ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-จากกรณีเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบอนุมัติงบประมาณประจำปี 2556 งบกลางวงเงิน 11,850,000 บาท ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อใช้ดำเนินโครงการกำหนดแนวทางฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี จากการปนเปื้อนสารตะกั่ว
สืบเนื่องจากเมื่อปี 2555 ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ผู้ถูกฟ้องคดี คือ กรมควบคุมมลพิษ กำหนดแผนงานวิธีการในการดำเนินการฟื้นฟู และวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำ ดิน และพืชผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ ให้ครอบคลุมทุกฤดูกาลอย่างน้อยฤดูละ 1 ครั้ง จนกว่าจะพบค่าสารตะกั่ว ว่าไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานเป็นเวลา อย่างน้อย 1 ปี และแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 22 คนทราบโดยวิธีการเปิดเผย โดยต้องทำการติดประกาศ ณ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้าน ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ และชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้ฟ้องคดีเป็นเงินรายละ 177,199.55 บ. และคืนค่าธรรมเนียมชั้นศาลแก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 22 คน ตามผลของการชนะคดีภายใน 90 วัน
ขณะที่ สำนักงานบังคับคดีได้เชิญกรมควบคุมมลพิษดำหารือแนวทางในการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และ ครม.ได้พิจารณารายจ่ายประจำปี 11,850,000บาท จากงบกลางเพื่อนำไปใช้ฟื้นฟูดำเนินงานในห้วย ดังกล่าว ทั้งนี้สืบเนื่องจากลำห้วยดังกล่าวปนเปื้อนสารตะกั่วส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่จึงเป็นที่มาในการร้องเรียนและแก้ไข
เรื่องนี้ นายสุรพงษ์ กองจันทึก ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากระเหรี่ยงพัฒนา เอ็นจีโอที่ให้คำปรึกษาต่อชาวบ้านคลิตี้ล่างที่ได้รับผลกระทบ แสดงความเห็นว่า ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากสารตะกั่วปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกายต้องใช้เวลาในการต่อสู้อย่างยาวนานเป็นเวลากว่า 10 ปี เพื่อเรียกร้องสิทธิ์ความเป็นธรรมจนศาลได้พิพากษาให้ความเป็นธรรมแก่ชาวบ้าน ซึ่งเงินในส่วนนี้เป็นแค่การศึกษาเพื่อจัดทำแผนฟื้นฟู แต่ในคำพิพากษาได้สั่งการให้กรมควบคุมมลพิษเร่งฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ โดยใช้เวลานานกว่า 8 เดือนแล้วกรมควบคุมมลพิษยังไม่สามารถจัดทำแผนฟื้นฟูให้เสร็จสิ้น ดังนั้นเงินจำนวนนี้ไม่น่าจะเป็นเงินที่จัดให้เพื่อเข้ามาทำการฟื้นฟูในพื้นที่
ดังนั้นจึงอยากเรียกร้องกรมควบคุมมลพิษเร่งดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้เพราะพิษตะกั่วที่สะสมยังสร้างปัญหาผลกระทบทั้งต่อคนและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ยิ่งปล่อยนานออกไปสารตะกั่วที่ปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมจะไหลไปตามลำห้วยและลงสู่แหล่งต่างๆทั้งอ่างเก็บน้ำหรือแม่น้ำสายสำคัญ โดยหากไม่เร่งดำเนินการอย่างจริงจังปล่อยให้เกิดการสะสมเยอะมากขึ้นก็อาจจะส่งผลต่อกระทบขยายวงกว้างมากขึ้น ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องดูแลประชาชน และเป็นหน้าที่ของกรมควบคุมมลพิษจะต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาอย่างเคร่งครัด โดยรัฐบาลต้องเร่งจัดงบประมาณเพื่อให้กรมควบคุมมลพิษเข้าดำเนินการฟื้นฟูในพื้นที่อย่างจริงจังโดยเร่งด่วน
