xs
xsm
sm
md
lg

เจาะใจกลุ่มพิทักษ์ม็อบควนหนองหงษ์ “ลูกขวานลอยลม”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ส่วนหนึ่งของสมาชิกถ่ายรูปร่วมกัน
 
กว่า 2 เดือนที่เกษตรกรชาวสวนยางพาราและปาล์มน้ำมันรวมตัวกันออกมาความเคลื่อนไหว มีการชุมนุมปิดถนนหนทางสายหลักและเส้นทางรถไฟ เพื่อกดดันรัฐบาลให้ช่วยพยุงราคาผลผลิตที่ตกต่ำ ถึงขั้นเคยมีการประกาศยุทธการปิดประเทศพร้อมๆ กันในหลายพื้นที่ของทุกภาคไปแล้วด้วย แต่สายตาที่ผู้คนในสังคมจ้องมองแบบเอาใจไปจดจ่อมาต่อเนื่องกลับเป็นม็อบในภาคใต้ที่ “สมรภูมิควนหนองหงษ์” ใน อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช
 
เนื่องเพราะไม้ขีดก้านแรกที่ถูกจุดให้เกิดพลังม็อบยางและปาล์มสว่างไสวไปทั่วก็เกิดขึ้นที่นั่น แถมใน 3 ระลอกที่เกิดม็อบขึ้นมาก็สามารถลากยาวได้ต่อเนื่องอย่างมีน้ำอดน้ำทน ไม่เพียงเท่านั้นยังเป็นม็อบที่ทั้งนักการเมืองและราชการรุมใส่สีตีไข่ให้ร้ายได้อย่างออกรส ที่สำคัญมีการส่งกำลังตำรวจปราบจาจลเข้าไปสลายการชุมนุมจนกลายเป็นข่าวเกรียวกราว แต่ผู้ชุมนุมที่นั่นก็พร้อมหยัดยืนซดกับเจ้าหน้าที่รัฐชิงคืนพื้นที่ได้อย่างไม่ครันคร้ามทุกครั้ง
 
แต่ที่น่าแปลกและเป็นที่โจษจานกันมากก็คือ ม็อบควนหนองหงษ์ที่ยืนหยัดสู้มาจนถึงวันนี้ที่ยังปิดตายถนนสายเอเชียหมายเลข 41 อยู่ได้นั้น กลับไร้ภาพของแก่นแกนผู้นำม็อบจนเป็นที่ปรากฏมาตลอด อาจจะมีผู้ทำตัวอยู่เบื้องหลังบ้าง แต่ก็ไม่เคยมีความต่อเนื่องแน่นอน จนเป็นที่กล่าวขวัญกันว่าผิดธรรมชาติของม็อบที่เคยมีมา แต่ก็กลับมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นม็อบที่เป็นธรรมชาติแบบสุดๆ อันเกิดจากผู้ได้รับความเดือดร้อนอย่างแท้จริงที่มาร่วมตัวกันลุกขึ้นกดดันรัฐ
 
เราล้อมวงคุยกันบนศาลาวัด
 
แต่จะว่าไปแล้วกับม็อบควนหนองหงษ์นั้น เคยมีสปอตไลท์จับจ้องไปยัง “เอียด เส้งเอียด” จอมโจรกลับใจแห่งเทือกเขาบรรทัดอยู่พักหนึ่ง ซึ่งเขาได้จับพลัดจับพลูไปเป็นผู้ประสานงานให้กับม็อบที่นั่น แต่สุดท้ายภาพนั้นก็หายไปพร้อมๆ กับเหลี่ยมเล่ห์ที่รัฐบาลเดินเกมสยบได้สำเร็จไปช่วงเวลาหนึ่ง โดยเรื่องราวครานั้น “ASTVผู้จัดการภาคใต้” ได้เคยสัมภาษณ์พิเศษนำเสนอไปแล้ว
 
