ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เปิดเวทีถกความคิดเรื่อง “ยางพารา ชาวสวนยาง การชุมนุมชาวสวนยาง : ความจริงวันนี้และแนวทางก้าวสู่อนาคต” บทเรียน “ม็อบที่ควนหนองหงษ์” ถือเป็นบรรทัดฐานการต่อสู้ของประชาชนอย่างแท้จริง รัฐใช้กลยุทธ์สร้างความแตกแยกแกนนำ ใช้เผด็จการเจรจามัดมือชก
เวลา 13.30 น.วันนี้ (12 ก.ย.) ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ในเวทีการสัมมนาเรื่อง “ยางพารา ชาวสวนยาง การชุมนุมของชาวสนยาง : ความจริงวันนี้และแนวทางก้าวสู่อนาคต” หลังจากในภาคเช้า ผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง นักวิชาการ ได้ฟังการปาฐกถาเรื่อง “วิกฤตการณ์สวนยาง : ทางเลือก ทางรอด” โดย รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการอภิปรายเรื่อง “ยางพาราและชาวสวนยาง : ความจริงวันนี้และแนวทางก้าวสู่อนาคต”
ส่วนในภาคบ่าย มีการเปิดเวทีถกความคิดเรื่อง “ยางพารา ชาวสวนยาง การชุมนุมชาวสวนยาง : ความจริงวันนี้และแนวทางก้าวสู่อนาคต” โดยแกนนำชาวสวนยาง ชาวสวนยาง นักวิชาการ และผู้เข้าร่วมประชุมอื่นๆ ซึ่งมีประเด็นพูดคุย ใน 5 ประเด็นหลักๆ คือ ความเดือดร้อนของชาวสวนยางกลุ่มต่างๆ ในปัจจุบันเป็นอย่างไร การแก้ปัญหาของรัฐบาลเหมาะสมแล้วหรือยัง เพราะเหตุใด การแก้ปัญหาที่ควรจะเป็น ควรเป็นอย่างไร ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ชาวสวนยางควรจะมีบทบาทอย่างไร และภาคประชาสังคมควรจะมีบทบาทอย่างไร โดย ดร.เลิศชาย ศิริชัย คณบดีสำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ
นายสุนทร รักษ์รงค์ อดีตผู้ประสานงาน 16 จังหวัดภาคใต้ วิเคราะห์สถานการณ์ว่า การลุกขึ้นสู้ที่ควนหนองหงษ์เป็นการลุกขึ้นสู้ที่เดือดร้อนจริงๆ ไม่ได้มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่มีความรู้สึกว่าถูกเลือกปฏิบัติจากรัฐ โดยเริ่มต้นจากลูกไม่มีเงินไปโรงเรียน องค์กรชาวสวนยางที่อยู่ในระบบมันล้มเหลว ชาวสวนยางแทบจะไม่รู้จักเลย สิ่งที่น่าแปลกใจคือ 12 ล้านไร่ที่อยู่ในภาคใต้ ผู้นำองค์การด้านการยางกลายเป็นว่าอยู่ที่ จ.ระยอง ตั้งข้อสังเกตว่าทำไมไม่อยู่ในภาคใต้ องค์การที่ล้มเหลวที่ครอบงำโดยรัฐ สาเหตุที่การชุมนุมจบเร็ว เพราะพวกแกนนำที่อยู่ในเครือข่ายถูกซื้อตัวจากรัฐบาล การต่อสู้เรียกร้องเรื่องราคาถูกยกระดับเป็นการต่อสู้ทางการเมือง เนื่องจากถูกคุมคาม
