ASTVผู้จัดการออนไลน์-กรมควบคุมมลพิษ เตือนนักท่องเที่ยวประชาชนหลีกเลี่ยงเล่นน้ำทะเล หลังจากผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเล ชายหาดและอ่าวต่าๆรอบเกาะเสม็ด พบ มีค่าปรอทสูงเกินมาตรฐานที่อ่าวพร้าว และ อ่าวทับทิม นักวิชาการ ฟันธงการฟอกขาวมาจากน้ำมันรั่วแน่นอน จับตาปตท.แถลงข่าววันนี้ "เพ้ง"เล็งปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคเกาะเสม็ด ด้านรมว.การท่องเที่ยวฯ ชงครม.เสนอสร้างกองทุนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่
วานนี้ (13สิงหาคม) นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.)แถลงผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเล ชายหาดและอ่าวต่างๆ รอบเกาะเสม็ด จ.ระยอง จากการเฝ้าระวังเนื่องจากกรณีเหตุการณ์ท่อส่งน้ำมันดิบรั่วไหลในทะเล จังหวัดระยอง ผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งบริเวณรอบเกาะเสม็ด จังหวัดระยอง จำนวน 12หาด ที่เก็บตัวอย่างในวันที่ 3 สิงหาคม ปรากฏว่า ค่าความเป็นกรด - ด่าง ค่าออกซิเจนละลายน้ำ มีค่าปกติไม่เกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้
ผลการตรวจวัดโลหะหนัก ทั้ง 12 หาด พบว่า สารหนูมีค่าไม่เกินค่ามาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลที่กำหนดไว้ที่ 10 ไมโครกรัมต่อลิตร แคดเมียมมีค่าไม่เกินค่ามาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลที่กำหนดไว้ที่ 0.5ไมโครกรัมต่อลิตร และค่าปรอทส่วนใหญ่มีค่าไม่เกินค่ามาตรฐานคุณภาพน้ำทะเลที่กำหนดไว้ 0.1ไมโครกรัมต่อลิตร ยกเว้นอ่าวทับทิม มีค่า 0.25 ไมโครกรัมต่อลิตร และ อ่าวพร้าวมีค่า 2.9 ไมโครกรัมต่อลิตร หรือ 29 เท่าจากค่ามาตรฐาน
ขณะที่ผลการตรวจวัดโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน (PAHs) อยู่ในระดับค่าไม่เกินค่ามาตรฐาน (มาตรฐานของ USEPA ที่กำหนดไว้ ระดับต่ำสุดที่มีผลกระทบต่อสัตว์น้ำ 300 ไมโครกรัมต่อลิตร)
สำหรับผลการตรวจวัดปิโตรเลียมไฮโครคาร์บอน (TPH) ในขณะนี้ยังวิเคราะห์ผลไม่แล้วเสร็จ ซึ่งคงจะสามารถรู้ผลและแถลงให้ทราบพร้อมผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างที่เก็บไว้ในวันที่ 8 สิงหาคม 2556
ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้ลงเก็บตัวอย่างคุณภาพน้ำทะเล และคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โดยวันที่ 8สิงหาคม ได้มีการเก็บตัวอย่างเป็นครั้งที่ 2 และคาดว่าจะทราบผลวันที่ 15สิงหาคม นี้
สำหรับช่วงนี้ คพ. ขอแนะนำประชาชน และ นักท่องเที่ยวควรหลีกเลี่ยงการเล่นน้ำในพื้นที่อ่าวพร้าว อ่าวทับทิมของเกาะเสม็ด จนกว่าจะทราบผลการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำครั้งที่ 2 หรือจนกว่าผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลอยู่ในภาวะปกติ ซึ่ง คพ.จะลงพื้นที่ติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมบริเวณอ่าวพร้าวอย่างต่อเนื่อง และจะแจ้งผลให้ทราบต่อไป
นอกจากนี้ คพ. กำหนดลงพื้นที่ทำการสำรวจและประเมินความเสียหายระบบนิเวศชายหาด โดยจะทำการขุดเจาะพื้นทราย เพื่อตรวจสอบสารอินทรีย์ระเหยง่าย สาร PAHs TPH และคราบน้ำมันในชั้นทรายบริเวณอ่าวพร้าวอย่างละเอียด ในวันที่ 15 สิงหาคม นี้