ความจริงแล้วห้วงเวลากว่า 2 เดือนมานี้ยังมีอีกตัวละครกลุ่มหนึ่ง ที่ถือเป็นไฮไลท์ของม็อบควนหนองหงษ์ แม้ที่ผ่านมาจะไม่ถึงกับโดดเด่นจนเป็นที่จับจ้อง แต่ก็ต้องบอกว่ามีความน่าสนใจไม่แพ้เอียด เส้งเอียด ซึ่งได้ถูกกล่าวขานอ้างชื่อให้มีบทบาทเด่นมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะหลุดออกจากปากของคนระดับรัฐมนตรี นักการเมืองฟากฝั่งรัฐบาล ผู้ว่าฯ และบรรดาข้าราชการที่เกี่ยวข้อง แม้กระทั่งนักวิชาการอย่าง ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ และขนาดแถลงการณ์ของตำรวจภูธรจังหวัดนครศรีธรรมราชก็ยังให้เกียรติเอาไปอ้างถึงอย่างให้ความสำคัญเป็นพิเศษ ไม่เพียงเท่านั้นเมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมาตัวละครกลุ่มนี้ถึงกับต้องชักแถวเข้าแสดงความบริสุทธิ์กับกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 มาแล้ว
 
“แก๊งลูกขวานลอยลม” คือคำนิยามของทางการ แต่ชาวบ้านและเจ้าตัวเรียกขานกันในนาม “ชมรมลูกขวานลอยลม”
 
แม้ในวันที่สมรภูมิควนหนองหงษ์ยังดำเนินอยู่เวลานี้ ชมรมลูกขวานลอยลมก็ยังถูกตราประทับภาพให้เป็นการ์ดผู้ร่วมชุมนุม คนกลุ่มนี้เป็นใคร มีที่มาน่าสนใจแค่ไหน และมีบทบาทเกี่ยงข้องกับม็อบควนหนองหงษ์อย่างไร เป็นอีกครั้งที่ “ASTVผู้จัดการภาคใต้” ได้ส่งทีมเดินทางเข้าไปยังพื้นที่ บ้านกาโหเหนือ ม.1 ต.นาหมอบุญ อ.จุฬาภรณ์ จ.นครศรีธรรมราช เพื่อพูดคุยกับแกนนำชมรมลูกขวานลอยลมกลุ่มใหญ่ นอกจากจะได้เยี่ยมชมกิจกรรมและผลงานของพวกเขาแล้ว เรายังจับเข่าล้อมวงคุยกันบนศาลาวัด วัดสุการาม(กาโหเหนือ) ประกอบด้วย สันติ ศรีสวัสดิ์ (จอม)ประธานชมรมลูกขวานลอยลม, พี่อ้อม หรือ พี่เสือ กับ พี่แอ้ม หรือ พี่ดำ ที่ปรึกษาชมรม, ธรรมศักดิ์ ชูศรี นศ.มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช และ ธงชาติ รามมณี และ น้องแม็ค ฝ่ายเทคโนโลยีการสื่อสารทำหน้าที่แอดมินหน้าแฟจเพจของชมรมบนเฟชบุ๊ก
 
สันติ ศรีสวัสดิ์ (จอม)
 
ASTVผู้จัดการภาคใต้” : บอกเล่าที่มาของชมรมและชื่อ “ลูกขวานลอยลม” ก่อนเลย
สันติ : คำว่า ลูกขวานลอยลม มาจากรูปแผนที่ประเทศไทย ผืนดินขวานทอง เริ่มต้นที่เราคนใต้อยู่ภาคใต้ เมืองด้ามขวาน แต่ถ้ามีแต่ด้ามมันก็ไม่ใช่ขวาน จะให้สมบูรณ์แบบว่าเป็นขวานทองมันก็ไม่ได้ ที่สำคัญเราคือลูกในใต้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เป็นศูนย์รวมหลักจิตใจของคนทั้งประเทศ เราก็เหมือนลูกคนหนึ่งของในหลวง ของแผ่นดินไทย เราก็เลยใช้ชื่อว่า ลูกขวานลอยลมครับ แต่คำว่า ลอยลม เราสามารถอยู่ในทุกๆ พื้นที่ ทุกแห่งของประเทศไทยนี้
พี่แอ้ม : คนไหนเดือนร้อน ตรงไหนเดือดร้อน ก็ขอไปช่วยเหลือ ไปตามสายลม
สันติ : เริ่มจากเราอยู่กันหลายหมู่บ้าน แต่ก็รู้จักกัน แล้วเห็นว่าสังคมทุกวันนี้มันเกิดการแตกแยกมากขึ้น ก็เลยคิดจับมือเป็นทีมเดียวกัน ก่อนก่อตั้งชมรมมีพี่อ้อม พี่แอ้ม ได้ปรึกษากันว่าตั้งชมรมดีไหม ก็คิดอยู่ 2-3 ปี จนเมื่อปีที่แล้วได้คิดว่าควรทำกิจกรรมอะไรกันบ้าง เพื่อนๆ ก็เริ่มเห็นความสำคัญว่าบ้านเราน้ำแห้งแล้ง พอฝนตกแป๊บเดียวน้ำมาเต็ม สักอาทิตย์น้ำเริ่มหมดในคลอง น้ำกินน้ำใช้ขาด ก็เลยว่าเราจัดเป็นชมรมดีกว่าจะได้ช่วยพัฒนา งานแรกที่ช่วยกันทำคือ ทำฝายกั้นน้ำ ได้น้องบอลที่เคยทำโครงการของพระเจ้าอยู่หัวเป็นฝายต้นน้ำ ฝายทดน้ำอยู่ติดเขตท่าชะอวด น้องเขาบอกว่าทำเป็น ทำไม่นานขอให้มีอุปกรณ์พร้อม พอรวมตัวกันได้ก็ไปทำเลยช่วงต้นปี เครื่องไม้เครื่องมือก็เอากันมาเอง ใครมีพร้าเอามา ใครมีจอบก็เอามา แรกๆ หุ้นตังค์คนละ 20 บาทซื้อกระสอบใส่ทราย
 
