ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
ในระยะสองปีกว่าที่ผ่านมาภายใต้การบริหารประเทศของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ราคายางพาราและปาล์มน้ำมันลดลงอย่างต่อเนื่อง จนไปถึงระดับที่ทำลายคุณภาพชีวิต และ คุกคามความอยู่รอดของเกษตรกรหลายล้านครอบครัวทั่วประเทศ กอปรกับการถูกกระหน่ำซ้ำเติมด้วยค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้ความเดือดร้อนกระจายไปทั่วทุกหัวระแหง เกษตรกรชาวสวนยางจึงจำเป็นต้องออกมาปฏิบัติการทางการเมืองอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างโอกาสไปสู่การปรับปรุงคุณภาพชีวิตของพวกเขา
เกษตรกรได้เรียกร้องและร้องขออย่างต่อเนื่องหลายครั้งหลายคราเพื่อให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์เข้ามาแก้ปัญหาการตกต่ำของราคายางพาราและปาล์มอย่างเป็นระบบทั้งระยะสั้นและระยะยาว แต่ดูเหมือนว่ารัฐบาลไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก การแก้ปัญหาทำพอเป็นพิธี ในลักษณะแก้ผ้าเอาหน้ารอดโดยใช้เงินเพียงแค่สองหมื่นกว่าล้านบาทเข้าไปแทรกแซงราคายาง ซึ่งเทียบไม่ได้เลยกับการใช้เงินจำนวนเจ็ดแสนกว่าล้านบาทในการจำนำข้าว
เมื่อความทุกข์ยากโหมกระหน่ำรุมเร้าทับถมทวี จนกระทั่งไม่อาจจำทนได้อีกต่อไป ปลายเดือนสิงหาคม 2556 ชาวสวนยาง อำเภอชะอวด จ. นครศรีธรรมราช และบริเวณใกล้เคียงจึงได้รวมตัวออกมาชุมนุมเพื่อให้รัฐบาลได้ยินเสียงแห่งความเดือดร้อนของพวกเขา
ทว่า ด้วยเหตุที่ผู้นำรัฐบาลมีปัญญาจำกัด มีประสาทการรับรู้อ่อนด้อย มีอารมณ์หลงใหลความสวยงามของรูปร่าง หน้าตาอันเปลือกนอกของตนเอง ทั้งยังหมกหมุ่นกับความบันเทิงส่วนตัว เธอจึงไม่อาจรับรู้ ไม่เห็น ไม่ได้ยินเสียงแห่งความเดือดร้อนของประชาชน ภาพการชุมนุมของประชาชนผู้เดือดร้อนที่เกิดขึ้นในจินตนาการของผู้กุมอำนาจรัฐคือ ภาพแห่งความเป็นปรปักษ์ที่จักต้องทำลายให้หมดสิ้นไป
รัฐบาลจึงกำหนด 3 ยุทธวิธีเพื่อจัดการกับประชาชนผู้เดือดร้อน คือ การปราบปรามอย่างรุนแรง การสร้างความแตกแยก และการทำลายความน่าเชื่อถือ
การปราบปรามอย่างรุนแรงได้ดำเนินการตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการชุมนุม มีการนำกำลังตำรวจเข้าสลายเกษตรกรที่ อ.ชะอวด อย่างอำมหิตและโหดร้าย โดยใช้กระบองทุบตี ช็อตด้วยกระบองไฟฟ้า และเตะต่อย ผู้ชุมนุมจนได้ได้รับบาดเจ็บหลายคน ทั้งยังมีการออกหมายจับแกนนำนับสิบคน และมีการปล่อยข่าวว่าจะออกหมายจับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2 คน ที่ไปเยี่ยมผู้ชุมนุมอีกด้วย
ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะใช้ความรุนแรงในการปราบปรามผู้ชุมนุม แต่เกษตรกรก็หาได้หวั่นเกรงประการใด กลับทำให้พวกเขาเกิดการรวมตัวที่หนาแน่นมากขึ้น ชาวสวนยางที่รอดูท่าทีอยู่หลายจังหวัดก็ได้ออกมาสบทบกับชาวสวนยางที่ อ. ชะอวดมากขึ้น และการชุมนุมของชาวสวนยางจึงขยายตัวออกไปในแทบทุกจังหวัดในภาคใต้และภาคตะวันออก
หลังจากใช้วิธีการปราบปรามด้วยความรุนแรงไม่ได้ผล รัฐบาลก็ปฏิบัติสร้างความแตกแยกเพื่อสลายพลังของชาวสวนยาง โดยการชักชวนให้แกนนำเข้ามาเจรจา และเสนอผลประโยชน์เป็นค่าปุ๋ยแก่ชาวสวนยาง 1,260 บาทต่อไร่ ให้ไม่เกินคนละ 10 ไร่ ข้อเสนอนี้ของรัฐบาลไม่สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของชาวสวนยาง อันได้แก่การประกันราคายางที่ 120 บาทต่อกิโลกรัม หรือ อย่างน้อย 100 บาทต่อกิโลกรัมขึ้นไป
อย่างไรก็ตามวิธีการเสนอผลประโยชน์แบบโยนเศษเนื้อข้างเขียงเช่นนี้ของรัฐบาล ได้ผลในระดับหนึ่งโดยทำให้ชาวสวนยางบางส่วนที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือยอมรับข้อเสนอและรับปากรัฐบาลว่าจะยุติการยกระดับการชุมนุม พลังของเครือข่ายชาวสวนยางทั่วไปประเทศจึงถูกแยกสลายออกไปอย่างน่าเสียดาย
