฐมนตรีคนดังกล่าวบอกว่า ทางใต้ไม่มี ส.ส.ไทยรักไทยสักคน เอางบประมาณไปปลูกยางพาราทางภาคอีสานดีกว่า
ในช่วงปี 2547-2549 จึงมีการขยายพื้นที่ปลูกยาง 1 ล้านไร่ไปยังภาคอีสานและภาคเหนือ ซึ่งแน่นอน มีนักการเมืองมาสวมรอยหาผลประโยชน์ โดยใช้งบประมาณจากเงินค่าธรรมเนียมการส่งออกยาง หรือ CESS มาทำโครงการ ซึ่งก็เป็นเงินที่มาจากการส่งออกยางพาราที่ปลูกในภาคใต้ เพราะภาคอีสาน-ภาคเหนือยังไม่มียางพารา แต่นักการเมืองคนนั้นก็ไม่อยากจะช่วยชาวสวนยางภาคใต้ เพราะไม่ใช่ฐานเสียง
การเพิ่มพื้นที่ปลูกยางพาราเป็นล้านไร่ โดยไม่ดูว่าตลาดโลกเป็นอย่างไร นับเป็นความผิดพลาดทางนโยบายครั้งใหญ่ โดยเฉพาะไม่มีการเตรียมการรองรับในช่วงที่น้ำยางจะออกมาเต็มที่ เมื่อต้นยางมีอายุ 8-9 ปี
ดร.ณรงค์ย้ำว่า การแก้ปัญหายางพาราที่ถูกวิธีนั้นจะต้องสร้างตลาดเคียงคู่ ไม่ใช่พึ่งพาตลาดส่งออกอย่างเดียว แต่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณในช่วงนั้นไม่สนใจ เนื่องจากในปี 2547 ประเทศจีนเพิ่มปริมาณการผลิตรถยนต์ จึงมีความต้องการยางพาราเพิ่มเพื่อผลิตยางรถยนต์ ทำให้ราคายางพาราเพิ่มสูงขึ้น จึงมีการเร่งส่งเสริมให้ปลูกยางพาราเป็นการใหญ่ โดยไม่คิดว่าราคายางพารามันมีวัฏจักรขึ้นลง และไม่ให้หลักประกันแก่เกษตรกรว่าส่งเสริมให้ปลูกแล้วจะขายได้ราคาเท่าไหร่ เป็นความผิดพลาดทางนโยบายทืี่จะต้องมีคนรับผิดชอบ
ส่วนการใช้ยางพารามาทำถนนนั้น มีการพูดมานาน ตั้งแต่โครงการเมืองยางพารา แต่ไม่มีความคืบหน้า นั่นเพราะผู้ผลิตยางมะตอยจากน้ำมันดิบจะเสียประโยชน์ นอกจากนี้ เรายังสามารถนำยางพารามาทำหมอนรถไฟ หญ้าเทียมสนามฟุบอล กระเบื้องยาง ซึ่งรัฐบาลสามารถกำหนดสเปกให้สถานที่ราชการทุกแห่งใช้ได้ รวมทั้งการทำรองเท้าบู๊ต ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย ตลอดไปจนถึงการนำใบยางไปทำเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้า ซึ่งทั้งหมดมีอยู่ในแผนแล้ว แต่เมื่อราคายางพาราขึ้นในช่วงนั้นก็ไม่มีใครสนใจ
“ถ้าใช้ยางพาราภายในประเทศจำนวนมาก ผู้เสียประโยชน์ก็คือผู้ส่งออก เขาสามารรถทุ่มเงินให้นักการเมืองเพื่อบล็อกได้ ถ้าเราจะทำเพื่อบ้านเมือง เพื่อประชาชน มันทำได้ แต่ที่ไม่ได้ ก็เพราะผลประโยชน์มันอุดปากอยู่” ดร.ณรงค์ให้สัจจธรรม
นอกจากนี้รัฐบาล นช.ทักษิณยังได้ละทิ้งแนวทางการสร้างเสถียรภาพราคายางพาราด้วยการตั้งบริษัทร่วมทุนไทย-มาเลเซีย-อินโดนีเซีย ที่ริเริ่มไว้ตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อน นั่นเพราะมีอิทธิพลของประเทศผู้นำเข้ายางพารารายใหญ่คือ จีน และสหรัฐอเมริกา เข้ามาแทรก รวมทั้งถูกพ่อค้ายางสิงคโปร์เข้ามาเดินเกมใต้ดินเสนอผลประโยชน์ ทำให้บริษัทร่วมทุนยางพาราสามประเทศไม่มีบทบาทในการยกระดับราคายางพาราแม้แต่น้อย
ที่น่าตกใจไปมากกว่านั้น ในขณะที่รัฐบาล นช.ทักษิณผู้พี่ทิ้งโครงการเมืองยางพาราลงถังขยะ แต่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ผู้น้องสาว กำลังจะประเคนโครงการที่จะพัฒนาวงการยางพาราไทยอย่างถาวรนี้ไปให้มาเลเซีย
โดยในช่วงที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไปร่วมประชุมเอเปกที่รัสเซีย เมื่อเดือนกันยายน 2555 ได้หารือร่วมกับนายกรัฐมนตรีนาจิบ อับดุล ราซัคแห่งมาเลเซีย และเห็นด้วยที่จะร่วมกันจัดตั้ง “เมืองยางพารา” ที่รัฐเคดะห์ของมาเลเซีย ก่อนที่จะมีการทำเอ็มโอยูร่วมกันในเวลาต่อมา โดยมีนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์การเพิ่มมูลค่ายางพาราไทย เป็นผู้ไปสานงานต่อ
นั่นหมายถึงว่าหากเมืองยางพาราไปตั้งอยู่ในมาเลเซีย ประเทศไทยก็จะเป็นแค่ผู้ส่งออกยางเป็นวัตถุดิบเหมือนเดิม เรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราครบวงจรภายในประเทศ จะเป็นแค่ลมปากเหม็นๆ ของรัฐมนตรีบางคนเท่านั้น