พี่อ้อม หรือ พี่เสือ
 
: ใครเป็นสมาชิกได้บ้าง แล้วต้องทำยังไง
พี่แอ้ม : ต้องเขียนใบสมัคร ขออนุญาตผู้ปกครอง น้องๆ ที่เรียนหนังสือถ้าผู้ปกครองไม่เซ็นรับพี่ก็ไม่รับ ต้องให้ทางบ้านเขาเห็นด้วย
พี่อ้อม : คนที่มีประวัติเกี่ยวกับยาเสพติด เราต้องให้โอกาส ตอนแรกๆ รับทั้งเพเป็นชมรมเปิด เพราะต้องการคนมาทำงานอนุรักษ์ธรรมชาติ ทำความเข้าใจกันตรงนี้ เราอยู่กันแบบพี่แบบน้อง ให้ความนับถือกัน คนไหนพี่ก็ต้องเป็นพี่ แล้วก็ต้องให้อภัยกัน ไม่รุนแรง มีกติกา ไม่ใช่นายหัวลูกน้อง
พี่แอ้ม : ไม่จำกัดอายุ ที่แรกคิดว่าจะเอา 18-25 ปี แต่ว่าผู้ใหญ่ก็เขาเห็นด้วย มีใจมีอุดมการณ์เดียวกัน ก็เลยคิดว่าเป็นเยาวชนก็เอา รุ่นพ่ออายุ 40-50 ปีเอาหมด คือเทิดทูนและรักพระเจ้าอยู่หัวเหมือนกันก็เอาหมด
พี่อ้อม : หลักการของเราคือ เยาวชนปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ เหมือนรุ่นผมก็ยังเห็นว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงงานตรงไหนบ้าง แต่พอรุ่นหลังๆ มาไม่ค่อยเห็น ถึงเราอยากให้เห็นความสำคัญตรงนั้น เพราะยังมีหลายคนที่ยังไม่เข้าใจว่าระหว่างสถาบันกับคนไทยแยกกันไม่ได้ ต้องอยู่คู่กันไปตลอด
 