ด้านชาวสวนยางภาคใต้เห็นว่า ข้อเสนอนี้ของรัฐบาลเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงประเด็น นอกจากจะได้ผลประโยชน์เพียงน้อยนิดแล้ว การกระจายของผลประโยชน์ก็ยังไม่ทั่วถึงทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับอาชีพการทำสวนยาง ในข้อเสนอของรัฐบาลนั้นมีเพียงกลุ่มเจ้าของสวนยางเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ ส่วนกลุ่มผู้กรีดยางอันเป็นหุ้นส่วนสำคัญของชาวสวนยางกลับไม่ได้ประโยชน์แม้แต่น้อย ชาวสวนยางภาคใต้จึงปฏิเสธข้อเสนอของรัฐบาล และยืนยันตามข้อเรียกร้องเดิม พร้อมทั้งประกาศว่าจะยกระดับการชุมนุมต่อไป
การทำลายความน่าเชื่อถือของการชุมนุมเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่รัฐบาลใช้ตั้งแต่เริ่มต้นการชุมนุม และกระทำอย่างต่อเนื่อง คนในซีกรัฐบาลหลายคนให้ข่าวว่า การชุมนุมของเกษตรกรชาวสวนยางเป็นเรื่องการเมืองซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพรรคฝ่ายค้านที่มีฐานเสียงในภาคใต้ เพื่อสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาล เจตนารมณ์ของการสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อการชุมนุมเช่นนี้เป็นไปเพื่อบั่นทอนความชอบธรรมของการชุมนุม และปกปิดความล้มเหลวในการบริหารประเทศของตนเองเป็นหลัก
วิธีการที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ใช้จัดการกับความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยาง มีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับวิธีการที่ใช้กับกลุ่มชาวนา สำหรับกลุ่มชาวนาแล้วรัฐบาลได้นำเงินภาษีของประชาชนหลายแสนล้านไปดำเนินการในเรื่องจำนำข้าว คำถามคือทำไม รัฐบาลที่เป็นตัวแทนของคนทั้งประเทศจึงมีการเลือกปฏิบัติอย่างปราศจากความเป็นธรรมเยี่ยงนี้
คำตอบที่เห็นได้ง่ายๆมีอย่างน้อยสามประการคือ ประการแรก ชาวนาเป็นฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย และพรรคนี้ต้องการรักษาอำนาจรัฐเอาไว้ให้นานที่สุด จึงดำเนินการซื้อเสียงล่วงหน้าด้วยการนำเงินภาษีของประชาชนไปซื้อข้าวเปลือกราคาแพง และนำมาเก็บจนเสียหาย เน่าเสีย หรือนำไปขายในราคาถูก
ประการที่สอง นโยบายจำนำข้าวมีขั้นตอนดำเนินงานที่มีช่องทางทุจริตได้ทุกขั้นตอน ตั้งแต่การจดทะเบียนชาวนา การรับซื้อข้าว การสีข้าว การเก็บรักษาข้าว การตรวจสอบคุณภาพและปริมาณข้าว และการขายข้าว ช่องทางทุจริตเหล่านี้เปิดโอกาสให้บรรดาพวกพ้องของรัฐบาลคดโกงเงินแผ่นดินจำนวนมากเข้ามาเป็นเงินส่วนตัวอย่างอย่างสะดวกง่ายดาย สร้างความร่ำรวยไปตามๆกัน ส่วนกรณีนโยบายยางนั้นการหาช่องในการทุจริตทำได้ยากกว่ากว่านโยบายจำนำข้าวมากนัก
ประการที่สาม รัฐบาลมีเจตนาทำให้ยางมีราคาต่ำเพื่อเป็นการตัดกำลัง บ่อนทำลายฐานทรัพยากรของฝ่ายที่รัฐบาลเห็นว่าเป็นปรปักษ์ต่อตนเอง ด้วยเหตุที่ว่าการต่อต้านรัฐบาลมีกำลังสำคัญอยู่ในภาคใต้ ดังนั้นหากภาคใต้มีเศรษฐกิจไม่ดี ย่อมทำให้เงินทุนและทรัพยากรอื่นๆที่จะใช้ในการต่อต้านรัฐบาลก็จะลดลง
การดำเนินนโยบายเช่นนี้ของรัฐบาลจึงเท่ากับเป็นการทำลายความมั่นคงทางเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของประชาชนโดยตรง และสร้างความแตกแยกอย่างร้าวลึกเพิ่มขึ้นอีกในสังคมไทย
หรือว่า รัฐบาลยังไม่สาแก่ใจต่อการมีความแตกแยกไม่สงบในสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นผลพวงจากการดำเนินนโยบายแบบโง่อวดฉลาดของ นช. ทักษิณ ชินวัตร เมื่อตอนที่เป็นนายกรัฐมนตรี หรือว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้ไม่มีความฉลาดอะไรจะมาอวด ประสงค์จะสร้างผลงานให้โดดเด่นเหนือกว่าพี่ชายตนเอง จะได้เอาไว้อวดชาวโลกต่อไป
พี่ชายเธอมีส่วนสำคัญในการสร้างความไม่สงบในภาคได้เพียงแค่สี่จังหวัดเท่านั้น แต่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรกำลังจะจุดไฟ สร้างความแตกแยก ความไม่ความสงบในภาคใต้ได้ถึง 10 จังหวัด และยังลุกลามมาที่ภาคตะวันออกอีกหลายจังหวัดอีกด้วย
ช่างเป็นผลงานที่น่าอลังการยิ่งนัก ของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เหนือกว่าทักษิณ ชินวัตรเสียอีก