xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ออกโรงป้อง ปตท.ชี้สารปรอทเกินอาจเป็นปัญหาเก่า ไม่เกี่ยวน้ำมันดิบรั่ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.ออกรับแทน ปตท.ชี้สารปรอทสูงเกินค่ามาตรฐานในทะเลอาจไม่ได้มาจากกรณีน้ำมันดิบรั่วไหล ต้องเช็กก่อนว่าเป็นปัญหาดั้งเดิมในพื้นที่หรือไม่ ยันสารปรอทไม่เข้าสู่ร่างกายจากการสัมผัส ส่วนใหญ่มาจากการบริโภคสัตว์ทะเล ระบุผู้เก็บกู้คราบน้ำมัน 1 ราย มีค่าสารอนุพันธ์เบนซีนสูงกว่ามาตรฐาน เป็นการสะสมของพิษแบบเรื้อรังอยู่ก่อนแล้ว

วันนี้ (14 ส.ค.) นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวกรณีกรมควบคุมมลพิษตรวจพบปริมาณสารปรอทบริเวณอ่าวพร้าว และอ่าวทับทิม เกินค่ามาตรฐานที่กำหนด คือ ไม่เกิน 0.1 ไมโครกรัม/ลิตร ว่า การพบสารปรอทในน้ำทะเลเกินค่ามาตรฐาน มีความเป็นไปได้ว่าเกิดจากคราบน้ำมันดิบที่รั่วลงสู่ทะเลแล้วหลงเหลืออยู่ในระดับสูง ซึ่งขณะนี้กำลังเร่งเฝ้าระวังใน 2 เรื่อง ได้แก่ การตรวจปัสสาวะผู้ปฏิบัติหน้าที่เก็บกู้คราบน้ำมันมีปริมาณสารพิษในร่างกายสูงหรือไม่ และเฝ้าระวังการปนเปื้อนของสารต่างๆในอาหารทะเล ทั้งนี้ จากการตรวจปัสสาวะคนมากกว่า 1,000 คน พบมีสารอนุพันธ์ของเบนซีนเกินค่ามาตรฐานที่เฝ้าระวังเพียง 1 คน ซึ่งต้องมาวิเคราะห์ว่าเกิดจากการได้รับอย่างเฉียบพลันหรือแบบเรื้อรัง ซึ่งการเป็นพิษในระยะเฉียบพลันคือได้รับสารแล้วมีอาการเลยภายใน 1-2 วัน ส่วนแบบเรื้อรังเป็นการรับสารต่อเนื่องในระยะเวลานานและเป็นปริมาณที่สูง มากกว่า 1 ปีขึ้นไปจึงจะมีการแสดงอาการออกมา
นพ.ประดิษฐ  สินธวณรงค์  รมว. สาธารณสุข
“การจะตรวจว่าเป็นแบบเฉียบพลันหรือเรื้อรังนั้น ต้องอาศัยการตรวจอาการทางคลินิกว่ามีอาการประกอบหรือไม่ แต่เท่าที่ทราบจากประวัติพบว่ายังไม่มีอาการ จึงไม่น่าจะเป็นการได้รับพิษจากการลงไปเก็บกู้คราบน้ำมัน แต่น่าจะเป็นการได้รับสารดังกล่าวสะสมเป็นเวลานาน อย่างไรก็ตาม สธ.จะมีการติดตามโดยการเจาะเลือดตรวจเป็นระยะๆ ส่วนการตรวจอาหารทะเลกว่า 1,000 ตัวอย่าง ก็ยังไม่พบสารตกค้างเช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้ขอให้ประชาชนวางใจ เพราะรัฐบาลไม่มีการเอาเรื่องรายได้จากการท่องเที่ยวมาแลกกับสุขภาพของประชาชนอย่างแแน่นอน” รมว.สาธารณสุข กล่าว