: นอกจากในพื้นที่แล้ว เราไปช่วยเหลือคนนอกบ้างไหม และประสานกันอย่างไร
สันติ : ไม่ใช่แค่ใน อ.จุฬาภรณ์ เขต อ.ชะอวดก็เคยไปทำฝายกั้นน้ำ และเคยไปพัฒนาที่ จ.ตรังด้วย
พี่แอ้ม : ก็เคยไปลอกคูน้ำ เก็บขยะที่ อ.รัษฎา จ.ตรัง ใครว่างจากเก็บยางกรีดยางก็ไปกัน ถ้าไม่ว่างก็ไม่เป็นไร
สันติ : เรามีฝ่ายเทคโนโลยี มีเอ็ม (ธงชาติ รามมณี) เป็นฝ่ายประสานงาน นอกจากโทรศัพท์ เรายังมีการโพสต์ไว้ในเฟซบุ๊กว่าเราจะทำอะไรกันเดือนนี้ และคนนอกชมรมสนใจก็ไปเข้าร่วมได้
พี่อ้อม : แล้ววันเสาร์ที่ 2 ของเดือนเราจะนัดพบพูดคุยหารือกัน กินข้าวกัน น้องที่มีเพื่อนๆ ต่างอำเภอก็จะได้พามารู้จักกัน
สันติ : สาเหตุที่นัดกันวันเสาร์ที่ 2 ของเดือน เพราะว่าน้องๆ ต้องเรียนจันทร์ถึงศุกร์ นัดวันธรรมดาเขาต้องขาดเรียนทำให้เกิดผลกระทบต่อกลุ่ม สมาชิกของเราตอนนี้ก็มีที่ตรัง พัทลุง สุราษฎร์ฯ นครศรีธรรมราช โดยนครศรีฯ กับตรังเป็นจังหวัดหลัก แล้วตัวแทนแต่ละกลุ่มกระจายข่าวต่อๆ กันไป
พี่แอ้ม : มาเจอกันก็ดูแลสร้างฝาย แต่ถ้าเป็นฤดูฝนตกก็คือ ปลูกต้นไม้ตามถนนในซอย ไม่เกี่ยวกับเขตทางหลวง แต่เป็นในซอยในหมู่บ้าน
 
พี่แอ้ม หรือ พี่ดำ
 
: เคยมีหน่วยงานข้างนอกมาขอความช่วยเหลือไหม หรือมีการสนับสนุนไหม
สันติ : ก็มีบ้าง แต่ทางชมรมเรามีเงื่อนไขในการไปช่วยต้องเป็นงานสาธารณะประโยชน์ ต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนอยู่ข้างหลัง ถ้ามีทางชมรมไม่ไป หรือว่าเขาบอกไม่มีงบประมาณสนับสนุนเราก็ไปช่วย แต่หากรู้ว่ามี แต่ไม่บอก เราสามารถถอนตัวกลางคันได้ เพราะเราช่วยเหลือแบบจิตอาสา
พี่แอ้ม : ส่วนเรื่องสนับสนุนยังไม่มีเลย
 