เรื่องราคาถูกยกระดับไปโดยไม่รู้ตัว เลยมีกลุ่มเอ็นจีโอ กลุ่มภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวเรื่องการเมืองเข้าไปมีบทบาทมากขึ้น ส่งผลการเจรจากับรัฐถูกแบ่งคุยเป็นกลุ่มๆ อย่างเช่นที่ โคออป และกลุ่มควนหนองหงษ์ การแบ่งแยก และสลายมวลชน คือการใช้กฎหมายกับมวลชน การซื้อตัวแกนนำ การยื้อเวลาเพื่อให้ขาดการความชอบธรรม นี่คือกลไกของรัฐที่เข้ามา หลังจากนั้นมีการแตกกลุ่มของผู้ชุมนุมเอง เหมือนถูกหลอกกันทั้งระบบ จากความแตกแยกจึงนำมาซึ่งการรวมตัวกันใหม่อีกครั้งในนามเครือข่าย 16 จังหวัดภาคใต้ หลังจากนั้น รัฐบาลออกมาตรการสนับสนุนปัจจัยการผลิต 2,520 บาทต่อไร่ จึงเรียกยุทธวิธีของรัฐบาลว่า การใช้เงินฟาดหัว โดยใช้กำนันผู้ใหญ่บ้านเคาะประตูบ้านยื่นข้อเสนอให้แก่ชาวบ้าน กลายเป็นว่ารัฐวางแผนทั้งหมด ตอนนี้จึงมองว่า กลุ่มชาวสวนยางถูกแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มนอกระบบคือ กลุ่มที่อยู่ริมถนน และกลุ่มในระบบ สกย. ปิดเกมด้วยองค์กรสวนยางพ่ายแพ้รัฐบาล
ด้าน นายทศพล ขวัญรอด เกษตรกรชาวสวนยางที่ร่วมชุมนุมที่แยกควนเงิน ต.บ้านตูล อ.ชะอวด ผู้จุดประกายการต่อสู้ของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางในครั้งที่ผ่านมา และยืนยันต่อพี่น้องตลอดว่า เหตุผลที่ต่อสู้เนื่องจากการปฏิบัติ 2 มาตรฐานของรัฐบาล พี่น้องชาวสวนยางไม่เคยได้รับความเป็นธรรมจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์เลย จึงได้รวมตัวกันเพื่อปิดถนนต่อสู้เรียกร้อง โดยไม่ได้เตรียมการมาก่อน แต่พี่น้องลงมติเห็นด้วย ว่า ลำบากกันมามากพอแล้ว การเจรจาบนโต๊ะเจรจาครั้งที่ 1 ที่ อบต.นาหมอบุญ ก็ล้มเหลว ครั้งที่ 2 ที่ อ.ร่อนพิบูลย์ ก็ล้มเหลว แต่รัฐบาลพยายามให้ไปเจรจาที่ กทม. ก็ล้มเหลว ครั้งที่ 3 ที่บ้านตูล ป่วนหมด การ์ดโดนจ้างให้ออกหมด จึงตัดสินใจเปิดเส้นทางรถไฟ เพื่อมารวมกันเป็นหนึ่งเดียวที่ควนหนองหงษ์ การเจรจาครั้งสุดท้ายกับรัฐบาลโดยรัฐบาลอ้างว่า เกษตรกรยอมรับที่ 90 บาทแล้ว เอียด เส้งเอียด จึงขึ้นเวทีโน้มน่วมให้พี่น้องยอมรับในราคา 90 บาท จนต้องเปิดถนน หลังจากนั้น รัฐบาลเสนอให้ 2,520บาทต่อไร่
“พวกผม 18 คน เรายังยืนยันว่าจะสู้ที่ราคา 95 บาท เราขอหมูรัฐบาลให้สุนัข มันคนละเรื่อง บอกตรงๆ ช้ำใจมาก รับไม่ได้ กับมาตรการ 2,520 บาทต่อไร่ ตอนนี้จึงต้องยอมรับว่าเราแพ้แล้ว ตอนนี้ไม่มีเงื่อนไขที่จะเคลื่อนไหวต่อ แต่หลังจากวันที่ 14 ก.ย.นี้ รัฐบาลยังไม่มีความคืบหน้า หรือความชอบธรรม ผมและ 18 คน ยืนยันว่าจะเคลื่อนไหวต่อ ถึงแม้จะโดนคดีไปแล้วก็ตาม”