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา.ที่อ่าวพร้าวเกาะเสม็ด จ.ระยอง นายปลอดประสพ สรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาติดตามการกู้คราบน้ำมันดิบของ บ.พีทีทีซีจี รั่วไหลกลางทะเล หลังการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว นายปลอดประสพ ได้ขึ้นไปเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดว่ายน้ำ และได้ลงเล่นน้ำบริเวณอ่าวพร้าว พร้อมนายบวร วงศ์สินอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บ.พีทีทีซีจี และยังได้ขุดทรายโชว์ให้ผู้สื่อข่าวดูด้วย โดยยืนยันว่า น้ำทะเลที่อ่าวพร้าวแห่งนี้ใสสะอาดปลอดภัย และหาดทรายขาวสะอาดแล้ว ซึ่งได้รับการฟื้นฟูจนกลับคืนสู่สภาพปกติเกือบจะ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว
ด้านนายนิพนธ์ พงษ์สุวรรณ นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า ทาง ทช. สำรวจพบปะการังเกิดการฟอกขาวใน 4 จุด คือ อ่าวน้อยหน่า ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ อ่าวพร้าวด้านเหนือ 5-10 เปอร์เซ็น อ่าวพร้าวด้านใต้ 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นจุดที่น้ำมันมากองรวมกันมากที่สุดในช่วง 2-3 วันแรก และบริเวณอ่าวปลาต้ม 10-20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทางกรมจะตรวจสอบอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยเป็นเวลาอีก 1 ปี เพื่อดูว่าปะการังที่ฟอกขาวเหล่านี้จะตายลงหรือไม่
“ฟันธงว่าการฟอกขาวครั้งนี้เกิดจากน้ำมันรั่วแน่นอน ซึ่งการฟอกขาวเกิดจากปะการังมีภาวะเครียด และมีฟองน้ำบางส่วนตาย แต่จำนวนยังไม่มาก ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยเกิดสถานการณ์ปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่เมื่อปี 2553 "
***ปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคเกาะเสม็ด
นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า หลังจากเกิดปัญหาคราบน้ำมันที่อ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จ.ระยอง ซึ่งมีทุกภาคส่วนร่วมลงพื้นที่แก้ไขปัญหา และพบว่าถนน ท่าเรือ และระบบสาธารณูปโภค มีปัญหามาก รัฐบาลจึงวางแผนจะปรับปรุงสาธารณูปโภคบนเกาะเสม็ดให้มีความสะดวกต่อการเดินทางมากขึ้น โดยได้หารือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้พิจารณาผ่อนปรนกฎระเบียบต่างๆ เพราะเกาะเสม็ดเป็นพื้นที่มรดกทางธรรมชาติ ในอุทยานแห่งชาติแหลมหญ้า หมู่เกาะเสม็ด
นอกจากนี้ ได้สั่งการให้กลุ่ม ปตท.โดยเฉพาะบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ พีทีทีจีซี ไปจัดทำแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะเสม็ดในระยะยาว ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้หลังจากเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบแล้วทั้งหมด
ส่วนการชดเชยความเสียหาย ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา หลังจากจ่ายเงินก้อนแรกไปแล้ว 400 ราย วงเงินรวม 12 ล้านบาท ซึ่งจะพิจารณาความเสียหายตามข้อเท็จจริง ยืนยันว่า ผู้ที่ได้รับการเยียวยาทุกคนต่างพอใจ และพีทีทีจีซี ยินดีเยียวยาความเสียหายในทุกกรณี