: ทำไมถึงเข้าร่วมชุมนุมกับชาวสวนยางและปาล์มที่ 4 แยกควนหนองหงษ์
สันติ : เดิมทีช่วงนั้นมีกระแสว่าจะมีการชุมนุมวันที่ 20 ก.ค. วันที่ 1 ส.ค.ก็ยังไม่มี จนวันที่ 2 ก็มีการชุมนุม เราก็ไปเผื่อว่าจะช่วยให้รัฐเห็นใจได้เพิ่มราคายางบ้าง เพราะชาวบ้านก็บ่นว่าเป็นหนี้กันถ้วนหน้า เหมือนชาวนาภาคเหนือและอีสานที่เดือดร้อนเรื่องข้าวราคาถูก เขาไปประท้วงกัน 100-200 คนก็ได้ประกันราคาข้าวแล้ว เราเห็นว่าชาวสวนใต้เดือดร้อนกันเป็นปี 2 ปีแล้วนะ บ้านผมนี้พ่อแม่ก็เป็นหนี้มากขึ้น ถามเพื่อนๆ พ่อแม่ก็เป็นหนี้เหมือนกัน บางทีอยู่กันเป็นอาทิตย์แบบไม่มีตังค์สักบาท สาเหตุมาจากราคายางตก พอรู้ว่าเขาจะชุมนุมกัน ทุกคนก็ตามกันไป
พอดีวันที่ 2 ส.ค.ตรงกับวันตลาดนัดด้วยก็เลยนัดกัน พอวันที่ 3 ช่วงบ่ายๆ ผู้ว่าฯ นครศรีธรรมราชลงมาเจรจาด้วย บอกว่าจะเป็นตัวกลางให้ ชาวบ้านมีสิ่งไหนจะเรียกร้องให้ฝากผู้ว่าฯ จะไปบอกกับรัฐบาลให้ ผู้ว่าฯ ขอว่าให้ชาวบ้านรอ 15 วันนะ เพราะการทำงานต้องเป็นไปตามขั้นตอน ตามระบบราชการ ชาวบ้านก็ดีใจว่าผู้ว่าฯ รับเรื่องแล้วก็สลายกันกลับบ้าน แล้วเรื่องก็ไม่มีอะไรคืบหน้า
ทีแรกชาวบ้านจะกลับมาชุมนุมอีกวันที่ 17 ส.ค. แต่ผู้ว่าฯ ประสานให้ไปพบกันที่สภา อบต.นาหมอบุญวันที่ 19 ส.ค. ถึงเวลาชาวบ้านก็ไปรอฟังคำตอบ บางคนไปรอเป็นวัน บางคนก็รออยู่ครึ่งวัน จนสุดท้ายตกเย็นรัฐบาลไม่ส่งใครมา ผู้ว่าฯ ก็ไม่มา ชาวบ้านก็เสียใจมาหลอกกันแบบนี้รับไม่ได้ ก็ตกลงว่าถ้ายังเงียบอีกวันที่ 23 ส.ค.ชุมนุมกันใหม่ที่ 4 แยกควนหนองหงษ์ เราไม่ได้ตั้งใจจะปิดถนนเพื่อสร้างความเดือดร้อนให้ใคร แต่จำเป็นต้องทำเพราะถ้าไปชุมนุมที่อื่นรัฐบาลจะไม่สนใจ วันที่ 23 ส.ค.ชาวบ้านเขาก็ปิดถนนกันจริงๆ
พี่อ้อม : ความจริงตำรวจไปปิดถนนให้ก่อน ไม่ใช่ชาวบ้าน ก็ตำรวจไปยืนบนถนนเต็มหมด เพราะว่าชาวบ้านมีแค่ 300 คน แต่ตำรวจมี 3,000 คน ชาวบ้านปิดไม่ได้หรอกเพราะคนน้อย แล้วอากาศก็ร้อน กระทบระทั่งกันบ้าง ทีนี้ก็เกิดเหตุเหมือนที่เห็น
สันติ : ตอนที่เจ้าหน้าที่เริ่มเข้าจะสลายได้ทำลายเต็นท์ของชาวบ้านที่ยกไปตั้งกันแดดกันร้อน ผู้ว่าฯ ได้สั่งให้ตำรวจยึดตู้บริจาค ยึดเครื่องเสียง ยิ่งทำให้ชาวบ้านโกรธมากขึ้น เพราะเขาเดือดร้อนจริงๆ ที่มาชุมนุมกัน ผมก็ไม่ทราบว่าใครสั่งตำรวจได้จับคนไป 1 คน จับไปไว้ข้างคูถนนแล้วก็ทุบโชว์ ชาวบ้านไม่เข้าใจว่าทำไมต้องทำแบบนี้ แค่มาเรียกร้องเรื่องปากท้อง เราไม่ใช่ว่าจะมารบราฆ่าฟัน ชาวบ้านก็ปักหลักมากขึ้น ดันเข้าไปช่วยกัน พอดันเข้าไปตำรวจเขาใช้ไม้กระบองทุบ แล้วก็เกิดเหตุชุลมุนเกิดขึ้น ชาวบ้านฉวยหินปาใส่เพื่อป้องกันตัวเองกัน เพราะชาวบ้านไปมือเปล่ากันนิ
 
ธรรมศักดิ์ ชูศรี
 
: หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมครั้งนั้น พวกเราได้ชุมนุมต่อไหม
สันติ : ครับ พอวันที่ 24 ส.ค.กลายเป็นว่า ลูกขวานลอยลมต้องเป็นการ์ดให้พ่อแม่พี่น้อง ช่วยปกป้องชาวบ้าน ดูแลความปลอดภัยให้ชาวบ้าน เพราะแม้คนแก่อายุ 60-70 ปียังถูกทุบ ถึงลูกหลานอยู่ยังไงให้เขาถูกรังแกแบบนั้น
พี่แอ้ม : เพราะว่าป้าถูกทุบ น้าถูกทุบ ผมลูกหลานผมแลไม่ได้ เราก็ต้องช่วยกัน
 