นายอำนวย ยุติธรรม ทำหน้าที่เป็นตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางในขณะมีการชุมนุม อธิบายถึงเหตุผลกรณีที่สุดท้ายเห็นด้วยกับ 2,520 บาทต่อไร่ ว่า หลังจากไปขึ้นเวทีที่ อ.ชะอวด แต่ตอนนั้นที่นั้นไม่มีแกนนำชุมนุมเลย เพราะเขาต่อสู้เรื่องราคากันจริงๆ เลยเชิญชวนให้พี่น้องมาร่วมกันทุกกลุ่ม จึงกลับไปตั้งเวทีคู่ขนานกับเวทีที่บ้านตูล และควนหนองหงษ์ พี่น้องชะอวดมีจุดแข็งที่มีการต่อสู้กันจริงๆ แม้กระทั่งรัฐบาลไม่กล้าสลาย และได้รับความสนใจจากสื่อทั้งในประเทศ และต่างประเทศในอันดับต้นๆ จากนั้นเมื่อกลุ่มของผมที่ท่าศาลาเปิดเวทีขึ้น และได้เริ่มมีตัวแทนจากรัฐบาลโดย พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง รองนายกรัฐมนตรี เข้ามาเจรจาหลายครั้งกับตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุม จนเป็นจุดสรุปว่าตัวแทนเกษตรกรยอมเดินทางไปเจรจาที่ กทม.
วันนั้นยอมรับว่าเรายังไม่สามารถรวมเกษตรกรแต่ละจุดเป็นหนึ่งเดียวได้ โดยยังมีการเรียกร้องราคาที่แตกต่างกัน จึงเสนอราคาไปที่ 100 บาท เพื่อแสดงความจริงใจต่อรัฐบาล โดยขยับจาก 120 บาท เพื่อมาพบกันครึ่งทาง รัฐบาลก็ยังไม่ยอม ยังยืนยันให้ได้เพียง 80 บาท เราจึงเสนอวิธีการเติมเงินคือ ชดเชยส่วนต่างให้แก่รัฐบาล โดยยึดราคาจากตลาดกลางหาดใหญ่ โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกร เงินส่วนต่างก็จะไม่ตกไปอยู่ในมือพ่อค้าคนกลางตามที่รัฐบาลกล่าวอ้าง
นายอำนวย กล่าวต่อว่า วันนี้ที่รัฐบาลมาช่วย 2,520 บาทต่อไร่ เท่ากับว่ารัฐบาลช่วยเพิ่ม กก.ละ 12 บาท จากเดิมที่เราคำนวณการชดเชยราคา เราได้เพียง กก.ละ 6 บาท ส่วนที่การประชุมที่ รร.ทวินโลตัส อ.เมืองนครศรีธรรมราช ที่ผมไม่ยอม และยืนยันในราคา 95 บาท ในขณะที่รัฐบาลยื่นข้อเสนอให้ในราคา 90 บาท ซึ่ง 95 บาทเห็นว่าเหมาะสมเป็นจุดกึ่งกลางระหว่างรัฐกับชาวสวนยาง การเจรจาครั้งนั้นรัฐบาลใช้วิธีการเผด็จการเจรจา โดยใช้ช่วงเวลาในการขอไปคิดทบทวน 2 ชม.โทร.ไปบอกพี่น้องชาวควนหนองหงษ์ว่าที่ประชุมตกลงกันได้แล้วในราคา 90 บาท