ย้อมกลับไปดู เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2556 กรมควบคุมมลพิษ ได้ลงพื้นที่ติดตามการฟื้นฟูและแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วในห้วยคลิตี้ และจ่ายเงินเยียวยาค่าเสียหายให้กับผู้ฟ้องคดีทั้ง 22 ราย พร้อมจัดเวทีพูดคุยแลกเปลี่ยนแนวทางการแก้ไขปัญหากับชาวบ้าน
นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ยอมรับว่า ภายใน 3 ปีจะต้องฟื้นฟูห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่วให้แล้วเสร็จ โดยจะดำเนินการเก็บตัวอย่างน้ำในลำห้วยคลิตี้ไปตรวจสอบ 4 ครั้งต่อปี ในช่วงเดือนมีนาคม มิถุนายน กันยายน และธันวาคม ปี 2555 โดยมีดัชชีชี้วัดสำคัญ ได้แก่ น้ำ ตะกอนดินท้องน้ำ สัตว์น้ำ (ปลา กุ้ง หอย) และพืช (พืชสวน และพืชไร่) และจะประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลผลการติดตามตรวจสอบให้ชาวบ้านได้รับทราบที่ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านคลิตี้ องค์การบริหารส่วนตำบลชะแล และที่ว่าการอำเภอทองผาภูมิ
“นอกจากการขุดนำตะกอนตะกั่วออกจากหลุ่มฝังกลบข้างห้วยคลิตี้ให้แล้วเสร็จก่อนฤดูฝนแล้ว จะเร่งดำเนินการสร้างฝายชะลอน้ำตามลำห้วยคลิตี้ และต่อจากนี้จะไม่มีคำพูดที่ว่าให้ธรรมชาติฟื้นฟูกันเองอีกแล้ว การฟื้นฟูของกรมควบคุมมลพิษทำดีว่าคำสั่งของศาลเสียอีก” นายวิเชียรกล่าว
ตามเอกสาร เผยแพร่ของ สำนักจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2556 ระบุว่า
กรมควบคุมมลพิษได้มีการจัดกิจกรรมเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องการดำเนินงานฟื้นฟูห้วย คลิตี้กับชาวบ้านคลิตี้ล่าง ซึ่งสามารถสรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้
1. ชาวบ้านต้องการให้กรมควบคุมมลพิษดำเนินการฟื้นฟูให้เร็วที่สุด และในการฟื้นฟูนั้นจะต้องเกิดผลกระทบน้อยที่สุด เพื่อที่ชาวบ้านจะสามารถกลับมาใช้ประโยชน์ในลำห้วยได้เหมือนเดิม
2. ในการแก้ไขปัญหาห้วยคลิตี้ ยังขาดการมีส่วนร่วมจากชาวบ้าน เนื่องจากชาวบ้านยังไม่เข้าใจประเด็นของการดำเนินการ ดังนั้น จึงควรทำความเข้าใจกับชาวบ้านในประเด็นต่างๆ ก่อนที่จะดำ เนินการเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง นอกจากนี้ชาวบ้านยังต้องการให้องค์กรพัฒนาเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนการดำเนินงานฟื้นฟูห้วยคลิตี้ เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐภาคเอกชน และภาคประชาชน
3. การประชาสัมพันธ์ผลการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมห้วยคลิตี้ ภาษาที่ใช้เป็นภาษาทางวิชาการทำ ให้ชาวบ้านเข้าใจยากจึงควรใช้ภาษาที่ชาวบ้านสามารถเข้าใจได้ง่ายและขอให้มีเจ้าหน้าที่อธิบายผลการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมในแต่ละครั้งให้ชาวบ้านเข้าใจ
4. ควรนำกรณีแก้ไขปัญหาห้วยคลิตี้เป็นต้นแบบในการจัดการปัญหามลพิษอื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายกัน
ขณะที่ ผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำ ตะกอนดินท้องน้ำ สัตว์น้ำ และพืชผัก ในปี พ.ศ. 2555 ตลอดทั้งปี จำนวน4 ครั้ง (มีนาคม มิถุนายน กันยายน และธันวาคม) สามารถสรุปได้ ดังนี้
1. ปริมาณตะกั่วในน้ำ บริเวณเหนือโรงแต่งแร่ (KC 1) มีค่าปริมาณตะกั่วปนเปื้อนน้อยกว่า 0.01 มิลลิกรัมต่อลิตร ส่วนบริเวณใต้โรงแต่งแร่ลงมา (KC 2 - KC 8) มีค่าอยู่ในช่วงน้อยกว่า 0.01 - 3.653 มิลลิกรัมต่อลิตรซึ่งมีค่าที่เกินมาตรฐานส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงฤดูฝนและมีน้ำหลาก (เกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน 0.05 มิลลิกรัมต่อลิตร)
2. ปริมาณตะกั่วในตะกอนดินท้องน้ำ บริเวณเหนือโรงแต่งแร่ ณ จุดเก็บตัวอย่าง KC1 มีปริมาณตะกั่วในตะกอนดินท้องน้ำ 118 - 188 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เนื่องจากเป็นจุดเก็บตัวอย่างอ้างอิงที่ไม่ได้รับผลกระทบและบริเวณจุดเก็บตัวอย่างบริเวณใต้โรงแต่งแร่ลงมา KC 2 - KC 8 มีค่าปริมาณตะกั่วอยู่ในช่วง 3,863 - 82,681 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โดยตรวจพบสูงสุดคือจุดเก็บตัวอย่าง KC 4/1 (ฝายหินทิ้งแห่งที่ 2)
3. ปริมาณตะกั่วในสัตว์น้ำ จากการตรวจสอบการปนเปื้อนของ ปลา กุ้ง หอย และปู จำนวน 33ตัวอย่าง พบว่า 1) ปลา มีค่าปริมาณตะกั่วอยู่ในช่วง 0.00013 - 0.08364 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักเปียก 2) กุ้งมีค่าปริมาณตะกั่วอยู่ในช่วง 0.1108 - 5.9851 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักเปียก 3) หอยมีค่าปริมาณตะกั่วอยู่ในช่วง 96.034 - 307.76 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักเปียก และ 4) ปูมีค่าปริมาณตะกั่วอยู่ในช่วง 0.51699 -31.103 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักเปียก (ค่ามาตรฐานอาหาร ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้มีสารตะกั่วไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม)
4. ปริมาณตะกั่วในพืชผัก จากการเก็บตัวอย่างพืชผักจำนวน 48 ตัวอย่าง แบ่งเป็นบริเวณหมู่บ้านคลิตี้บน จำนวน 29 ตัวอย่าง และคลิตี้ล่างจำนวน 19 ตัวอย่าง พบว่าพืชผักบริเวณหมู่บ้านคลิตี้บนมีปริมาณสารตะกั่วอยู่ในช่วง 0.00242 - 6.5605 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักเปียก ซึ่งมีตัวอย่างเกินค่ามาตรฐานจำนวน 4 ตัวอย่างเป็นพืชประเภท ตะไคร้ ผักชีฝรั่ง และกะเพรา ซึ่งปลูกในบริเวณบ้านคนงานเหมืองพื้นที่โรงแต่งแร่คลิตี้เดิมส่วนบริเวณพื้นที่อาศัยอื่นๆ พืชผักมีปริมาณสารตะกั่วไม่เกินค่ามาตรฐาน (มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อนตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้ไม่เกิน1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักเปียก) และบริเวณหมู่บ้านคลิตี้ล่างมีค่าอยู่ในช่วง 0.00176 - 0.92435 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมน้ำหนักเปียก ซึ่งมีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานฯ สามารถบริโภคได้ตามปกติ
“กรมควบคุมมลพิษ” บอกว่า 3 ปีต้องฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ตลอดลำห้วยคลิตี้ให้กลับมาปกติ