: นั่นสลายการชุมนุมรอบแรก แล้วอีกรอบเมื่อวันที่ 16 ก.ย. หลังจากนั้นก็ติดหูติดตาคนว่า ลูกขวานลอยลมเป็นการ์ดอยู่ช่วยเหลือชาวบ้านตลอด
สันติ :  รอบหลังนี้วันที่ 16 ก.ย. รอบแรกวันที่ 23 ส.ค. จากนั้นกลุ่มเยาวชนและวัยรุ่นไม่ว่ามาแต่ไหน เขาก็มองภาพรวมว่าเป็นลูกขวานลอยลมทั้งหมด เราร่วมชุมนุมรอบแรก แล้วรอบสองจากวันที่ 23 ส.ค.ถึงวันที่ 26 ส.ค. พอว่าวันที่ 26 ส.ค.ลูกขวานลอยลมเหนื่อย ขอพักผ่อนก่อน แต่ว่าพ่อแม่พี่น้องยังอยู่แล้วผลัดเปลี่ยนกันออกไปเรียกร้อง ลูกขวานลอยลมได้กลับไปพักผ่อนอยู่ 2 คืนก็กลับไปใหม่วันที่ 28 ส.ค. ก็ได้ช่วยชุมนุม ช่วยดูแลชาวบ้าน แล้วตอนนั้นถูกสร้างสถานการณ์ทุกวัน มีรถพุ่งชนเข้าไปในที่ชุมนุมบ้าง มีคนมาดริฟต์รถเล่นทำว่ารถเสียหลักบ้าง เข้าไปปะทะเข้าผู้ชุมนุมบ้าง แจกใบปลิวบ้าง มีเสียงปืนดังบ้าง เราก็จำเป็นต้องนอนค้างคืน ช่วยกันดูแลกับชาวบ้านตรงนั้นเต็มที่ จนชาวบ้านเขาจะได้สิ่งที่เรียกร้อง หรือเขายอมแพ้ไป
จนวันที่ 6 ก.ย. พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกฯ และ รมว.ยุติธรรม พร้อมกับรองเลขานายกฯ ลงมา 3 คนที่โรงแรมทวินโลตัส มาเจรจากับตัวแทนเกษตรกร มีข่าวเป็นที่พอใจของชาวบ้าน ลูกขวานลอยลมเราให้คำมั่นสัญญากับชาวบ้านไปแล้วว่า เราจะช่วยดูแลปกป้องชาวบ้านจนถึงวันสุดท้าย จนว่าชาวบ้านยอมรับหรือยอมแพ้ วันนั้นรัฐบาลยื่นให้ว่าสามารถช่วยได้กิโลละ 90 บาท และก็ให้เงินชดเชยต้นทุนในการผลิตเป็นค่าปุ๋ยไร่ละ 1,260 บาท ชาวบ้านก็พอใจพอรับได้ เขาลากมาเป็น 15 วันแล้วก็ได้สลายการชุมนุม ต่างคนต่างกลับไปทำภารกิจส่วนตัว ลูกขวานลอยลมก็ได้กลับตั้งแต่วันที่ 6 ก.ย. จนถึงทุกวันนี้ได้กลับมาทำงานภารกิจส่วนตัว แต่คำว่าลูกขวานลอยลมก็ได้หยุดอยู่ควนหนองหงษ์จนปัจจุบัน รวมถึงตอนที่ชาวบ้านเริ่มเปิดเวทีใหม่ล่าสุดด้วย
พี่อ้อม : มีจัดตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อแอบอ้างว่าเป็นลูกขวานลอยลม มาสร้างความรุนแรงให้ภาพออกไปไม่ดี พวกมือที่ 3 ไม่ประสงค์ดี แท้จริงแล้วลูกขวานลอยลมหลังจากวันที่ 6 ก.ย. พอวันที่ 7 ก.ย.ทางกรรมการประชุมกัน เขาตั้งมติกันว่าให้รอทางรัฐบาลใช้เวลาแก้ไขปัญหา เราจึงกลับมาอยู่รอ จนถึงวันนี้เราก็ไม่รู้อะไรว่าเขาออกมติกันยังไง เหตุการณ์เกิดขึ้นก็ไม่รู้อะไร
 
น้องเอ็ม(ซ้าย) น้องแม็ค(ขวา)
 