สุดท้ายที่ผมยอมรับตามมาตรการ 2,520 บาทของรัฐบาลก็เพราะว่า สิ่งที่เราได้มากว่าที่เราเรียกร้อง คือ เราได้เพิ่มขึ้นมาในราคา กก.ละ 12 บาท จึงได้มาวิเคราะห์แนวโน้มตลาดและปัจจัยการผลิตเมื่อเข้าฤดูฝน ถ้าราคายางวันนี้สูงกว่า 78 บาท พี่น้องรับเงื่อนไข 2,520 บาท จะดีกว่า ผมอยากให้เจรจายุติ วันนี้การเจรจายังไม่สิ้นสุด เสนอให้รัฐมาลงนามเจรจาในวันที่ 14 ก.ย.นี้ เพราะยังมีข้อเสนออื่นๆ ที่เราเรียกร้องไป โดยเฉพาะเรื่องคดีความ เรื่องค่าเสียหายในการปิดถนน เพราะจะทำให้พี่น้องยากลำบาก การที่เรายอมรับไม่ใช้เป็นการพ่ายแพ้แต่เราต้องรักษาขุนศึก เพื่อเคลื่อนไหวกันต่อไป วันที่ 14 ก.ย.นี้ รัฐก็ตกลงมาลงนามที่วัดพระธาตุฯ ทั้งหมดมันก็เป็นความเจ็บปวดของพี่น้องชาวสวนยางที่ออกมาต่อสู้ นายอำนวย กล่าว
ดร.เลิศชาย ศิริชัย ผู้ดำเนินรายการได้ตั้งเป็นประเด็นพูดคุย ว่า กลุ่มเกษตรกรที่เกิดขึ้นหลายกลุ่มมาก แต่ละกลุ่มไม่ได้ครอบคลุมทั้งหมดถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบ ในที่ประชุมนี้จะมองปรากฏการณ์นี้อย่างไร มีทางออกอย่างอื่นหรือไม่ สำหรับกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยที่มีอยู่ด้วย
ตัวแทนเกษตรกรจกบ้านควนเงิน ต.บ้านตูล อ.ชะอวด กล่าวว่า องค์ประกอบแรกที่เกิดขึ้นคือ ควนเงิน และภาคีเครือข่าย และหนองหงษ์ และภาคี และชุมชนวีถีไทย ซึ่งชุมชนวิถีไทยเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างไรนั้น เพราะผลกระทบต่อชุมชน เมื่อรัฐเข้าไปละเมิดสิทธิ มีเรื่องราวขึ้นมากมาย แม้กระทั่งเด็กๆ ในบ้านยอมตาย สู้เต็มที่ นี่คือความใจกล้าของคนในพื้นที่ ก็เลยประสานงานให้กลุ่มควนเงิน และหนองหงษ์ได้คุยกัน ต้องแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ต้องมีกระบวนการการเรียนรู้ เรื่องการยางการปาล์มที่ครบวงจรจะทำอย่าไร รัฐจะส่งเสริมได้หรือไม่ จึงต้องทำให้เกิดสภาชุมชน สภาการยาง และมีการจัดการอย่างเป็นระบบเกิดขึ้นได้อย่างไร
นายทศพล ขวัญรอด ตัวแทนกลุ่มเกษตรกร ต.บ้านตูล อ.ชะอวด กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบาย 2,520 บาทต่อไร่ เพราะรัฐบาลไม่ได้ช่วยเราเลย เพราะนี่คือเงินของ กสย. และ กสย.บัญญัติเอาไว้ว่า เงินทุนนั้นเพื่อการปลูกยางเท่านั้น รัฐบาลไม่สามารถเอาเงินมาช่วยสนับสนุนได้เพราะขัดกับ พ.ร.บ. จึงช่วยในการปัจจัยในการผลิต รัฐบาลจึงเอาเงิน กสย.ออกมาได้ พี่น้องที่ไม่มีสิทธิในที่ดินที่ทำกิน พี่น้องที่มีที่ดินทับซ้อน หรือมีที่ดินในที่สงวนฯ เป็นห่วง กสย. ถ้ารัฐบาลนำเงินตัวนี้ออกมาช่วยเหลือปัจจัยการผลิตก็จะได้เฉพาะเจ้าของส่วนยาง ลูกจ้างจะไม่ได้ประโยชน์อะไร และ กสย.พังแน่นอน รัฐบาลบอกมาแล้วว่าไม่มีเงิน หมดคลังแล้ว สาเหตุที่ทำไมรัฐบาลไม่ช่วยมาเติมเต็มให้เรา เพราะรัฐบาลไมมีเงิน จึงใช้เงิน กสย.มาจ่ายเป็นปัจจัยการผลิตให้แทน