นพ.ประดิษฐ กล่าวอีกว่า สำหรับการสัมผัสน้ำทะเลที่มีการปนเปื้อนสารปรอทนั้น เท่าที่ทราบสารปรอทไม่มีการดูดซึมทางผิวหนัง จึงยังไม่สามารถระบุได้ว่าปริมาณของสารปรอทในทะเลเป็นพิษต่อคนหรือไม่ แต่ส่วนใหญ่การได้รับพิษจะมาจากการบริโภคสัตว์ทะเล ซึ่งล่าสุดคาดว่าคงมีมาตรการในการห้ามจับสัตว์น้ำในบริเวณดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้คงต้องขอให้กรมควบคุมมลพิษตรวจดูก่อนว่าการมีสารปรอทปนเปื้อนในทะเลนั้นเป็นปัญหาดั้งเดิมของพื้นที่อยู่แล้วหรือไม่ ซึ่งต้องยอมรับว่าเรื่องการทำค่าข้อมูลพื้นฐานยังเป็นจุดอ่อนของประเทศ เพราะไม่เคยมีการทำมาก่อน แต่ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะไปดูเรื่องของมลภาวะ อย่าเพิ่งสรุปว่าเป็นการเกิดจากปัญหาคราบน้ำมัน โดยทางกรมควบคุมมลพิษคงเข้าไปตรวจพื้นที่ 2 บริเวณ คือ บริเวณที่มีคราบน้ำมันและบริเวณที่ไม่มีคราบน้ำมันแต่มีปริมาณสูง

นพ.ประดิษฐ กล่าวด้วยว่า ในเรื่องของความรับผิดชอบ ปตท.ก็ยืนยันให้ความรับผิดชอบอย่างเต็มที่ โดยยินดีตั้งกองทุนให้ และอาจจะตั้งโรงพยาบาลขึ้นมาดูแลสถานการณ์ฉุกเฉินบริเวณนั้น ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดจาก ปตท.รวมถึงออกค่าใช้จ่ายในการตรวจปัสสาวะและสารตกค้างในสัตว์ทะเล

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า โดยปกติสารปรอทจะเข้าสู่ร่างกายได้ทางหายใจ และรับประทานเข้าไป แต่จากการสัมผัสนั้นค่อนข้างยาก ซึ่งการลงเล่นน้ำและเผลอบริโภคน้ำทะเลเข้าไป แต่ในปริมาณไม่มากก็ไม่น่ามีปัญหา หรือแม้แต่กรณีน้ำทะเลสัมผัสทางผิวหนัง โดยปกติก็ไม่ถึงขั้นอันตราย แต่ทั้งนี้ต้องดูปริมาณของสารปรอทด้วย อย่างไรก็ตาม ทางที่ดีที่สุดควรหลีกเลี่ยงการลงเล่นน้ำในช่วงนี้ ส่วนกรณีอาหารทะเลที่อาจเจือปนสารปรอทนั้น ขณะนี้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบอยู่ ซึ่งไม่ต้องกังวล

ผู้สื่อข่าวถามว่าสารปรอทส่งผลต่อสุขภาพอย่างไร นพ.โอภาส กล่าวว่า สารปรอทมีทั้งพิษเฉียบพลัน และระยะยาว ซึ่งหากสะสมนานๆ ในปริมาณมากๆ โอกาสเกิดพิษปรอท จนก่อให้เกิดมะเร็งก็มีความเป็นไปได้ แต่ในกรณีนี้คงไม่ถึงขั้นนั้น เพราะต้องติดตามว่าใครมีสารปรอทบ้าง และระยะยาวจะก่อให้เกิดผลอย่างไร เบื้องต้นยังไม่พบว่ามีใครได้รับสารปรอทจนเกินค่ากำหนดถึงขั้นอันตราย ซึ่งการจะทราบว่ามีสารปรอทในร่างกายหรือไม่ ต้องตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการเท่านั้น เนื่องจากอาการบ่งชี้แทบไม่มีสัญญาณใดๆ นอกจากกรณีสูดหายใจเข้าไปเป็นจำนวนมากทันทีทันใด จะทำให้เกิดอาการไอและปวดศีรษะอย่างรุนแรง


กำลังโหลดความคิดเห็น