: เหตุการณ์วันที่ 16 ก.ย. ไม่มีใครในกลุ่มออกไปเลย แต่เขาก็เหมาแล้วว่าเป็นลูกขวานลอยลม
พี่อ้อม : ไม่มีเลย เรานั่งแลข่าวก็เอ็นดูพ่อแม่พี่น้อง นั่งน้ำตาไหล ถ้าว่าเป็นลูกขวานลอยลมไม่ทำเหตุการณ์รุนแรงแบบนั้น เพราะว่าเรามีระเบียบ มีกฎกติกาอยู่ สามารถพิสูจน์ได้ เพราะว่าวันที่ 23 ส.ค.-6 ก.ย.ก็ไม่มีเหตุการณ์อะไรรุนแรงเกิดขึ้นทั้งภายนอกและภายใน แต่พอลูกขวานลอยลมไม่อยู่เหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย ทั้งรุนแรงและไม่รุนแรง ทั้งภายในและภายนอก
สันติ : สิ่งที่สำคัญกว่า ตอนที่ลูกขวานลอยลมอยู่สื่อทุกสื่อสามารถเข้าไปทำข่าวได้อิสระ หลังจากวันที่ 6 ก.ย.ที่ลูกขวานลอยลมได้สลายมาแล้ว ตั้งแต่วันที่ 14-16 ก.ย.สื่อถูกปิดบัง สื่อไม่ได้เข้าไปอยู่ในจุดตรงนั้นเลย เพราะว่าอะไรก็ไม่รู้ที่ชาวบ้านไม่ยอมให้สื่อไปทำข่าว สื่อไปก็พยายามขับไล่
 
: ได้คุยกันบ้างไหมว่า ทำไมกลุ่มเราถูกเอาไปแอบอ้าง
พี่แอ้ม : ได้คุย และได้แถลงข่าวออกไปครั้งหนึ่งแล้ว
สันติ : เพราะว่าวันที่ 23 ส.ค.ที่มีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ ทั้งๆ ที่รถตำรวจอยู่ตั้งหลายคัน เราสามารถที่จะเผาทำลายได้ แต่เราไม่ทำ เพราะว่าตรงนั้นมันคือทรัพย์สินของเรา ถึงว่าเป็นรถของตำรวจ อีกอย่างเรามาขอราคายาง ไม่ได้ต้องการทำร้ายใคร ทำลายข้าวของของใคร แต่รอบหลังนี้เกิดเหตุการณ์ชุลมุนมาก ผมเชื่อว่าถ้ากลุ่มลูกขวานลอยลมอยู่เหตุการณ์ชุลมุนรุนแรงจะไม่เกิดขึ้นเด็ดขาด
 
ฝ่ายน้ำล้น อีกผลงานที่ชมรมลูกขวานลอยลมสรา้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาน้ำแล้งและทน้ำท่วมหมู่บ้าน
 
: กลับมาที่ชมรม ในอนาคตเราจะทำยังไงต่อไป
พี่อ้อม : ทำสถานที่ตั้งชมรมให้เสร็จ เพราะจะได้ใช้เป็นที่ประชุม น้องๆ ที่มาจากต่างจังหวัดก็จะได้หยุดพักผ่อนบ้าง ก็ไม่มีอะไรมากมาย หลักการนี้ก็ทำแบบนี้เรื่อยๆ เหมือนว่าทางกลุ่มไหนต้องการความช่วยเหลือก็ไปช่วยกัน ไปบริการสังคม ส่วนจะติดต่อชมรมก็ผ่านสมาชิกในกลุ่มได้หมด เราถึงกันหมด ทางแฟนเพจเฟชบุ๊กก็ได้
 
: อยากให้พูดถึงสิ่งที่เราสามารถยึดเหนี่ยวกันไว้
พี่อ้อม : สิ่งที่ยึดเหนียวจิตใจของพวกเราให้มารวมกลุ่มกันได้ ให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้คือ พระเจ้าอยู่หัว เรารักอยู่ในดวงใจของทุกคน เราพร้อมปกป้องและทำความเข้าใจกับคนที่ยังไม่เข้าใจว่า สถาบันสำคัญยังไงในชาติเรา ให้ความรู้ มีหนังสือให้น้องๆ อ่านทำความเข้าใจว่า ตั้งแต่ก่อตั้งประเทศมีกี่ราชวงศ์ สืบทอดกันมาอย่างไร
นอกจากนั้นก็สร้างความเข้าใจการอยู่ร่วมกัน ให้มีน้ำใจ รู้จักแบ่งปัน เคยคุยกับน้องว่าเรายากจะช่วยเปลี่ยนแปลงระบบความคิดที่ต่างคนต่างแข็งขัน แย่งชิง เห็นแก่ตัว ไม่มีน้ำใจ ไม่รู้จักช่วยเหลือกัน จึงต้องเริ่มจากพวกเราในชมรมก่อน รู้จักช่วยเหลือ มีอะไรก็แบ่งปัน ใครประสบอุบัติเหตุเราก็ขอเงินช่วยเหลือกันตามที่ขอได้ แล้วซื้อนมไปให้บ้าง
ให้กลับไปเหมือนเมื่อสมัย 20 ปีที่แล้วที่อยู่แบบพึ่งพากัน เริ่มจากเปลี่ยนคนในชมรม แล้วคนในชมรมก็เปลี่ยนแปลงในครอบครัว แล้วคนในครอบครัวไปเปลี่ยนแปลงในหมู่บ้าน คนในหมู่บ้านก็ไปเปลี่ยนสู่สังคมภายนอก ทำได้ก็ดี ถ้าทำไม่ได้ก็จะพยายาม เราเริ่มแล้วและพิสูจน์ได้ เหมือนกับเด็กวัยรุ่นทุกสังคมก็มีปัญหากระทบกระทั่งกัน แต่พอเราตั้งชมรมนี้ปัญหาตรงนั้นไมมีเลย ไม่เชื่อถามชาวบ้านได้ว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง
 