***ปตท.เตรียมแถลงข่าววันนี้
นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า สภาพแวดล้อมของอ่าวพร้าว จ.ระยอง โดยรวมขณะนี้พร้อมที่จะเปิดให้บริการ แต่ต้องรอผลการรับรองคุณภาพน้ำทะเล ทราย และสิ่งแวดล้อมทั้งหมด จากกรมควบคุมมลพิษก่อน ซึ่งกรมควบคุมมลพิษจะรายงานผลดังกล่าวในวันที่ 13-14 สิงหาคมนี้
ทั้งนี้ การจะเปิดให้บริการอ่าวพร้าวนั้น ขึ้นอยู่กับกรมอุทยานแห่งชาติฯ ซึ่งเป็นผู้สั่งปิดอ่าวพร้าว เนื่องจากทาง จ.ระยอง แจ้งเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลไปยังกรมอุทยานแห่งชาติ
อย่างไรก็ตาม ด้านการเยียวยาผู้เสียหายนั้น ทาง จ.ระยอง ได้เปิดให้ผู้เสียหายไปลงทะเบียนเพื่อพิจารณาแต่ละกรณีแล้ว นอกจากนี้ ในวันที่ 14 สิงหาคม บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) จะมีการแถลงข่าวถึงสาเหตุการเกิดท่อน้ำมันรั่วไหลลงทะเล
****เล็งตั้งกองทุนช่วยเหลือเอกชน
วานนี้ (13 ส.ค.)ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่วนมาตรการกู้ภาพลักษณ์ของเกาะเสม็ด หลังเกิดเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วลงทะเลนั้น นายธีรัตถ์ กล่าวว่า นายสมศักย์ ภูรีศรีศักดิ์ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ได้เสนอต่อที่ประชุมว่า จำเป็นต้องมีการสร้างกองทุนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการประกอบธุรกิจที่มีความเสี่ยง ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงพลังงานแจ้งให้ทาง ปตท. และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องจัดตั้งกองทุนขึ้นมา ซึ่งทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาก็พร้อมที่นำข้อมูลดังกล่าวไปสร้างความเชื่อมั่นเพราะเห็นว่า กองทุนที่จะตั้งขึ้นมาจะสามารถตอบแทนกับพื้นที่ได้
***ครม.รับทราบจ่ายชดเชย
นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.ได้รับทราบตามผลการรายงานของกระทรวงพลังงานกรณีการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำมันดิบรั่วในทะเลของ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล(PTTGC) ซึ่งพบว่ามีผู้ยื่นความประสงค์ขอรับการเยียวยาช่วยเหลือรวม 1,250 ราย แบ่งเป็น 4 กลุ่มสำคัญ คือ 1.กลุ่มประมง จะได้รับการเยียวยารายละ 30,000 บาท 2.กลุ่มธุรกิจโรงแรมที่พัก-ร้านอาหาร 3.ด้านสุขภาพ 4.กลุ่มอื่นๆ เช่น ผู้รับจ้างรายย่อย โดยในกลุ่มที่ 2-4 ยังอยู่ระหว่างการเจรจาหาข้อสรุปถึงจำนวนเงินที่ชัดเจนสำหรับการช่วยเหลือเยียวยา
อย่างไรก็ดี กระทรวงพลังงานได้รายงานสถานการณ์โดยรวมของทะเลที่อ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จ.ระยอง ว่าเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว อาจยังมีเพียงคราบน้ำมันที่หลงเหลือติดอยู่ตามซอกหรือโขดหินซึ่งเจ้าหน้าที่จะได้เร่งกำจัดคราบน้ำมัน รวมถึงการฟื้นฟูชายหาดต่อไป
ขณะที่ผลสรุปในเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วนั้น ทาง PTTGC ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวแล้ว คาดว่าจะสามารถสรุปผลได้ภายในสิ้นเดือนส.ค.นี้ เพื่อนำรายงานต่อที่ประชุมครม.ให้รับทราบต่อไป