ด้านนักวิชาการที่ร่วมสังเกตการณ์ นายบรรจง นะแส กล่าวว่า วิถีสวนยางเป็นวิถีที่อยู่ในสายเลือด ประเด็นการลุกขึ้นมาสู้ของพี่น้องชาวสวนยาง ในส่วนของเอ็นจีโอ เป็นประเด็นที่คาดหวังกันมานาน ประเด็นแรก หลังจากชาวสวนยางไร้การจัดตั้ง เกษตรกรทั้งหมดไร้การจัดตั้งที่มีการชี้นำในทางวิทยาศาสตร์ หรือทางการเมือง กลไกรัฐไร้ศักยภาพในการจัดตั้งในการชี้นำทางการเมือง ทำได้เพียงแต่รวมกลุ่มเร่งเร้าการบริโภค จนถึงวันนี้เกษตรกรที่เป็นคนส่วนใหญ่ของภาคใต้ ข้อมูลที่ได้ในเวทีในวันนี้เป็นเรื่องใหญ่ พยายามที่จะให้เห็นต้นตอจริงๆ ปัจจุบันยังไม่มีการจัดการในเรื่องของการรักษาผลประโยชน์ โดยองค์กรของเกษตรกรจริงๆ นี่คือรากเหง้าวิถีคิด
การลุกขึ้นมาของพี่น้องชะอวด เป็นปรากฏการณ์ช็อกรัฐบาลเป็นอย่างมาก ซึ่งรัฐบาลก็พลาดที่ไปตีว่าเป็นม็อบการเมือง และการใช้กำลังในการสลาย คนในสังคมที่เป็นคนชนชั้นกลางเข้าใจพี่น้องที่ถูกทำร้าย รัฐบาลพ่ายแพ้กับพลังของมวลชนที่มีข้อมูลได้กระจายไปสู่ชุมชน บทสรุปคือ วันนี้ปักษ์ใต้เริ่มมีปรากฏการณ์ที่จะลุกขึ้นสู้ เปิดเวทีหาข้อเท็จจริง มีนักวิชาการคอยให้ข้อมูลความรู้ แต่เกษตรกรอยู่ในอุ้งมือนักธุรกิจที่ใหญ่กว่านักการเมือง
ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า
การออกมาประท้วงบนท้องถนนเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่ง เป็นการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม อะไรเป็นตัวชี้วัดในการต่อสู้ ต้องมีความชอบธรรม เพื่อทำให้เสียงดังขึ้น มีปัญหาเรื่องยาพาราจริงๆ ไม่ใช่เรื่องการเมือง หากไม่มีการจัดตั้ง ทำให้ จนท.ยั่วยุบางอย่างเพียงนิดเดียว เช่น การปาหินเพียงก้อนเดียวข่าวจะใหญ่กว่าการชุมนุม เป็นวิธีคิดเป็นบทเรียนของขบวนการหลายที่ทั่วโลก เรื่องอำนาจกับการเจรจา เราต้องแยกให้ออกระหว่างการต่อรองกับเจรจา การเจรจาหมายความว่าต้องสู้ให้มีอำนาจระดับหนึ่งในการเจรจากับรัฐบาล การต่อสู้ครั้งต่อไปจึงต้องมีการจัดตั้งอย่างเป็นระบบ ด้วยการฝึก และเรียนรู้โดยเฉพาะการ์ดที่ดูแลกลุ่มผู้ชุมนุม ถ้าสู้แบบนี้ได้ รัฐบาลไม่สามารถเอาแกนนำมาเป็นพวกตัวเองได้ หากเรามีการวางแผนดีๆ อำนาจในการเจรจาจะมากขึ้น เรื่องกระบวนการ ความหวังที่เห็นกันในกลุ่ม คือ กระบวนการเรียนรู้ ซึ่งการต่อสู้นั้นยังไม่แพ้ เช่นเดียวกับกลุ่มสมัชชาคนจน ที่เติบโตขึ้นมาจนปัจจุบันมีอำนาจที่สามารถต่อรองกับรัฐบาลได้อย่างสบาย