หน้าแฟนเพจชมรมลูกขวานลอยลมในเฟชบุ๊ก
 
: หากสังคมภายนอกอยากรู้จัก เขาจะเข้าถึงเราทางไหนได้บ้าง
ธงชาติ : ทางเฟชบุ๊กชมรมลูกขวานลอยลมก็ได้ ตอนแรกเรื่องเทคโนโลยีผมก็ทำแบบไม่คิดว่ามันจะมาถึงจุดนี้ คิดว่าเก็บภาพไว้เป็นที่ระลึกว่าเราได้ไปร่วมทำงาน ทำกิจกรรมเสร็จสัก 1-2 วันก็ลงไว้ พอมีคนไปกดไลค์มากๆ ก็เป็นที่รับรู้แล้วก็บอกต่อๆ กันไป
น้องแม็ค : เว็บไซต์ยังไม่มี ตอนนี้มี 2 คนช่วยกันดูแลเฟชบุ๊กอย่างเดียว คอยอัพเดตต่างๆ มีไลค์ประมาณ 1,500 ได้แล้วจากที่ก่อตั้ง 28 มี.ค.2556 ก็ได้การตอบรับที่ดี มีคนเข้ามาถามเยอะ เช่น การสมัครเข้าชมรมทำยังไง แล้วก็ให้กำลังใจเข้ามาด้วย มีคนต่างจังหวัด ต่างภาค ประเทศเพื่อนบ้านที่ให้ความสนใจก็มีลาว และออสเตรเลียก็มี สำหรับใครที่อยากรู้จักพวกเราให้มากขึ้นเข้าไปดูกิจกรรม ชมรมลูกขวานลอยลม ได้ทางหน้าเพจเฟชบุ๊ก ชมรมลูกขวานลอยลม
 
โลโก้ชมรมลูกขวานลอยลม
 
: ในฐานะนักศึกษามหาวิทยาลัย รู้จักและเข้าร่วมได้อย่างไร
ธรรมศักดิ์ : พอดีผมเรียนอยู่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เอกรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช แล้วก็มีน้องๆ เอกพัฒนาชุมชน เอกปกครองที่มีอุดมการณ์เดียวกัน บางครั้งก็ไปพัฒนาโรงเรียนบ้าง พาน้องๆ ไปออกค่ายบ้าง ก็เลยสนใจในจุดตรงนี้ พอเห็นชมรมลูกขวานลอยลมพัฒนาเหมือนกับที่เราชอบ ผมก็เลยสนใจ ก็เลยติดตาม แล้วก็ชวนญาติพี่น้อง เพื่อนฝูงสมัยเรียนมาสมัครเป็นสมาชิก ได้ทำงานร่วมกันหลายครั้งแล้ว รู้สึกดีใจมากครับ เพราะจิตใจของผมเองก็รักตรงนี้อยู่แล้ว รักในหลวงด้วย มีจิตที่จะทำความดีโดยที่ไม่หวังผลประโยชน์อะไรเลย อยากชวนเพื่อนๆ มาร่วมกันต่อต้านยาเสพติด ช่วยทำให้สังคมดีขึ้นเพื่อในวันข้างหน้าเยาวชนจะได้ยกระดับประเทศชาติให้ขึ้นสูงขึ้นมากกว่านี้อีก
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น